Sunday, June 30, 2013

Talking about Corporate Social Responsibility....รอยเท้าน้ำ


รอยเท้าน้ำ

พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์

ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมความรับความผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

 

โลกเราเป็นดาวน้ำ มีน้ำเป็นองค์ประกอบกว่า 71% ในรูปแบบของของแข็ง ของเหลวและก๊าซ  วัฏจักรของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของน้ำเกิดขึ้นนับตั้งแต่โลกได้ถือกำเนิดมา ตลอดเวลาอันยาวนาน การเปลี่ยนแปลงสภาวะของน้ำนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภูมิประเทศทั่วโลก ชีวิตได้เกิดและดับไปหลายเผ่าพันธุ์ รุ่นแล้ว รุ่นเล่า แต่น้ำยังคงวัฏจักรของมันอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย …… นี่คือปาฐกถาของนาย Kofi Annan อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรื่อง ความจำเป็นของน้ำต่อชีวิต (Water is Essential for Life) ปัจจุบันการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วจทำให้ความต้องการใช้น้ำทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมจึงเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภููมิของโลกสูงขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขาดแคลนน้ำเนื่องจากการผกผันของปริมาณฝนที่ตก และฤดูกาล

  องค์การสหประชาชาติประมาณไว้ว่า ภายในปี 2025 ประชากรโลกถึง 2 ใน 3 จะต้องอยู่ในภาวะขาดน้ำ โดยแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันตก จะเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบสาหัสที่สุด ดังนั้นหากมีการใช้น้ำอย่างไม่ระมัดระวังทั้งในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมโอกาสเกิด วิกฤตน้ำมีแน่นอน

จากการที่เราได้เข้าไปทำงานกับกลุ่มชุมชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่อุตสาหกรรมและพื้นที่ห่างไกล ปัญหาหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงในทุกครัวเรือนคือปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยให้เหตุผลว่าต้นตอเกิดจากการจัดการทีไม่เป็นธรรมและขาดความสมดุล ระหว่างการทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กับการทำเกษตรกรรมของประชาชนจำนวนมากแต่มีกำลังทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า

ดังนี้แนวคิดเรื่อง Water Footprint จึงได้เกิดขึ้นเพื่อชะลอผลกระทบที่อาจเกิดจากปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำ โดยแนวคิดนี้เกิดจากการรวมตัวกันขององค์การระหว่างประเทศที่ตระหนักถึงความสำคัญของวิฤกติน้ำที่เกิดขึ้น เช่น UNESCO IFC WWF และ WBCSD ทั้งนี้ Water Footprint เป็นค่าชี้วัดการใช้น้ำของผลิตหรือผู้บริโภค โดยคำนวณปริมาณน้ำจากผลรวมของทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการมีหน่วยเป็นลูกบาศก์เมตร หรือลูกบาศก์เมตรต่อคน ต่อปี โดยถือเป็นค่าชี้วัดที่ชัดเจนเพราะนอกจากจะแสดงปริมาณน้ำใช้และปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยออกมาแล้ว ยังแสดงสถานที่และระยะเวลาที่เกิดการใช้น้ำอีกด้วย

                ตัวอย่างกรณีศึกษาด้าน CSR ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Water Footprint  เช่น กรณีที่เครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลายนั่นคือกาแฟ ก็ยังมีความตระหนักและความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะหนึ่งจิบของกาแฟนั้นหมายถึง แหล่งเพาะปลูก น้ำที่ใช้เพาะปลูกเมล็ดกาแฟ น้ำตาล แรงงาน แก้วกระดาษที่นำมาใส่และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้บริษัทธุรกิจร้านกาแฟต้นตำหรับร้านกาแฟทั่วโลกได้ริเริ่มโครงการการบริหารจัดการน้ำภายในร้านของตนเองเป็นหลัก วิธีการ อาทิเช่น ระบบเครื่องกรองน้ำอัจฉริยะที่ช่วยทำให้ลดน้ำเสียและเพิ่มคุณภาพของน้ำในการชงกาแฟ มีการจัดตั้งตารางในการตรวจสอบรอยรั่วต่างๆ ในร้านเพื่อไม่ให้เสียน้ำไปโดยไม่จำเป็นทั่วทั้งร้าน นอกจากนั้นยังมีแผนในการเข้าไปดูแลระบบชลประทานเพื่อการเพาะปลูกเมล็ดกาแฟเพื่อลดการใช้น้ำอีกด้วย ในขณะที่ผู้ผลิตกาแฟและช็อกโกแลต อื่นๆ ก็ดำเนินรอยตามด้วย ซึ่งเมล็ดกาแฟจากสวนจะได้รับการตรวจสอบโดยองค์กรที่สาม อาทิเช่น  Rainforest Alliance ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการสร้างสังคมการทำธุรกิจบนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มิได้หวังแต่ผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึง 3 เสาหลักแห่งความยั่งยืนที่สำคัญอันได้แก่ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ  

 
สามารถติดตามอ่าน Blog จากคุณพีรานันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากการอบรมด้าน CSR ได้ทุกเดือนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (นอกจากนี้ยังสามารถอ่านได้จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์ CSR Talk ได้ทุกๆ เดือนค่ะ)

Talking about development....พูดถึงเรื่องเงินๆ ทอง


หลักการตั้งเป้าหมาย              
เขียนโดย วิวัฒน์ ชุติวณิชยกุล ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ

คุณครูทุกท่านเคยมีความต้องการในเรื่องต่างๆเหล่านี้บ้างมั๊ยครับ  เช่น อยากมีบ้านเป็นของตนเอง อยากมีเงินเก็บสักก้อน อยากมีรถ อยากเรียนต่อปริญญาโท อยากไปเที่ยวต่างประเทศ  อยากส่งลูกไปเรียนเมืองนอก  หลายท่านมีความต้องการต่างๆ นานา แต่อาจยังไม่สมหวังในสิ่งที่ตนเองวาดฝันไว้ อย่าเพิ่งหมดหวังหรือเสียกำลังใจนะครับ เพราะวันนี้ผมมีเคล็ดลับที่จะทำให้ความฝันหรือความต้องการของทุกท่านเป็นจริงได้มาบอก...

