Wednesday, August 31, 2016

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 101

สวัสดีคุณผู้อ่าน สัปดาห์ที่ผ่านมาสถาบันคีนันแห่งเอเซียได้มีโอกาสทำงานร่วมกับธนาคารกรุงไทย จัดกิจกรรมค่ายผู้นำเยาวชนในโครงการ “กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว” โดยความพิเศษในปีนี้คือการปลูกฝังให้เยาวชนนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการออกแบบโครงการเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ในสังคมโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีใจพัฒนา
โดยกิจกรรมนี้ทางโครงการฯ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน ที่ปรึกษา สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มาบรรยายแนวคิดเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเยาวชนและครูจำนวน 180 คน ซึ่งการบรรยายเชิงระบบนี้ช่วยให้เห็นภาพที่ลึกซึ้งและรอบด้าน ผมเองเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ จึงขอนำมาสรุปเพื่อให้คุณผู้อ่านได้ร่วมคิดไปด้วยกัน
แน่นอนประสบการณ์เดิมที่คนส่วนใหญ่มีคือคำว่า “สามห่วง สองเงื่อนไข” ลงรายละเอียดอีกหน่อยก็จะบอกได้ว่า สามห่วง หมายถึง พอประมาณ มีเหตุผล และ ภูมิคุ้มกัน กับ สองเงื่อนไข หมายถึง ความรู้ และ คุณธรรม
สำหรับวันนี้จะพูดเรื่องเดียวกัน แต่ดึงเอาวิธีการวิเคราะห์เชิงระบบ (System Approach) จาก Slide ของท่านอาจารย์มาทีละองค์ประกอบ ได้แก่ Inputs, Processes, Outputs, Outcomes และ Impacts เจาะเป็นตัว ๆ ไปดังนี้
อภิชัย พันธเสน (2558)
ปัจจัยนำเข้า หรือ Inputs เราจะรู้จักกันในนาม “สองเงื่อนไข” (มาก่อนสามห่วงนะ) เป็นปัจจัยนำเข้าประกอบไปด้วย ความรู้ และ คุณธรรม ฟังดูง่าย ๆ แต่ขยายความให้เข้าใจมากขึ้นได้ว่า
ความรู้ เป็น “ปัจจัยจำเป็น” ไม่ได้หมายถึง Knowledge อย่างเดียว (อันนั้นเราหาได้ตาม Search Engine) แต่ความรู้ในที่นี้ประกอบด้วย สติ และ ปัญญา หมายถึง รู้ตื่นรู้ตัวตลอดเวลา และ นำเอาประสบการณ์ที่มีมาแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ต่างหาก ดังนั้นหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็จะเป็นความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ เอาไปทำอะไรก็จะสำเร็จได้ยาก
คุณธรรม เป็น “ปัจจัยพอเพียง” ประกอบไปด้วยความซื่อสัตย์ อดทน ขยัน และ แบ่งปัน อันนี้เปิดกว้างว่าอะไรที่เป็นความดีตามมุมมองของศาสนาที่เรานับถือก็ยึดสิ่งนั้นเป็นคุณธรรมประจำใจในด้านของปัจจัยพอเพียงก็ได้เช่นกัน
โดยสรุป Input ที่ดีต้องเกิดจากการรวมกันของความรู้และคุณธรรม ทั้งเก่งทั้งดี ถึงจะเป็นปัจจัยนำเข้าที่จะเอาไปใช้ในชีวิตจริง ๆ ได้สำเร็จ
กระบวนการ หรือ Processes เราจะรู้จักกันในนาม “สามห่วง” (ตามหลังสองเงื่อนไขนะ) ตรงกลางของสามห่วงนี้คือ “ทางสายกลาง” ประกอบไปด้วย ภูมิคุ้มกัน ความพอประมาณ และ ความมีเหตุผล ขยายความได้ว่า
ภูมิคุ้ม หมายถึง กระบวนการทำงานต่าง ๆ ในวิถีชีวิตเรานั้นเราต้องพึ่งตนเองได้ ไม่ใช่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ หรือ ใช้ทางลัดบางอย่างแล้วมาบอกว่าเก่ง ภูมิคุ้มกันจะมีได้ก็ต้องมาจากความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญ ในเรื่องนั้น ๆ ที่เราทำ เรียกว่าทำอะไรต้องเก่งอย่างนั้นเองก่อน แบบนี้แล้วทำอะไรก็จะยั่งยืน
ความพอประมาณ หมายถึง กระบวนการทำงานที่ทำอะไรแต่พอดี ตั้งเป้าหมายที่สมจริงและเป็นไปได้ ไม่หักโหมแต่ก็ไม่หย่อนยาน ไม่เร่งแต่ก็ไม่ผ่อน ตรงนี้แหละที่คนส่วนใหญ่เอาปรัชญานี้ไปอ้างเพื่อสนับสนุนความเกียจคร้านของตนเองแล้วอ้างว่า “พอเพียง” หรือ เอาไปกล่าวหาคนขยันจนประสบความสำเร็จว่า “ไม่พอเพียง” ซึ่งน่าอายมาก ดังนั้นหากเราทำงานด้วยความพอประมาณได้แล้ว ชีวิตก็จะเกิดความสมดุลตามมา
ความมีเหตุผล คำแปลภาษาอังกฤษไม่ได้หมายถึง Rational แต่หมายถึง Logical ที่กระบวนการทำงานต่าง ๆ ที่เราต้องมองเห็น Causal Relationship ของสิ่งต่าง ๆ รู้สาเหตุ รู้ผลที่จะตามมา ไม่ต้องงมงาย ไม่ต้องพึ่งดวง ไม่ต้องมั่ว แบบนี้ชีวิตก็จะชัดเจน เกิดเป็นความมั่นคง
--------------------------- จบแล้วสำหรับ “สามห่วง สองเงื่อนไข” ที่คนส่วนใหญ่ท่องกัน ---------------------------
ส่วนที่จะไปต่อและจะเป็นส่วนที่เฉลยว่าทำแล้วได้อะไร เริ่มจาก...
ผลผลิต หรือ Outputs ประกอบไปด้วย ความยั่งยืน ความสมดุล และ ความมั่นคง
ความยั่งยืน เมื่อกระบวนการทำงานของเรามีภูมิคุ้มกันแล้ว เราพึ่งตนเองได้ การทำงานก็จะต่อยอดและเติบโตอย่างมั่นคงนั่นเอง อีกนัยหนึ่งคือเรากำหนดปัจจัยต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ทำให้ชีวิตหรือการทำงานไม่เป๋ไปกับปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้
ความสมดุล คำนี้ลึกมาก เพราะสมดุลในที่นี้คือ “ไม่ทุกข์” ในทางพุทธความไม่ทุกข์นับเป็น “ความสุข” แล้ว ไม่จำเป็นต้องหาอะไรมาเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อหา ไม่ต้องเอาของหรูหรามาปรนเปรอ ก็สงบร่มเย็นด้วยตัวเองได้ เพราะเมื่อเรา “พอประมาณ” เป็นเราก็จะอยู่กับปัจจุบันได้ง่ายขึ้น ไม่รุ่มร้อน ไม่เร่งเร้า ไม่หมองหม่น (สำหรับคนที่ขยันน้อย) ผมอยากให้คุณผู้อ่านลองไปอ่านเรื่อง “จิตประภัสสร” ประกอบด้วยนะ
ความมั่นคง เมื่อเรามีเหตุผล ทำอะไรอย่างรู้ผลที่จะตามมา มองเห็นปัจจัยต่าง ๆ และ คิดอย่างรอบคอบแล้ว โอกาสที่จะทำอะไรผิดพลาดก็จะน้อยลง ความเสียหายก็จะน้อยตามไปด้วย นั่นแหละที่ทำให้เรามั่นคง ไม่ผิดพลาดหรืออับจนง่าย ๆ
ผลลัพธ์ หรือ Outcomes ที่จะเกิดขึ้นจากความยั่งยืน ความสมดุล และ ความมั่นคง ก็คือ “ความสุข” ตั้งแต่ความสุขของตนเอง ความสุขของครอบครัว ความสุขของสังคม ความสุขของประเทศ และ ความสุขของโลก
ผลกระทบ หรือ Impacts ที่เกิดจากผลลัพธ์ หากเราดำเนินชีวิตทั้งส่วนตัวและการงานด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็จะเป็นเป็น “ประโยชน์สุข” ที่นำไปสู่ “ความร่มเย็นเป็นสุข” ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการอยู่ร่วมกันของทุก ๆ คน
จะเห็นได้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้จริง ๆ แล้ว ครอบคลุมและกว้างไกลกว่า “เศรษฐกิจ” แต่เพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะรวยจะจน จะมีมากมีน้อย เราก็ใช้หลักการนี้ได้หมด เพราะในความเป็นจริง มนุษย์ไม่ได้มีทุนทางปัญญาเท่ากันหมด แต่ด้วยทุนทางคุณธรรมที่มี จะทำให้สังคมนี้เกิดความเอื้อเฟื้อและแบ่งปัน เป็นประโยชน์สุขของส่วนร่วม ก็จะนำไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขของทุก ๆ คน
สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ก็สมควรแก่เวลา แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี


เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
Business Process Manager 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย