Sunday, December 18, 2016

หลักการใช้ KPIs ที่ถูกต้อง

หลายท่านรู้จักและคุ้นเคยกับ KPIs – Key Performance Indicators แล้วว่าเป็นเครื่องมือในการบริหารที่สำคัญอย่างไร เพราะ KPIs เป็นเครื่องนำทางที่จะบอกว่าองค์กรเรากำลังขับเคลื่อนไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่และไปได้ดีแค่ไหน เพราะข้อมูลที่เราเห็นจาก KPIs จะถูกใช้ในการ “ตัดสินใจ” ว่าเราจะไปทางไหนต่อซึ่งสำคัญกับความอยู่รอดขององค์กรเป็นอย่างยิ่ง


ฉบับนี้อยากจะชวนคุณผู้อ่าน โดยเฉพาะผู้บริหารหรือผู้ประกอบมีธุรกิจส่วนตัวมาลองสะท้อนกันดูสักหน่อยว่า เรากำลังใช้ KPIs ถูกต้องตามหลักการหรือไม่โดยการสรุปสิ่งที่ “ควร” และ “ไม่ควร” ปฏิบัติเกี่ยวกับ KPIs จากหนังสือ 25 Need to Know – Key Performance Indicators เขียนโดย Bernard Marr ออกมาให้ลองพิจารณา KPIs ที่มีใช้กันอยู่ง่าย ๆ ตามนี้

ขอเริ่มจาก สิ่งที่ควรปฏิบัติ ก่อน ซึ่งมี 5 ข้อดังต่อไปนี้

ประการแรก KPIs ต้องเริ่มจากยุทธศาสตร์องค์กร โดยหลักการแล้วทุกองค์กรจะต้องมียุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสภาวะการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี เช่นปีนี้ยุทธศาสตร์ของเราต้องการต้องการเพิ่มกำไร เพิ่มยอดขาย ขยายฐานลูกค้า เน้นการซื้อซ้ำ เสริมผลิตภาพหน่วยงาน หรือ ขายศักยภาพของบุคลากร อะไรก็ได้ที่เป็นสิ่งที่เห็นว่าเลือกแล้วจะมาเสริมให้องค์กรของเราเกิดความโดดเด่นและก้าวหน้าตามเป้าหมาย (Goals) ที่วางไว้ เพราะหากยุทธศาสตร์ขาดความชัดเจน ตัวชี้วัดก็จะมั่วไปหมด แบบนี้ก็จะควบคุมอะไรยาก


ประการที่สอง ตั้งคำถามสำคัญที่อยากรู้ เมื่อยุทธศาสตร์มาแล้วก็ต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ยุทธศาสตร์นั้น ๆ จะประสบความสำเร็จได้จากองค์ประกอบอะไร ศัพท์เทคนิคเรียก Key Performance Questions ยกตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์ขององค์กรเราในปีนี้ ต้องการเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ดังนั้นคำถามของสำคัญที่เราต้องทราบ คือ ลูกค้าของเราจะแนะนำสินค้า/บริการของเราให้กับเพื่อนระดับไหน? เพราะพอเราได้คำถามสำคัญที่เราอยากรู้แล้ว เราจะสามารถเลือก KPIs ที่จะตอบคำถามนั้น ๆ ได้แม่นยำขึ้น ซึ่งในที่นี้ควรจะเป็น Net Promotor Score (NPS) แบบนี้เป็นต้น (ไว้จะมาคุยให้ทราบวันหลังว่า NPS คิดยังไง)

ประการที่สาม ปรับแต่ง KPIs ให้ตรงกับสิ่งที่องค์กรต้องการ เมื่อครู่มีพูดถึง NPS ซึ่งถือเป็น KPIs มาตรฐานที่องค์กรอื่น ๆ นิยมใช้กัน แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกองค์กรมีจุดเด่นและบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจะไม่สามารถจะลอก KPIs จากหน่วยงานอื่นมาใช้โดยไม่มีการปรับเปลี่ยน เพราะนั่นอาจจะเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาให้เราปวดหัวอีกมากทั้งการจัดเก็บข้อมูลเพื่อตอบคำถามสำคัญที่เราอยากรู้
โดยจากที่ผมเคยเรียนรู้มาจากองค์กรที่ปรึกษาระดับโลก ที่ปรึกษาที่เคยเล่าประสบการณ์ให้ฟังแนะนำว่า KPIs ที่หน่วยงานหนึ่ง ๆ ต้องการไม่ควรมีมากเกินไป โดยมากกำหนดไว้แค่ 4 – 5 KPIs สำคัญจริง ๆ ในการติดตามว่าองค์กรเดินตามยุทธศาสตร์หรือไม่ก็เพียงพอแล้ว แล้วค่อยกระจายความรับผิดชอบลงไปยังหน่วยงานย่อย ๆ จนถึงรายบุคคล เพื่อให้สามารถสื่อสารและเข้าใจในสิ่งที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน

ประการที่สี่ ทุกคนเข้าใจตรงกัน เมื่อคัดเลือก KPIs จะต้องที่สำคัญได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการสื่อสารให้บุคลากรในองค์กรเข้าใจตรงกันใน 2 ประเด็น นั่นคือ 1) ทำไม เพราะความเข้าใจใน เหตุผล ของการเลือก KPIs นั้น ๆ เป็นประเด็นสำคัญที่สุดเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเข้าใจ และ 2) เท่าไหร่ เพื่อให้เข้าใจว่าแต่ละหน่วย/บุคคลจะต้องรักษาเป้าหมายของผลลัพธ์การดำเนินงานมากน้อยแค่ไหนในแต่ละปี หรือ แต่ละไตรมาส ก็สุดแล้วแต่

ประการสุดท้าย ใช้ KPIs ในการเพิ่มสมรรถนะองค์กร หากเริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลและเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า KPIs บางตัวไม่ได้ส่งผลต่อการกำกับติตตามให้องค์กรเดินตามยุทธศาสตร์ เราควรใจเข็ง ๆ ยอมตัด KPIs ที่ไม่ต้องการออกไป เหลือไว้แต่ KPIs ที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้นพอ เพราะสิ่งที่เราต้องเข้าใจคือ KPIs แต่ละตัวต้องการทรัพยากรในการจัดทำ อย่าได้ปล่อยให้เกิด Bad Busy จะดีที่สุด

มุมมองต่อมาคือ สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ มาลองดูกันหน่อยว่ามีอะไรบ้าง
ประการแรก เลือก KPIs ตามคนอื่น หลุมพลางใหญ่สุดของการใช้ KPIs คือเรื่องนี้ นั่นคือเลือกให้เหมือนกับที่คนอื่น ๆ เขาใช้กัน บางรายหนักกว่านั้นคือการสำรวจความคิดเห็นด้วยคำถามชุดเดียวกันโดยที่ลืมหันไปพิจารณาด้วยว่าเรากำลังใช้ยุทธศาสตร์เดียวกันรึเปล่า ผลร้ายคือก็คือองค์กรเราจะหลงทางเอาได้ง่าย ๆ ซึ่งอันตรายมาก

ประการที่สอง เก็บเฉพาะ KPIs ที่เก็บได้ง่าย อันนี้ก็เป็นอีกหลุมพรางที่ต้องระวังให้ดี หลายองค์กรเลือกใช้ KPIs เพราะว่าสะดวกต่อการนำเสนอเป็น “ตัวเลข” ทั้งที่จริง ๆ ตัวเลขที่ได้มาไม่ได้ตอบสนองกับยุทธศาสตร์อย่างที่กำหนดไว้ ผลคือเราก็จะเสียเวลาในการทำตัวเลขไปอย่างไม่จำเป็น

ประการที่สาม เก็บ KPIs ที่หมดอายุแล้วไว้ในระบบ แน่นอนว่าทุกอย่าง Out Date ได้ และ KPIs ก็เป็นแบบนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงส่วนมากคือ “เสียดาย” ทำให้การปรับปรุง KPIs ในองค์กรจะใช้การ “เพิ่ม” KPIs ใหม่ ๆ เข้าไปมากกว่าการคัด KPIs ที่ไม่เกิดประโยชน์แล้วออก ผลก็คือ KPIs เราจะเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แต่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่นัก ทั้งยังเสียเวลาเก็บและยากต่อการสื่อสารให้คนในองค์กรทราบ พอพอกพูนไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดความเละในที่สุด

ประการที่สี่ ผูก KPIs ไว้กับ Bonus เป้าหมายของ KPIs คือเครื่องมือในการสะท้อนผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ในภาพรวมขององค์กร แน่นอนว่า KPIs จะต้องถูกแจกลงไปตามโครงสร้างจนถึงระดับบุคคล แต่ต้องระวังก็คือการผูก KPIs ไว้กับการให้รางวัลต่าง ๆ มากไป เพราะนั่นจะทำให้เกิดปัญหาในเชิงวัฒนธรรมองค์กรอย่างมาก

ประการสุดท้าย ใช้ KPIs ไปควบคุมการทำงานมากเกินไป KPIs เป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็เป็นตัวชี้วัดที่เป็นกลาง ๆ ดังนั้นต้องระวังไม่นำเอา KPIs ไปใช้ในการจับจ้องประเมินผลการทำงานเป็นรายบุคคลจนกลายเป็นการจับผิด หรือ จดจ้องลงไป Micro-Management กับทีมงานมากเกินไป เพราะ KPIs ไม่ใช่ Personal Appraisal ขอให้ใช้ได้ถูกต้อง
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องของ ที่ผ่านมาเราอาจจะลืมตั้งคำถามกับ KPIs ว่าเราใช้ถูกหรือใช้ผิด เราเดินตรงหรือหลง หรือ เราใช้มากหรือน้อยจนเกินจำเป็น หวังว่าบทความนี้น่าจะช่วยแลกเปลี่ยนเป็นแนวทางคร่าว ๆ ให้ไปคิดต่อยอดกันนะ

ผู้เขียน 
   ดร.โชดก ปัญญาวรานันท์ 
 ผู้จัดการกระบวนการธุรกิจ 
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

Monday, November 21, 2016

เศรษฐกิจพอเพียง กับ การทำงานพัฒนา

ไม่ว่าใครที่ได้ติดตามการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้วคงได้ประจักษ์ถึงคณูปการที่มีต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้อย่างไร เพราะโครงการในพระราชดําริแต่ละโครงการมีความลึกซึ้งในหลักวิชาการที่สะกัดจนเหลือแต่แก่นแท้ที่เป็นสากลในการนำไปปฏิบัติ ผมเองในฐานะนักการศึกษาที่ทำงานสายพัฒนาก็พยายามศึกษาหลักคิดต่าง ๆ มาพิจารณางานพัฒนาที่ดำเนินการอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร
สำหรับฉบับนี้ถือเป็นฉบับพิเศษที่น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาวิเคราะห์แนวทางในการทำงานพัฒนาของ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดในภาษาง่าย ๆ แบบเล่าสู่กันฟังดู โดยขอจะอ้างถึงบทความเรื่อง ปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง 101 ที่ได้สรุปแนวคิดที่ได้จากการบรรยายของท่านศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน ที่เล่าถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเชิงระบบ (System Approach) ได้อย่างลึกซึ้งอย่างเป็นรูปธรรม
อันคำว่าเชิงระบบที่ว่านั้น หมายถึง การคิดแบบมีที่มาที่ไป มีความสัมพันธ์กันตามหลักการและเหตุผล (Logical) ซึ่งเมื่อผูกรวมกันเป็นภาพใหญ่แล้ว ก็จะเห็นความเชื่อมโยงของปัจจัยนำเข้า (Inputs) กระบวการ (Processes) ผลผลิต (Outputs) ผลลัพธ์ (Outcomes) และ ผลกระทบ (Impacts) อย่างเป็นโครงสร้างชัดเจนที่สามารถไล่เรียงได้ดังนี้
ปัจจัยนำเข้า หรือ Inputs ประกอบไปด้วย “สองเงื่อนไข” ประกอบไปด้วย ความรู้ และ คุณธรรม
ในด้านความรู้นั้น การทำงานพัฒนาให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นจะต้องใช้องค์ความรู้ตามหลักทางวิชาการและประสบการณ์การทำงานทั้งในและต่างประเทศ หลักสำคัญคือก่อนที่จะดำเนินโครงการใด ๆ จะต้องศึกษาข้อมูลเชิงบริบทเพื่อเกิดความเข้าใจ และ ปรับปรุงรายละเอียดของแผนงานต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินการ (Implementation) อยู่ในจุดที่สมดุลระหว่างผลลัพธ์ (Results) และ ความสัมพันธ์ที่ดี (Relationship) กับทุกฝ่าย
ในขณะที่ด้านคุณธรรมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักปฏิบัติในการทำงานทุกขั้นตอนที่เป็นไปตามหลักธรรมภิบาล โดยเฉพาะระบบตรวจสอบการบริหารการจัดการภายใน และ การตรวจสอบบัญชีจากหน่วยงานภายนอก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินการต่าง ๆ ของคีนันเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล
กระบวนการ หรือ Processes ประกอบไปด้วย “สามห่วง” ได้แก่ ภูมิคุ้มกัน ความพอประมาณ และ ความมีเหตุผล
ภูมิคุ้มกัน ในฐานะองค์กรพัฒนาคีนันได้สั่งสมองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อจัดทำระบบการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เพราะความเชี่ยวชาญคือทุนขององค์กร ดังนั้นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและขีดความสามารถ พร้อมต่อการทำงานที่มีคุณภาพจะเป็นภูมิคุ้มกันให้องค์กรสามารถพึ่งพาตนเองเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนสืบไป
ความพอประมาณ หลักการสำคัญหนึ่งในการทำงานของเราคือการสร้างพันธมิตร (Partnership) กับภาคส่วนอื่น ๆ ดังนั้นการตั้งเป้าหมายการพัฒนาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพร่วมกับหลาย ๆ ฝ่าย เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าโครงการต่าง ๆ จะตอบโจทย์ของการพัฒนาที่ยังอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย
ความมีเหตุผล การทำงานพัฒนาจะต้องมองหาความเชื่อมโยงถึงเหตุและผลในการดำเนินงาน เพื่อติดตามและประเมินความสำเร็จของโครงการอย่างมีหลักการ โดยคีนันได้พัฒนา Result Framework (ยังไม่พบคำแปลภาษาไทย) เพื่อที่จะรวบรวมผลลัพธ์การดำเนินการของโครงการต่าง ๆ ในภาพขององค์กรอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นคงของผลการทำงานต่าง ๆ
ผลผลิต หรือ Outputs เป็นผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่ดำเนินการมา ประกอบไปด้วย ความยั่งยืน ความสมดุล และ ความมั่นคง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ความยั่งยืน เมื่อมีความรู้และความชำนาญในการทำงานพัฒนาแล้ว ก็จะนำไปสู่การบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นความยั่งยืนขององค์กรให้สามารถดำเนินงานด้านการพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อไปในระยะยาว
ความสมดุล ความสมดุลในที่นี้คือคำว่า “ไม่ทุกข์” เมื่อมีการตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ร่วมกันอย่างเหมาะสม ก็จะทำงานที่มองเห็นเส้นชัยอย่างมีความเข้าใจ สามารถใส่ความตั้งใจในการทำงานได้อย่างเต็มที่ ผลงานที่ได้ก็มีคุณภาพ เรียกว่า เหนื่อยแต่มีความสุข
ความมั่นคง เมื่อมีวิธีการทำงานที่มีเหตุผลตามหลักการแล้ว ความสำเร็จในการดำเนินโครงการพัฒนาต่าง ๆ ก็จะไม่คลาดเคลื่อนไปจากแผนที่วางไว้มากนัก (แน่นอนไม่มีอะไรสำเร็จทุกอย่าง/ทั้งหมด) แต่เมื่อเกิดความมั่นคงในการทำงานแล้วอัตราความสำเร็จ (Success Rate) ก็จะสูงขึ้นไปด้วย การลงทุนในงานพัฒนา (Return of Impact) ก็จะคุ้มค่ากับเงินบริจาคอย่างเต็มที่
ผลลัพธ์ หรือ Outcomes คือ ความสุขที่ได้จากความสำเร็จในการทำงานพัฒนาร่วมกัน ทั้งจากพนักงาน ผู้บริจาค ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และ ผู้รับผลประโยชน์ จากการมีความรู้ที่ดีขึ้น มีทัศนคติที่เป็นบวกกับการดำเนินชีวิตมากขึ้น และ มีแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างความยั่นยืนทางสังคมต่อไป แม้ว่าคีนันจะเป็นหน่วยงานพัฒนาเล็ก ๆ แต่ความสำเร็จเล็ก ๆ นี้แหละ จะเป็นเมล็ดพันธุ์ให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานพัฒนาทั้งภายในและภายนอกต่อไป
ผลกระทบ หรือ Impacts ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะหมายถึง “ประโยชน์สุข” แต่ระดับขององค์กรหนึ่ง ๆ จะทำได้คงหมายถึงประโยชน์สุขในพื้นที่ที่เราลงไปทำงานด้วยตามสาขาที่มีการดำเนินงาน ทั้งด้านการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจ ชุมชน และ สาธารณสุข ซึ่งก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าเมื่อมองปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านเลนส์ของงานพัฒนาแล้ว จะพบความสอดคล้องกันอย่างแยกไม่ออก เพราะเป็นปรัชญาที่เข้าใจแล้วเราจะมองหาการทำอะไรให้คนอื่นมากขึ้น ดังนั้นคีนันในฐานะองค์กรไม่แสวงหากำไรจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างทุนมนุษย์จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมให้เดินต่อไปอย่าง เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา

เขียนโดย 

คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
Business Process Manager 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

การศึกษาไทยควรใส่อะไรในหลักสูตร

เคยคิดหรือไม่ ว่าเด็กเรียนหนังสือไปเพื่ออะไร? ถ้าตอบตามทฤษฎีคงจะตอบว่าเรียนหนังสือไปเพื่อให้มีความรู้ มีอาชีพ พัฒนาประเทศ หรือแม้แต่ เป็นพลเมืองที่ดีของโลก แต่ในทางปฏิบัติคงจะตอบว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยดี ๆ จะได้มีเงินเดือนสูง ๆ และ เคยคิดหรือไม่ ว่าเด็กได้อะไรจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน? ถ้าตอบตามทฤษฎีคงจะตอบว่าสามารถทำงานได้ หรือ ดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ แต่ในทางปฏิบัติ (โดยส่วนใหญ่) คำตอบน่าจะคือได้วุฒิ ม. 6 เพื่อไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

เห็นถึงตรงนี้แล้วพอจะเห็นได้ว่า ผลผลิตของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมีช่องว่างระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติมากกว่าที่เราคิดเยอะเลย เพราะในทางทฤษฎีการจบการศึกษาขั้นพื้นฐานน่าจะเพียงพอที่ทำให้เด็กมีพื้นฐานในการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังห่างไกลนัก เพราะขนาดนิสิต/นักศึกษาปริญญาตรีที่จบมาใหม่ ยังต้องการการสอนงานอีกมากกว่าจะทำงานได้เต็มศักยภาพ

ดังนั้นช่องว่างตรงนี้คือสิ่งที่นักการศึกษาไทยต้องมาช่วยกันคิด เพราะถ้าปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป ความศักดิ์สิทธิ์ของระบบการศึกษาไทยจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนถึงยุคที่ซื้อปริญญาบัตรมาสมัครงานง่ายกว่า เข้าตำรา “เรียนง่าย จ่ายครบ จบแน่นอน” จึงพบว่าปัจจุบันบริษัทเอกชนหลายแห่งหันมาเปิดสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคนป้อนระบบแรงงานของตนเองกันแล้ว เพราะผลผลิตจากระบบการศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์

ผมเคยจัด Focus Group เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนต่อมาตรฐานการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จากครู อาจารย์มหาวิทยาลัย และ ภาคเอกชน หลายรอบ หลายจังหวัด ได้เสียงสะท้อนที่น่าสนใจว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานจริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องสอนยากหรือเยอะ สอนในสิ่งจำเป็นและทำให้เด็กรู้จริงให้ได้ ทำได้ให้จริง มีสามัญสำนึกที่เหมาะสม แค่นั้นก็พอแล้ว ที่เหลือเดี๋ยวอาจารย์มหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการจะรับช่วงต่อเอง
จึงเป็นที่มาของประเด็นในวันนี้ว่า ไหน ๆ เราก็กำลังทำจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ผมอยากถือโอกาสเสนอทางเลือกให้กับคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ ได้พิจารณาเพื่อดูว่าจะเป็นประโยชน์มากน้อยประการใด

ผมได้ศึกษาเอกสาร กรอบสำหรับการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน หรือ A Framework for K-12 Science Standard โดยสภาการวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา National Research Council (2012) ซึ่งสหรัฐอเมริกาใช้เอกสารตัวนี้เป็นแนวทางให้รัฐต่าง ๆ นำไปประกอบการพิจารณาร่าง “มาตรฐาน” และ “หลักสูตร” ของตนเองในลำดับถัดไปโดยเอกสารดังกล่าวมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การเขียนกรอบนี้จะแยกแยะความเหมือนและความแตกต่างของวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์อย่างชัดเจน (อันนี้จะมาว่ากันในโอกาสต่อไป) และ 2) มีการกำหนดองค์ความรู้ที่เรียกว่า Cross Cutting Concept ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่ผมไม่เห็นในการศึกษาบ้านเราเลยCross Cutting Concept คืออะไร? Cross Cutting Concept คือ Concept ที่จำเป็นต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ (ตาม NRC) แต่หากพิจารณาลึก ๆ แล้วจะพบว่าเป็น Concept ที่สำคัญกับการเรียนรู้แทบจะทุกสาขา ซึ่งมี 7 ข้อดังต่อไปนี้

  1. Pattern (รูปแบบ) ตามแนวคิดของ NRC นักเรียนที่ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องสามารถแยะแยะความเหมือนและความแตกต่างรวมถึงจัดกลุ่มสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ ทั้งในแง่ของสี รูปร่าง ขนาด รูปแบบ จังหวะ หรือแม้แต่ เวลาได้ เช่น ความเหมือนและความแตกต่างของสัตว์ประเภทต่าง ๆ หรือ รูปแบบการก้าวเท้าของกิ้งกือ เป็นต้น
  2. Cause and Effect (สาเหตุ และ ผลกระทบ) นักเรียนสามารถเห็นและเชื่อมโยงสาเหตุและผลกระทบของสิ่งต่าง ๆ จนสร้างเป็นสมมติฐาน (Hypothesis) รวมถึงสร้างแบบจำลองเพื่อแสดงความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลกระทบได้ เช่น ตั้งสมมติฐานและสร้างแบบจำลองรูปแบบในการตีลูกบอลด้วยไม้
  3. Scale, Proportion and Quantity (อัตราส่วน สัดส่วน และ ปริมาณ) นักเรียนสามารถใช้หน่วยต่าง ๆ เพื่อแทนสิ่งที่ใหญ่หรือเล็กมาก ๆ แทนเวลาที่ช้าหรือเร็วมาก ๆ จนถึงเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่าง ๆ เพื่อคำนวณสัดส่วน หรือ ปริมาณต่าง ๆ ได้ เช่น การใช้รู้หน่วยของระยะทางกับหน่วยของเวลาทำให้ทราบทราบความเร็วและหน่วยของความเร็วได้ เป็นต้น
  4. Systems (ระบบ) นักเรียนสามารถเข้าใจระบบ หมายถึง กลุ่ม องค์ประกอบภายในระบบ และ ความเคลื่อนไหวในระบบ รวมถึงขอบเขตและทรัพยากรที่จะต้องใช้ในระบบด้วย เช่น การสังเคราะห์ด้วยแสง วัฏจักรชีวิต ซึ่งสามารถขยายความเข้าใจไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างระบบได้ด้วย เช่น ระบบของโลกกับระบบของดวงจันทร์ เป็นต้น
  5. Energy (พลังงาน) นักเรียนเข้าใจ Concept ของพลังงานและสสาร กฎการถ่ายเทและการอนุรักษ์พลังงาน โดยเข้าใจเป็นเชิงระบบด้วย (Input Process Output) เช่น การถ่ายเทพลังงานงานระหว่างพื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศของโลกกับการเปลี่ยนสถานะของน้ำ
  6. Structure and Function (โครงสร้างและหน้าที่) นักเรียนเข้าใจรูปร่าง หน้าที่และการทำงานร่วมกันของส่วนประกอบต่าง ๆ รวมถึงเข้าใจคุณสมบัติของวัสดุที่จะนำมาใช้กับส่วนประกอบต่าง ๆ ด้วย เช่น รู้รูปร่างและหน้าที่ของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่นำมาประกอบเป็นจักรยาน จนถึงรู้วัสดุทดแทนหากต้องการพัฒนาให้จักรยานเบาขึ้นได้
  7. Stability and Change (ความคงที่และความเปลี่ยนแปลง) นักเรียนเข้าใจ Concept ของความคงที่ออกจากความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ได้ แม้ว่าความเปลี่ยนนั้นอาจจะใช้เวลานานกว่าที่จะสังเกตด้วยตาเปล่า เช่น การผลิบานของดอกไม้ การระเหยของน้ำ หรือ แม้แต่การเกิดหินงอกหินย้อย ซึ่งถือเป็น Concept สุดท้ายที่ทาง NRC เสนอให้อยู่ในมาตรฐานที่นักเรียนที่ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐานควรมี
อ่านถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าการกำหนดกรอบถึงเรื่อง Cross Cutting Concept นี้แยกออกจาก “สาระการเรียนรู้” ในวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ออกมาเลย เนื่องจากเป็นสิ่งที่สะดวกต่อการวัด และ ส่งเสริมการเรียนใน Concept อื่น ๆ ได้ดีกว่า ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจหากวงการศึกษาบ้านเราจะพิจารณาให้ระบุให้ชัด
หลายคนอาจแย้งในใจว่าหลักสูตรของเดิมก็มีอยู่แล้วในสาระที่ 8 ของมาตรฐานวิทยาศาสตร์ และ สาระที่ 6 ของมาตรฐานคณิตศาสตร์ แต่การนำไปใช้พบว่าออกไปในรูปของ “การบูรณาการ” ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่านักเรียนส่วนน้อยยังไม่ได้มีความเข้าใจและทักษะในเรื่องเหล่านี้เพียงพอเลย

ดังนั้นหากจำเป็นต้องยกระดับการศึกษาของชาติจึงต้องบรรจุสิ่งที่จำเป็นไว้ในมาตรฐานและหลักสูตรจะต้อง และ กำกับติดตามในการสอน เพื่อให้นักเรียนมีทั้งความรู้และทักษะต่าง ๆ เหล่านี้อย่างเชี่ยวชาญ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อนักเรียนทุกคนไม่ว่าเขาจะออกไปหางานทำหรือออกไปศึกษาต่อ เพราะวันนี้ไม่มีใครรู้หรอกว่านักเรียนคนไหนจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเลขาธิการสหประชาชาติในอนาคต ดังนั้นเราการศึกษาที่ดีที่สุดจึงเป็นอนาคตของพวกเราทุกคน

เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
Business Process Manager 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

Tuesday, September 13, 2016

เรียนทำไม อย่างไร และ อะไร หลักง่าย ๆ ที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย

สำหรับช่วงที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสจัดกิจกรรมการอบรมบุคลากรทางการศึกษาหลาย ๆ งานติดกัน ล่าสุดเป็นการจัดอบรมให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ในโครงการที่ชื่อว่า โบอิ้ง ยกระดับการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งก็ได้รับความกรุณาจากท่านประธานอำนวยการสถานบันคีนันแห่งเอเซีย คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ มาเป็นประธานในการเปิดการอบรม

โดยนอกจากจะเปิดอบรมแล้ว ท่านยังให้แง่คิดมุมมองที่น่าสนใจหลายอย่างตั้งแต่แนวคิดทางการศึกษาจนถึงการใช้ความเป็นผู้นำไปช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดี ๆ ในแต่ละโรงเรียนให้ได้ ผมเองเห็นว่ามีประโยชน์เลยอยากหยิบยกมาเล่าใหม่ โดยเรียบเรียงแนวคิดทั้งหมด Model ใหม่ที่มีชื่อว่า Why How What ที่สามารถอธิบายว่าเราแต่ละคนเรียนไปทำไม เรียนอย่างไร และ เรียนอะไรมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้การเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ตอบโจทย์การทำงานได้ในโลกอนาคตได้ โดย Model มีหน้าตาดังนี้