อันที่จริง ความต้องการเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เกิดก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่ตอนเด็กๆ เรามักจะมีความต้องการที่เล็กๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เช่น อยากได้ของเล่น อยากกินขนม ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะลงท้ายด้วยความสมหวัง เพราะมี “ตัวช่วย” คือ คุณพ่อคุณแม่แสนดีที่ขวนขวายหาสิ่งเหล่านั้นมาประเคนให้เราด้วยความรัก

พอเราเติบโตและมีอายุมากขึ้น ความต้องการของเราก็มักจะโตขึ้นตามวัยและประสบการณ์ของเรา และดูเหมือนว่าจะยิ่งยากและซับซ้อนมากขึ้นในการที่จะบรรลุความต้องการนั้นๆ ได้  คุณพ่อคุณแม่ก็คงไม่สามารถที่จะช่วยเราได้เหมือนตอนที่เราเป็นเด็กอีกแล้ว ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เคล็ดลับที่จะทำให้ความต้องการของเราเป็นจริงได้ด้วยตัวของเราเอง

เคล็ดลับที่ว่านี้ เรียกว่า หลักการตั้งเป้าหมาย” ซึ่งมีจุดประสงค์ก็เพื่อแปลง ความต้องการ” ของเราให้เป็น เป้าหมาย” ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และเพื่อให้เราสามารถกำหนดแผนปฏิบัติการที่จะใช้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้ โดยเป้าหมายที่ดีจะต้องมีลักษณะและองค์ประกอบที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

1.              เฉพาะเจาะจง  ชัดเจน

เป้าหมายที่ดีต้องระบุรายละเอียดสิ่งที่เราปราถนาให้ชัดเจนให้มากที่สุด ยิ่งชัดเจนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่เป้าหมายจะสามารถเป็นจริงได้มากเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หากเป้าหมายเราคืออยากมีบ้าน ก็ต้องระบุว่าให้ชัดเจนว่า.. เป็นบ้านเดี่ยวหรือทาวเฮาส์  ราคาเท่าไร ตั้งอยู่บริเวณไหน จะซื้อบ้านใหม่ จะซื้อบ้านมือสอง หรือจะสร้างบ้านเอง

 

2.              กำหนดผู้รับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมาย

ต้องมีการกำหนดคนที่จะมาทำให้เป้าหมายที่เราตั้งไว้ให้เป็นจริง เช่น เป้าหมายคืออยากมีบ้านตามข้อ 1.  ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า.. ใครจะเป็นคนจ่ายเงินซื้อบ้าน เพราะคนๆ นั้นจะต้องมีหน้าที่หาเงินให้เพียงพอกับราคาบ้าน หรือถ้าคนเดียวไม่สามารถหาเงินได้พอ อาจจะต้องมีคนอื่นในครอบครัวที่เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยหาเงินเพิ่มเติม ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ที่ตั้งเป้าหมายว่า จะมีใครบ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้

 

3.              มีระยะเวลากำหนด

สิ่งที่สำคัญเลยก็คือ ต้องกำหนดว่า.. เราอยากบรรลุเป้าหมายนี้ภายในระยะเวลาเท่าใด และจะเริ่มทำตามเป้าหมายเมื่อใด เช่น เป้าหมายคืออยากมีบ้านตามข้อ 1.  ก็ต้องกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนว่า.. อยากมีบ้านเป็นของตนเองให้ได้ภายใน 3 ปี โดยจะเริ่มทำตามเป้าหมายนับตั้งแต่วันนี้ เป็นต้น

 

4.              สมเหตุสมผล สามารถสำเร็จได้ ถ้าลงมือปฏิบัติจริง

ข้อนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการกำหนดแผนปฏิบัติการของผู้รับผิดชอบตามข้อ 2. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้ในข้อ 1. และข้อ 3. ทั้งนี้ ต้องตั้งอยู่บน ความสมเหตุสมผล” ด้วย เช่น เป้ามายคือต้องการซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาทให้ได้ภายใน 3 ปี โดยจะจ่ายเป็นเงินสด  ผู้รับผิดชอบก็ต้องกำหนดแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน คือ ต้องเก็บเงินให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 27,778 บาท ซึ่งเมื่อครบ 36 เดือนก็จะมีเงิน 1 ล้านบาทซึ่งเพียงพอกับการซื้อบ้าน แต่หากพบว่า.. ผู้รับผิดชอบมีเงินเดือนหรือรายได้ต่อเดือนไม่เพียงพอต่อการเก็บเงินให้ได้ในแต่ละเดือนตามแผน ก็จำเป็นต้องกลับไปทบทวน ข้อ 1. ใหม่ โดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดของการตั้งเป้าหมาย เช่น อาจจะลดราคาบ้านลง หรือ เปลี่ยนรูปแบบเป็นการกู้เงินกับสถาบันการเงิน เพื่อซื้อบ้านแล้วผ่อนชำระเงินกู้แบบรายเดือนแทนการซื้อเงินสด  หรือลองทบทวน ข้อ 3. ใหม่ โดยปรับขยายระยะเวลาให้ยาวออกไป ให้มากกว่า 3 ปี ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความเหมาะสมของบุคคลที่ที่ตั้งเป้าหมายเป็นหลัก

 

5.              สามารถวัดผลได้

หลังจากกำหนดแผนปฏิบัติการในข้อ 4. แล้ว เราต้องมีการวัดผลเป็นระยะๆ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นเชิงตัวเลข เพื่อเป็นการตรวจสอบให้แน่ใจว่า.. เมื่อถึงระยะเวลาที่เรากำหนดไว้ เราจะสามารถทำตามแผนปฏิบัติการที่เราเขียนไว้ได้หรือไม่ และทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้หรือเปล่า เช่น มีการตรวจสอบสมุดบัญชีเงินฝากทุกเดือนว่าสามารถเก็บเงินได้ไม่น้อยกว่า 27,778 บาทต่อเดือนจริงหรือไม่ และเมื่อครบ 3 ปี เราสามารถมีเงิน 1 ล้านบาทเพียงพอกับการซื้อบ้านหรือไม่

หากคุณครูทุกท่านนำความต้องการในเรื่องต่างๆ มาแปลงเป็นการตั้งเป้าหมายตามหลักการด้านบนนี้ ท่านจะพบว่า.. เรื่องที่เคยคิดว่ายากหรือไกลเกินฝัน แท้จริงแล้วเราสามารถทำให้สำเร็จได้ เพราะเป้าหมายที่ดีจะช่วยให้เราเห็นความต้องการของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เรารู้ว่าใครเป็นตัวหลักในการรับผิดชอบที่จะทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รู้ว่าเป้าหมายของเราจะสำเร็จเมื่อไร ด้วยวิธีการอย่างไร และมีวิธีการตรวจสอบเพื่อวัดผลการปฏิบัติอย่างชัดเจน ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น สุดท้าย ขอให้ทุกท่านสมหวังกับสิ่งที่ต้องการนะครับ

 

 

Thursday, June 20, 2013

Talking about Corporate Social Responsibility...

