Tuesday, June 9, 2015

5 เคล็ดลับ ในการสร้างความประทับใจ

สวัสดีคุณผู้อ่าน Ministry of Learning ทุกท่าน ผมได้ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับการพยากรณ์เศรษฐกิจในช่วงเวลาข้างหน้านี้ทั้งจากนักวิเคราะห์ นักลงทุน ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าแนวโน้มอาจจะไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ให้ความเห็นคล้าย ๆ กันว่า “ฝึด”

มื่อความท้าทายเพิ่มขึ้นโอกาสก็จะแพงขึ้นไปด้วย การเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นอะไรที่สำคัญมาก ผมอยากให้คุณผู้อ่านลองนึกย้อนไปถึง “โอกาส” ที่เราได้พบเจอใครบางคนแต่เรากลับพลาดปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดลอยไปด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าเราไม่สามารถสร้างความประทับใจให้กับบุคคลที่เป็นผู้ถือโอกาสนั้น ว่าเราจะแก้ตัวอย่างไรหากมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาอีกครั้ง


ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง “วิธีพูดกับทุกคนในทุกสถานการณ์” ซึ่งแปลมาจากหนังสือต้นฉบับที่ชื่อว่า How to talk to anyone ของ Leil Lowndes แปลโดยสำนักพิมพ์ We Learn ว่าเราจะมีเทคนิคในการสร้างความประทับใจแบบง่าย ๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสที่ดีทั้งต่องานหรือการติดต่อธุรกิจ และ เพื่อเป็นมารยาททางทรัพย์สินทางปัญญา ผมจะเล่าผ่านสิ่งที่ผมเรียนรู้ในบริบทไทย ๆ ว่า เราจะสามารถสร้างความประทับใจได้ด้วยเคล็ดลับง่าย ๆ ประการดังนี้