ส่วนที่ 1 คือ Why เราจะเรียนไปทำไม? เริ่มจากทางด้านซ้าย อันนี้เคยถามตัวเองกันบ้างมั้ยว่าเราเรียนเรื่องราวต่าง ๆ ไปเพื่ออะไร คำตอบง่ายของ Model นี้คือเราเรียนเพื่อให้มีแนวคิด (Idea) ในการเอาไปต่อยอดในการทำงาน การแก้ปัญหา หรือ การค้นพบอะไรใหม่ ๆ โดยการเรียนรู้อะไรทุกอย่างจะต้องเริ่มจากการเก็บเกี่ยวและสั่งสมองค์ความรู้ (Knowledge) ตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ ไปยังเรื่องที่ยากขึ้นนั่นเอง
ยิ่งเรื่องไหนเป็นเรื่องที่มีเนื้อหามาก อย่างเช่นแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์ ก็จะต้องใช้เวลากับการเรียนความรู้นานหน่อย หลายอย่างจำเป็นต้อง “ท่อง” หลายเรื่องจำเป็นต้องเจาะลึกเพื่อให้ตกตะกอนเป็นแนวคิด หลายอย่างต้องอาศัยการศึกษาอย่างรวดเร็ว (Speed Reading) เพราะเมื่ออิ่มตัวแล้ว เราจะสามารถใช้ความรู้ (Knowledge) ไปสู่การสร้างแนวคิด (Idea) ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่บางทียังไม่รู้จักด้วยซ้ำ ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่เป็นความสามารถสำคัญที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต
ดังนั้นคนไหนที่ยิ่งรู้แน่น ยิ่งรู้ลึก และ ยิ่งรู้จริงแล้ว คน ๆ นั้นก็จะกลายเป็นคนที่มีแนวคิดที่ชัดเจน ถูกต้อง และ แม่นยำในที่สุด
ส่วนที่ 2 คือ How เราจะเรียนอย่างไร? ส่วนนี้ไม่ได้สำคัญกว่าส่วนที่เหลือ แต่เนื้อหาจะมากหน่อยเพราะแบ่งเป็น 4 ขั้นย่อย ๆ ได้แก่
  1. Research การศึกษาในประเทศที่ประสบความสำเร็จจะเริ่มจากการให้นักเรียนทำวิจัยก่อน เพราะวิจัยต้องใช้ทักษะหลายอย่างทั้งการอ่าน การสังเกต การตั้งคำถาม การเก็บข้อมูล ฯลฯ อย่าเพิ่งตกใจไปว่าวิจัยจะต้องเป็นเรื่องใหญ่ เพราะทุกวันนี้เอาจริง ๆ นะ คนเราทำวิจัยกันตลอดเวลา ง่าย ๆ เลยช่วงปลายปี้นี้จะหา Trip ดี ๆ ไปเกาหลีคุณผู้อ่านจะต้องทำอย่างไรบ้าง แน่นอนอ่านหนังสือ เลือกเมือง เลือกที่ที่อยากไป Shop ทัวร์ตามงานท่องเที่ยว ศึกษาวิธีการแลก Point จากบัตรเครดิตให้เป็นตั๋วเครื่องบิน เพื่อจัดการเดินทางที่เหมาะกับเราที่สุด แค่นี้ก็ถือเป็นวิจัยแล้ว เพราะวิจัยไม่จำเป็นต้องเขียนออกมาเป็นหนังสือปกแข็งมี 5 บท เล่มหนา ๆ แล้วถึงจะเรียกว่าเป็นงานวิจัยเสมอไป
  2. Summarize ขั้นต่อในจะพบอีกว่า ในหลายประเทศที่การศึกษาดี ๆ เขาจะฝึกให้นักเรียนฝึกสรุปความ หรือ Précis (เป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศสอ่านออกเสียงว่า Preh-Si) เริ่มจากอ่าน 1 เรื่องย่อเหลือ 1 หน้า จนเก่ง ๆ แล้วอ่าน 1 เล่มย่อเหลือ 2 หน้า เป็นต้น วิธีการนี้จะเป็นการฝึกให้เด็ก ๆ อ่านเร็ว อ่านจับใจความ หรือ บ้านเราชอบเรียกเล่น ๆ ว่า “อ่านเอาเรื่อง” อ่านเสร็จต้องเลือกสิ่งที่สำคัญ และ สรุปออกมาให้อ่านได้สะดวก ในโลกของการทำงาน Précis ถูกใช้ตอนเขียนบทสรุปผู้บริหาร หรือ บทคัดย่อ เรียกว่าอ่านหน้านี้หน้าเดียวจะมีข้อมูลสำคัญเพืยงพอต่อการนำไปใช้ในการคิดและวิเคราะห์ต่อไป
  3. Analyze ขั้นสูงขึ้นมาคือการวิเคราะห์ หรือการแยกแยะเรื่องใหญ่ ๆ ให้กลายเป็นเรื่องย่อย ๆ เพื่อให้สามารถจัดกลุ่ม มองหาความเหมือนความต่าง หรือ มองลึกไปถึงที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จะเห็นได้ว่าคนที่มีความสามารถนี้จะเป็นระดับนักคิดหรือกุนซือทั้งนั้น เพราะเมื่อเวลาเราเจอปัญหาแน่นอนเราแก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราสามารถแยกและเลือกปัญหาที่สำคัญที่สามารถจัดการได้ และ ลุยไปเป็นเรื่อง ๆ แบบนี้งานจะเคลื่อน ซึ่งความสามารถนี้เป็นความสามารถที่ใคร ๆ และไม่ได้มีกันทุกคนแต่ก็ฝึกฝนได้
  4. Synthesize ขั้นสุดท้ายคือการสังเคราะห์เพื่อหาแนวคิดใหม่ ๆ เป็นได้หมดทั้งการสร้างแนวคิดเพื่อแก้ปัญหา การคิดเพื่อสร้างนวัตกรรม การคิดเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่จะต่อยอดสู่การพัฒนางานด้านอื่น ๆ โครงงานอื่น ๆ หรือแม้แต่สมการใหม่ ๆ ที่สามารถให้เราหาคำตอบเพื่อก้าวข้ามขอบเขตความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แน่นอนกว่าที่จะมีความสามารถในขั้นนี้ต้องผ่านการตกผลึกและใช้ประสบการณ์พอสมควร คนที่ไม่ต้องใช้ประสบการณ์และสามารถมีความสามารถนี้ได้ได้อย่างรวดเร็วจะจัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีพรสวรรค์ (Talent) แต่ก็นั่นอีกแหละ ขึ้นชื่อว่าอยากเรียนรู้แล้วค่อย ๆ ฝึกก็จะพบ เพราะการบอกว่ามีความสามารถนี้เฉย ๆ ไม่เจ๋งเท่ากับว่าเราใช้ความสามารถนี้ทำอะไรได้บ้าง
ส่วนที่ 3 คือ What เราจะเรียนอะไร? แปลกมั้ยว่าทำไมถึงมาทีหลัง เพราะในความเป็นจริงแล้ว What จะเป็นสิ่งจะตามมาหลังจากที่เราทราบเป้าหมายและวิธีการจะนำมาสู่การเลือกเครื่องมือแล้วต่างหาก
โดยเราจะเรียนอะไรตามใน Model จะหมายถึงสัดส่วนระหว่าง การคิด (Thinking) และ เนื้อหา (Content) ว่าจะหนาบางต่างกันแค่ไหนในแต่ละระดับของการเรียนรู้ที่กล่าวมาแล้ว โดย What จะแปรผันตามระดับดังกล่าว กล่าวคือในช่วงที่เราหาความรู้หรือทำวิจัยอยู่ แน่นอนสัดส่วนของเนื้อหาจะมากกว่าสัดส่วนของการคิด เพราะหากคิดมากเกินไป (คิดไปเอง) จะทำให้การเก็บเกี่ยวความรู้ของเราบิดเบี้ยวหรือผิดเพี้ยนได้ (เคยเห็นคนที่ยังไม่ทันฟังครบประโยคแล้วตบโต๊ะมั้ย) แต่พอการเรียนรู้ค่อย ๆ ขยับขึ้นไปสู่ขั้นของการวิเคราะห์ (Analyze) หรือ สังเคราะห์ (Synthesize) แล้ว ต้องใช้แนวคิด (Idea) มากขึ้นแล้ว สัดส่วนของการคิดจะค่อย ๆ มากกว่าสัดส่วนของเนื้อหา เพราะถึงระดับบน ๆ แล้ว ความรู้ที่มีจะกลั่นตัวให้เหลือเพียง Concept คม ๆ ที่เอาไปใช้ได้มากขึ้นนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้าง อ่านถึงตรงนี้แล้วหลายคนอาจจะรู้สึกคุ้นบ้าง ขัดบ้าง ก็ถือเป็นการเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนนะ เพราะสิ่งที่ผมสังเคราะห์มาไม่ใช่ทฤษฎี แต่เป็นการร่าง Model ที่ผมเองคิดว่าน่าจะได้มีโอกาสทำวิจัยในเรื่องนี้ เพราะการมองเห็นความเชื่อมโยงแบบนี้จะเป็นกลไกที่สำคัญที่จะเชื่อมโยง “การศึกษา” กับ “การทำงาน/ธุรกิจ” สำหรับทุกเพศทุกวัยอย่างแท้จริง


เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
Business Process Manager 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย


Wednesday, August 31, 2016

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 101

สวัสดีคุณผู้อ่าน สัปดาห์ที่ผ่านมาสถาบันคีนันแห่งเอเซียได้มีโอกาสทำงานร่วมกับธนาคารกรุงไทย จัดกิจกรรมค่ายผู้นำเยาวชนในโครงการ “กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว” โดยความพิเศษในปีนี้คือการปลูกฝังให้เยาวชนนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการออกแบบโครงการเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ในสังคมโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีใจพัฒนา
โดยกิจกรรมนี้ทางโครงการฯ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน ที่ปรึกษา สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มาบรรยายแนวคิดเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเยาวชนและครูจำนวน 180 คน ซึ่งการบรรยายเชิงระบบนี้ช่วยให้เห็นภาพที่ลึกซึ้งและรอบด้าน ผมเองเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ จึงขอนำมาสรุปเพื่อให้คุณผู้อ่านได้ร่วมคิดไปด้วยกัน
แน่นอนประสบการณ์เดิมที่คนส่วนใหญ่มีคือคำว่า “สามห่วง สองเงื่อนไข” ลงรายละเอียดอีกหน่อยก็จะบอกได้ว่า สามห่วง หมายถึง พอประมาณ มีเหตุผล และ ภูมิคุ้มกัน กับ สองเงื่อนไข หมายถึง ความรู้ และ คุณธรรม
สำหรับวันนี้จะพูดเรื่องเดียวกัน แต่ดึงเอาวิธีการวิเคราะห์เชิงระบบ (System Approach) จาก Slide ของท่านอาจารย์มาทีละองค์ประกอบ ได้แก่ Inputs, Processes, Outputs, Outcomes และ Impacts เจาะเป็นตัว ๆ ไปดังนี้
อภิชัย พันธเสน (2558)
ปัจจัยนำเข้า หรือ Inputs เราจะรู้จักกันในนาม “สองเงื่อนไข” (มาก่อนสามห่วงนะ) เป็นปัจจัยนำเข้าประกอบไปด้วย ความรู้ และ คุณธรรม ฟังดูง่าย ๆ แต่ขยายความให้เข้าใจมากขึ้นได้ว่า
ความรู้ เป็น “ปัจจัยจำเป็น” ไม่ได้หมายถึง Knowledge อย่างเดียว (อันนั้นเราหาได้ตาม Search Engine) แต่ความรู้ในที่นี้ประกอบด้วย สติ และ ปัญญา หมายถึง รู้ตื่นรู้ตัวตลอดเวลา และ นำเอาประสบการณ์ที่มีมาแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ต่างหาก ดังนั้นหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็จะเป็นความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ เอาไปทำอะไรก็จะสำเร็จได้ยาก
คุณธรรม เป็น “ปัจจัยพอเพียง” ประกอบไปด้วยความซื่อสัตย์ อดทน ขยัน และ แบ่งปัน อันนี้เปิดกว้างว่าอะไรที่เป็นความดีตามมุมมองของศาสนาที่เรานับถือก็ยึดสิ่งนั้นเป็นคุณธรรมประจำใจในด้านของปัจจัยพอเพียงก็ได้เช่นกัน
โดยสรุป Input ที่ดีต้องเกิดจากการรวมกันของความรู้และคุณธรรม ทั้งเก่งทั้งดี ถึงจะเป็นปัจจัยนำเข้าที่จะเอาไปใช้ในชีวิตจริง ๆ ได้สำเร็จ
กระบวนการ หรือ Processes เราจะรู้จักกันในนาม “สามห่วง” (ตามหลังสองเงื่อนไขนะ) ตรงกลางของสามห่วงนี้คือ “ทางสายกลาง” ประกอบไปด้วย ภูมิคุ้มกัน ความพอประมาณ และ ความมีเหตุผล ขยายความได้ว่า
ภูมิคุ้ม หมายถึง กระบวนการทำงานต่าง ๆ ในวิถีชีวิตเรานั้นเราต้องพึ่งตนเองได้ ไม่ใช่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ หรือ ใช้ทางลัดบางอย่างแล้วมาบอกว่าเก่ง ภูมิคุ้มกันจะมีได้ก็ต้องมาจากความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญ ในเรื่องนั้น ๆ ที่เราทำ เรียกว่าทำอะไรต้องเก่งอย่างนั้นเองก่อน แบบนี้แล้วทำอะไรก็จะยั่งยืน
ความพอประมาณ หมายถึง กระบวนการทำงานที่ทำอะไรแต่พอดี ตั้งเป้าหมายที่สมจริงและเป็นไปได้ ไม่หักโหมแต่ก็ไม่หย่อนยาน ไม่เร่งแต่ก็ไม่ผ่อน ตรงนี้แหละที่คนส่วนใหญ่เอาปรัชญานี้ไปอ้างเพื่อสนับสนุนความเกียจคร้านของตนเองแล้วอ้างว่า “พอเพียง” หรือ เอาไปกล่าวหาคนขยันจนประสบความสำเร็จว่า “ไม่พอเพียง” ซึ่งน่าอายมาก ดังนั้นหากเราทำงานด้วยความพอประมาณได้แล้ว ชีวิตก็จะเกิดความสมดุลตามมา
ความมีเหตุผล คำแปลภาษาอังกฤษไม่ได้หมายถึง Rational แต่หมายถึง Logical ที่กระบวนการทำงานต่าง ๆ ที่เราต้องมองเห็น Causal Relationship ของสิ่งต่าง ๆ รู้สาเหตุ รู้ผลที่จะตามมา ไม่ต้องงมงาย ไม่ต้องพึ่งดวง ไม่ต้องมั่ว แบบนี้ชีวิตก็จะชัดเจน เกิดเป็นความมั่นคง
--------------------------- จบแล้วสำหรับ “สามห่วง สองเงื่อนไข” ที่คนส่วนใหญ่ท่องกัน ---------------------------
ส่วนที่จะไปต่อและจะเป็นส่วนที่เฉลยว่าทำแล้วได้อะไร เริ่มจาก...
ผลผลิต หรือ Outputs ประกอบไปด้วย ความยั่งยืน ความสมดุล และ ความมั่นคง
ความยั่งยืน เมื่อกระบวนการทำงานของเรามีภูมิคุ้มกันแล้ว เราพึ่งตนเองได้ การทำงานก็จะต่อยอดและเติบโตอย่างมั่นคงนั่นเอง อีกนัยหนึ่งคือเรากำหนดปัจจัยต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ทำให้ชีวิตหรือการทำงานไม่เป๋ไปกับปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้
ความสมดุล คำนี้ลึกมาก เพราะสมดุลในที่นี้คือ “ไม่ทุกข์” ในทางพุทธความไม่ทุกข์นับเป็น “ความสุข” แล้ว ไม่จำเป็นต้องหาอะไรมาเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อหา ไม่ต้องเอาของหรูหรามาปรนเปรอ ก็สงบร่มเย็นด้วยตัวเองได้ เพราะเมื่อเรา “พอประมาณ” เป็นเราก็จะอยู่กับปัจจุบันได้ง่ายขึ้น ไม่รุ่มร้อน ไม่เร่งเร้า ไม่หมองหม่น (สำหรับคนที่ขยันน้อย) ผมอยากให้คุณผู้อ่านลองไปอ่านเรื่อง “จิตประภัสสร” ประกอบด้วยนะ
ความมั่นคง เมื่อเรามีเหตุผล ทำอะไรอย่างรู้ผลที่จะตามมา มองเห็นปัจจัยต่าง ๆ และ คิดอย่างรอบคอบแล้ว โอกาสที่จะทำอะไรผิดพลาดก็จะน้อยลง ความเสียหายก็จะน้อยตามไปด้วย นั่นแหละที่ทำให้เรามั่นคง ไม่ผิดพลาดหรืออับจนง่าย ๆ
ผลลัพธ์ หรือ Outcomes ที่จะเกิดขึ้นจากความยั่งยืน ความสมดุล และ ความมั่นคง ก็คือ “ความสุข” ตั้งแต่ความสุขของตนเอง ความสุขของครอบครัว ความสุขของสังคม ความสุขของประเทศ และ ความสุขของโลก
ผลกระทบ หรือ Impacts ที่เกิดจากผลลัพธ์ หากเราดำเนินชีวิตทั้งส่วนตัวและการงานด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็จะเป็นเป็น “ประโยชน์สุข” ที่นำไปสู่ “ความร่มเย็นเป็นสุข” ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการอยู่ร่วมกันของทุก ๆ คน
จะเห็นได้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้จริง ๆ แล้ว ครอบคลุมและกว้างไกลกว่า “เศรษฐกิจ” แต่เพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะรวยจะจน จะมีมากมีน้อย เราก็ใช้หลักการนี้ได้หมด เพราะในความเป็นจริง มนุษย์ไม่ได้มีทุนทางปัญญาเท่ากันหมด แต่ด้วยทุนทางคุณธรรมที่มี จะทำให้สังคมนี้เกิดความเอื้อเฟื้อและแบ่งปัน เป็นประโยชน์สุขของส่วนร่วม ก็จะนำไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขของทุก ๆ คน
สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ก็สมควรแก่เวลา แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี


เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
Business Process Manager 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

Tuesday, July 19, 2016

เจียระไน GEN Y

ปัจจุบันมีบทความการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มคน ที่ในช่วงปี พ.ศ. 2523-2540 หรือที่เราเรียกกันว่า เจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) หรือมิลเลนเนียล (Millennials) อายุราว ๆ 17-34 ปี เป็นอย่างมาก เพราะ Generation นี้กำลังกลายเป็นประชากรส่วนมาก ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน เจ้าของกิจการ และเป็นผู้บริโภคหลัก

ในขณะที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) กำลังค่อย ๆ ลดบทบาท หรือเกษียณตัวเองไปสู่บทอื่น ๆ ของชีวิต

ดังนั้น จึงมีงานศึกษาวิจัยเพื่อเข้าใจคนกลุ่มนี้ ซึ่งนับเป็น Generation แห่งการเปลี่ยนผ่านทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทางเลือกในองค์ความรู้ และในชีวิตที่มีหลากหลาย จึงมีค่านิยมที่แตกต่างจากรุ่นเก่า ๆ ปู่ ย่า ตา ยาย เพราะบริบทสังคมเปลี่ยนไป ความไวของการเปลี่ยนแปลงผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้คนรุ่นนี้ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว

ความเข้าใจของคนรุ่นก่อน ๆ เมื่อมองคน Gen Y คือมีศักยภาพแต่ไร้ทิศทาง รู้ทุกอย่าง มาไว ไปไว แต่ไม่สามารถใช้ความอดทนก้าวไปสู่ความสำเร็จแบบเชี่ยวชาญได้ หรืออาจมีคำพูดมาล้อว่าคนสมัยนี้มีแนวคิดใหม่ว่า "ขยันในวันนี้ สบายในวันหน้า แต่ถ้าขี้เกียจในวันนี้ สบายวันนี้เลย"

อ่านแล้วอยากจะขำ แต่อยากจะคิดว่าด่วนสรุปลักษณะของคน Gen Y ไปหรือไม่

ในต่างประเทศมีการศึกษาทุก ๆ ด้านของ Gen Y ทั้งยังนำเสนอได้น่าสนใจว่า คน Gen Y ปรับตัวเก่ง สามารถเข้ากันได้กับความหลากหลายทางเชื้อชาติ และสังคม สามารถแหวกทุกแนวคิด Out of the Box

คนกลุ่มนี้จึงชอบอยู่ในองค์กรที่สร้างสรรค์นวัตกรรม หรือหากเลือกใช้สินค้าจะให้ค่ากับความแปลกใหม่ ทั้งในเชิงเทคโนโลยี ดีไซน์ หรือการช่วยเหลือสังคม เช่น กลุ่มเพื่อสุขภาพ กลุ่ม Green กลุ่มช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ดังที่เราจะเห็นตัวอย่างจากที่เคยเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก SMEs กลายเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมไปมากมาย

การจะให้ไปทำตามกระบวนการดั่งเดิมตามประเพณีนิยม วัดตรงทุกองศาเป๊ะ นั้นอาจไม่ตรงจริตกับคน Gen Y การค้นหาศักยภาพความเป็นตัวของตัวเอง เหมือนกับการเดินทางไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ (Journal) เมื่อค้นพบแล้วก็เชื่อมโยงต่อ สำเร็จเป็นขั้น ๆ สร้างกลุ่ม และความสนใจร่วมกันนั้นน่าจะเป็นวิถี Gen Y มากกว่า

การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ Gen Y นับเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งยังเป็นโอกาสสร้างศักยภาพสู่ความยั่งยืนสำหรับการทำงานด้าน CSR ด้วยแคแร็กเตอร์ของ Gen Y ที่ให้ความสำคัญกับการคิดบวก การให้ความสำคัญกับการหาจุดสมดุลในชีวิต มีใจช่วยเหลือสังคม ตระหนักเรื่องภาวะสิ่งแวดล้อม และเชี่ยวชาญการเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ ผ่านเครือข่ายออนไลน์ รวมถึงยังเป็นกลุ่มที่มีพลวัต และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงองค์กรและเชิงสังคม

การทำงานผ่านกิจกรรม CSR ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์โครงการในรูปแบบที่ได้แสดงนิยามความเป็นตัวของตัวเอง ในฐานะคณะทำงาน การใช้ความรู้ความสามารถในการเป็นอาสาสมัคร การเป็นผู้พัฒนากิจกรรมเหล่านั้น การเป็นเครือข่ายของกิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในระบบ Online และ Offline การกล้าคิด กล้าถาม สนใจ เชื่อมโยง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่ดีสู่การบ่มเพาะความเป็นพลเมืองดีผ่านกิจกรรม CSR

เราจึงควรนำเอาพลัง Gen Y มาขับเคลื่อน CSR ทั้งภายในและภายนอกองค์กรเป็นฐานสำคัญต่อไป

โดย พีรานันท์ ปัญญาวรานนันท์ 
ผู้จัดการด้านการพัฒนาโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม 
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย


ขอขอบคุณ ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์ CST Talk....[Link]