Wednesday, November 6, 2013

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ .....“มือใหม่หัด สมัคร บัตรเครดิต”


มือใหม่หัด สมัคร บัตรเครดิต

เขียนโดย น.ส. ปาริชาติ แสงทอง ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ
 
                หลายๆ คนคงคุ้นหูกับคำว่า “รูดปื๊ด..รูดปื๊ด!” นั่นเป็นเสียงที่เกิดขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเครดิต ซึ่งบัตรเครดิตนั้น มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ทำให้เราซื้อสินค้าและบริการได้โดยที่ยังไม่ต้องจ่ายเงินทันที สามารถถอนเงินสดมาใช้จ่ายได้ในยามฉุกเฉิน และยังสะสมคะแนนเพื่อแลกรับของรางวัลต่างๆ เป็นต้น

การสมัครบัตรเครดิตนั้น ผู้สมัครซึ่งเป็นบัตรหลักจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน โดยผู้ออกบัตรจะให้วงเงินได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ หรือมีทรัพย์สินอื่น เช่น เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ หรือการลงทุนในกองทุนรวม ตามจำนวนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งวงเงินที่ได้รับอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่ประเภทของทรัพย์สิน
                อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจสมัครทำบัตรเครดิต ควรอ่านรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ของผู้ออกบัตรแต่ละแห่ง เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบ ได้แก่
·       ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี และเงื่อนไขการขอยกเว้นค่าธรรมเนียม
·       ระยะเวลาชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษเฉพาะผู้ที่จ่ายเงินคืนเต็มจำนวนเท่านั้น (กรณีชำระคืนยอดซื้อสินค้าและบริการเพียงบางส่วนหรือเบิกเงินสดมาใช้ จะไม่ได้รับสิทธิ์ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย)
·      วันที่เริ่มคิดดอกเบี้ย ในการเบิกเงินสดผู้ออกบัตรจะเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ถอนเงิน ขณะที่การซื้อสินค้าและบริการ หากชำระไม่เต็มจำนวนผู้ถือบัตรก็ต้องเสียดอกเบี้ยด้วย ซึ่งผู้ออกบัตรแต่ละแห่งมีการคิดดอกเบี้ยที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เริ่มคิดจากวันที่ผู้ออกบัตรสำรองจ่ายเงินให้แก่ร้านค้า วันสรุปยอดรายการ หรือวันที่ต้องชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ แต่โดยทั่วไปจะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ผู้ออกบัตรสำรองจ่ายเงินให้แก่ร้านค้า

·       การผ่อนชำระเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 10% ของยอดคงค้างทั้งสิ้น

·      เงื่อนไขการนำบัตรเครดิตไปใช้ในต่างประเทศ จะมีค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินประมาณ 2-2.50%* ของยอดใช้จ่ายและเบิกถอนเงินสด (คำนวณรวมในอัตราแลกเปลี่ยนที่แสดงในใบแจ้งหนี้แล้ว) ในกรณีที่มีการคืนสินค้า แม้จะคืนภายในวันที่ซื้อ ผู้ถือบัตรอาจต้องรับผลขาดทุนจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพราะอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้คำนวณค่าสินค้าอาจเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาการซื้อและคืนสินค้า ซึ่งท่านอาจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตรได้

·       ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม รวมกันไม่เกิน 20% ต่อปี ในกรณีถอนเงินสดจะมีค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสดไม่เกิน 3% ของจำนวนเงินที่เบิกถอน และหากผิดนัดชำระหนี้ก็อาจมีค่าติดตามทวงถามหนี้ด้วย

·       สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ติดมากับบัตร เช่น การสะสมคะแนนแลกของรางวัล ส่วนลดร้านอาหาร ที่จอดรถพิเศษในห้างสรรพสินค้า ฯลฯ

·      รายละเอียดอื่นๆ  เช่น จุดบริการรับชำระเงิน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง การสมัครบัตรเสริมและภาระหน้าที่ของผู้ถือบัตรหลักที่มีต่อบัตรเสริม การทำบัตรใหม่หากบัตรหาย รวมถึงการขอยกเลิกบัตร เป็นต้น

สุดท้าย ขอฝากเป็นข้อคิดเตือนใจให้กับผู้ที่จะก้าวเข้ามาเป็นมือใหม่หัดสมัครบัตรเครดิตทุกท่านได้ทราบว่า ทุกอย่างที่มีคุณประโยชน์ล้วนมีโทษด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น การใช้บัตรเครดิตจะมีประโยชน์กับผู้ที่ถือบัตรก็ต่อเมื่อ ผู้ถือบัตรมีสติรู้จักใช้อย่างชาญฉลาดและถูกวิธี มีวินัยในการใช้จ่าย รวมทั้งสามารถประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองได้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นการก่อหนี้ให้กับตนเองโดยไม่จำเป็น


*แหล่งที่มาของข้อมูล: ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศศง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ......เสริมนิสัยการอด...ช่วยสร้างนิสัยการออมได้จริงหรือ?


เสริมนิสัยการอด...ช่วยสร้างนิสัยการออมได้จริงหรือ?

เขียนโดย น.ส. ปาริชาติ แสงทอง ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ และ

นายณรงค์ บุญจงรักษ์ นักศึกษาฝึกงาน

แรกเริ่มเดิมที... นิสัย “ใช้ก่อนคิด”

ขอย้อนเวลากลับไปเมื่อครั้งที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย ผมจะได้เงินจากทางบ้านมาเป็นรายอาทิตย์ ซึ่งผมต้องบริหารจัดการเอง แต่ด้วยนิสัยชอบใช้เงินไปวันๆ ไม่มีการวางแผนการใช้เงิน อยากได้อะไรก็ต้องได้ เป็นการใช้เงินที่ได้มาด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผลอยู่เสมอ และเพราะผมคิดว่ายังเรียนอยู่และมีที่บ้านให้การช่วยเหลือ ทำให้การบริหารจัดการเงินรายอาทิตย์ที่ได้มาของผมนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าใดนัก หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ “ติดลบทุกอาทิตย์! แต่ก่อนผมมีวิธีการแก้ไขปัญหาเงินติดลบทุกอาทิตย์ของผมอยู่ 2 วิธี คือ หนึ่ง-ขอที่บ้านเพิ่ม ซึ่งโดยมากจะตามมาด้วยเสียงบ่น แต่สุดท้ายก็ให้ตามที่ผมขอ และวิธีที่สอง-ยืมเพื่อน โดยผมจะเป็นคนกำหนดเองว่าจะคืนเมื่อไหร่ แต่ผมต้องรักษาคำพูดให้ได้เนื่องจากถ้าผมไม่สามารถทำได้จะสร้างความลำบากในการยืมเพื่อนครั้งต่อไป อันจะเห็นได้ว่าชีวิตช่วงนั้นของผมเป็นวัฏจักรการใช้ชีวิตอยู่บนความอยากได้และตามมาด้วยการเป็นหนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้น แต่มันก็ผ่านไปได้ทุกเดือนโดยที่ผมไม่ได้คิดอะไร...

งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข

วิกฤติการเงินเริ่มเข้ามาในชีวิตผม เมื่อครอบครัวของผมต้องสูญเสียบิดาอันเป็นที่รักไป ทำให้รายได้หลักที่เคยมาจากครอบครัวต้องลดลง ของที่เคยมีต้องเริ่มนำออกไปขายเพื่อเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินเพื่อใช้จ่ายภายในครอบครัว ครั้งนั้นเองที่ทำให้ผมเรียนรู้ที่จะ “สร้างนิสัยการอด” เพราะตอนนั้นผมเริ่มมองเห็นอนาคตของตนเองแล้วว่า หากไม่รู้จักอดในสิ่งที่อยากได้และยังคงใช้ชีวิตเรื่องการเงินโดยไม่คิดอย่างที่ผ่านมา ผมคงไม่มีเงินส่งตนเองเรียนจนจบได้อย่างแน่นอน ผมจึงเริ่มสร้างนิสัยใหม่ๆ ให้กับตนเอง อันมีหลักง่ายๆ คือ อดของที่ไม่จำเป็น และหางานทำเพื่อเพิ่มรายได้ เนื่องจากตอนนั้นผมเรียนอยู่ภาคสมทบเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ ดังนั้นวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ผมจึงหางาน part-time ทำเพื่อหาเงินเพิ่ม ผมเลือกทำงานที่ผมชอบและถนัดนั่นคือการร้องเพลง ผมเริ่มเดินสายรับจ้างร้องเพลงตามร้านอาหารเล็กๆ ตอนกลางคืน...

เตือนสติตัวเองด้วยการจด จด จด

การพยายามดัดนิสัยการใช้เงินของผมนั้น แรกๆ ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ผมยังคงใช้เงินเดือนชนเดือนอยู่ เนื่องจากยังคงติดนิสัยการใช้จ่ายแบบไม่ค่อยคิดและที่สำคัญลืมครับ! ว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้างในแต่ละวัน จึงเริ่มคิดได้ว่า ในเมื่อสมองที่มีความจำแบบปลาทองอย่างผม.. คงต้องเริ่มจดบันทึกบัญชีกันบ้างแล้วเริ่มจากเมื่อได้เงินมา ผมจะจดบันทึกในสมุดเล่มเล็กๆ ไว้ว่าผมได้เงินมาเท่าไหร่ และผมใช้จ่ายอะไรไปบ้างในแต่ละวัน เชื่อมั้ยครับว่า นอกจากมันทำให้ผมไม่ลืมแล้วว่าผมใช้อะไรไปบ้างในแต่ละวัน มันยังทำให้ผมทราบว่าผมใช้จ่ายส่วนใหญ่ไปกับอะไรบ้าง ดังนั้นผมจึงเริ่มที่จะปรับลดค่าใช้จ่ายที่แสนจะไร้สาระเหล่านั้นลงทีละเล็กทีละน้อย...

การอดสร้างการออม

                ผลของการอดในสิ่งที่ผมอยากได้และไม่จำเป็นนั้นเริ่มสัมฤทธิ์ผล เมื่อผมเริ่มที่จะแบ่งเงินที่ผมต้องใช้ออกเป็นส่วนๆ หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือมีการวางแผนการใช้เงินครับ เมื่อผมได้เงินเดือนจากการร้องเพลงมา ผมจะนำเงินไปออมโดยวิธีฝากธนาคารเพื่อเก็บไว้เป็นค่าเทอมประมาณร้อยละ 30 ของเงินที่ผมได้มา จากนั้นอีกร้อยละ 70 ที่เหลือผมจะนำไปใช้จ่ายโดยแยกประเภทค่าใช้จ่ายออกเป็นส่วนๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทางไปทำงานและไปเรียน ค่าของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เป็นต้น เมื่อมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายก็จะนำไปหยอดกระปุก เมื่อกระปุกเต็มแล้วก็จะนำไปฝากธนาคาร ดังนั้น การเสริมนิสัยการอด และสร้างนิสัยการออมให้กับตนเองของผม ทำให้ในที่สุดแล้ว.. ผมสามารถเรียนปริญญาตรีจนจบได้ด้วยเงินซึ่งอดและออมอย่างอดทนมาด้วยตนเอง