Tuesday, April 30, 2013

พูดถึงเรื่อง เงินๆ ทองๆ-สู่อิสรภาพทางการเงิน


      อิสรภาพทางการเงินคืออะไร คำนี้คุณครูหลายๆ ท่านคงเคยได้ยิน แต่ยังไม่คุ้นเคยนัก อิสรภาพทางการเงิน หมายถึง สถานะความมั่งคั่งของบุคคลนั้น ที่สามารถมีรายได้เลี้ยงชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องทำงาน สำหรับบุคคลที่บรรลุอิสรภาพทางการเงินนั้น สินทรัพย์จะสร้างรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น ถ้าบุคคลนั้นมีค่าใช้จ่ายรายเดือน 30,000 บาท เขาได้รับเงินปันผลจากหุ้น  บ้าน หรือคอนโดที่ให้เช่า หรือได้รับรายได้จากสินทรัพย์ที่สร้างรายได้อื่นๆ รวมแล้ว 40,000 บาทต่อเดือน ภายใต้สถานการณ์นี้กล่าวได้ว่า บุคคลนี้บรรลุอิสรภาพทางการเงิน ทั้งนี้ การบรรลุอิสรภาพทางการเงินไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุหรือเงินที่หามาได้  หากเพียงสามารถมีสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ดังนั้นการบรรลุอิสรภาพทางการเงินจึงขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละบุคคล

          อ่านถึงตรงนี้ คุณครูหลายๆ ท่าน คงเริ่มอยากจะบรรลุอิสรภาพทางการเงินบ้างแล้ว แต่สำหรับคุณครูบางท่านที่ ณ ตอนนี้ยังมีภาระหนี้สินอยู่อาจคิดว่า แล้วจะบรรลุอิสรภาพทางการเงินได้อย่างไร ช่างเป็นเป้าหมายที่ไกลเกินฝันเหลือเกิน ในความเป็นจริงแล้ว เป้าหมายในการมีอิสรภาพทางเงินนี้ ทางผู้เขียนขอยืนยันว่าเป็นเป้าหมายที่สามารถบรรลุได้ และจะบรรลุได้ง่ายยิ่งขึ้น หากเริ่มมีการวางแผนทางการเงินตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน ซึ่งคุณครูที่เข้าร่วมอบรมในโครงการ “ครูไทย พอเพียง” กับทางสถาบันคีนันแห่งเอเซีย (สถาบันฯ) ย่อมได้รับความรู้เรื่องการบริหารการเงินมาบ้างไม่มากก็น้อย

          หนึ่งในเรื่องการวางแผนทางการเงินที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ หรือเรียกได้ว่า มาเป็นอับดับหนึ่งเลยก็คือ การบริหารหนี้สินอย่างมืออาชีพ ในกรณีที่เรามีหนี้สินมากเกินความสามารถที่จะจ่าย เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการบริหารหนี้อย่างมืออาชีพ ซึ่งมีหลักดังนี้

1.       การย้ายหนี้ไปยังสถาบันการเงินที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า เช่น การที่คุณผ่อนบ้าน ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 7 % ต่อปี คุณอาจรีไฟแนนซ์ไปยังสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า โดยเข้าไปขอสินเชื่อในงาน Money Expo ที่มักจะมีโปรโมชั่นพิเศษต่างๆ เสนอให้กับผู้กู้ หรือ การโอนหนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเกินที่กฎหมายกำหนด โดยใช้สินเชื่อจากบัตรเครดิตที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าแทน

2.       การรวมหนี้ไว้เพียงที่เดียว หลายๆ คน พอเปิดกระเป๋าเงินดูพบว่ามีบัตรเครดิตหลายใบ และมีการนำสินเชื่อจากบัตรเครดิตใบใหม่ไปจ่ายขั้นต่ำในบัตรเครดิตใบเก่า นำบัตรเครดิตใบหนึ่งไปจ่ายอีกใบหนึ่ง จึงทำให้วนเวียนอยู่ในวงจรหนี้ของบัตรเครดิต หากคุณตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ คงต้องหาทางเคลียร์หนี้สินโดยใช้วิธีรวบรวมหนี้จากบัตรเครดิตหลายๆ ใบ รวมไว้ที่บัตรใบเดียว จากนั้นก็ต่อรองระยะผ่อนชำระคืนให้ยาวขึ้น โดยยอดชำระต้องต่ำกว่ายอดชำระขั้นต่ำเดิม แล้วให้หักบัตรเครดิตที่เหลือทั้งหมด ให้เหลือบัตรเครดิตเพียงใบเดียวไว้ใช้ และในระหว่างนี้ คงต้องหยุดก่อหนี้ใหม่ รวมทั้งลดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตให้น้อยที่สุดอีกด้วย

3.       หากคุณมีหนี้อยู่ หน้าที่หลักที่พึงระลึกเสมอ คือ ผ่อนจ่ายให้มากที่สุด เพื่อลดเงินต้น เพราะดอกเบี้ยทำงานทุกวัน ไม่หยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือ แม้แต่เวลาที่คุณกำลังนอนหลับ

          อ่านมาถึงตรงนี้ คุณครูอย่าเพิ่งเครียดครับ ลองนำวิธีการบริหารหนี้แบบต่างๆ ไปปฏิบัติดู หากพบปัญหาหรือมีข้อสงสัยในเรื่องการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล ทางทีมที่ปรึกษาทางการเงินของสถาบันคีนันแห่งเอเซียยินดีให้คำปรึกษา โดยสามารถติดต่อกับเราได้ที่อีเมล์ fas@kiasia.org
 
          ทั้งนี้ เพื่อสร้างให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการทางการเงินมากยิ่งขึ้น ทางสถาบันฯ จะมีการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องการวางแผนการเงินส่วนบุคคลผ่านทาง Blog ของสถาบันฯ ซึ่งใน Blog ต่อไป จะนำเสนอเรื่อง การออมเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในการวางแผนทางเงินที่สำคัญมาก ดังนั้น โปรดติดตามกันนะครับ