Thursday, November 20, 2014

แก้ไขปัญหาหนี้สินแรงงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

           แรงงานถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากตัวเลขสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ณ กรกฎาคม 2557) พบว่า ประชากรไทยกว่า 38.49 ล้านคนอยู่ในกลุ่มกำลังแรงงานและเป็นผู้มีงานทำ โดยมีแรงงานจำนวนกว่า 25.28 ล้านคนอยู่นอกภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตและบริการ โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตกว่า 6.49 ล้านคน อุตสาหกรรมการขายส่งและขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์กว่า 6.19 ล้านคน และอุตสาหกรรมที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 2.55 ล้านคน

การพัฒนาศักยภาพการทำงานของแรงงานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สถานประกอบการมักให้ความสนใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต หากแต่ยังขาดการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน เนื่องจากเป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน นอกจากนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าแรงงานเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ประสบปัญหาเรื่องหนี้สินค่อนข้างมาก โดยจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ระดับหนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ในไตรมาสแรกของปี 2557 ระดับหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นจากเกือบ 9 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 มาเป็น 9.9 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ จากผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 2557 โดยหอการค้าโพลล์ พบว่า แรงงานไทยมีหนี้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยที่ 106,216 บาท ซึ่งพุ่งสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในการใช้จ่ายทั่วไปมากที่สุดในสัดส่วน 46.6% และแรงงานกว่า 93.7% มีพฤติกรรมการใช้เงินเกินตัว

กอปรกับผลการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเรื่องโครงการการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนปี 2556 พบว่า ประชาชนกลุ่มอาชีพอิสระรายได้ต่ำและกลุ่มเอกชนมีนายจ้างนั้น เป็นกลุ่มที่มีความรู้ทางการเงินต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ของสถาบันคีนันแห่งเอเซีย (คีนัน) โดยพบว่า แรงงานเอกชนมีนายจ้างและแรงงานอิสระรายได้ต่ำมีระดับความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารการเงินที่ค่อนข้างต่ำ มีจำนวนชั่วโมงการทำงานค่อนข้างสูง ส่งผลให้ขาดโอกาสในการอบรมเพื่อเพิ่มเติมทักษะความรู้ ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มแรงงานเอกชนมีนายจ้าง (แบบมีประกันสังคม) จะมีโอกาสในการก่อหนี้ทั้งในระบบสถาบันการเงินและนอกระบบสถาบันการเงินที่ค่อนข้างมาก จึงทำให้มีโอกาสในการเป็นหนี้บุคคลและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น


ด้วยเหตุนี้ คีนัน ร่วมกับมูลนิธิซิตี้ จึงได้จัดเวทีเสวนาระดมสมองเรื่อง การพัฒนาความรู้เรื่องการเงินเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย ภายใต้โครงการ คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงินโดยมีผู้แทนเครือข่ายแรงงานจากทั่วประเทศ ทั้งแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระ (รายได้น้อย) รวมทั้ง ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินแรงงาน และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล รวมทั้งเสนอแนะช่องทางและวิธีการเพื่อเข้าถึงกลุ่มแรงงานไทย


สาเหตุหลักที่ทำให้แรงงานมีปัญหาเรื่องภาวะหนี้สิน คือ แรงงานไม่มีความรู้และไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน รวมทั้ง ไม่มีเวลาและไม่มีความสนใจในการหาความรู้เพิ่มเติม อีกทั้ง แรงงานกำลังเผชิญกับปัญหาภาพลวงตาของระบบค่าแรง ที่รายได้ของแรงงานส่วนใหญ่ถูกลวงด้วยเงินค่าล่วงเวลาหรือเงินโอที ซึ่งทำให้แรงงานไม่เพียงต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันหรือทำงานในวันหยุด แต่ยังทำให้แรงงานเข้าใจผิดคิดว่า เงินค่าล่วงเวลา คือ รายได้หลักที่คงที่ของตนเอง แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว สถานประกอบการเริ่มมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของแรงงานลง จึงเกิดปัญหาระดับรายได้รวมไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จนทำให้เกิดลักษณะงูกินหาง คือ กู้เงินจากแหล่งหนึ่งเพื่อชำระหนี้อีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ เรายังพบว่า แรงงานแม้จะมีการออมเงินกับสหกรณ์หลายแห่ง แต่หลายรายทำเพียงเพื่อให้ตนเองมีสิทธิในการกู้ยืมเงินเท่านั้น หรือ การออมเพื่อกู้


ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่มีอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแรงงานรับจ้างอิสระรายได้น้อย ซึ่งแม้จะมีความขยันและตั้งใจทำงาน แต่ระดับรายได้ของแรงงานกลุ่มนี้อย่างไรก็ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย โดยเฉพาะประเภทรายจ่ายที่คาดไม่ถึง ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย แรงงานกลุ่มนี้มักต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง ซึ่งทำให้กลายเป็นเหยื่อจากปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และตกอยู่ในวังวนของความยากจนแบบไม่สิ้นสุด

ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของแรงงานและเพื่อให้เกิดการกินดีอยู่ดีของกลุ่มแรงงานนั้น ควรต้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านความรู้ทางการเงินและทัศนคติที่ดีเรื่องการเงินอย่างเหมาะสม โดยออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับแรงงานในแต่ละกลุ่ม เนื่องจากมีความต้องการและความจำเป็นที่แตกต่างกัน ควบคู่ไปกับการออกมาตราการของภาครัฐในการควบคุมการก่อหนี้บุคคลและแรงงาน ซึ่งควรกำหนดเพดานวงเงินสินเชื่อบุคคลที่สถาบันการเงินต่างๆ จะสามารถปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนแต่ละคนได้ รวมทั้ง ควรส่งเสริมให้มีการออมแบบภาคบังคับ พร้อมไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญเรื่องการออมและการบริหารการเงินส่วนบุคคล นอกจากนี้ การส่งเสริมในเรื่องการหารายได้เพิ่มโดยการสร้างอาชีพเสริมให้แก่แรงงานนั้น อาจเป็นอีกทางออกหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือแรงงานให้มีรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย และมีการออมเงินอีกด้วย

กล่าวโดยสรุป การแก้ไขปัญหานั้นแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ (1) แก้ไขปัญหาหนี้สินแรงงาน (2) เสริมสร้างความรู้และความตระหนักรู้เรื่องการบริหารการเงินแก่แรงงาน สำหรับแนวทางแรก หน่วยงานภาครัฐ สถานประกอบการ และเครือข่ายแรงงาน จำเป็นต้องร่วมมือกันในการจำกัดระดับหนี้สินไม่ให้เพิ่มขึ้น และหาแนวทางในการชำระคืนหนี้ ส่วนแนวทางที่สอง สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงมหันตภัยของหนี้ประเภทต่างๆ และการให้ความสำคัญเรื่องความรู้ด้านการเงิน อันจะทำให้แรงงานไม่ตกเป็นทาสของหนี้นอกระบบ และสามารถเลือกใช้สินค้าทางการเงินต่างๆ เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ได้อย่างชาญฉลาด สุดท้ายนี้ หากมีการส่งเสริมแรงงานไทยให้มีความเข็มแข็งที่เพียงพออย่างจริงจังแล้ว เศรษฐกิจของประเทศไทยย่อมที่จะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

Monday, November 17, 2014

เทคนิคที่ทำอะไร ๆ ให้ประสบความสำเร็จ

     สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่าน สัปดาห์หนึ่ง ๆ ช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน ทำงานเพลิน ๆ เวลาก็ผ่านไปแล้ว ซึ่งที่จริงถือเป็นเรื่องดีที่สำหรับใครที่รู้สึกแบบนี้ เพราะสะท้อนว่าเรารักในสิ่งที่ทำจนหน้าตั้งตาทำงานกันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เข้ากับคำกล่าวของขงจื้อที่ว่า “Choose a job you love, and you will never have to work a day in your life”     คำถามที่ผมสนใจคือว่า เราจะทราบได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราทำอยู่ด้วยความเพลิดเพลินนี้จะนำพาชีวิตเราไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ เพราะหลายครั้งที่คนทุ่มเทให้กับการทำงานมักจะท้อเพราะไม่เห็นหรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผลลัพธ์ปลายทางคืออะไร ดังนั้น Ministry of Learning สัปดาห์นี้จะมาจะมาชวนคุนผู้อ่านคุยกันถึงเรื่องนี้สักหน่อย