เคล็ดลับ#1 ยิ้มให้ได้ การยิ้มเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสที่ง่ายที่สุด ยิ่งคนไทยเรายิ้มเก่งจนเป็น Branding ของโลกไปแล้ว เพราะการยิ้มเป็นภาษาสากลที่บ่งบอกความเป็นมิตร แต่ยิ้มแบบไหนที่จะเหมาะอันนี้ต้องมาคุยกันสักหน่อย
ความสำคัญของการยิ้มให้ได้ไม่ใช่อยู่ที่การยิ้มมากยิ้มน้อย เห็นหรือไม่เห็นฟัน แต่อยู่ที่ความจริงใจและ “ยิ้มให้ถูกเวลา” นั่นคือหากเราต้องการสร้างความประทับใจให้ใครก็ตาม ก่อนยิ้ม แตะเบรคเล็กน้อย และ ยิ้มให้คน ๆ นั้นเห็นตอนที่เรา “กำลังจะยิ้ม” จะเพิ่มพลังให้ยิ้มของเราได้มากกว่ากันหลายเท่า
นั่นเพราะใคร ๆ ก็อยากได้รอยยิ้มเฉพาะสำหรับเขาทั้งนั้น ต้องยิ้มด้วยความจริงใจตามกาลเทศะด้วย การยิ้มแห้ง ๆ ยิ้มแหย ๆ หรือ ฉีกยิ้มไปเรื่อยเป็นอะไรที่เด็กก็ดูออก ดังนั้นจงให้การยิ้มช่วยสร้างเสน่ห์และความเป็นมิตรให้จะดีกว่าการยิ้มทิ้งยิ้มขว้างไปวัน ๆ นะ
เคล็ดลับ#2 สายตาจิก แน่นอนว่าดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ สายตาที่เราจ้องมองกันโดยธรรมชาติจะทำให้สมองของมนุษย์เกิดปฏิกิริยาทั้งทางร่างกายและทางจิตใจได้ การมองตาจึงเป็นการสร้างความประทับใจที่ทรงอนุภาพไม่แพ้การยิ้มเลยทีเดียว
การใช้สายตาจิกนั้นสามารถทำได้ทั้งในตอนสนทนากัน ด้วยการมองตาคู่สนทนาเราอย่างเหมาะสมจะเป็นการแสดงออกถึงความใส่ใจที่ดี ว่าแต่ฟังแล้วก็ต้องโต้ตอบหรือแลกเปลี่ยนด้วยนะ ใช้สายตาให้เหมาะว่าเป็นบริบทของงาน การสร้างเครือข่าย หรือ การออกเดท อย่ามั่วหรือสลับวิธีการใช้สายตาเด็ดขาด ไม่งั้นจะนำมาซึ่งความวุ่นวายอีกเยอะ
การใช้สายตาอาจจะใช้ในระหว่างที่สนทนากันเป็นกลุ่มก็ได้ กล่าวคือเวลาที่เราต้องการสร้างความประทับใจให้ใครสักคนหนึ่ง เราสามารถมองตาเขาในขณะที่ “คนอื่น” กำลังพูด ทำเป็นระยะ ๆ รักษาระดับให้เหมาะสม เพราะถ้ามากไปจะเป็นการเสียมารยาทต่อผู้ที่นั่งคุยกันอยู่ในที่นั้นทั้งหมด
สำหรับกรณีของผู้ชายกับผู้ชายควรลดระดับการมองลงจากระดับที่ผู้ชายมองคู่สนทนาที่เป็นผู้หญิง ไม่งั้นอาจจะได้คู่ชก อืมม... หรือคู่เดทแบบไม่ตั้งใจก็ได้
เคล็ดลับ#3 บุคลิกเป๊ะ ผมเคยเรียนเรื่องการนำเสนองานอย่างมืออาชีพ ได้เคล็ดลับสำคัญว่าใน 3Vs ซึ่งประกอบด้วย Voice, Verbal and Vision นั้นตัวสุดท้าย คือ Vision หรือ ภาพ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แน่นอนว่าการทำตัวให้เป๊ะเป็นสิ่งที่จะเสริมให้เคล็ดลับอื่น ๆ มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอย่างน่าประหลาด
การทำตัวให้เป๊ะต้องเริ่มจาก “ตัว” ของเราจริง ๆ ก่อน การออกกำลังกายคือกุญแจสำคัญของการมีบุคลิกภาพที่ดี เพราะคนที่หลังตรง สง่าผ่าเผย และ เคลื่อนไหวได้อย่างมั่นใจสะท้อนถึงวินัยในการควบคุมตนเอง ซึ่งเป็นความน่าเชื่อถือที่รับรู้ได้ในทันที
เป๊ะต่อมาคือเรื่องการแต่งกายและการวางท่าทางที่เหมาะสม แน่นอนต้องเหมาะกับสถานที่ บุคลิก และ คนที่เราจะต้องได้พบด้วย เกณฑ์ง่าย ๆ แบบไทย ๆ เราก็เอาให้ใกล้แต่รองจากเจ้าของบ้านเขาหน่อยกำลังงาม เช่น บางองค์กรการใส่สูทประชุมเป็นเรื่องจำเป็นแต่บางองค์กรเป็นเรื่องตลก อันนี้อาจจะต้องสืบก่อนถ้าเป็นนัดที่สำคัญ
เคล็ดลับ#4 เอ๊ะสม่ำเสมอ หลายครั้งที่การสร้างความประทับใจมักจะเป็นการเจอกันครั้งแรก แน่นอนการมีเรื่องราวบางอย่างให้เราได้คุยต่อหลังจากที่เรายิ้มให้แล้วดูเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับบางคน หนัก ๆ กลายเป็น Dead Air ไปซะงั้น บางคนดันเริ่มที่อะไรที่มันนำไปสู่ความกร่อย เช่น อากาศร้อน รถติด ก็แล้วไง มันไม่มีอะไรให้ไปต่อ
ดังนั้นง่ายที่สุดคือการฝึกให้เรา “เอ๊ะคนอื่น” มองหาอะไรที่นำไปสู่ความสนใจของคนที่เราต้องผูกมิตรด้วย เช่น ถามเรื่องงาน เรื่องงานอดิเรก อาจจะต้องสังเกตอะไรที่มาด้วย เช่น เข็มกลัด ตราสัญลักษณ์บนเสื้อ ที่นำไปสู่การพูดคุย เพราะใครก็ตามที่เล่าอะไรออกมาเราจะฟังได้ออกว่าจะต่อเรื่องคุยไปยังไง
แผนสำรองคือเราต้องมีอะไรที่ทำให้ “คนอื่นเอ๊ะ” ด้วย หาอะไรที่สามารถเป็นเรื่องเริ่มต้นของการพูดคุยติดไม้ติดมือไป เพราะไม่ใช่มีแต่เราที่อยากคุยกับคนอื่น หลายครั้งก็มีหลายคนอยากมาคุยกับเรานะ ดังนั้นเผื่อ ๆ ไว้นิดนึงก็ไม่เลว
เคล็ดลับ#5 เจอความเด็กที่ซ่อนอยู่ สิ่งที่เราไม่ค่อยทราบคือคนเราไม่ว่าจะอายุมากเท่าไหร่ ความเป็นเด็กในวันนั้นของเขาไม่มีวันหายไปไหน แน่นอนเพื่อนที่เราทุกคนในโลกนี้สนิทอย่างไม่เคยต้องไว้ท่าด้วยมักเป็นเพื่อนวัยเรียนทั้งนั้น
ดังนั้นเราต้องหาและค่อย ๆ สื่อสารกับความเป็นเด็กในตัวเขาไปทีละน้อย คุยเหมือนกับที่เราเห็นเด็กคนหนึ่งด้วยกรอบคำพูดแบบผู้ใหญ่ น้ำเสียงที่เรามองหาความเป็นเด็กจะเป็นน้ำเสียงที่ช่วยเปิดประตูของการสนทนาให้สนุกขึ้น ยาวนานขึ้น และ มีความเป็นมิตรมากขึ้น
ในขณะเดียวกันการเปิดเผยความเป็นเด็กบางอย่างในตัวเรา ก็เป็นการสร้างความคุ้นเคยได้อย่างราบรื่น ช่วยสร้างความไว้ใจและทำให้บรรยากาศผ่อนคลายกลายเป็นมิตรภาพในแบบที่เป็นธรรมชาติกว่าเป็นไหน ๆ
บางครั้งการเจอกันครั้งแรกยังไม่ต้องวกเข้าเรื่องงานอะไรก็ได้ เพราะคนเราถ้าจะรู้จักกันเรารู้จักกันยาวอยู่แล้ว แต่ความจริงใจที่ให้กันแต่แรกพบต่างหากคือจุดเริ่มความสัมพันธ์ที่ดี เพราะคุณผู้อ่านก็ได้เพื่อนใหม่แล้วแน่นอน
เป็นไงบ้างสำหรับเคล็ดลับในการสร้างความประทับใจที่สามารถไปฝึกทำได้ง่าย ๆ ไม่จำเป็นต้องรอ “คนที่ไม่รู้จัก” นะ เริ่มฝึกกับเพื่อน ๆ เราที่ทำงาน เพื่อนที่เรียน หรือ ที่ไหน ๆ ที่เราต้องเจอเขา แล้วคุณผู้อ่านจะพบว่าตัวเองเป็นที่รักของคนรอบข้างได้ไม่ยากเลย
สำหรับ Ministry of Learning สัปดาห์นี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขกับการสร้างโอกาสดี ๆ ในชีวิต แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดี


เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

Wednesday, June 3, 2015

ปัญญาและความโลภ กับ คน 4 ประเภท

สำหรับสัปดาห์นี้ ผมมีข้อสังเกตบางอย่างที่มีต่อสังคมรอบ ๆ ตัว ที่อยากมาชวนคุณผู้อ่านคุย ด้วยประทับใจในหลักการที่ได้เคยเขียนไปแล้วของ Kurt von Hammerstein-Equord ในตอน ขี้เกียจอย่างไรให้รุ่งเรือง รวมถึง Joseph Luft และ Harrington Ingham ในตอน รู้เขารู้เรา ไม่ต้องรบก็ชนะ ผมเลยเอาหลักการนี้มาวิเคราะห์สังคมที่เราอาศัยอยู่ก็พบว่ามีคน 4 ประเภทที่มีระดับของ ปัญญา และ ความโลภ แตกต่างกันไปอาศัยอยู่ร่วมกัน และ มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ขยายความสักเล็กน้อย คำว่า ปัญญา ในที่นี่มีความหมายกว้างคำว่าฉลาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด ซึ่งครอบคลุมถึงความรอบรู้ การใช้ความรู้ และ การหยั่งรู้ในเรื่องอื่น ๆ ที่จริง ๆ คนทั่วไปอาจจะมองไม่เป็น โดยทั่วไปปัญญาเป็นคำไม่มีประจุ แน่นอนมีดีกว่าไม่มี การใช้คำว่าปัญญามาก หรือ ปัญญาน้อย ไม่ได้หมายถึง โง่ หรือ ฉลาด

ในขณะที่ คำว่า ความโลภ ในที่นี้หมายถึง ความอยากได้ไม่รู้จักพอ อันนี้ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอีกเช่นกัน ซึ่งถ้าขยายความอีกนิดจะได้ว่า ความโลภ คือ กิเลสอย่างหนึ่งที่เกิดจากตัณหา นำไปสู่การดิ้นรน ถือเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ความโลภไม่ได้จำกัดแค่เรื่องทางวัตถุเท่านั้น แต่หมายถึงความอยากที่ซับซ้อนกว่านั้นด้วย เช่น ชื่อเสียง ลาภยศ อำนาจ การยอมรับ ฯลฯ คำว่าความโลภมีประจุไปในทางลบ แต่ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์สักทีเดียว (ซึ่งจะขอคุยในโอกาสต่อไป)

ก่อนเราจะไปต่อ ขอทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีกนิดว่าผมไม่มีเจตนายกตัวอย่างบุคคลใดเป็นการเฉพาะเจาะจง คำอธิบายต่าง ๆ ลักษณะต่าง ๆ มาจากข้อสังเกตและการวิเคราะห์เพื่อจัดกลุ่มเป็นสำคัญเท่านั้น เอาล่ะ เมื่อเรานำเอาปัญญาและความโลภมาไขว้กัน เราจะพบคน ประเภทได้ดังภาพนี้



ประเภทที่ ปัญญามากและโลภมาก คนกลุ่มนี้เป็นตัวการสำคัญทำให้โลกเราวุ่นวาย เพราะมีความอยากและมีปัญญามาสนองความอยากด้วย ทำให้มีแนวโน้มและศักยภาพที่จะออกนอกลู่นอกทางได้อย่างไม่จำกัด
ในระดับเบา ๆ ความโลภอาจจะเป็นแค่การชดเชยปมด้อยตัวเองตั้งแต่เด็ก เช่น อยากอำนาจ วาสนา บารมี มีพรรคมีพวก ก็จะใช้ปัญญาหากลวิธีตั้งแต่การวางแผน ชักจูง สร้างศรัทธา เพื่อดึงคนให้มาติดตัว ทั้งเพื่อความมั่นคงทางใจ อำนาจต่อรอง
หรือหนัก ๆ เข้าก็นำไปสู่ผลประโยชน์อื่น ๆ ก็สุดแล้วแต่ ในระดับหนัก ๆ ก็จะเป็นความโลภที่มองหาผลประโยชน์ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งสามารถเป็นไปได้ทั้งการ การเอารัดเอาเปรียบ การช่อโกง การค้ายาเสพติด การทุจริตคอรัปชั่น หรือทำในสิ่งที่ต่อผิดกฎหมายหรือศิลธรรมอื่น ๆ ตามศักยภาพที่พึงมี
ประเภทที่ ปัญญาน้อยและโลภมาก คนกลุ่มนี้เป็นฐานกำลังให้กับคนกลุ่มแรก กล่าวคือ ไม่มีปัญญาเท่าเขาแต่ก็ใช้วิธีการเกาะเขาไป เป็นแขนเป็นขา เรียกว่าเมื่อเจอคนที่เข้าใจว่าพึ่งได้แล้วสักพักก็จะมีแม่เหล็กดูดให้ไปติดกันเอง กลายเป็นคนดี ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน
ในระดับน้อย ๆ คนกลุ่มนี้โดยมากจะมีความเกียจคร้านเป็นที่ตั้ง รักสบาย อยากได้ความเป็นอยู่ที่ไม่ต้องคิดหรือปรับตัวอะไรมาก ก็จะทำตัวเป็นติ่งไปหลบใต้ปีกคนที่คิดว่าเป็นผู้มีบารมี เพื่อให้เกาะไปทำอะไรให้สะดวกโยธิน แน่นอนผลประโยชน์ที่คนกลุ่มนี้คาดหวังเป็นเรื่องเงินเป็นหลัก ไม่ได้ลึกซึ้งเท่าคนกลุ่มแรกตามระดับปัญญาที่แตกต่างกันไป
ในระดับมากขึ้นก็จะเป็นคนที่ไม่สนใจหรือไม่รับผิดชอบต่อสังคม/สิ่งแวดล้อม ตีมึน ทำมั่ว แต่หวังรวย เอารัดเอาเปรียบตามศักยภาพ จะหลุดไปสู่เรื่องหนัก ๆ ก็อย่างเช่น ออกไปก่ออาชญากรรมที่ไม่ฉลาดนักให้ตำรวจจับได้บ่อย ๆ ดังที่เป็นข่าวแบบนี้เป็นต้น
ประเภทที่ ปัญญามากและโลภน้อย คนกลุ่มนี้แทบจะตรงกันข้ามกับคนกลุ่มแรก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และ ไม่สามารถไปครอบงำด้วยอะไรง่าย ๆ วัยรุ่นหน่อยจะบอกว่าคนกลุ่มนี้อินดี้ (Indy) มีกรอบและหลักคิด หยิ่งทะนงในสายตาคนภายนอก พูดอะไรน่าคิดจนบางครั้งแทงใจดำคนได้อย่างร้ายกาจ
ระดับเริ่ม ๆ ก็เป็นคนที่ไม่ต้องตามกระแสง่าย ๆ ไม่ต้องการผลประโยชน์ พวกพ้อง หรือ ความสนใจ ให้ความสำคัญกับความคิดและหลักการเป็นสำคัญ ทำอะไรจะดูแท้และสุดได้จริง ๆ จัง ๆ
ระดับที่เทพจริง ๆ คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยให้ใครเข้าถึงได้มากนัก ทำให้หลายครั้งสังคมเราถามหากันว่าคนเก่งและดีหายไปไหน นี่ไง ความมีปัญญาและไม่อยากได้อะไร ทำให้คนกลุ่มนี้เลือกที่จะปลีกวิเวกมากกว่าออกมาประลองยุทธกับใครต่อใคร อยู่เงียบ ๆ เรียบ ๆ ทำงานสะสมทรัพย์ตามรูปแบบชีวิตที่ตนเองเลือกสบายใจกว่า 
ประเภทที่ 4ปัญญาน้อยและโลภน้อย คนกลุ่มนี้จะไม่ได้ตามคนกลุ่มไหนเลย เป็นคนไม่หือไม่อือ เป็นคนมักน้อย ถ่อมตน กตัญญู และ ใช้ชีวิตเล็ก ๆ อย่างมีความสุขได้ ปัญหาคือสังคมเราไม่ได้มีคนแค่กลุ่มเดียว ทำให้คนกลุ่มที่ถูกคนที่มีความโลภหาประโยชน์ซะเป็นส่วนใหญ่ (เพราะหาจากคนมีปัญญามากไม่ได้) อย่าเบาะ ๆ ก็ใช้เป็นลูกค้าที่น่ารัก ซื่อสัตย์ ขายอะไรก็ซื้อ บอกอะไรก็เชื่อ โดนโกงโดนเอาเปรียบก็ไม่คิดอะไร ใครทำอะไรออกใหม่ก็จะเข้าใจ ดีแล้ว ประหยัดแล้ว สะอาดแล้ว กิน ๆ ใช้ ๆ ไป ไม่ต้องคิดมาก
หนัก ๆ หน่อยก็จะกลายเป็นลูกน้องผู้ซื่อสัตย์ เพราะเชื่อใครเชื่อจริง แบบรักหมดใจใช่เลยทำนองนั้น เป็นลูกค้าชั้นดีของธุรกิจเครือข่าย การบริจาคแบบสุดขั้ว หรือ การเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งนี้เกิดจากความจริงใจและไม่หวังอะไรทั้งสิ้น
ย้ำอีกครั้งว่าอย่าเผลอไปเทียบ เพราะชีวิตจริงมันไม่มีอะไรขาวกับดำ มีแต่ เทา ๆ ที่มีการไล่ระดับอย่างสลับซับซ้อน เพราะที่สุดคือสติของเราเองเท่านั้นที่จะหยั่งรู้และพิจารณาได้อย่างซื่อสัตย์ว่า ดีกรีด้านปัญญาและความโลภของเราเองอยู่ในระดับไหน ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วย
กล่าวเช่นนี้เพราะชีวิตมีมิติที่หลากหลายและกว้างมากทั้ง เรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องครอบครัว เรื่องการเงิน เรื่องสังคม ฯลฯ เยอะแยะยิบย่อยไปหมด ตัวอย่างเช่น บางคนรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จในธุรกิจก็ยังต้องมาตามแก้ปัญหาที่ลูกก่อไว้ไม่รู้จบ เพราะปัญญามากในเรื่องงานแต่น้อยในเรื่องลูก แบบนี้เป็นต้น


เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย