Monday, December 2, 2013

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทอง......“กองทุนรวม… อีกหนึ่งทางเลือกการออมเงิน”


กองทุนรวมอีกหนึ่งทางเลือกการออมเงิน
เขียนโดย น.ส. สุวิภา ฉลาดคิด ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ

เมื่อเรามีวินัยในการออมเงิน เราก็จะเริ่มมีเงินเก็บ ทีนี้หล่ะ.. โอกาสที่จะบริหารเงินเก็บของเราให้งอกเงยก็มีเพิ่มมากขึ้น แต่เชื่อว่า ครูหลายท่านยังคงเลือกที่จะเก็บเงินไว้ในบัญชีธนาคาร ซึ่งดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นค่อนข้างน้อย และมักจะน้อยกว่าเงินเฟ้อเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น หากอยากทำให้เงินเก็บของเรางอกเงยเติบโต เราควรมองหาทางเลือกการออมเงินแบบอื่นที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

วลีที่ว่า “ให้เงินทำงานแทนเรา” ยังคงนำมาใช้ได้ เพราะการทำเงินเก็บให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนี่แหละ บางครั้งสำคัญมากกว่าการหารายได้มาใช้ในชีวิตประจำเสียอีก ความลับก็คือ “เคล็ดลับความรวยอยู่ที่วิธีการบริหารเงิน ไม่ใช่การหาเงิน  หากเรารู้ถึงพลังของดอกเบี้ยทบต้น ที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนที่ทบต้นไปเรื่อยๆ จนทำให้เราได้เงินเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ และหากเรารู้ถึงความสำคัญของระยะเวลาในการออมเงินว่า ออมก่อนรวยกว่า แล้วนั้น เราก็จะสามารถบริหารเงินออมของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

อีกหนึ่งวลีที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” ก็เป็นเรื่องจริงแท้แน่นอน ดังนั้น การลงทุนในอะไรก็ตาม เราต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ พอสมควร หากเราไม่รู้ นั่นก็คือความเสี่ยงและมีโอกาสที่จะขาดทุนได้ เพราะฉะนั้น การลงทุนผ่านกองทุนรวมจึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะอย่างน้อย กองทุนรวมก็มีมืออาชีพที่เรียนด้านนี้มาติดตามข้อมูลข่าวสารทุกวัน คอยดูแลเงินแทนเรา หน้าที่เราก็คือ ต้องเลือกกองทุนให้ถูกตัวถูกเวลา เนื่องจากกองทุนรวมในประเทศไทยมีหลายร้อยตัวให้เลือก เราจึงต้องพิจารณาจาก “ต้องการความเสี่ยงระดับไหน และผลตอบแทนแบบไหน?” แต่ถ้าแบบที่ต้องการคือ แบบไม่เสี่ยงและได้ผลตอบแทนเยอะๆ นั้น ต้องบอกเลยว่า.. ไม่มี! เพราะหลักการเรื่องความเสี่ยงก็คือ “อะไรที่ให้ผลตอบแทนสูงจะมีความเสี่ยงสูง อะไรที่มีความเสี่ยงต่ำจะให้ผลตอบแทนต่ำ

มาทำความรู้จักกองทุนรวมกัน*

กองทุนรวม คือ โครงการที่จัดตั้งขึ้น โดยการนำเงินของแต่ละคน ซึ่งถือเป็นนักลงทุนรายย่อยทั้งหลาย มากองรวมกันให้เป็นก้อนใหญ่ โดยผู้ลงทุนจะได้หน่วยลงทุนเป็นหลักฐานการมีส่วนร่วมในกองเงินดังกล่าว กองเงินนั้นๆ จะมีมืออาชีพทางด้านการลงทุน ทำหน้าที่ในการนำเงินไปลงทุน และเมื่อมีดอกผลจากการลงทุนก็จะนำมาเฉลี่ยกลับคืนให้กับผู้ที่ลงเงินไว้ในคราวแรก ทั้งนี้ กองทุนแต่ละกองทุนที่ถูกจัดตั้งขึ้นจะมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันไป แต่นโยบายการลงทุนของกองทุนหนึ่ง จะถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เช่น กองทุนหุ้นปันผล กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว เป็นต้น

ดอกผลที่เกิดจาการลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้น จะมีอยู่ 2 แบบ คือ หนึ่ง-เงินปันผล ซึ่งบางกองทุนจะมีนโยบายการจ่ายเงินปันผล บางกองก็อาจจะไม่มี แต่จะเก็บส่วนกำไรไว้ในรูปของมูลค่ากองทุนที่เพิ่มขึ้น สอง-ส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ หากกองทุนไม่ได้ปันผลออกมา แต่กำไรที่ได้จากการลงทุนก็จะถูกนำไปลงทุนเพิ่ม ซึ่งรวมอยู่ในมูลค่าสุทธิของกองทุนนั่นเอง

ส่วนประเภทของกองทุนรวมนั้น หากแบ่งตามลักษณะการจัดจำหน่ายและการรับซื้อคืน จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ กองทุนปิด และกองทุนเปิด โดยกองทุนปิด คือ กองทุนที่บริษัทจัดการจะไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนจนกว่าจะครบกำหนดอายุกองทุนรวม กองทุนประเภทนี้จะกำหนดจำนวนหน่วยลงทุนและอายุของกองทุนไว้แน่นอน ซึ่งกองทุนปิดมักจะเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ส่วนกองทุนเปิด คือ กองทุนที่บริษัทจัดการเปิดขายหน่วยลงทุนและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนจากผู้ลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการ เช่น เปิดทำการซื้อขายเดือนละครั้ง สัปดาห์ละครั้ง หรือทุกวันทำการ โดยทั่วไปอายุของกองทุนจะยาวหรือไม่มีกำหนดโครงการ

แต่หากแบ่งกองทุนออกไปตามชนิดการลงทุน จะสามารถแบ่งออกได้เยอะแยะมาก ตัวอย่างเช่น

·       กองทุนรวมตราสารทุน – ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก

·       กองทุนรวมตราสารหนี้ – เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน หรือ เงินฝากต่างๆ และแบ่งย่อยออกเป็น กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น และ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว

·       กองทุนรวมแบบผสม – จะเป็นแบบผสมทั้งหุ้นและตราสารหนี้ เช่น ลงทุนในหุ้น 40% ในตราสารหนี้ 60% โดยจะสลับสัดส่วนที่เหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจ

·       กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ – กองทุนรวมที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ตึกขนาดใหญ่ เพื่อปล่อยเช่าทั้งตึก แล้วนำค่าเช่ามาแบ่งปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุน หรือ ลงทุนในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงหนังขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมให้เช่า ฯลฯ

·       กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) – กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก และหุ้นบ้างเล็กน้อย โดยมีข้อดีคือ มูลค่าการลงทุนในแต่ละปี สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท (ไม่เกิน 15% ของรายได้) โดยเฉลี่ยจะได้ผลตอบแทนปีละ 3-5% แต่มีข้อเสียคือ ต้องไปไถ่ถอนตอนอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งทำให้มีสภาพคล่องต่ำมาก

·       กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) – กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น แต่ต่างจากกองทุนรวมหุ้นตรงที่วิธีซื้อขาย และมีสิทธิทางภาษีที่เหมือน RMF ตรงที่ มูลค่าหน่วยลงทุนที่ซื้อสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ และต้องถือครองเพียง 5 ปีปฏิทิน

·       กองทุนรวมอื่นๆ – เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ ฯลฯ

ประโยชน์จากการลงทุนกับกองทุนรวม

1.             มีมืออาชีพมาบริหารเงินให้ – การลงทุนในกองทุนรวม คือ การรวมเงินกัน แล้วนำไปจ้างมืออาชีพซึ่งก็คือ บลจ. (บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน จำกัด) มาบริหารให้ ในบลจ. จะมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะในเรื่องที่จะลงทุน เช่น หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาฯ หรือทองคำ โดยคนเหล่านี้อาจจะจบมาทางนี้ และมีการติดตามแนวโน้มการลงทุนต่างๆ อยู่ทุกวัน ซึ่งก็คงจะดีกว่าเราไปทำเอง ทั้งไม่รู้ และไม่มีเวลาไปติดตามข้อมูลแบบนั้น

2.             มีการกระจายความเสี่ยง – กองทุนมีเงินจำนวนมาก ซึ่งสามารถกระจายไปลงทุนในหลักทรัพย์หลายตัว เพื่อลดความเสี่ยง

3.             มีสภาพคล่องดี – สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวัน หรือได้ทุกครั้งที่เราต้องการเงินมาใช้

4.             มีทางเลือกมากมาย – แต่ละธนาคารก็มักมีบลจ. เป็นบริษัทในเครือ ที่ขายกองทุนมากกว่า 30 ประเภทให้เราได้เลือกในแบบที่มีผลตอบแทน และความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเราเอง

5.             มีสิทธิทางภาษี ได้ลดหย่อนภาษี – นอกจากจะได้กำไรจาการลงทุนแล้ว ยังได้กำไรจากภาษีที่ได้ลดด้วย

           ทั้งนี้ ในการที่จะเลือกลงทุนในกองทุนรวมใดๆ เราต้องศึกษาข้อมูลกองทุนรวมนั้นๆ จากหนังสือชี้ชวน ซึ่งจะมีรายละเอียดทั้งหมดของโครงการกองทุนรวมแสดงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุน ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ คำเตือน หรือความเสี่ยง ดังนั้น จึงถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่ต้องอ่านและศึกษาอย่างละเอียด เพื่อช่วยสร้างภูมิป้องกันความผิดพลาดจากการลงทุน

นอกจากนี้ การลงทุนที่ได้ผลจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตของแต่ละบุคคลด้วย ดังนั้น ควรสำรวจเป้าหมายชีวิตของตนเองให้ชัดเจนและจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของเป้าหมายนั้นๆ แล้วจึงนำมาใช้เป็นโจทย์ในการวางแผนทางการเงินของตนเอง

สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอก็คือ ความรู้ เพราะความเสี่ยงที่สุดก็คือ ความไม่รู้และความไม่เข้าใจในสิ่งที่เราลงทุนจริงๆ หรือมีประสบการณ์น้อย ทำให้มีความเสี่ยงมาก ในขณะที่ผลตอบแทนที่จะได้อาจไม่ได้เพิ่มตาม ซึ่งส่งผลทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้น หากคิดที่จะลงทุนแล้ว ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านการเงินการลงทุนอยู่เสมอ จะได้มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจเลือกการลงทุนได้อย่างเหมาะสม และสามารถทำให้เงินเก็บงอกเงยได้อย่างแท้จริง

 
*แหล่งที่มาของข้อมูล: หนังสือ “บริหารเงินเก็บผ่านกองทุนรวม” โดย มนตรี แสงเดชา

 

 

 

Wednesday, November 6, 2013

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ .....“มือใหม่หัด สมัคร บัตรเครดิต”


มือใหม่หัด สมัคร บัตรเครดิต

เขียนโดย น.ส. ปาริชาติ แสงทอง ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ
 
                หลายๆ คนคงคุ้นหูกับคำว่า “รูดปื๊ด..รูดปื๊ด!” นั่นเป็นเสียงที่เกิดขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเครดิต ซึ่งบัตรเครดิตนั้น มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ทำให้เราซื้อสินค้าและบริการได้โดยที่ยังไม่ต้องจ่ายเงินทันที สามารถถอนเงินสดมาใช้จ่ายได้ในยามฉุกเฉิน และยังสะสมคะแนนเพื่อแลกรับของรางวัลต่างๆ เป็นต้น

การสมัครบัตรเครดิตนั้น ผู้สมัครซึ่งเป็นบัตรหลักจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน โดยผู้ออกบัตรจะให้วงเงินได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ หรือมีทรัพย์สินอื่น เช่น เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ หรือการลงทุนในกองทุนรวม ตามจำนวนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งวงเงินที่ได้รับอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่ประเภทของทรัพย์สิน
                อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจสมัครทำบัตรเครดิต ควรอ่านรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ของผู้ออกบัตรแต่ละแห่ง เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบ ได้แก่
·       ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี และเงื่อนไขการขอยกเว้นค่าธรรมเนียม
·       ระยะเวลาชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษเฉพาะผู้ที่จ่ายเงินคืนเต็มจำนวนเท่านั้น (กรณีชำระคืนยอดซื้อสินค้าและบริการเพียงบางส่วนหรือเบิกเงินสดมาใช้ จะไม่ได้รับสิทธิ์ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย)
·      วันที่เริ่มคิดดอกเบี้ย ในการเบิกเงินสดผู้ออกบัตรจะเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ถอนเงิน ขณะที่การซื้อสินค้าและบริการ หากชำระไม่เต็มจำนวนผู้ถือบัตรก็ต้องเสียดอกเบี้ยด้วย ซึ่งผู้ออกบัตรแต่ละแห่งมีการคิดดอกเบี้ยที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เริ่มคิดจากวันที่ผู้ออกบัตรสำรองจ่ายเงินให้แก่ร้านค้า วันสรุปยอดรายการ หรือวันที่ต้องชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ แต่โดยทั่วไปจะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ผู้ออกบัตรสำรองจ่ายเงินให้แก่ร้านค้า

·       การผ่อนชำระเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 10% ของยอดคงค้างทั้งสิ้น

·      เงื่อนไขการนำบัตรเครดิตไปใช้ในต่างประเทศ จะมีค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินประมาณ 2-2.50%* ของยอดใช้จ่ายและเบิกถอนเงินสด (คำนวณรวมในอัตราแลกเปลี่ยนที่แสดงในใบแจ้งหนี้แล้ว) ในกรณีที่มีการคืนสินค้า แม้จะคืนภายในวันที่ซื้อ ผู้ถือบัตรอาจต้องรับผลขาดทุนจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพราะอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้คำนวณค่าสินค้าอาจเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาการซื้อและคืนสินค้า ซึ่งท่านอาจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตรได้

·       ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม รวมกันไม่เกิน 20% ต่อปี ในกรณีถอนเงินสดจะมีค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสดไม่เกิน 3% ของจำนวนเงินที่เบิกถอน และหากผิดนัดชำระหนี้ก็อาจมีค่าติดตามทวงถามหนี้ด้วย

·       สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ติดมากับบัตร เช่น การสะสมคะแนนแลกของรางวัล ส่วนลดร้านอาหาร ที่จอดรถพิเศษในห้างสรรพสินค้า ฯลฯ

·      รายละเอียดอื่นๆ  เช่น จุดบริการรับชำระเงิน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง การสมัครบัตรเสริมและภาระหน้าที่ของผู้ถือบัตรหลักที่มีต่อบัตรเสริม การทำบัตรใหม่หากบัตรหาย รวมถึงการขอยกเลิกบัตร เป็นต้น

สุดท้าย ขอฝากเป็นข้อคิดเตือนใจให้กับผู้ที่จะก้าวเข้ามาเป็นมือใหม่หัดสมัครบัตรเครดิตทุกท่านได้ทราบว่า ทุกอย่างที่มีคุณประโยชน์ล้วนมีโทษด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น การใช้บัตรเครดิตจะมีประโยชน์กับผู้ที่ถือบัตรก็ต่อเมื่อ ผู้ถือบัตรมีสติรู้จักใช้อย่างชาญฉลาดและถูกวิธี มีวินัยในการใช้จ่าย รวมทั้งสามารถประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองได้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นการก่อหนี้ให้กับตนเองโดยไม่จำเป็น


*แหล่งที่มาของข้อมูล: ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศศง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ......เสริมนิสัยการอด...ช่วยสร้างนิสัยการออมได้จริงหรือ?


เสริมนิสัยการอด...ช่วยสร้างนิสัยการออมได้จริงหรือ?

เขียนโดย น.ส. ปาริชาติ แสงทอง ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ และ

นายณรงค์ บุญจงรักษ์ นักศึกษาฝึกงาน

แรกเริ่มเดิมที... นิสัย “ใช้ก่อนคิด”

ขอย้อนเวลากลับไปเมื่อครั้งที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย ผมจะได้เงินจากทางบ้านมาเป็นรายอาทิตย์ ซึ่งผมต้องบริหารจัดการเอง แต่ด้วยนิสัยชอบใช้เงินไปวันๆ ไม่มีการวางแผนการใช้เงิน อยากได้อะไรก็ต้องได้ เป็นการใช้เงินที่ได้มาด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผลอยู่เสมอ และเพราะผมคิดว่ายังเรียนอยู่และมีที่บ้านให้การช่วยเหลือ ทำให้การบริหารจัดการเงินรายอาทิตย์ที่ได้มาของผมนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าใดนัก หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ “ติดลบทุกอาทิตย์! แต่ก่อนผมมีวิธีการแก้ไขปัญหาเงินติดลบทุกอาทิตย์ของผมอยู่ 2 วิธี คือ หนึ่ง-ขอที่บ้านเพิ่ม ซึ่งโดยมากจะตามมาด้วยเสียงบ่น แต่สุดท้ายก็ให้ตามที่ผมขอ และวิธีที่สอง-ยืมเพื่อน โดยผมจะเป็นคนกำหนดเองว่าจะคืนเมื่อไหร่ แต่ผมต้องรักษาคำพูดให้ได้เนื่องจากถ้าผมไม่สามารถทำได้จะสร้างความลำบากในการยืมเพื่อนครั้งต่อไป อันจะเห็นได้ว่าชีวิตช่วงนั้นของผมเป็นวัฏจักรการใช้ชีวิตอยู่บนความอยากได้และตามมาด้วยการเป็นหนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้น แต่มันก็ผ่านไปได้ทุกเดือนโดยที่ผมไม่ได้คิดอะไร...

งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข

วิกฤติการเงินเริ่มเข้ามาในชีวิตผม เมื่อครอบครัวของผมต้องสูญเสียบิดาอันเป็นที่รักไป ทำให้รายได้หลักที่เคยมาจากครอบครัวต้องลดลง ของที่เคยมีต้องเริ่มนำออกไปขายเพื่อเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินเพื่อใช้จ่ายภายในครอบครัว ครั้งนั้นเองที่ทำให้ผมเรียนรู้ที่จะ “สร้างนิสัยการอด” เพราะตอนนั้นผมเริ่มมองเห็นอนาคตของตนเองแล้วว่า หากไม่รู้จักอดในสิ่งที่อยากได้และยังคงใช้ชีวิตเรื่องการเงินโดยไม่คิดอย่างที่ผ่านมา ผมคงไม่มีเงินส่งตนเองเรียนจนจบได้อย่างแน่นอน ผมจึงเริ่มสร้างนิสัยใหม่ๆ ให้กับตนเอง อันมีหลักง่ายๆ คือ อดของที่ไม่จำเป็น และหางานทำเพื่อเพิ่มรายได้ เนื่องจากตอนนั้นผมเรียนอยู่ภาคสมทบเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ ดังนั้นวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ผมจึงหางาน part-time ทำเพื่อหาเงินเพิ่ม ผมเลือกทำงานที่ผมชอบและถนัดนั่นคือการร้องเพลง ผมเริ่มเดินสายรับจ้างร้องเพลงตามร้านอาหารเล็กๆ ตอนกลางคืน...

เตือนสติตัวเองด้วยการจด จด จด

การพยายามดัดนิสัยการใช้เงินของผมนั้น แรกๆ ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ผมยังคงใช้เงินเดือนชนเดือนอยู่ เนื่องจากยังคงติดนิสัยการใช้จ่ายแบบไม่ค่อยคิดและที่สำคัญลืมครับ! ว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้างในแต่ละวัน จึงเริ่มคิดได้ว่า ในเมื่อสมองที่มีความจำแบบปลาทองอย่างผม.. คงต้องเริ่มจดบันทึกบัญชีกันบ้างแล้วเริ่มจากเมื่อได้เงินมา ผมจะจดบันทึกในสมุดเล่มเล็กๆ ไว้ว่าผมได้เงินมาเท่าไหร่ และผมใช้จ่ายอะไรไปบ้างในแต่ละวัน เชื่อมั้ยครับว่า นอกจากมันทำให้ผมไม่ลืมแล้วว่าผมใช้อะไรไปบ้างในแต่ละวัน มันยังทำให้ผมทราบว่าผมใช้จ่ายส่วนใหญ่ไปกับอะไรบ้าง ดังนั้นผมจึงเริ่มที่จะปรับลดค่าใช้จ่ายที่แสนจะไร้สาระเหล่านั้นลงทีละเล็กทีละน้อย...

การอดสร้างการออม

                ผลของการอดในสิ่งที่ผมอยากได้และไม่จำเป็นนั้นเริ่มสัมฤทธิ์ผล เมื่อผมเริ่มที่จะแบ่งเงินที่ผมต้องใช้ออกเป็นส่วนๆ หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือมีการวางแผนการใช้เงินครับ เมื่อผมได้เงินเดือนจากการร้องเพลงมา ผมจะนำเงินไปออมโดยวิธีฝากธนาคารเพื่อเก็บไว้เป็นค่าเทอมประมาณร้อยละ 30 ของเงินที่ผมได้มา จากนั้นอีกร้อยละ 70 ที่เหลือผมจะนำไปใช้จ่ายโดยแยกประเภทค่าใช้จ่ายออกเป็นส่วนๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทางไปทำงานและไปเรียน ค่าของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เป็นต้น เมื่อมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายก็จะนำไปหยอดกระปุก เมื่อกระปุกเต็มแล้วก็จะนำไปฝากธนาคาร ดังนั้น การเสริมนิสัยการอด และสร้างนิสัยการออมให้กับตนเองของผม ทำให้ในที่สุดแล้ว.. ผมสามารถเรียนปริญญาตรีจนจบได้ด้วยเงินซึ่งอดและออมอย่างอดทนมาด้วยตนเอง

Monday, September 9, 2013

Talking about Development: พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ


 
Joining with friends and family to meet financial goals

By John DaSilva, Senior Manager for Project Development, Kenan Institute Asia

 
Everyone knows that saving money is never easy.  In addition to rising living costs, an array of new consumer products and other temptations are constantly putting a strain on household budgets.

To deal with this, there is a lot of expert advice on how to save money – some of which you learned in the Citi-K.I.Asia Teacher’s Money Sense project, a financial literacy training, you went through.  Suggestions such as make a budget and stick to it, understand wants versus needs, etc. Perhaps you have gone further and made important costs reductions in your life, such as checking your mobile phone plan to make sure you are not spending too much, or being sure to unplug appliances when not in use to save money on your electric bill. All of these are important and can help put you on the road to financial freedom.  But there is one piece of advice that may rank above all others in determining how well you meet your financial goals – this is having a good support system.

There is a good deal of evidence now that shows the company we keep – family, friends, co-workers – plays a key role in how well we can delay gratification – save money for the future instead of spending it today.  If we spend time with people who eat too much, we will likely eat too much.  If we spend time with people who drink too much, we are likely to drink too much.  The same goes with spending.  If we are with people who continually put pressure on us to spend money, then we are likely to spend money too.  Thankfully, there is a way to turn this behavior to your advantage.  And that is by finding people with similar financial goals and establishing a support system with them to help limit spending and encourage saving. 

So why not form a savings club with like-minded friends and family today.  Meeting regularly, you can support each other and help work toward good financial behavior.  Additionally, group members can exchange money saving tips, pool resources to buy items in bulk and potentially develop join investments.  There are many possibilities.  The first step is to talk to people you know and see if they are keen to save money.  Then, form a group with clearly stated goals, followed by a buddy system to lend support when under pressure to make bad financial decisions.  Finally, establish a meeting schedule and stick to it.  Such a plan is the basis of most successful behavior change strategies – and can greatly increase your chances of meeting your financial objectives.

Thursday, August 1, 2013

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ.....เป็นลูกหนี้อย่างฉลาด


เป็นลูกหนี้อย่างฉลาด

เราอาจคุ้นเคยกับคำว่า “เก็บเงินซื้อของ”  แต่เมื่อเรามีภาระที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง และหลายอย่างนั้นมีความจำเป็นต้อง “ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง” (เครดิต) ดังนั้น เราจะมีวิธีในการบริหารการเงินของตนเองอย่างไร เพื่อให้เราเป็นลูกหนี้อย่างฉลาด

ท่ามกลางสภาวะปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า คนส่วนใหญ่มีสถานะเป็นลูกหนี้กันเกือบทั้งนั้น เมื่อจำเป็นต้องใช้เงินแต่ไม่มีเงินก็มักจะนึกแค่ว่า เราจะยืมเงินใครดี? หรือไม่มีเงินผ่อนได้ไหม? ทำให้กลายเป็น “เศรษฐีเงินผ่อน” กันทั่วเมือง ใครอยากจะได้อะไรก็กู้เงินมาซื้อ แล้วผ่อนเป็นรายเดือนแทน ดังนั้น การเป็นลูกหนี้จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด บางคนหากผ่อนไปเยอะๆ เข้า อาจต้องเจอโรคเครียด เพราะหาเงินค่าผ่อนชำระไม่ทันตามกำหนด ต้องผ่อนโน่น ผ่อนนี่ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ตู้เย็น ทีวี เครื่องเสียง แถมยังมีรถยนต์อีกต่างหาก ได้เงินเดือนมายังไม่ทันได้ใช้เงินให้ชื่นใจ ก็ต้องเอาไปจ่ายเจ้าหนี้ซะแล้ว

ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่า ทำอย่างไรลูกหนี้อย่างเราทั้งหลายจึงจะไม่เกิดปัญหาตามมาหลังการกู้ คำตอบก็คือ เป็นลูกหนี้อย่างฉลาดนั่นเอง

ก่อนจะทราบวิธีว่าเป็นลูกหนี้อย่างฉลาดทำกันอย่างไร ทราบหรือไม่ว่าลูกหนี้ไม่ได้เงินมาฟรีๆ หากแต่ต้องจ่ายคืนเจ้าหนี้ทั้งต้นทั้งดอก ดอกเบี้ยที่จ่ายจะมากหรือน้อยขึ้นกับระยะเวลา ยิ่งนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งจ่ายดอกเบี้ยเยอะเท่านั้น ดอกเบี้ยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ มากน้อยขึ้นกับเจ้าหนี้เป็นผู้กำหนด

การเป็นลูกหนี้อย่างฉลาดต้องรู้ก่อนว่า เงินกู้นั้นมีกี่ประเภท แต่ละประเภทเหมาะกับเราหรือไม่ หากจะกู้ต้องกู้แบบไหนและเท่าไหร่จึงจะพอ...