     ผมอยากแนะนำให้คูณผู้อ่านได้รู้จักกับ Logic Framework ซึ่งเป็นหลักในการกำหนดกรอบการติดตามและการประเมินผลโครงการ หรือ Monitoring and Evaluation (M&E) ซึ่งเป็นแนวทางมาตรฐานที่องค์กรพัฒนาระดับนานาชาติ หรือ วงการธุรกิจบางแห่งใช้เป็นกรอบแนวคิดในการประเมินความก้าวหน้าของงานที่ทำอยู่หลักสำคัญแรกคือการทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของสิ่งที่ทำอยู่ตามแผนภาพดังนี้ก่อน


Logic Framework ดัดแปลงจาก Wholey และ คณะ (2004)












       จากแผนภาพ Input เป็นปัจจัยแรกสุด เป็นปัจจัยที่บอกว่าเราใช้หรือใส่ “อะไร” เข้าไปในการทำงานของเรา เช่น เงิน เวลา แรงงาน วัตถุดิบ หรือ ความรู้/ความเชี่ยวชาญ ฯลฯ พูดอีกนัยหนึ่งคือทรัพยากรที่เราต้องใส่เข้าไปให้เกิดผล ในทางปฏิบัติแล้ว Input อาจจะเป็นจำนวนวันทำงาน (Man-day) จำนวนของวัตถุดิบ หรือ งบประมาณที่ต้องใช้ Input ที่ใช้ไปจะถูกเอาไปเทียบกับ Output ที่ออกมาว่าเราสามารถทำงานได้คุ้มค่าแค่ไหน
     โดยมากแล้วหลายคนอาจจะมองข้ามคุณภาพของ Input ไปเพราะเข้าใจว่า “มี” แล้วก็จบ ซึ่งหากงานที่ทำเป็นกลุ่มด้านอุตสาหกรรมก็จะมี Spec ที่แน่นอนว่าของเข้าโรงงานต้องเกรดไหนคัดอย่างไร แต่งานที่เป็นโครงการแบบที่ผมดูแค่บอกว่ามีคนมาช่วยอย่างเดียวบางทีไม่พอ ต้องดูด้วยว่าใคร เพราะความสามารถและทัศนคติในการทำงานถือว่าเป็น Input ที่จะส่งผลกับการทำงานของผมด้วย
     Process เป็นการบอกว่า “อย่างไร” ในขั้นนี้รวมหมดทั้งแนวคิด เทคนิค แผนงาน หรือ กลวิธี ซึ่งต้องทำโดยจะต้องมิวิธีในการติดตามว่า Process เดินหน้าไปไปในทิศทางและกรอบเวลาที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งตรงนี้แน่นอนว่าถ้า Input ดี Process ก็จะง่าย การทำงานต่าง ๆ ก็จะราบรื่นและมีความสุข
     ในทางปฏิบัติแล้ว Process จะเป็นช่วงเหนื่อย บางทีต้องประชุมกันยาว ๆ ต้องปรับแผน หรือแม้แต่แก้งานกันหลาย ๆ รอบซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นทั้งหมด เพราะถ้าสิ่งที่ทำมันผิดผลที่จะตามมาก็จะผิดตามไปด้วย ดังนั้นในขั้น Process นี้นอกจากจะต้องดำเนินไปด้วยความชัดเจนแล้วต้องใช้ความแน่วแน่ของทีมงานประกอบด้วย
     Output เป็นการบอกว่า “ได้อะไร” ตรงนี้คือสิ่งทีเราจะได้ผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการ ผลงาน หรือ Package ใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งจะมีผลงานที่ออกมาเป็นจำนวนที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น จำนวนครั้ง จำนวนชิ้น จำนวนคนที่รับข่าวสาร ฯลฯ
     ตรงนี้หลายคนหลง เพราะคิดว่า Output คือที่สุดแล้ว แบบทำงานเสร็จก็ฉลอง แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เพราะว่าการมี Output ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่า Outcome จะได้ผลตามนั้น เช่น เราออก Campaign ประชาสัมพันธ์ได้ Output ออกมาเป็นงานโฆษณาหลายตัวมากเลย ซึ่งก็ดีเพราะถือว่าทำงานสำคัญสำเร็จแต่งานที่ว่ายังไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด เพราะ Outcome ที่ต้องการคือการตัดสินใจซื้อขอลูกค้าจนเกิดเป็นยอดขายต่างหาก
สุดท้าย Outcome เป็นการบอกที่สำคัญที่สุดว่า “ได้ผลอย่างไร” ตรงนี้แหละที่ต้องกำหนดให้ชัด ๆ เช่น ดูที่ยอดขาย ดูที่พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ดูที่ความรู้ของคน ดูที่รายได้ของชาวบ้าน หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ตามแผนที่วางเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้น
     ตัว Outcome นี่แหละคือส่วนที่ต้องบอกว่างานที่เราทำสอบผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะไม่ใช่แค่ตัวเราหรือตามที่มาตรฐานกำหนดแล้ว แต่เป็น Customer/Public ซึ่งในที่นี้เป็นได้ตั้งแต่เจ้านาย ลูกค้า หรือ กลุ่มเป้าหมาย ที่จะเป็นผู้ตัดสินว่า Output ที่สุ้มอดทนปั้นทำมานั้นจะรังสรรค์ให้เกิด Outcome ตามที่เราต้องการมากน้อยแค่ไหน ซึ่งนี่แหละหากฉลองกันที่ Outcome จะเป็นอะไรที่ชื่นใจกว่าเยอะ
     ทั้งนี้ทั้งนั้นการติดตามหรือ Monitoring จะคาบเกี่ยวในช่วงของ Input Process และ Output ในขณะที่ Evaluation โดยมากจะสนใจที่ Outcome ซะส่วนใหญ่ ซึ่งนี้แหละคือจุดที่ตัดให้เห็นว่าการติดตามและการประเมินผลจะเข้าไปอยู่ตรงไหนของการทำงานหรือกระบวนการทางธุรกิจ เพราะทุกขั้นตอนมีความสำคัญหมด แต่ใจความสำคัญคือคนที่ประสบความสำเร็จจะต้องมองให้เห็นถึง Outcome ที่ต้องการตั้งแต่วันแรกและใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ผ่านขั้นตอนและเนื้องานที่จะดันไปให้ถึงจุดที่ต้องการนั้นให้ได้

     จะเห็นได้ว่าการนำเอาแนวคิดของ Logic Framework มาประยุกต์ใช้ในการทำงานของเรานั้นจริง ๆ แล้วไม่ยาก อาจจะต้องใช้เวลาคิดอย่างละเอียดหน่อย แต่รับรองว่าจะมีประโยชน์อย่างมากในการทำงาน เรียกได้ว่าเป็นแนวทางที่ให้คุณผู้อ่านนำเอาแนวคิดของ M&E มาใช้เพื่อให้เราประสบความสำเร็จได้มากกว่าทั้งการทำงานในองค์กรหรือการเป็นเจ้านายตนเอง

     สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขในการก้าวไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดี


เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย





Sunday, November 2, 2014

ความเข้าใจผิดๆ 4 อย่างเกี่ยวการใช้ SWOT

     สัปดาห์นี้ ด้วยความโชคดีที่หน่วยงานได้ส่งผมไปอบรมในหลักสูตรการบริหารเชิงกลยุทธ์ ซึ่งทำให้ผมมีโอกาสได้เรียนรู้แนวคิดดี ๆ จากนักวางกลยุทธ์/นักคิดอย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ เลยอยากเอามาเล่าสู่กันฟัง เพราะหากคุณผู้อ่านเอาไปปรับใช้แล้วรับรองว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งกับองค์กรหรือความก้าวหน้าส่วนตัวเพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดในทรัพย์สินทางปัญญา ผมจะใช้วิธีการสรุปจุดเรียนรู้ในมุมมองของผมแทนการถอดความรู้ที่อยู่ในการอบรม สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ครั้งนี้คือการได้รู้ว่าผมเองมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกับการวิเคราะห์ SWOT พอสมควรเลย ทำให้ผมมองข้ามไม่ค่อยได้ใช้ SWOT ให้เป็นประโยชน์ได้เต็มที่เหมือนเครื่องมืออื่น ๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว SWOT ส่งผลต่อการอยู่หรือไปของธุรกิจได้เลยนะ     ดังนั้นผมได้สะกัดเอาความเข้าใจผิด ๆ ที่เคยมีกับ SWOT มาเล่าด้วยแนวคิดที่ถูกต้องใหม่อีกครั้งให้เข้าใจได้ง่าย ๆ 4 ข้อดังนี้ (สำหรับคุณผู้อ่านที่ยังไม่คุ้นกับเรื่องนี้ลองไปศึกษาเพิ่มเติมกันก่อนนะ เพราะผมคุยในมุมมองของผู้ที่ผ่านการทำ SWOT กันมาแล้วเป็นหลัก)

     ผิดที่ 1 หลงเวลา อันดับแรกที่มองข้ามคือการกำหนดเงื่อนเวลามาเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์ SWOT หลายครั้งเราเผลอไปเอาข้อมูลเก่าหรือข้อมูลปัจจุบันมาใช้ สิ่งที่จะเกิดคือเราได้ SWOT ในเชิงประวัติศาสตร์ที่ไม่แข็งแรงพอที่จะต่อยอดไปคิดอะไรใหม่ ๆ ในอนาคตเพื่อการแข่งขันได้ดังนั้นการใช้ SWOT ให้ถูกคือ “คิดไปข้างหน้า” เท่านั้น ซึ่งการจะคิดไปข้างหน้าได้ต้องอาศัยข้อมูลที่ลึกพอเพื่อให้เราสามารถเห็นแนวโน้ม ซึ่งคนที่จะเห็นได้นี่แหละที่เราเรียกกันว่า “คนมีวิสัยทัศน์”หากคุณผู้อ่านอยากมีวิสัยทัศน์ สิ่งที่จะต้องฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง 2 อย่าง คือ 1) ทักษะในการเก็บข้อมูล ต้องเก็บได้ลึกและตรง ลึกในที่นี่คือลึกกว่าที่คนทั่วไปจะมองเห็น และ ตรงในที่นี้จะหมายถึงไม่แต่งแต้มจนผิดเพี้ยน และ 2) ทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล หมายถึง ต้องแกะ แยก และ มองเห็นความเหมือนในความแตกต่างของเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งถ้าเราเจอรูปแบบ (Pattern) ดังกล่าวเมื่อไหร่ การมองไปข้างหน้าก็จะแม่นยำขึ้นเท่านั้นอ่านถึงตรงนี้อาจจะมีคำถามในใจว่า แล้วอนาคตนี้คือ “กี่ปี” กะง่าย ๆ ว่าสัก 5 ปีก็ได้ โดยช่วงเวลาจากวันนึ้ถึง 5 ปี จะต้องเป็นภาพที่เราเห็นได้ “ชัดเจน” และ หลังจาก 5 ปีขึ้นไปต้องเป็นภาพที่เราเห็น “เค้าโครง” ทั้งนี้เราจะต้องหมั่นมองและปรับภาพอยู่ตลอดเวลา อย่ายึดติดกับภาพใดภาพหนึ่งเพราะโลกในวันข้างหน้าจะเปลี่ยนเร็วขึ้นเรื่อย ๆ


