Monday, December 2, 2013

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทอง......“กองทุนรวม… อีกหนึ่งทางเลือกการออมเงิน”


กองทุนรวมอีกหนึ่งทางเลือกการออมเงิน
เขียนโดย น.ส. สุวิภา ฉลาดคิด ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ

เมื่อเรามีวินัยในการออมเงิน เราก็จะเริ่มมีเงินเก็บ ทีนี้หล่ะ.. โอกาสที่จะบริหารเงินเก็บของเราให้งอกเงยก็มีเพิ่มมากขึ้น แต่เชื่อว่า ครูหลายท่านยังคงเลือกที่จะเก็บเงินไว้ในบัญชีธนาคาร ซึ่งดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นค่อนข้างน้อย และมักจะน้อยกว่าเงินเฟ้อเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น หากอยากทำให้เงินเก็บของเรางอกเงยเติบโต เราควรมองหาทางเลือกการออมเงินแบบอื่นที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

วลีที่ว่า “ให้เงินทำงานแทนเรา” ยังคงนำมาใช้ได้ เพราะการทำเงินเก็บให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนี่แหละ บางครั้งสำคัญมากกว่าการหารายได้มาใช้ในชีวิตประจำเสียอีก ความลับก็คือ “เคล็ดลับความรวยอยู่ที่วิธีการบริหารเงิน ไม่ใช่การหาเงิน  หากเรารู้ถึงพลังของดอกเบี้ยทบต้น ที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนที่ทบต้นไปเรื่อยๆ จนทำให้เราได้เงินเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ และหากเรารู้ถึงความสำคัญของระยะเวลาในการออมเงินว่า ออมก่อนรวยกว่า แล้วนั้น เราก็จะสามารถบริหารเงินออมของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

อีกหนึ่งวลีที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” ก็เป็นเรื่องจริงแท้แน่นอน ดังนั้น การลงทุนในอะไรก็ตาม เราต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ พอสมควร หากเราไม่รู้ นั่นก็คือความเสี่ยงและมีโอกาสที่จะขาดทุนได้ เพราะฉะนั้น การลงทุนผ่านกองทุนรวมจึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะอย่างน้อย กองทุนรวมก็มีมืออาชีพที่เรียนด้านนี้มาติดตามข้อมูลข่าวสารทุกวัน คอยดูแลเงินแทนเรา หน้าที่เราก็คือ ต้องเลือกกองทุนให้ถูกตัวถูกเวลา เนื่องจากกองทุนรวมในประเทศไทยมีหลายร้อยตัวให้เลือก เราจึงต้องพิจารณาจาก “ต้องการความเสี่ยงระดับไหน และผลตอบแทนแบบไหน?” แต่ถ้าแบบที่ต้องการคือ แบบไม่เสี่ยงและได้ผลตอบแทนเยอะๆ นั้น ต้องบอกเลยว่า.. ไม่มี! เพราะหลักการเรื่องความเสี่ยงก็คือ “อะไรที่ให้ผลตอบแทนสูงจะมีความเสี่ยงสูง อะไรที่มีความเสี่ยงต่ำจะให้ผลตอบแทนต่ำ

มาทำความรู้จักกองทุนรวมกัน*

กองทุนรวม คือ โครงการที่จัดตั้งขึ้น โดยการนำเงินของแต่ละคน ซึ่งถือเป็นนักลงทุนรายย่อยทั้งหลาย มากองรวมกันให้เป็นก้อนใหญ่ โดยผู้ลงทุนจะได้หน่วยลงทุนเป็นหลักฐานการมีส่วนร่วมในกองเงินดังกล่าว กองเงินนั้นๆ จะมีมืออาชีพทางด้านการลงทุน ทำหน้าที่ในการนำเงินไปลงทุน และเมื่อมีดอกผลจากการลงทุนก็จะนำมาเฉลี่ยกลับคืนให้กับผู้ที่ลงเงินไว้ในคราวแรก ทั้งนี้ กองทุนแต่ละกองทุนที่ถูกจัดตั้งขึ้นจะมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันไป แต่นโยบายการลงทุนของกองทุนหนึ่ง จะถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เช่น กองทุนหุ้นปันผล กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว เป็นต้น

ดอกผลที่เกิดจาการลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้น จะมีอยู่ 2 แบบ คือ หนึ่ง-เงินปันผล ซึ่งบางกองทุนจะมีนโยบายการจ่ายเงินปันผล บางกองก็อาจจะไม่มี แต่จะเก็บส่วนกำไรไว้ในรูปของมูลค่ากองทุนที่เพิ่มขึ้น สอง-ส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ หากกองทุนไม่ได้ปันผลออกมา แต่กำไรที่ได้จากการลงทุนก็จะถูกนำไปลงทุนเพิ่ม ซึ่งรวมอยู่ในมูลค่าสุทธิของกองทุนนั่นเอง

ส่วนประเภทของกองทุนรวมนั้น หากแบ่งตามลักษณะการจัดจำหน่ายและการรับซื้อคืน จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ กองทุนปิด และกองทุนเปิด โดยกองทุนปิด คือ กองทุนที่บริษัทจัดการจะไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนจนกว่าจะครบกำหนดอายุกองทุนรวม กองทุนประเภทนี้จะกำหนดจำนวนหน่วยลงทุนและอายุของกองทุนไว้แน่นอน ซึ่งกองทุนปิดมักจะเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ส่วนกองทุนเปิด คือ กองทุนที่บริษัทจัดการเปิดขายหน่วยลงทุนและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนจากผู้ลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการ เช่น เปิดทำการซื้อขายเดือนละครั้ง สัปดาห์ละครั้ง หรือทุกวันทำการ โดยทั่วไปอายุของกองทุนจะยาวหรือไม่มีกำหนดโครงการ

แต่หากแบ่งกองทุนออกไปตามชนิดการลงทุน จะสามารถแบ่งออกได้เยอะแยะมาก ตัวอย่างเช่น

·       กองทุนรวมตราสารทุน – ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก

·       กองทุนรวมตราสารหนี้ – เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน หรือ เงินฝากต่างๆ และแบ่งย่อยออกเป็น กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น และ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว

·       กองทุนรวมแบบผสม – จะเป็นแบบผสมทั้งหุ้นและตราสารหนี้ เช่น ลงทุนในหุ้น 40% ในตราสารหนี้ 60% โดยจะสลับสัดส่วนที่เหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจ

·       กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ – กองทุนรวมที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ตึกขนาดใหญ่ เพื่อปล่อยเช่าทั้งตึก แล้วนำค่าเช่ามาแบ่งปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุน หรือ ลงทุนในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงหนังขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมให้เช่า ฯลฯ

·       กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) – กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก และหุ้นบ้างเล็กน้อย โดยมีข้อดีคือ มูลค่าการลงทุนในแต่ละปี สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท (ไม่เกิน 15% ของรายได้) โดยเฉลี่ยจะได้ผลตอบแทนปีละ 3-5% แต่มีข้อเสียคือ ต้องไปไถ่ถอนตอนอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งทำให้มีสภาพคล่องต่ำมาก

·       กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) – กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น แต่ต่างจากกองทุนรวมหุ้นตรงที่วิธีซื้อขาย และมีสิทธิทางภาษีที่เหมือน RMF ตรงที่ มูลค่าหน่วยลงทุนที่ซื้อสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ และต้องถือครองเพียง 5 ปีปฏิทิน

·       กองทุนรวมอื่นๆ – เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ ฯลฯ

ประโยชน์จากการลงทุนกับกองทุนรวม

1.             มีมืออาชีพมาบริหารเงินให้ – การลงทุนในกองทุนรวม คือ การรวมเงินกัน แล้วนำไปจ้างมืออาชีพซึ่งก็คือ บลจ. (บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน จำกัด) มาบริหารให้ ในบลจ. จะมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะในเรื่องที่จะลงทุน เช่น หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาฯ หรือทองคำ โดยคนเหล่านี้อาจจะจบมาทางนี้ และมีการติดตามแนวโน้มการลงทุนต่างๆ อยู่ทุกวัน ซึ่งก็คงจะดีกว่าเราไปทำเอง ทั้งไม่รู้ และไม่มีเวลาไปติดตามข้อมูลแบบนั้น

2.             มีการกระจายความเสี่ยง – กองทุนมีเงินจำนวนมาก ซึ่งสามารถกระจายไปลงทุนในหลักทรัพย์หลายตัว เพื่อลดความเสี่ยง

3.             มีสภาพคล่องดี – สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวัน หรือได้ทุกครั้งที่เราต้องการเงินมาใช้

4.             มีทางเลือกมากมาย – แต่ละธนาคารก็มักมีบลจ. เป็นบริษัทในเครือ ที่ขายกองทุนมากกว่า 30 ประเภทให้เราได้เลือกในแบบที่มีผลตอบแทน และความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเราเอง

5.             มีสิทธิทางภาษี ได้ลดหย่อนภาษี – นอกจากจะได้กำไรจาการลงทุนแล้ว ยังได้กำไรจากภาษีที่ได้ลดด้วย

           ทั้งนี้ ในการที่จะเลือกลงทุนในกองทุนรวมใดๆ เราต้องศึกษาข้อมูลกองทุนรวมนั้นๆ จากหนังสือชี้ชวน ซึ่งจะมีรายละเอียดทั้งหมดของโครงการกองทุนรวมแสดงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุน ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ คำเตือน หรือความเสี่ยง ดังนั้น จึงถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่ต้องอ่านและศึกษาอย่างละเอียด เพื่อช่วยสร้างภูมิป้องกันความผิดพลาดจากการลงทุน

นอกจากนี้ การลงทุนที่ได้ผลจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตของแต่ละบุคคลด้วย ดังนั้น ควรสำรวจเป้าหมายชีวิตของตนเองให้ชัดเจนและจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของเป้าหมายนั้นๆ แล้วจึงนำมาใช้เป็นโจทย์ในการวางแผนทางการเงินของตนเอง

สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอก็คือ ความรู้ เพราะความเสี่ยงที่สุดก็คือ ความไม่รู้และความไม่เข้าใจในสิ่งที่เราลงทุนจริงๆ หรือมีประสบการณ์น้อย ทำให้มีความเสี่ยงมาก ในขณะที่ผลตอบแทนที่จะได้อาจไม่ได้เพิ่มตาม ซึ่งส่งผลทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้น หากคิดที่จะลงทุนแล้ว ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านการเงินการลงทุนอยู่เสมอ จะได้มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจเลือกการลงทุนได้อย่างเหมาะสม และสามารถทำให้เงินเก็บงอกเงยได้อย่างแท้จริง

 
*แหล่งที่มาของข้อมูล: หนังสือ “บริหารเงินเก็บผ่านกองทุนรวม” โดย มนตรี แสงเดชา