เด็กของเราจะไม่ถูกทอดทิ้ง


โดย พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์

ที่ปรึกษาอาวุโสด้าน CSR สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

 

หนึ่งในตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าของสังคมคือความก้าวหน้าทางการศึกษา ดังจะเห็นได้ว่าประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุด มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และน่าอยู่ในโลกนั้นก็มักจะได้รับการยอมรับด้านความเป็นเลิศทางระบบการศึกษาเช่นกัน ดังที่ปรากฏจากรายงานของ Pearson Education บริษัทชั้นนำด้านการศึกษาจากประเทศอังกฤษ จัดอันดับด้านระบบการศึกษาของประเทศจากตัวแปรสำคัญอันได้แก่ คะแนนการทดสอบระดับนานาชาติ อัตราส่วนบัณฑิตระหว่างปีการศึกษา และความหนาแน่นของอัตราผู้ที่มีความรู้ระดับอุดมศึกษา ในระหว่างปี 2006 2010 ระดับบนสุดของ 40 อันดับ ประเทศที่มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกนั้นคือประเทศฟินแลนด์ รองลงมาคือเกาหลีใต้ ตามมาด้วยฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ นี่แสดงถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการศึกษาและการพัฒนาประเทศ ที่จะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและโอกาสที่เท่าเทียมกัน อีกทั้งเมื่อเราอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้งและเป็นโลกที่ต้องการทักษะที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ทั้งทักษะเชิงเทคนิคและทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราไม่ควรท้อถอยในการพัฒนาให้เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานไว้ว่า “…เจตนาของการศึกษานั้น กล่าวโดยสรุปก็คือการวางรากฐานที่ดีที่ถูกต้องในตัวบุคคล ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และความรู้ทั้งปวง สำคัญที่สุดคือรากฐานด้านความรู้จักรับผิดชอบชั่วดี รู้จักคิดตัดสินใจตามทางที่ถูก ที่เป็นธรรม ที่สร้างสรรค์ ผู้จัดการศึกษาต้องดำเนินงานให้ได้ประโยชน์พร้อมดังนี้จึงจะเรียกได้ว่าปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วน เป็นนักการศึกษาแท้…”

หน้าที่ของการพัฒนาศึกษาจึงไม่สามารถพึ่งพาและรอการสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีกฏหมายที่มีชื่อเสียงมากเกี่ยวกับนโยบายด้านการจัดการศึกษาที่ชื่อ No Child Left Behind Act of 2001 (NCLB) หลักการของ NCLB คือเน้นความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้น รัฐและชุมชนมีอิสระในการจัดการศึกษามากขึ้น ส่งเสริมการใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล และพ่อแม่ผู้ปกครองมีทางเลือกสำหรับบุตรหลานของตนเองมากขึ้น นโยบายนี้เป็นนโยบายที่เน้นการพัฒนาคุณภาพและเร่งเร้าให้โรงเรียนมีความรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก โดยการหากระบวนการต่างๆ ทั้งการเรียนการสอน การพัฒนาศักยภาพครู หรืออื่นๆ ในอันที่จะปิดช่องว่างด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา จึงเป็นที่มาของคำว่าเด็กของเราจะไม่ถูกทอดทิ้ง เมื่อดูโดยภาพรวมนี้แล้วนโยบายด้านการจัดการศึกษาของสหรัฐอเมริกาที่ครอบคลุมทั้งการเข้าถึงการศึกษา (Inclusive) และ การจัดคุณภาพการศึกษา (Quality) น่าจะสร้างความพึงพอใจและอยู่ในกรอบที่ประชาชนส่วนใหญ่รับได้ แต่กลุ่มภาคธุรกิจชาวอเมริกันเห็นว่า ยังมีสถานการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ เช่นกว่าร้อยละ 25 ของเด็กอเมริกันตัดสินใจที่จะไม่เรียนต่อในช่วงระหว่างการเรียนมัธยมปลาย นอกจากนั้นยังพบว่า ความสนใจของวิชาจำพวก วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) และ คณิตศาสตร์ (Math) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า STEM Subjects ลดลงทั่วประเทศตั้งแต่เด็ก โดยพบว่ามากถึงร้อยละ 61 ของเด็กตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 ยอมที่จะทำงานบ้านมากกว่าการทำการบ้านคณิตศาสตร์ (Judah Schiller และ Christine Arena) นี่ทำให้ภาคธุรกิจกังวลกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต เนื่องจากอาจจะต้องพบกับภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยมีการสำรวจว่าตลาดแรงงานกว่าร้อยละ 80  ในช่วงทศวรรษหน้า ต้องการแรงงานที่มีทักษะความชำนาญในหัวข้อ STEM และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทใหญ่ๆ อาทิ Target, Microsoft, Cisco, and IBM Intel, Goldman Sachs, AT&T, และ Facebook สนับสนุนโดยรวมแล้วมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ  เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาที่มากกว่าการบริจาคเงิน สิ่งก่อสร้างและสิ่งของกล่าวคือการสนันสนุนด้านการสร้างศักยภาพและการสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษาอีกด้วยเพื่อให้ตอบรับกับอนาคตของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือโครงการ INSTEP เป็นโครงการในประเทศไทยที่พัฒนาคุณครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและกระตุ้นให้นักเรียนเกิดบรรยากาศเรียนรู้แบบ Inquiry-based learning (การสืบเสาะหาความรู้ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์) ภายในชั้นเรียนในจังหวัดพังงากว่า 3 ปี ของการดำเนินโครงการตามแนวทางการสืบเสาะหาความรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดการสังเกต ก่อให้เกิดการตั้งคำถาม และหาคำตอบด้วยตนเอง สร้างเมล็ดพันธ์แห่งความสนใจด้านวิทยาศาสตร์แล้วนำมาปรับปรุงชีวิตที่ค้นหาความจริง พัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพ และความเจริญในชุมชน อย่างไม่รู้จบ

การที่การศึกษาไทยหรือเด็กไทยจะถูกทอดทิ้งหรือไม่นั้น เป็นคำถามกระตุ้นความรับผิดชอบสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนในประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐหรือนักวิชาการ แต่รวมไปถึงธุรกิจและทุกภาคส่วน เพราะเราต่างรอใช้ประโยชน์จากดอกผลของการศึกษาโดยยังไม่ได้ช่วยพรวนดินดูแลรักษาดอกผลนั้นกันอย่างเต็มที่ แล้วท่านจะหวังให้ผลไม้นั้น ออกดอกออกผลสมบูรณ์และมีคุณภาพที่ดีได้อย่างไร
 
สามารถติดตามอ่าน Blog จากคุณพีรานันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากการอบรมด้าน CSR ได้ทุกเดือนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปค่ะ (นอกจากนี้ยังสามารถอ่านได้จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์ CSR Talk ได้ทุกๆ เดือนค่ะ)

Sunday, June 16, 2013

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ..... มาเช็คสุขภาพ(ทางการเงิน)ของคุณกันเถอะ!




มาเช็คสุขภาพ(ทางการเงิน)ของคุณกันเถอะ!
 

เขียนโดย น.ส. ปาริชาติ แสงทอง ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ
 

ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลเอาใส่ใจ “สุขภาพร่างกาย” ของตนเองกันเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากยอดมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ย่อมต้องทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เพื่อความหวังและความฝันในเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ...เงินโบนัสปลายปี ซึ่งพวกเราทุกคนต่างถวิลหามันทุกค่ำเช้า ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มดูแลสุขภาพของตนเองอย่างจริงจัง เราควรทราบก่อนว่า สุขภาพร่างกายของเราสมบูรณ์แข็งแรงดีหรือไม่ ด้วยการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อที่จะได้รู้ว่าตนเองมีความดันโลหิต น้ำตาล คอเลสเตอรอลอยู่ในระดับใด และมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อีกหรือไม่ เมื่อทราบแล้ว เราจึงรู้ว่าจะต้องปรับปรุงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้มีชีพจรชีวิตที่ยืดยาวต่อไปตราบนานเท่านาน
 

ที่เกริ่นนำมาซะยาวเหยียดขนาดนี้ ก็เพราะอยากให้ผู้อ่านที่เป็นบรรดายอดมนุษย์เงินเดือนทุกคนเล็งเห็นว่า เมื่อคุณได้รับเงินเดือนในแต่ละเดือน รวมไปถึงโบนัสก้อนโตที่ได้รับในตอนปลายปีนั้น คุณๆ ก็มักจะนำไปใช้จ่ายเพื่อให้รางวัลกับชีวิตด้วยวิธีการขั้นเทพเฉพาะตัวของแต่ละคนจนเพลิน นึกขึ้นมาได้อีกที.. อ้าว! ยังจ่ายหนี้ไม่หมดเลยนี่หว่า หรือไม่ก็.. ว่าจะกั๊กเงินไว้ออมซะหน่อยหมดอีกแล้ว ไม่เป็นไรเดือนหน้าค่อยว่ากัน และเหตุผลอื่นๆ อีกมากมายที่ยกแม่น้ำทั้ง 185 สายขึ้นมาเพื่อปลอบใจตนเอง เพราะไม่อยากยอมรับว่าตนเองมีพฤติกรรมการใช้เงินที่แย่ขนาดไหน และไม่เคยทราบเลยว่าควรจะต้องมีการวางแผนการใช้เงินล่วงหน้าในแต่ละเดือนอย่างไร ดังนั้น เมื่อคนเราให้ความสำคัญกับการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายฉันใด ย่อมจะต้องให้ความสำคัญต่อการตรวจเช็ค “สุขภาพทางการเงิน” ของตนเองด้วยฉันนั้น
 

ทีนี้ คำถามแรก “ทำไปทำไมล่ะ ไอ้การตรวจสอบสุขภาพทางการเงินเนี่ย?” คำตอบคือ “เพื่อให้ทราบถึงทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวคุณเองในปัจจุบัน อันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการเงินของคุณในอนาคตอีกด้วย” คำถามต่อมาน่าจะเป็น “แล้วมันทำยังไงล่ะ?” คำตอบคือ “สามารถทำได้ง่ายมากๆ โดยวันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอแบบทดสอบสุขภาพทางการเงิน ซึ่งใช้เวลาทำประมาณ 5-10 นาที” ถ้าพร้อมแล้ว.. ให้อ่านคำถาม   12 ข้อด้านล่างนี้ แล้วเลือกคำตอบที่ซื่อสัตย์กับตนเองที่สุด อ๊ะๆ ห้ามแอบดูเฉลยด้านล่างก่อนนะ และห้ามตอบเข้าข้างตนเองเด็ดขาดนะเจ้าคะ โอเค! สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ตั้งสติให้มั่น.. แล้วมาเริ่มกันเลยดีกว่าจ้า...
 
1. ปัจจุบันคุณมีรายได้หลักมาจากทางใด

ก. เงินเดือน / ค่าจ้าง
ข. รายได้จากธุรกิจส่วนตัว หรือการประกอบอาชีพอิสระ
ค. ไม่มีรายได้ประจำ

2. นอกจากรายได้ในข้อ 1 แล้ว คุณยังมีรายได้มาจากแหล่งอื่นอีกหรือไม่

ก. มี... ทั้งยังแน่นอนและต่อเนื่อง
ข. มี... แต่รายได้ก็ไม่ค่อยแน่นอน
ค. ไม่มี

3. โดยทั่วไป คุณจะ...

ก. แบ่งเงินออมไว้ก่อน เหลือแล้วค่อยใช้
ข. ใช้ก่อน เหลือแล้วค่อยออม
ค. อยากออมนะ แต่ไม่เคยมีเงินพอใช้ถึงสิ้นเดือนเลย

4. ที่ผ่านมาคุณออมเงินคิดเป็นร้อยละเท่าใดของรายได้ต่อเดือน

ก. มากกว่า 20%
ข. 10% – 20% 
ค. น้อยกว่า 10%

5. ถ้าคุณได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท คุณจะ...

ก. เก็บไว้ โดยฝากธนาคารหรือลงทุนทั้ง 10,000 บาท
ข. แบ่งไปออมสัก 5,000 บาท และแบ่งไว้ใช้อีก 5,000 บาท
ค. ใช้เงินซื้อของที่อยากได้ทั้งหมด

6. ปัจจุบันคุณมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่ทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่มีรายได้ นานที่สุดกี่เดือน

ก. มากกว่า 6 เดือน
ข. ประมาณ 3 – 6 เดือน
ค. ไม่เกิน 3 เดือน

7. เวลาคุณจะใช้เงินซื้ออะไรบางอย่าง คุณจะ...

ก. พิจารณาว่าจำเป็นและได้ใช้ จึงจะซื้อ
ข. หากมีการลดราคา 50% – 70% จึงจะซื้อ
ค. อยากได้ก็ซื้อ

8.    ในแต่ละเดือนคุณมีภาระต้องชำระหนี้สินทุกประเภทคิดเป็นร้อยละเท่าใดของรายได้
 
 ก.     0 – 25%
 ข.     25 – 45%
 ค.     มากกว่า 45%

9.     ปัจจุบันคุณมีบัตรเครดิตที่มียอดคงค้างและต้องชำระดอกเบี้ยอยู่กี่ใบ

ก.     ไม่มีบัตร หรือไม่มียอดคงค้างเลย
 ข.     1 – 2 ใบ
 ค.     ตั้งแต่ 3 ใบ ขึ้นไป

10. สมมุติว่าคุณมีหนี้อยู่หลายประเภท คุณคิดว่าหนี้ประเภทใดที่เป็นปัญหากับชีวิตของคุณมากที่สุด

ก.     เงินกู้ระยะยาว เช่น เงินกู้เพื่อซื้อบ้าน เงินกู้เรียน ฯลฯ
ข.     เงินกู้ระยะสั้น เช่น เงินกู้ค่าผ่อนชำระสินค้า สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ
ค.     เงินกู้นอกระบบ หรือหนี้บัตรเครดิต

11. กรณีที่คุณเป็นเสาหลักของครอบครัวและไม่สามารถทำงานหารายได้ต่อไปในอนาคต คุณคิดว่าครอบครัวของคุณจะเป็นอย่างไร

ก. ไม่เดือดร้อน เพราะมีเงินออมและทำประกันชีวิตเอาไว้แล้ว
ข. เดือดร้อนพอประมาณ เพราะมีเงินออมและทำประกันชีวิตไว้บ้างนิดหน่อย
ค. เดือดร้อนแน่ เพราะขาดหลักประกันในชีวิต
 
12. ถ้าด้วยฐานะและภาระต่างๆ ที่คุณยังมีอยู่ในปัจจุบัน คุณคิดว่าวิธีการใดต่อไปนี้ที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายการออมเงินของคุณได้

ก. นำเงินออมที่มีอยู่ไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้น
ข. เพิ่มรายได้ เพื่อเพิ่มเงินในการออม
ค. ลดค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มเงินในการออม
 
เอาล่ะ! เสร็จแล้ว ได้เวลาคิดคะแนนจากคำตอบแต่ละข้อที่เราตอบไป ตามด้านล่างนี้จ้า:
• ตอบข้อ ก ได้ 2 คะแนน
• ตอบข้อ ข ได้ 1 คะแนน
• ตอบข้อ ค ได้ 0 คะแนน
 
เฉลยผลการทดสอบ
 
0 – 7 คะแนน : คุณมีสุขภาพทางการเงิน ไม่ค่อยดี
 
มีสัญญาณบ่งบอกถึงความอ่อนแอในสุขภาพทางการเงินของคุณ อาจจะเป็นเพราะคุณมีมุมมอง ทัศนคติ และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่มุ่งเน้นความสะดวกสบายในปัจจุบัน แต่หากคุณจะใช้จ่ายอะไร ลองพิจารณาถึงความจำเป็น พร้อมทั้งหาทางเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เพียงเท่านี้... สุขภาพทางการเงินของคุณก็จะแข็งแรง เป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงิน ก็จะเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้
 
8 – 16 คะแนน คุณมีสุขภาพทางการเงิน ปานกลาง
 
จริงๆ แล้วสุขภาพทางการเงินของคุณอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป แต่เพื่อความไม่ประมาท การเพิ่มความระมัดระวังด้านการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น จะช่วยเพิ่มพูนเงินออมหรือเงินลงทุน ส่งผลให้สุขภาพทางการเงินของคุณมีความแข็งแรงมากขึ้น เป็นการสร้างความมั่งคั่งมั่นคงให้กับตนเอง และบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้
 
17 คะแนนขึ้นไป คุณมีสุขภาพทางการเงิน ดีมาก
 
                ขอแสดงความยินดี... คุณมีสุขภาพทางการเงินแข็งแรงดีมาก อาจจะเป็นเพราะคุณมีมุมมอง ทัศนคติ และพฤติกรรมเกี่ยวกับการหารายได้และการใช้จ่ายที่ดี อีกทั้งยังมีวินัยในการออมสูง จึงทำให้คุณมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ แต่เพื่อความไม่ประมาท คุณควรรักษาสิ่งดีๆ เหล่านี้ไว้ พร้อมทั้งเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้ตนเองด้วยการออมและลงทุนอย่างต่อเนื่อง สุขภาพทางการเงินของคุณจะแข็งแรงอย่างนี้ตลอดไป
 
                เห็นมั้ยละคะว่า... การตรวจสุขภาพทางการเงินนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วมากๆ แถมยังมีประโยชน์ทำให้เราได้ทราบว่าตนเองมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร และทราบอีกด้วยว่าเรามีทัศนคติต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิตอนาคตอย่างไร ดังนั้น ลองนำคำแนะนำที่เขียนอธิบายไว้จากผลการตรวจสุขภาพทางการเงินแต่ละระดับไปลองปรับใช้ดูกับตนเอง เผื่อว่าจะได้ผลเหมือนอย่างที่ผู้เขียนเคยลองใช้เป็นแนวทางกับตนเองมาแล้ว ซึ่งใช้ได้ผลดีมากๆ โดยสามารถนำมาวางแผนการใช้จ่ายของตนเองในแต่ละเดือน ปรับปรุงวิถีการใช้จ่ายจากที่เคยหน้ามืดของตนเองให้ดีขึ้น และก้าวข้ามพ้นวิกฤติการใช้เงินแบบเดือนชนเดือนไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ สุดท้ายผู้เขียนจึงขอฝากทิ้งท้ายไว้สักนิดว่า นอกจากเราต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพร่างกายของเราให้ดีเพื่อที่จะสามารถทุ่มเททำงานได้อย่างเต็มที่แล้วนั้น เราย่อมต้องดูแลสุขภาพทางการเงินของเราด้วยเช่นกัน เพราะสุขภาพทางการเงินที่สมบูรณ์แข็งแรงย่อมเป็นหนทางที่จะนำท่านไปสู่อิสรภาพทางการเงินที่สดใสได้ในอนาคต
 
 


 
 

Wednesday, June 12, 2013

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ.....“ยิ่งใช้ ยิ่งจน”

เขียนโดย น.ส. สุวิภา ฉลาดคิด ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ และ
น.ส. ศรีไพร ศรีพนมวรรณ นักศึกษาฝึกงานภายใต้โครงการซิตี้-ครูไทยพอเพียง


ในยุคสมัยนี้มีสิ่งดึงดูดใจมากมายที่สามารถดูดเงินในกระเป๋าของคุณครู ให้พวกเขาต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายออกไปในทันทีทันใดที่รู้สึกว่า “อยากได้” ไปซะทุกที ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร  รองเท้า กระเป๋า และอีกมากมาย โดยสินค้าพวกนี้ก็ต้องมีพรีเซนเตอร์เป็นดาราดังๆที่กำลังอยู่ในกระแสฮอตฮิต ณ ขณะนั้นๆ เปรียบเสมือนเป็นกับดักโฆษณาอันล่อตาล่อใจแก่ผู้ที่ “อยากได้” และ “อยากมี” ดังกับต้องมนต์สะกด ทำให้เกิดอาการอดใจไม่ไหว ต้องรีบควักเงินในกระเป๋าไปซื้อสินค้าเหล่านั้นมาครอบครองเป็นของตนเองให้จงได้

คุณครูส่วนใหญ่มักจะจับจ่ายใช้สอยโดยใช้เงินในอนาคต หน้าตาเงินในอนาคตหน่ะเหรอ? รูปร่างสี่เหลี่ยม ลักษณะแข็ง เวลาใช้จ่ายจะมีเสียง รูดปรื๊ดๆ เรารู้จักกันดีในชื่อบัตรเครดิต เหตุผลหนึ่งที่ทำให้บัตรเครดิตเป็นที่นิยม เนื่องจากเงินเดือนไม่เคยจะเหลือพอจนถึงสิ้นเดือน ไหนจะค่าใช้จ่ายส่วนตัว ไหนจะภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว ไหนจะต้องเข้าสังคมกับเพื่อนรวมงานอีกหล่ะ ดังนั้น จึงต้องหาแหล่งเงินสำรองเพื่อนำมาใช้จ่ายให้เพียงพอต่อรายจ่ายอันยาวเหยียด อีกทั้ง สถาบันการเงินต่างๆ ก็ขยันออกโปรโมชั่น พร้อมของแถมมากมาย การสมัครก็แสนง่ายดาย แค่เซ็นกริกเดียว ก็ได้บัตรมาอยู่ในมือซะแล้ว

หากพูดถึงเวลาใช้จ่าย ยิ่งไม่ได้ถือเงินสดในมือ ถือเพียงบัตรแข็งๆ หนึ่งใบ แต่สามารถซื้อทุกสิ่งที่ต้องการได้ชั่วพริบตา โดยรูดปรื๊ดๆ อ๋อ... บัตรเครดิตนำมาซึ่งความสะดวกสบายแบบนี้นี่เอง ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงอนาคตที่ต้องชำระเงินจริงๆ สนใจเพียงแต่ความเพลิดเพลินในการใช้จ่าย ก็ยิ่งทำให้เรามองไม่เห็นคุณค่าของเงินอย่างแท้จริง เมื่อเวลาที่สถาบันการเงินเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตมาถึงเท่านั้นแหละ หลายคนถึงกับหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม คำถามต่างๆ นานาแย่งกันผุดขึ้นมาในหัว เช่น นี่เราใช้เงินซื้ออะไรเยอะแยะเนี่ย สิ่งของที่เราซื้อก็ไม่ได้สลักสำคัญขนาดนั้นสักหน่อย แล้วถ้าไม่มีเงินจ่ายบัตรเครดิตจะทำอย่างไร บางคนถึงกับต้องไปกู้เงินจากแหล่งอื่นเพื่อมาชำระหนี้บัตรเครดิต และพอถึงเดือนถัดไป เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ก็จะเกิดขึ้นอีกซ้ำๆ วนเวียนไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ตัวว่า.. เราจะปลดหนี้ได้เมื่อไหร่

นอกจากนี้ อันตรายจากบัตรเครดิตที่ทำให้หลายคนหลงใหล บางครั้งถึงกับสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนๆ นั้นได้เลย ตัวอย่างเช่น ก่อให้เกิดความอยากได้ที่ไม่มีขีดจำกัด ความต้องการที่จะยกระดับตัวเองจากการซื้อสินค้าราคาแพงๆ ความรู้เท่าไม่ถึงการของการไม่ยั้งคิดในการใช้จ่าย เป็นต้น

ดังนั้น ก่อนที่จะใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตแต่ละครั้ง ต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า จริงๆ แล้ว การใช้บัตรเครดิต ก็เปรียบเสมือนเราเป็นหนี้กับสถาบันการเงินเข้าให้แล้ว เราจึงต้องมีสติมากกว่าเดิมทุกครั้งที่เราจะใช้จ่าย และถามตนเองเสมอว่า ในการใช้จ่ายเงินมากมายขนาดนี้ ลึกๆ แล้ว เราเพียงต้องการการยอมรับจากคนรอบข้างหรือเปล่า หรือเราจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องซื้อสิ่งของเหล่านั้น หากไตร่ตรองแล้วพบว่า “ยิ่งใช้ ยิ่งจน” เราควรหยุดตัวเอง เพื่อไม่ให้เงินในกระเป๋าเราลดลง หรือไม่ต้องไปเป็นลูกหนี้ใครมากกว่าเก่า

วิธีการง่ายๆ ที่สามารถป้องกันการเป็นหนี้จากบัตรเครดิตได้ก็คือ การเปลี่ยนวิธีการจับจ่ายใช้สอย โดยเปลี่ยนมาซื้อสินค้าด้วยเงินสดแทนจะดีกว่า เพราะเราจะรู้ถึงจำนวนเงินที่แท้จริงได้เลยว่า.. เรามีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ เราสามารถใช้จ่ายได้เท่าไหร่ และเป็นการบังคับให้เราไม่ใช้เงินเกินตัวอีกด้วย หากคุณลองนำวิธีคิดเหล่านี้ไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิต คุณอาจมีเงินเพียงพอต่อการใช้จ่าย และอาจมีมากพอสำหรับการเก็บเงินก้อนโตที่คุณไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าจะออมได้ สุดท้าย คุณอาจจะไม่ต้องพึ่งพาการนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายอีกเลยก็เป็นได้

Monday, June 10, 2013

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ....เคล็ด(ไม่)ลับ เพิ่มเงินออมในกระเป๋าสตางค์



พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ....เคล็ด(ไม่)ลับ เพิ่มเงินออมในกระเป๋าสตางค์

เขียนโดย สุวิภา ฉลาดคิด ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ 
และผู้ประกอบการ

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการออมเงิน หลายคนมักจะประสบกับปัญหาการเก็บเงินไม่อยู่ เงินมักจะชอบทยอยบินลอยออกจากกระเป๋าเราเสียจริงๆ ดังนั้น เราจึงมีเคล็ดลับ แต่ไม่ลับอีกต่อไป เพราะจะมาเปิดเผยเทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยอุดรูรั่วของกระเป๋าสตางค์ และยังช่วยเพิ่มเงินออมในกระเป๋าเราอีกด้วย

     การมีสติในการใช้จ่าย ทุกครั้งที่เงินกำลังจะบินออกจากกระเป๋าสตางค์เรา เราต้องนับ 1-10 ในใจ และถามตัวเองก่อนเสมอว่า.. ของที่จะซื้อจำเป็นสำหรับเราจริงๆ หรือเปล่า ถ้าเราไม่ซื้อ เราสามารถนำเงินไปทำอะไรอย่างอื่นที่มีประโยชน์ได้มากกว่าการซื้อของสิ่งนี้หรือไม่ วิธีการถามตัวเองนี้ จริงๆ แล้วเป็นการทบทวนความคิด เพื่อก่อให้เกิดการไตร่ตรองก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต จะต้องคิดทบทวนหลายตลบสักหน่อย เนื่องจากเรากำลังใช้เงินในอนาคตของเราอยู่นั่นเอง วิธีการที่ดีที่สุด คือ ควรเก็บเงินทีละเล็กทีละน้อยจนสามารถนำไปซื้อของสิ่งนั้นได้ และจะได้ไม่เป็นการสร้างนิสัยการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย หากใช้บัตรเครดิตโดยไม่ระวัดระวังแล้ว จะมีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามรอบระยะเวลาที่สถาบันการเงินเรียกเก็บ

การทำบัญชีรายรับรายจ่าย หากเราไม่รู้ว่า กระเป๋าสตางค์เรามีรูรั่วตรงไหน แล้วเราจะอุดรูรั่วได้อย่างไรเล่า ดังนั้น เราต้องหารูรั่วของกระเป๋าสตางค์เราให้เจอก่อนเป็นอันดับแรก โดยวิธีการที่แสนง่าย นั่นก็คือ การจดบันทึกบัญชีรายรับรายจ่าย จด จด จด และก็จดให้ละเอียดว่าในแต่ละวัน เรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพื่อคอยสังเกตุพฤติกรรมการบริโภคของเรา จากนั้นนำมาสรุปผลและวิเคราะห์ เป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนตามแต่ความสะดวก แล้วเราก็จะเห็นว่า เราสามารถลดค่าใช้จ่ายใดลงได้บ้าง ทีนี้หล่ะ เงินของเราก็จะไม่บินหายไปในสิ่งที่ไม่จำเป็น อยู่ดีๆ เงินก็สามารถเพิ่มขึ้นมาในกระเป๋าสตางค์เราได้ซะอย่างนั้น

การมีวินัย สาเหตุหลักที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถเก็บเงินออมได้ เนื่องจากขาดวินัยในการออมนั่นเอง เรามักจะให้เงินบินออกจากกระเป๋าสตางค์แบบง่ายเกินไป เรียกว่า ใช้จ่ายเงินที่ได้มาแบบไม่คิดถึงวันข้างหน้า มีเท่าไหร่ก็ใช้ไปเรื่อยๆ เงินหมดก็กู้ ดังนั้น เราจึงต้องสร้างวินัยขึ้นมา โดยการบังคับให้ตัวเองต้องออมเงิน ประมาณ 10% ของรายได้ แต่ละเดือนหรือทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามา เราต้องหักไว้ก่อน 10% เพื่อกันไว้เป็นเงินออม ต้องทำแบบนี้เป็นประจำและสม่ำเสมอ ทำจนติดเป็นนิสัย ซึ่งเหลือส่วนที่เหลืออีก 90% นั้น จึงนำมาใช้จ่ายได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเดือนนี้คุณได้รับเงินเดือน 10,000 บาทให้คุณ(รีบ)หักไว้เป็นเงินออมเลยทันที 1,000 บาท วิธีนี้จะทำให้เรามีเงินออมไว้ในกระเป๋าเราอย่างแน่นอน ฉะนั้น ต้องหมั่นเตือนสติตนเองไว้เสมอว่า หากมีวินัยในการออมเงินได้เร็วเท่าไร ก็สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เร็วเท่านั้น

การสำรองเงินเผื่อฉุกเฉิน หากเราผ่านด่านการมีวินัยในการออมเงินมาได้แล้ว เราต้องคำนึงถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้น เราต้องเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงเวลาที่ต้องการใช้เงินแบบกะทันหันไว้ด้วย ซึ่งเงินก้อนนี้ควรจะเป็นเงินหลังจากส่วนที่หักเงินออมไว้แล้ว 10% และก่อนนำไปใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งนี้ ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อยที่สุดเท่ากับค่าใช้จ่ายต่อเดือนรวมกัน 3-6 เดือน ซึ่งควรเก็บไว้ในรูปแบบที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และมีสภาพคล่องสูงเพื่อสามารถเบิกออกมาใช้ได้ยามที่เราต้องการ เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงินที่สามารถไถ่ถอนได้ทุกวันทำการ

ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่า หากคุณลองนำเคล็ดไม่ลับเหล่านี้ไปลองปฏิบัติดู เงินในกระเป๋าสตางค์ของคุณจะต้องเพิ่มพูนขึ้นมาจนทำให้คุณประหลาดใจทีเดียวหล่ะ


พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ....“เงิน เงิน เงิน ของสาววัยทีน”






“เงิน เงิน เงิน ของสาววัยทีน”




เขียนโดย น.ส. ศรีไพร ศรีพนมวรรณ
นักศึกษาฝึกงานภายใต้โครงการซิตี้-ครูไทยพอเพียง 



เด็กผู้หญิงเมื่อเริ่มโตเป็นสาววัยทีน ย่อมต้องรักความสวยความงามเป็นชีวิตจิตใจเป็นเรื่องธรรมดา  นอกจากจะเป็นไปตามวัยแล้ว เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะสาวๆ สามารถนำความสดใสและน่ารักมาต่อยอด เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง โดยผ่านงานถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา หรือเป็นสาวพริ้ตตี้ตามงานแสดงสินค้าต่างๆ  ซึ่งเด็กสาววัยทีนนี้ล้วนมีความเป็นเอกลักษณ์และมีเสน่ห์ดึงดูด หากแต่ในบางครั้งมีการใช้จ่ายมากเกินไปกับสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่างๆ
 