     ผิดที่ 2 เริ่มจากปัจจัยภายใน สิ่งที่ถูกต้องคือการคิดจากปัจจัยภายนอก (Opportunities และ Threats) ก่อนเท่านั้น นั่นถึงเป็นเหตุผลที่หลายตำราเปลี่ยนจาก SWOT เป็น TOWS ทั้งที่ใส้ในเหมือนกันเป๊ะเพราะต้องการให้เรียงลำดับใหม่การสลับตำแหน่งดังกล่าวสำคัญมาก เพราะหากเราคิดจากภายในก่อนเราจะตาบอดจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย ๆ เช่น เราวิเคราะห์ปัจจัยภายในเรียบร้อยแล้ว พอไปวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกดันพบว่าจุดแข็ง (Strengths) ของเรากำลังจะ “ตก Trend” เนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต เจอแบบนี้ก็หมดแรงเหมือนกัน หลายที่จะใช้การแถเพื่อมองหาปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่จะมารองรับกับปัจจัยภายในที่คิดว่าดีอยู่แล้ว (พูดง่าย ๆ ขี้เกียจเปลี่ยนตัวเอง ว่างั้นเหอะ) ผลที่ตามมาคือ SWOT ที่ผิดและจะนำทุกอย่างไปสู่ความเสียหายได้ในที่สุดคราวนี้อยากให้มาเจาะรายละเอียดกันหน่อย ปัจจัยภายนอกตำราไทย ๆ มักจะแปล Threats ว่า “อุปสรรค” ที่กีดขวางทางเดิน นัยยะคือถ้าไม่เดินไปชนก็ไม่เป็นอะไรซึ่งผิด เพราะความเป็นจริงแล้วเราไม่ต้องขยับไปไหนเลยทั้ง Threats และ Opportunities จะเป็นฝ่ายเดินมาหาเราเอง ดังนั้นการคิดกับปัจจัยภายนอกให้ถูกต้องก่อนปัจจัยภายในจึงเป็นเรื่องที่ควรลำดับให้ถูกต้อง


     ผิดที่ 3 เข้าใจว่าปัจจัยภายเป็นเรื่องของคนใน ปกติการวิเคราะห์ SWOT นั้นเราไม่ค่อยไปถามใครหรอกเพราะถือเป็นความลับของหน่วยงาน ทำให้การวิเคราะห์เป็นเรื่องที่หมกทำกันอยู่ในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงขององค์กรซะเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่มักจะพลาดคือการมองปัจจัยภายใน (Strengths และ Weaknesses) ตามความเข้าใจของคนในองค์กรแทนที่จะมองในมุมของลูกค้าหรือผู้บริโภค

ทางออกคือต้องหาวิธีการมองหาจุดอ่อนและจุดแข็งของสินค้า บริการ หรือ องค์กรของเราจากสายตาของลูกค้าให้ได้ เช่น เราอาจจะเข้าใจว่าร้านอาหารเราเด่นเรื่องรสชาติ (Strengths) มีสูตรเด็ด อร่อยสุด ๆ (สำหรับเราคนเดียว) แต่ลูกค้าอาจจะมาร้านเราด้วยเหตุผลอื่น ๆ เช่น เสริฟเร็ว ราคาถูก หรือ บริการประทับใจ ฯลฯ ไม่ได้มาเพราะอร่อยอย่างที่เราคิดไปเอง อันนี้ต้องเฟ้นหาอย่างมีศิลปะและเป็นกลาง ในขณะที่เราอาจจะมองว่าร้านยังแต่งไม่สวย เป็นจุดอ่อน (Weaknesses) แต่คนอาจจะเลิกมาร้านเราด้วยเหตุผลอื่น ๆ เช่นกัน ทั้งนี้ต้องคิดแบบคนนอกที่มองเข้ามามากกว่าที่จะคิดเอาเองดังนั้นวิธีการที่ถูกต้องคือการหาคุณภาพที่จำเป็นให้ครบและเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาดเดียวกัน (Benchmarking) เช่น รสชาติ บริการ ราคา ฯลฯ อะไรที่เราเหนือกว่าคือจุดแข็ง (Strengths) และอะไรที่เราด้อยกว่าค่อยนับเป็นจุดอ่อน (Weaknesses) แบบนี้จะช่วยให้เราวิเคราะห์ได้ตรงไปตรงมากว่าเยอะอย่างไรก็ดี ทุกธุรกิจทั้งในระดับสินค้า/บริการ หรือ องค์กร จะต้องมีจุดแข็งบังคับที่ขาดไม่ได้ เช่น เปิดร้านอาหารต้องอร่อย เปิดโรงพยาบาลต้องรักษาหาย เปิดโรงเรียนเด็กต้องเก่ง เปิดร้านขายของต้องมีสินค้าครบ เป็นต้น และ จะขยับขยายไปยังคุณภาพอื่น ๆ ก็ค่อยว่ากันในเชิงของการขยายกิจการ (Growth)

    ผิดสุดท้าย งงกับหน่วยในการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) ทั้งนี้ SWOT สามารถใช้ได้กับการวิเคราะห์ทุกระดับตั้งแต่องค์กร แผนกในองค์กร สินค้า/บริการ หรือแม้แต่ระดับบุคคล ดังนั้นต้อง “เลือก” และ “กำกับ” ให้การวิเคราะห์อยู่ในหน่วยในการวิเคราะห์ที่เราต้องการ เพราะปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หลายครั้งเราคิดในหมวกองค์กร สักพักก็เผลอคิดในหมวกสินค้า ทำให้ปนกันมั่วไปหมด กลายเป็น SWOT ที่ไม่ชัดจนได้ยกตัวอย่างเดิมว่าเราเปิดร้านอาหาร “ร้าน” เป็นธุรกิจของที่บ้านทั้งหมด เวลาเราวิเคราะห์ SWOT ของที่ร้านจะมองร้านเราเป็นปัจจัยภายในโดยอะไรที่นอกเหนือจากนี้เป็นปัจจัยภายนอกและมีร้านอื่น ๆ เป็นคู่แข่ง แต่ในขณะเดียวกัน ในร้านยังแยกขายอาหารหลายอย่าง เช่น อาหารตามสั่ง หมูสะเต๊ะ และ ก๋วยเตี๋ยว ดังนั้นหากเราลงไปคิด SWOT ของ “อาหารตามสั่ง” ทั้งหมูสะเต๊ะและก๋วยเตี๋ยวจะเป็นสินค้า/บริการอื่นทันที ต้องมองสองอย่างที่เหลือเป็นปัจจัยภายนอก ต้องแข่งกันเอง ดังนั้นการพัฒนาเพื่อหาวิธีเพิ่มมูลค่าในสินค้าแต่ละตัวอย่างไม่หยุดยั้งจะนำไปสู่การ “ห่อกลับ” ซึ่งช่วยกิจการในภาพรวมได้ในที่สุด

     สุดท้ายจริง ๆ แนวคิดเพิ่มเติมคือ SWOT เองสามารถใช้ได้กับทุกที่ทุกอย่าง เพราะแม้ว่าคุณผู้อ่านบางคนอาจจะยังไม่ได้มีโอกาสวิเคราะห์ SWOT ให้องค์กรหรือให้กับสินค้า/บริการ แต่คุณผู้อ่านก็ยังสามารถวิเคราะห์ SWOT ของตัวคุณผู้อ่านเองก็ได้ เปลี่ยนหน่วยในการวิเคราะห์ให้เป็นตัวเราซะ และมองปัจจัยภายนอกดูว่าความเปลี่ยนแปลงในอนาคตในระดับองค์กร หรือ ในอุตสาหกรรมที่เราทำงานอยู่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ความสามารถของเราที่มีจะต้องพัฒนาต่ออย่างไรให้มีจุดแข็งบังคับที่ขาดไม่ได้ เทียบกับเพื่อนหรือคนในวงการแล้วเป็นอย่างไร เพราะถ้าเจอแล้วเราจะรู้ได้เองว่าจะต้องเดินทางไหน การเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาตนเองก็จะมีความหมายเป็นอย่างไรกันบ้างกับแนวคิด Classic ที่อาจจะเผลอใช้กันผิดบ้างถูกบ้าง ก็อยากเป็นกำลังใจให้ทุกท่านไปคิดอ่านทำการเพื่อสร้างสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าให้ทะลุกรอบเดิม ๆ ที่เรามีอยู่ อยากให้ขยับเพื่อให้เราได้เป็นฝ่ายรุกกับการแข่งขันระดับ AEC ที่กำลังมาถึง เพราะไม่ใช่เป็นแค่รอบ Battle แต่เป็นรอบ Knockout เลยล่ะ

สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขกับการวางแผนเพื่อก้าวไปข้างหน้า พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดี

 เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย