Wednesday, February 11, 2015

อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 4 หมวกดำ อย่าจำผิด

สวัสดีปีใหม่คุณผู้อ่าน สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ถือเป็นฉบับแรกของปีพุทธศักราช 2558 ซึ่งน่าจะมีอะไรใหม่ ๆ มาท้าทายให้คุณผู้อ่านได้ฟันฝ่าและเดินหน้าอย่างเข้มแข็งกันต่อไป ว่าไปแล้วข่าวในประเทศเราช่วงนี้ก็ดูจะมีกลิ่นการเมืองขึ้นมาเล็ก ๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผสมปนเปไปกับข่าวทางสังคมอื่น ๆ เล็กใหญ่ไปตามเรื่อง ล่าสุดที่น่าสนใจคือกรณีของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น Post ข้อความตามข่าวเล่าเหตุการณ์แสดงความไม่พอใจกับการบริหารจัดการของสนามบินต่อระบบ Taxi จนต้องออกมา Post ข้อความขอโทษขอโพยกัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมถึงปล่อยให้มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้ เข้าข่ายปลาเน่าตัวเดียวทำให้ เหม็นไปทั้งเข่งแท้ ๆ ทั้งที่ Taxi ดี ๆ ก็มีเยอะ คำถามคือวิธีการอะไรที่จะช่วยให้เรามองเห็นปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อวางระบบที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพได้บ้าง
ที่ยกรื่องนี้มาเล่าเพราะจะเชื่อมเข้ามาสู่ Ministry of Learning The Series ในตอนที่ว่ากันถึงเทคนิคในการใช้หมวกดำ ซึ่งจะต่อจากหมวกอื่น ๆ ตามลำดับที่เคยนำเสนอไปแล้ว โดยหมวกดำนั้น Edward de Bono ตั้งใจจะสื่อถึงมุมมองในด้านมืด หรือ ด้านลบ หรือความเป็นไปได้ในทางที่เลวร้ายที่สุดที่เราจะนึกออกจากข้อเท็จจริงที่เราได้จาก “หมวกขาว” (ไม่ใช่หมวกอื่น ๆ)
ทั้งนี้โดยมากแล้วเราจะใช้หมวกดำตามจากการใช้หมวกเหลืองดังนั้นจำเป็นต้อง “ถอด” หมวกเหลืองออกไป และ เริ่ม List สิ่งที่จะนำไปสู่การคาดคะเนสถานการณ์ร้าย ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น (แนะนำให้ไปอ่านบทความย้อนหลังตาม Link)
เท่าที่ผมสัมผัสมา คนส่วนใหญ่จะคิดว่าตัวเองชำนาญการใช้หมวกดำมากกว่าหมวกอื่น ๆ เพราะเหมือนจะง่ายที่เราตั้ง Dark Mode นำเอาไว้ เรียกว่าเรื่องคิดลบนี่น่าจะมีอะไรให้คิดสะดวกกว่าการคิดบวก เพราะมีประสบการณ์ชีวิตบางอย่างที่ทำให้เชื่อแบบนั้น แต่อย่าคิดว่าจะสะดวกโยธินและทำให้การใช้หมวกดำถูกต้องเสมอไป (ผมกำลังใช้หมวกดำบอกอยู่) เทคนิคที่ควรพิจารณาไว้ตอนใช้หมวกดำมีดังต่อไปนี้
เทคนิคที่ 1 ใช้ “อาจจะ” ให้ชิน คำว่า “อาจจะ” นี้เปิดโอกาสให้เราได้สมมติตัวเองว่าจะมีเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เป็นไปได้ได้สะดวกใจขึ้นโดยที่ไม่ต้องรอให้เหตุการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้นมาจริง ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าการใช้หมวกดำไม่ใช้การตั้งเป้าหมายในทางวินาศสันตะโร หรือ แช่งชักหักกระดูกใคร แต่เป็นการคิดเผื่อไว้ในกรณีที่อาจจะเกิด ดังนั้นสวมหมวกดำก็ใช้ mode ในการคิดว่า “อาจจะ” หรือ What If ให้ชินกันซะตั้งแต่เนิ่น ๆ
เทคนิคที่ 2 อย่ากลัวเราจะเป็นคนไม่ดี หลายคนกลัวการคิดลบ กลัวว่าการเป็นคนคิดลบจะกลายเป็นคนเลว คนที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือ คนที่ไม่สามารถเป็นผู้นำได้ ซึ่งจริง ๆ ถ้าอ้างเทคนิคแรกที่กล่าวไปแล้วจะพบว่าเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เทคนิคที่เหมาะหากเริ่มมีความรู้สึกแบบนี้ในใจคือให้ถอดตัวเองออกมา มองในสิ่งที่สถานการณ์และสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์นั้นมากกว่าเอาตัวเอาเข้าไปผูก จะช่วยให้การ List สิ่งที่อาจจะเกิดในด้านลบได้สะดวกใจขึ้น
เทคนิคที่ 3 อย่าปล่อยให้ความขี้เกียจครอบงำ หลายครั้งเรา “ไม่กล้าคิด” เพราะ “ขี้เกียจแก้” คือบางคนไม่อยากมีปัญหามากในตอนวางแผนเพราะกลัวว่าเดี๋ยวงานจะเยอะขึ้นตอนออกจากห้องประชุม ทำให้ไม่กล้าที่จะชี้หรือมองปัญหาที่อาจจะเกิด เข้าข่ายเราแกล้งตายตอนเจอหมี คิดว่าหมีมันจะไม่รู้ ซึ่งเสี่ยงเกินไปกับปัญหาที่อาจจะเกิดกับงานของเรา ดังนั้นเราต้องไม่ปล่อยให้ความขี้เกียจมาอำพรางข้อสังเกตที่อาจจะเป็นปัจจัยของความสำเร็จหรือความล้มเหลวของทีมเป็นอันขาด
เทคนิคที่ 4 ทำ Risk Analysis ถึงจุดหนึ่งหากคำว่า “อาจจะระดับเทพ” คือมีความเสี่ยงที่มีมันหนักหนามาก ทีมต้องมานั่งทำสิ่งที่เรียกว่าการวิเคราะห์ความเสี่ยง หรือ Risk Analysis ว่าสิ่งที่อาจจะนั้นมีโอกาสบ่อยมั้ย หรือ มีผลประทบแรงแค่ไหน ถ้าช่วยกันคิดออกมาแล้วได้ว่าบ่อยและแรงอันนี้การบ้านหนักหน่อยที่จะต้องมาว่ากันต่อว่า “อย่างไร” ในหมวกเขียวที่จะใช้ในตอนต่อไป
เทคนิคที่ 5 ใช้แล้วก็ต่อยอด เวลาเราทำงานทุกคนจะ “เก่งขึ้น” โดยธรรมชาติ การใช้หมวกดำไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปตั้งต้นใน List เดิม ๆ เสมอไป เพราะทุกครั้งที่งานลักษณะเดียวกันนี้สำเร็จลง เราควรค้นหาวิธีการทำงานที่ดี (Good Practice) และ ถอดบทเรียน (Lesson Learn) มาเป็นต้นทุนเชิงประสบการณ์ เมื่องานใหม่เข้ามาก็มองหา “ความต่าง” แล้วค่อยไปใช้หมวกดำกับสิ่งที่ซับซ้อนขึ้นต่อไปได้เลย สุดท้ายพอประสบการณ์สูง ๆ ก็จะเรียกว่าเห็นทุกอย่างดั่งฝ่ามือตัวเองมองสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทะลุปรุโปร่งตั้งแต่ต้น ๆ เลยด้วยซ้ำ
เทคนิคเสริม หมวกดำจะเหมือนกับหมวกอื่น ๆ เพราะใช้หลักการระดมสมอง (Brainstorm) ดังนั้นตอนใช้โดยเฉพาะเวลาคิดหลาย ๆ คนก็ให้เก็บแนวคิดและความเป็นห่วงเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งตัดรอนแนวคิดใคร
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับการมองสิ่งที่พึงระวัง เหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่ายนะ ทั้งจะมองจะคิดและประคองตัวเองให้คิดอย่างมีคุณภาพ
สำหรับ Ministry of Leaning – The Series: อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ นี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขในการมองอนาคตอย่างระมัดระวัง แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี
เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

Link ที่เกี่ยวข้อง