เงินกู้มีกี่ประเภท? เงินกู้หรือเรียกอีกชื่อว่า “สินเชื่อ” สามารถแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ สำหรับกู้ยืมเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ดังนี้

·       สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านและที่ดิน

ในการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อซื้อบ้านและที่ดิน โดยใช้บ้านและที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยธนาคารจะคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก หมายความว่า ดอกเบี้ยจะถูกคิดตามเงินต้นที่ค้างชำระอยู่ และดอกเบี้ยจะลดลงเรื่อยๆ ตามเงินต้นที่ลดลง  ยิ่งผู้กู้ผ่อนชำระเร็วมากเท่าใดก็จะนำไปลดเงินต้นได้มากขึ้นเท่านั้น สำหรับสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านและที่ดิน ธนาคารมักส่งเสริมการขายโดยกำหนด อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่ำในช่วงแรกในระยะเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราต่ำสุดเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate หรือ MLR) เช่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2% ในปีแรก 3% ในปีที่สอง หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปีจนครบอายุสัญญา เป็นต้น

·       สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

ในการกู้ยืมเงินบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังคงเป็นของบริษัท จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้หมด โดยจะคำนวณดอกเบี้ยแบบรวมเงินต้น คือนำเงินต้นและดอกเบี้ยมารวมกัน แล้วนำมาแบ่งเฉลี่ยเป็นรายงวดเท่าๆ กันทุกงวดตลอดอายุสัญญา ซึ่งผู้กู้จะต้องผ่อนจ่ายทุกงวดเท่ากัน อัตราดอกเบี้ยที่คิดเป็นอัตราคงที่ โดยที่เงินต้นคงเดิมไม่ว่าจะผ่อนเป็นระยะเวลาเท่าใด ดังนั้นแม้ผู้กู้จะผ่อนชำระเร็วขึ้นจากที่กำหนดในสัญญาก็ไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ เนื่องจากจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายถูกกำหนดไว้แล้ว เงินกู้ประเภทนี้จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเปอร์เซ็นต์คงที่ต่อปี เช่น 4% ต่อปี หรือ 4.25% ต่อปี หรือ 4.75% ต่อปี เป็นต้น

·       สินเชื่อส่วนบุคคล

ในการกู้ยืมเพื่อบริโภคเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ได้แล้วแต่ผู้กู้ เช่น กู้ยืมเพื่อซื้อโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องเสียง เพื่อการท่องเที่ยวหรือเพื่อการศึกษา โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน การคำนวณดอกเบี้ยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ คำนวณแบบลดต้นลดดอก และคำนวณแบบรวมเงินต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคารและสถาบันการเงิน ปัจจุบันธนาคารและสถาบันการเงินมักจะคำนวณดอกเบี้ยแบบรวมเงินต้น โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อเดือน เช่น 0.8% ต่อเดือน หรือ 1% ต่อเดือน เป็นต้น ผู้กู้สามารถเลือกผ่อนชำระเป็นรายงวด (รายเดือน) ตามระยะเวลาใดขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้กู้ เช่น 12 งวด 24 งวด เป็นต้น

·       สินเชื่อบัตรเครดิต

                               เป็นการกู้ยืมอีกรูปแบบหนึ่งแต่แตกต่างจากการกู้ยืมทั่วไป เนื่องจากบัตรเครดิตมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย หากผู้ถือบัตรชำระเงินในช่วงระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยครบจำนวน ผู้ถือบัตรก็จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ในขณะที่สินเชื่อประเภทอื่นๆ คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรกที่เริ่มกู้ และบัตรเครดิตมีไว้ซื้อสินค้าเพื่อความสะดวกไม่ใช่เพื่อถอนเงินสดล่วงหน้า

“แล้วจะเลือกกู้ประเภทไหนดีจึงจะเหมาะกับเรา?”

                การจะกู้เงินเพื่อซื้อสินค้าอะไรสักอย่าง ต้องดูความพร้อมของผู้กู้เป็นสิ่งสำคัญ วัตถุประสงค์ของการใช้เงิน ความสามารถในการผ่อนชำระซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมถึงลักษณะนิสัยของผู้กู้แต่ละบุคคล

                หากท่านต้องการซื้อบ้าน ต้องศึกษาสินเชื่อบ้านแต่ละธนาคารว่า จะซื้อบ้านราคาเท่าไหร่และกู้เงินเท่าไหร่ โดยพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระของท่าน ทั้งระยะเวลาและจำนวนเงินต่อเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ควรมีรายได้ต่อเดือนมากกว่าอัตราการผ่อนต่อเดือนสูงถึง 3 เท่าของท่านและผู้กู้ร่วม และอัตราผ่อนชำระต่อเดือนไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้ ควรพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แต่ละธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน สำหรับผู้กู้ที่มีรายได้แน่นอน ไม่ชอบเสี่ยง ก็ควรจะเลือกโปรแกรมที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะเวลานาน หากบางคนกล้ายอมรับความเสี่ยงก็อาจจะเลือกโปรแกรมที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วง 1-2 ปีแรก หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยสามารถรับความเสี่ยงได้ หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น

                หากท่านต้องการซื้อรถยนต์ ควรศึกษารายละเอียดของบริษัทเช่าซื้อรถยนต์อย่างละเอียด และคำนึงไว้เสมอว่าอัตราดอกเบี้ยรถยนต์นั้นเป็นแบบรวมต้น นั่นคือ การนำเงินต้นและดอกเบี้ยมารวมกัน แล้วนำมาแบ่งเฉลี่ยเป็นรายงวดเท่าๆ กันตลอดอายุสัญญา หากต้องการทราบว่าจะหาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของรถยนต์ได้อย่างไร ก็สามารถคำนวณเบื้องต้นแบบประมาณกันง่ายๆ คือ

อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์แบบรวมต้น x 2 เท่า = อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง
 
                  เช่น อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์เท่ากับ 4.00% ต่อปี เทียบเท่ากับ 4.0%x2 = 8% ต่อปี นั่นเอง

                หากท่านต้องการซื้อความสุขของท่าน ปัจจุบันมีสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ มากมายให้เลือก โดยไม่ต้องเหนื่อยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงแค่มีรายได้ประจำต่อเดือนก็สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ วงเงินกู้สูง เรียกว่า กู้ง่าย-จ่ายคล่อง อนุมัติรวดเร็ว โดยวงเงินจะอยู่ที่ประมาณ 5 เท่าของเงินเดือน เลือกผ่อนชำระกี่งวดได้ตามความต้องการ

                อย่างไรก็ตาม สินเชื่อส่วนบุคคลบางประเภทคิดดอกเบี้ยแบบรวมต้นในอัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อเดือน บางประเภทคิดดอกเบี้ยแบบลดต้น ลดดอก คิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวตามสภาวะตลาด ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดี-ข้อเสียในตัวมันเอง แบบรวมต้นไม่ว่าจะผ่อนเร็วขึ้นเท่าไร เงินต้นก็ไม่เปลี่ยนแปลงเพราะถูกกำหนดไว้แน่นอนอยู่แล้ว แบบลดต้นลดดอกยิ่งผ่อนเร็วเท่าไร ยิ่งลดเงินต้นเร็วเท่านั้น

                ดังนั้น ท่านจึงควรศึกษาอย่างรอบคอบก่อนกู้เงินทุกครั้งและดูความเหมาะสมของท่านเป็นหลัก ไม่ควรกู้เงินจำนวนมากโดยที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ จะเห็นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องยากเพียงศึกาหลักเกณฑ์ให้ละเอียด หาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อรู้ทันกับความเป็นไปของสินเชื่อประเภทต่างๆ เข้าใจว่าดอกเบี้ยทำงานอย่างไร และรู้จักความสามารถในการหารายได้และการชำระหนี้ของตนเอง เพียงเท่านี้ก็สามารถเป็นลูกหนี้อย่างฉลาดได้แล้ว

Wednesday, July 10, 2013

Talking about development....พูดถึงเรื่องเงินๆทองๆ


 
ฝากเงินแบบไหนดี...ที่เหมาะกับตัวคุณ
 


เขียนโดย น.ส. สุวิภา ฉลาดคิด ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ และ
น.ส. ศรีไพร ศรีพนมวรรณ นักศึกษาฝึกงานภายใต้โครงการซิตี้-ครูไทยพอเพียง
 

คุณครูบางท่านอาจจะออมเงินโดยการหยอดกระปุกหรือแอบซ่อนเงินไว้ตามที่ต่างๆภายในบ้าน ซึ่งบางครั้งก็จำไม่ได้ว่าเก็บเงินซ่อนเอาไว้ที่ไหนบ้าง ที่แย่กว่านั้นคือ เงินที่เราซ่อนไว้อย่างดีอาจหายได้หากใครบังเอิญเจอแล้วหยิบไปโดยที่เราไม่รู้ ที่สำคัญวิธีการออมเงินแบบนี้ไม่ได้ช่วยทำให้เงินของเรางอกเงยขึ้นมาเลย เก็บเงินไว้จำนวนเท่าไหร่ ก็ยังคงเป็นจำนวนเท่าเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยิ่งเวลาผ่านไป มูลค่าของเงินจะลดลงด้วยซ้ำ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทุกวันๆ เพราะฉะนั้น เราควรมองหาทางเลือกอื่นในการเก็บออมเงินกันดีกว่า

หนึ่งในทางเลือกสำหรับการออมเงินที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดี ก็คือ การฝากเงินในธนาคาร ซึ่งก็มีบริการรับฝากเงินอยู่หลายประเภท แต่คนส่วนใหญ่มักจะเลือกฝากเงินในประเภทออมทรัพย์เพียงอย่างเดียว ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับเงินฝากประเภทต่างๆ ของธนาคาร รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากประเภทนั้นๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของเราที่แตกต่างกันให้มากขึ้นกันเถอะ

·       เงินฝากประเภทออมทรัพย์

เป็นการฝากเงินที่มีสภาพคล่องสูง โดยสามารถฝากและถอนเมื่อใดก็ได้ และไม่มีการจำกัดจำนวนเงินฝาก ยกเว้นการเปิดบัญชีครั้งแรก จะกำหนดเงินฝากขั้นต่ำ 500 บาท นอกจากนี้ ยังมีความสะดวกในการเบิกถอนด้วยบัตร ATM หรือบัตรเดบิต การออมทรัพย์ประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินระยะสั้น และมีการหมุนเวียนเงินใช้จ่ายประจำ การฝากเงินแบบออมทรัพย์จะได้รับดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้งเท่านั้น โดยดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.75

·       เงินฝากประเภทประจำ

เงินฝากประเภทนี้เป็นการฝากเงินแบบมีระยะเวลากำหนด โดยธนาคารจะจ่ายเงินคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยทั่วไปมักแบ่งเป็นประเภท 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน และ 36 เดือน ซึ่งจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน และสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ระหว่างร้อยละ 1.60-3.35 โดยธนาคารจะมีการกำหนดจำนวนเงินฝากขั้นต่ำเอาไว้ด้วย
·       เงินฝากประเภทประจำแบบปลอดภาษี/ทวีทรัพย์

เป็นเงินฝากประจำที่รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีจากรายได้ดอกเบี้ยเงินฝาก (ธนาคารไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย) เมื่อฝากเงินเป็นรายเดือนเท่ากันทุกเดือนจนครบ 24 เดือน หรือ 36 เดือน เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยในการออมเงินเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง โดยธนาคารจะกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท ซึ่งมีสิทธิผิดนัดในการนำเงินเข้าบัญชีได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ทั้งนี้ สามารถเปิดบัญชีประเภทฝากประจำแบบปลอดภาษีได้เพียงหนึ่งบัญชี ต่อหนึ่งคนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินใดก็ตาม

·       เงินฝากประเภทกระแสรายวัน

เงินฝากประเภทนี้เป็นเงินฝากที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในธุรกิจ หรือเหมาะกับผู้ที่มีเงินหมุนเวียนเป็นประจำ โดยปกติบรรดาผู้ประกอบการจะใช้บัญชีนี้ในการออกเช็คเพื่อชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในกิจการของตนเอง และสามารถใช้วงเงินเบิกเกินบัญชี (โอดี) ได้เพื่อเพิ่มความคล่องตัว ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องทำเรื่องกู้เพื่อขอวงเงินนี้จากทางธนาคาร ทั้งนี้ เงินที่เข้าออกผ่านบัญชีนี้ธนาคารจะไม่ถือว่าเป็นเงินฝากของธนาคาร เนื่องจากเป็นเงินที่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา

·       สลากออมสิน

เป็นรูปแบบหนึ่งของการออมเงินที่ให้คุณฝากเงินกับทางธนาคาร พร้อมมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลต่างๆ มากมายได้เหมือนกับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเลยทีเดียว แต่การชื้อสลากออมสินนั้น หากไม่ถูกรางวัล จะไม่สูญเสียเงินต้น แถมยังจะได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารกำหนดอีกด้วย เช่น สลากออมสินพิเศษ 3 ปี จะได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 2.75 ต่อปี เป็นต้น

ประเภทบัญชี

รายละเอียด

ฝาก

ถอน

ระยะเวลา

จำนวนเงิน

ดอกเบี้ย

ภาษี

ATM

ออมทรัพย์ / สะสมทรัพย์

ฝาก ถอน ออมเงิน หมุนเวียนบัญชีได้อย่างคล่องตัว

บ่อยเท่าที่ต้องการ

บ่อยเท่าที่ต้องการ

ไม่กำหนด

ไม่จำกัด

ต่ำสุด / ลอยตัว
(0.70 - 2.75%)

15%

มี

ฝากประจำ

ออมเงินตามกำหนดเวลา เงินก้อนผลิดอกออกผล รับดอกเบี้ยสูงกว่าในอัตราที่แน่นอน

บ่อยเท่าที่ต้องการ

ตามกำหนด

3, 6, 12, 24, 36 เดือน

ขั้นต่ำ

สูงกว่าฝาก
ออมทรัพย์  / คงที่

15%

ไม่มี

ทวีทรัพย์ / ปลอดภาษี

ฝากในจำนวนเท่าๆกันทุกเดือน รับดอกเบี้ยสูงกว่า และรับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ย

จำนวนเงินที่เท่ากัน
ทุกเดือน ตามที่กำหนด

ตามกำหนด

24, 36 เดือน

ขั้นต่ำ

สูงกว่าฝาก
ออมทรัพย์  / คงที่

ไม่มี

ไม่มี

กระแสรายวัน

สะดวกปลอดภัยกับบัญชีที่สั่งจ่ายผ่านเช็ค

บ่อยเท่าที่ต้องการ

บ่อยเท่าที่ต้องการ

ไม่กำหนด

ขั้นต่ำ

ไม่มี

ไม่มี

มี

สลากออมสิน

ฝากเงินกับทางธนาคาร รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด พร้อมมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลต่างๆ

ตามแต่ละช่วงที่ธนาคารเปิดขายสลาก

ตามกำหนด

3 ปี, 5 ปี, พิเศษอื่นๆ

3 ปี: 50 บาท/หน่วย
5 ปี: 100 บาท/หน่วย

คงที่
3 ปี: 2.75%

ไม่มี ยกเว้นได้รับรางวัลพิเศษ

ไม่มี


 


           เมื่อพูดถึงการออมเงินแล้ว ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องศึกษาหาทางเลือกในการออมเงินที่เหมาะสมกับความต้องการของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากแต่ละประเภท ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร หากเรามีความรู้ทางด้านการเงินที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว เราก็จะสามารถทำให้เงินออมของเราเพิ่มพูนขึ้นตามไปด้วย ถ้าให้ผู้เขียนแนะนำการฝากเงินในธนาคาร ผู้เขียนแนะนำว่าอย่างน้อยทุกคนควรจะมีการฝากเงินประเภทประจำแบบปลอดภาษีไว้สักหนึ่งบัญชี เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีดอกเบี้ยแล้ว ยังเป็นการสร้างวินัยการออมเงิน และทำให้เรามีเงินเก็บเป็นก้อนในอนาคตได้อีกด้วย