  •          ใช้เงินแบบไม่รู้จักคุณค่าของเงิน
เด็กสาววัยทีนมักจะชอบไปช้อปปิ้ง เลือกซื้อเสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ นาฬิกา รองเท้า ยี่ห้อ            แบรนด์เนมตามแฟชั่น หรือไปดูภาพยนตร์เรื่องดังกับเพื่อนๆ จนลืมคิดไปว่า.. เงินที่กำลังใช้จ่ายไปนั้นได้มาจากรายได้ของผู้ปกครองที่ส่งมาให้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน  โดยไม่คำนึงถึงผู้ปกครองเลยว่า ท่านจะต้องทำงานหนักมากแค่ไหนที่ต้องหาเงินมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับลูกๆ เองนั้น ก็ไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำไปว่า ตนเองกำลังเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครองมากขึ้นไปอีก
 
  •         วัยทีนก็อินเทรนด์แบบประหยัดได้
เทคนิคง่ายๆ ที่จะทำให้สาวๆ วัยทีน มีเงินเก็บออมมากขึ้น สามารถทำได้โดย:
 
1. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น ค่าตั๋วภาพยนตร์ ค่าทำผม ค่าทำเล็บ ค่าขนม ค่าเครื่อง    สำอางค์ ค่าหนังสือการ์ตูน ค่าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุด เป็นต้น ทั้งนี้ ตัวผู้เขียนเองก็เป็นเด็กสาววัยทีนคนหนึ่ง ปัจจุบันอาศัยอยู่หอพักใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัย จึงขอฝากเทคนิคส่วนตั๊วส่วนตัวในการลดค่าใช้จ่าย ดังนี้:

     -ลดมื้ออาหารพิเศษตามห้างสรรพสินค้าลง หันมาทานอาหารที่มีคุณภาพแต่ราคาประหยัดแทน เช่น ร้านอาหารตามสั่ง หรือการซื้ออาหารมาทำทานเองที่หอพัก ประหยัดได้อาทิตย์ละ 200 บาท
 
     -ลดการดื่มน้ำอัดลมระหว่างมื้ออาหาร จากเดิมต้องทานน้ำอัดลมแทนน้ำเปล่าทุกมื้ออาหาร แต่ปัจจุบันจะแทนเฉพาะบางวันที่ร้อนและเหนื่อยมากจริงๆ ทำให้ประหยัดไปได้อาทิตย์ละ 70 บาท
 
    -ลดกิจกรรมในการสังสรรค์กับเพื่อนๆ ในยามว่าง เช่น การดูภาพยนตร์ และปาร์ตี้กับหมู่แก็งค์ ทำให้ประหยัดไปได้ถึงอาทิตย์ละ 300 บาท
 
    -ลดการช้อปปิ้งซื้อกระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอางค์ลง โดยจะรอให้หมดหรือพังจริงๆ ก่อนค่อยซื้อ พอกันทีสำหรับการตามกระแสแฟชั่น เปลืองเงินโดยใช่เหตุ ทำให้มีเงินออมมากขึ้นอีก 300 บาทต่ออาทิตย์
 
    -ลดการซักผ้าที่ใช้เครื่องซักทุกอาทิตย์ หันมาซักด้วยตนเองเพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายลงไปอีกประมาณ 100 บาทต่ออาทิตย์
 
    -นั่งรถเมล์ไปเรียน จากเดิมเคยนั่งรถแอร์ราคา 12 บาทตลอดสาย ไม่เคยนั่งรถพัดลมเลย จึงเปลี่ยนใหม่โดยนั่งรถแอร์ 2 วัน รถพัดลมอีก 3 วัน ทำให้มีเงินเหลือหยอดกระปุกอีกวันละ 8 บาท หรือ 40 บาทต่ออาทิตย์

2.  เพิ่มรายได้ สาววัยทีน ย่อมมีเวลาว่างหลังเลิกเรียน หรือปิดเทอมค่อนข้างมาก ดังนั้น ทำไมเราจึงไม่ลองหางานพิเศษทำเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเองกันล่ะ เทคนิคการเพิ่มรายได้เริ่มจาก:
 
     -ค้นหาว่าตนเองชอบทำอะไร หรือมีความถนัดพิเศษในเรื่องใด แล้วจึงรับจ้างทำงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เช่น พิมพ์ดีดเร็ว จึงรับจ้างพิมพ์รายงานจากเพื่อนหรืออาจารย์ ร้องเพลงเพราะ จึงไปรับจ้างร้องเพลงตามร้านอาหาร วาดรูปหรือถ่ายรูปเก่ง ก็รับงานวาดรูป หรือถ่ายรูป ตามแต่ความถนัดของตนได้
 
     -หากยังค้นหาตนเองไม่เจอ ว่าตนเองถนัดอะไร ชอบงานประเภทไหน ก็สามารถหางานพิเศษตามร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ หรือห้างสรรพสินค้า ตามตำแหน่งที่เค้าเปิดรับสมัครนักศึกษาทำงาน Part-time เช่น พนักงานเสิร์ฟ พนักงานขายตั๋วภาพยนตร์ พนักงานผู้ช่วยตามห้างสรรพสินค้า  เป็นต้น สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้นจัดอยู่ในข้อนี้ กล่าวคือ ไม่มีเรื่องใดที่ถนัดเป็นพิเศษ จึงต้องทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านเนื้อย่างเกาหลีใกล้มหาวิทยาลัย ได้ค่าตอบแทนวันละ 150 บาท โดยเริ่มงานเวลาประมาณ 18.00 น. เลิกงานประมาณ 22.30 น. ของทุกวัน ทำให้มีเงินออมเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณเดือนละ 3,800 บาทต่อเดือน


เทคนิคของผู้เขียนเกี่ยวกับการลดค่าใช้จ่ายและการเพิ่มรายได้ตามข้างต้นนั้น สามารถทำให้มีเงินออมมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของผู้เขียนว่า.. จะต้องจ่ายค่าเล่าเรียนของตนเองให้ได้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ได้อีกทางหนึ่ง สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอฝากแง่คิดทิ้งท้ายเอาไว้ว่า  สาววัยทีนควรใช้ สติมากกว่าใช้ สตางค์ในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งการฝึกนิสัยยับยั้งชั่งใจในการไม่ซื้อของตามใจชอบของตัวเองให้ได้มากขึ้นเท่าใด ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในกระเป๋าได้มากขึ้นเท่านั้น  และย่อมมีโอกาสที่จะสามารถเก็บเงินออมได้สักก้อนเพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในอนาคตได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย