Tuesday, January 1, 2013

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ...ซองเงินงบประมาณ ช่วยเราได้


วางแผนการเงินนั้นสำคัญไฉน?




โดย ณัฏฐนี สถิตยาธิวัฒน์ที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ และที่ปรึกษาโครงการผู้หญิงฉลาดออม ฉลาดใช้


ซองเงินงบประมาณ ช่วยเราได้


เนื่องจากอยู่ในช่วงฝึกตัวเองเป็นนักบริหารการเงินส่วนบุคคลมืออาชีพ จึงมีการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อทำงบประมาณรายจ่ายตามที่เรียนมาอย่างเคร่งครัด มีวางแผนการใช้จ่ายแต่ละเดือนเป็นอย่างดีทำเป็นกราฟแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน ดังรูปด้านล่าง



 แต่พอถึงสิ้นเดือนมาสรุปค่าใช้จ่ายทีไร มันไม่ค่อยจะเป็นไปตามแผนงบประมาณที่วางไว้เลย ออมมีน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ทุกที เพราะชอบเผลอเอาเงินไปช็อปปิ้ง หรือเอาไปซื้อของกระจุกกระจิก ไม่ก็ซื้ออาหารมากไปเป็นประจำ ซื้อเยอะจนจดบัญชีไม่ทัน  บางทีก็เผลอเอาเงินกองนู้น ไปจ่ายกองนี้  แล้วสุดท้ายสับสนกว่าจะรู้ว่าใช้เงินเกินก็ตอนสรุปบัญชีตอนสิ้นเดือน

เป็นแบบนี้อยู่หลายเดือนจนไปอ่านเจอว่า ชาวญี่ปุ่นเค้าจะแบ่งเงินสดใส่ซองต่างๆ ไว้เป็นค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท จะได้ไม่เผลอไผลใช้เงินเกิน เป็นวิธีง่ายๆ ก็เลยลองทำ ปรากฎว่า Work!!! คือ แทนที่จะวางงบประมาณรายจ่าย แล้วใช้จ่ายโดยเงินสดบ้าง หรือรูดเครดิตการ์ดบ้าง เปลี่ยนใหม่เป็นเบิกเงินสดมาแบ่งใส่ซอง เวลาจะใช้เงินก็ใช้จากซองตามประเภทค่าใช้จ่าย





จากนั้นมา หายสับสน แล้วก็ไม่เคยใช้เงินเกินเลย เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลจริงๆ
อยากให้คนที่ประสบปัญหาเดียวกันนี้เอาวิธีนี้ไปลองใช้ดู ซึ่งแต่ละคนอาจมีการแบ่งหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายหรือซองเงินไม่เหมือนกัน จะแบ่งอย่างไรก็ได้ ไม่มีกฎตายตัว เพียงแต่แบ่งให้ง่ายและชัดเจนเพื่อการจัดการของเราเอง บางคนอาจมีซองเงินสำหรับ ค่าใช้จ่ายสำหรับบุตร ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ หรืออาจจะมีเพิ่มอีกซองสำหรับงานบุญ งานแต่ง งานศพ ก็ไม่ว่ากัน ลองทำดู รับรองเห็นผลทันตา

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ...เทคนิคการประหยัดเงินแบบ Eco Chic


เทคนิคการประหยัดเงินแบบ Eco Chic



โดยณัฏฐนี สถิตยาธิวัฒน์
ที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ และที่ปรึกษาโครงการผู้หญิงฉลาดออม ฉลาดใช้

เทคนิคการประหยัดเงินแบบ Eco Chic

การใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่เงินทองเป็นของหายาก แถมข้าวปลาอาหารแห้ง น้ำมัน ก็ราคาขึ้นพรวดๆ วิธีที่จะรักษาสถานภาพทางการเงินให้มั่นคงก็คงเป็นการยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายแบบ Eco Chic คือ เก๋ มีสไตล์ ไม่เหมือนใคร ช่วยโลก และรักษาเงินในกระเป๋า หรืออาจมีรายได้เพิ่มแบบไม่รู้ตัว

ก่อนซื้อทุกครั้ง ลองหยุดคิดตั้งคำถามกับตัวเองซักนิดก่อนว่า

? มันจำเป็นกับฉันจริงๆ หรือไม่
? ฉันอยู่ได้ไหม ถ้าไม่มีมัน
? ฉันใช้อย่างอื่นแทนมันได้หรือไม่
? ฉันไม่ต้องซื้อ แต่ใช้วิธีหยิบยืม หรือทำมันเองได้หรือไม่

ถ้าคุณยังรู้สึกไม่แน่ใจ ลองใช้เวลากลับไปตัดสินใจที่บ้าน อย่าตกเป็นเหยื่อของคนขายที่คอยกระตุ้น หรือหว่านล้อมให้คุณเคลิบเคลิ้ม จนไม่ได้คิดถึงประโยชน์ใช้สอย หรือความจำเป็นจริงๆ ของคุณ

ทำกับข้าวทานเองให้บ่อยขึ้น
ลดการกินข้าวนอกบ้าน ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายลง แถมยังสะอาด ปลอดภัย ครอบครัวอบอุ่นอีกด้วยนะ

หาความสุขแบบไม่ต้องเสียเงินเยอะ
แทนที่จะไปดูหนัง หรือเดินห้างสรรพสินค้า ลองเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งเล่น หรือถีบจักรยานในสวนสาธารณะกับครอบครัวดูซิ รับรองจะติดใจ

ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ถ้าต้องเดินทางในระยะทางสั้นๆ แทนที่จะขี่รถมอเตอร์ไซด์ ลองเปลี่ยนมาใช้วิธีเดิน ถือเป็นการออกกำลังไปในตัว ทำให้สุขภาพแข็งแรงแบบมีเงินเหลือเก็บอีกต่างหาก

ปลูกผักสวนครัวทานเอง
แทนที่จะต้องไปซื้อผักที่ตลาด ลองปลูกผักสวนครัวที่คุณชอบทาน นอกจากจะปลอดภัยไร้สารเคมียังเป็นความภูมิใจส่วนตัว เผลอๆ อาจสร้างรายได้เสริมให้คุณได้อีกด้วย

Eco Chic Ideas at home
ลองสนุกกับการแต่งบ้านเก๋ๆ จากวัสดุเหลือใช้ในบ้าน เช่นไอเดียหลอดไฟเก่าหรือขวดเป็นแจกันดอกไม้แก้วแบบแขวนสุดบรรเจิด ขวดใส่น้ำยาล้างจานใช้สะดวกไม่เหมือนใครจากขวดที่ใช้แล้ว ที่ตากถุงพลาสติกจากที่ใส่แปรงสีฟันและตะเกียบเก่า โคมไฟทำจากกระป๋องนมเจาะรูสร้างความโรแมนติกให้กับบ้าน ปอกหมอนอิงวินเทจจากผ้าหรือเสื้อตัวเก่า นอกจากจะเป็นการประหยัดอย่างมีสไตล์แล้วยังเป็นช่วยโลกอีกด้วย นำเทรนจริงๆ

“การประหยัด” นั้นไม่ได้น่ากลัว น่าอาย หรือเป็นสิ่งที่ยากเย็นเข็ญใจอย่างที่คิด แค่ลงมือทำ ก็เก๋แล้ว

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ...วางแผนการเงินนั้นสำคัญไฉน?


วางแผนการเงินนั้นสำคัญไฉน?




โดยณัฏฐนี สถิตยาธิวัฒน์ที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ และที่ปรึกษาโครงการผู้หญิงฉลาดออม ฉลาดใช้



วางแผนการเงินนั้นสำคัญไฉน?


สมัยก่อน คนส่วนใหญ่ทำงานหาเงินมาได้ก็ฝากธนาคาร   เวลาผ่านไปไม่ถึง 10 ปี เงินก็เติบโตขึ้นเป็น 2 เท่า แต่ปัจจุบันนี้เงินที่ฝากโตเป็นสองเท่าคงต้องรอกันเกือบครึ่งชีวิต แสดงให้เห็นว่าการบริหารเงินโดยการฝากธนาคารอย่างเดียวคงไม่เพียงพอแล้ว

สมัยนี้มีสินค้าการเงินใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ กองทุนรวมประเภทต่างๆ ประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์ ไปจนถึงการลงทุนในหุ้น หรือทองคำ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และ อัตราเงินเฟ้อ

 เพื่อให้แผนการลงทุนเป็นไปอย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมาย ก่อนการลงทุน จึงควรสำรวจตัวเองและวางแผนการเงินให้พร้อมก่อน เริ่มต้นคงต้องมาดูที่รายได้ ภาระค่าใช้จ่าย หรือ หนี้สินก่อน  แนะนำว่าเราควรจะ list ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนออกมาให้ครอบคลุม แล้วดูว่าเราต้องการให้เหลือไว้เงินออมเดือนละเท่าไหร่  ณ จุดนี้บางท่านอาจจะต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกเพื่อให้เหลือเงินออมมากขึ้น

หลังจากนั้นเรามาเริ่มบริหารเงินออมกัน โดย แบ่งเงินออมเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่  1 กันไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน อย่างน้อย 3-6  เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน จุดประสงค์ของเงินก้อนนี้ เผื่อกรณีตกงาน พักงาน หรือธุรกิจติดขัด เราก็ดึงเงินก้อนนี้ออกมาใช้ได้ โดยไม่เดือดร้อนหรือกระทบเงินก้อนอื่นๆ เนื่องจากเงินก้อนนี้เป็นเงินเพื่อรักษาสภาพคล่องจึงต้องเบิกง่าย ถอนง่าย จึงควรเก็บฝากไว้กับธนาคาร

ส่วนที่ 2 เงินที่เกินจากส่วนแรก ควรจะนำมาลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน ซึ่งก่อนลงทุนควรพิจารณาว่าเงินลงทุนก้อนนี้เรารับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายการใช้เงินก้อนนี้สำคัญแค่ไหน ระยะเวลาที่ต้องการใช้เงินเมื่อไหร่  เช่น เป้าหมายจะดาว์นรถ แต่ต้องรอรถอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็อาจจะนำเงินไปซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มีอายุ 3 เดือนที่มีผลตอบแทนประมาณ 3% :ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่าฝากออมทรัพย์   ถ้าเป้าหมายนั้นสำคัญมากก็ไม่ควรจะไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมาก

ส่วนที่ 3 คือ ส่วนที่ใช้ปกป้องความมั่งคั่งของเรา จากความเสี่ยงซึ่งเราไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ อันได้แก่ โรคร้ายแรง อุบัติเหตุต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งก่อให้เกิดเสียหายต่อทรัพย์สินและฐานะการเงินเป็นอย่างมาก สินค้าทางการเงินเพียงตัวเดียวที่ใช้โอนย้ายหรือบรรเทาความเสี่ยงได้ คือ ประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันทรัพย์สิน เช่น  ประกันอัคคีภัย อุทกภัย หรือ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เพราะเมื่อเกิดอะไรขึ้นบริษัทประกันก็จะเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายแทนคุณ โดยไม่กระทบกับเป้าหมายทางการเงินส่วนอื่นๆของคุณเลย
การวางแผนการเงินและกระจายเงินเป็นส่วนๆจะช่วยให้เราบริหารการเงินได้อย่างสบายใจและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเปรียบเสมือนการจัดระเบียบการเงินรวมถึงการสร้างวินัยในการออมเงินด้วย หยิบก็ง่าย ใช้ก็คล่อง

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ...อะไรเอ่ย.....ยิ่งจด ยิ่งรวย

อะไรเอ่ย.....ยิ่งจด ยิ่งรวย


โดยณัฏฐนี สถิตยาธิวัฒน์ที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ และที่ปรึกษาโครงการผู้หญิงฉลาดออม ฉลาดใช้



อะไรเอ่ย.....ยิ่งจด ยิ่งรวย

หลายท่านอาจจะร้อง ยี้!!!! เมื่อได้ยินคำตอบว่า “บัญชีรายรับ-รายจ่าย” ในขณะที่คนส่วนใหญ่บอกว่าไม่เห็นจำเป็น เพราะไม่ได้ใช้อะไรสุรุ่ยสุร่าย บางท่านบอกว่า มีเงินน้อย ใช้น้อยไม่ต้องจดหรอก บางท่านก็เคยทำแล้ว แต่จดได้อยู่ไม่กี่วันก็เลิกเพราะลืมบ้าง ขี้เกียจบ้าง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า บัญชีรายรับ-รายจ่าย ช่วยเปลี่ยนชีวิตคนมานัก ต่อนักแล้ว

หนึ่งในนั้น คือ คุณวิบูลย์ พึงประเสริฐ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นผู้ตอบกระทู้ “ตะแกรงร่อนหุ้น” ที่ได้รับความนิยมสูงสุดวงการตลาดหุ้นไทย มีผู้อ่านมากกว่า 1 ล้านครั้ง คุณวิบูลย์ได้กล่าวได้ในหนังสือตะแกรงร่อนหุ้นว่า “ขาดทุนจากการลงทุน เลยเอาเงินไปสร้างบ้านหลังโตจนหมดเนี้อหมดตัว แถมเป็นหนี้อีกเป็นล้าน ต้องแบกหน้าไปยืมเงินคนอื่น ทั้งหนี้บัตรเครดิตการ์ดที่ใช้รูดของแต่งบ้าน หนี้เงินกู้ที่ต้องจ่ายทุกเดือน ชีวิตช่างลำบาก อยู่บ้านหลังโตแต่ไม่มีความมั่นคงในชีวิตเลย กลัวไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ กลัวตกงาน กลัวไปหมด”

คุณวิบูลย์จึงบอกกับตัวเองว่า “เป็นอย่างนี้ไม่ได้แล้ว เราขาดความรู้ทางการเงินเป็นอย่างมาก ถ้าเราไม่มีความรู้เรื่องการเงินสำหรับชีวิตประจำวัน ชีวิตเราลำบากแน่” จึงเริ่มซื้อหนังสือ และทดลองทำด้วยตัวเองในเรื่อง Personal Financial Planner คุณวิบูลย์เริ่มจดรายการค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ตั้งงบประมาณของตัวเองและครอบครัว ตัดรายการที่ไม่จำเป็นออก เก็บหอมรอบริบ จนเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งหลายแสนบาท ดีใจมากสำหรับคนที่กำลังจะล้มละลาย”

จะเห็นได้ว่า คนที่มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงนั้นมีการวางแผนทางการเงินของเขาเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว การที่จะมีแผนการเงินที่ดีได้ เราต้องรู้จักตัวเองให้ดีพอ เข้าใจเงินในกระเป๋าสตางค์ของเราว่าเข้าและออกอย่างไร ตอนไหน และสิ่งที่จะช่วยทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น และรู้ทันเท่าเงินในกระเป๋าของเรา ก็คือ “บัญชีรายรับ-รายจ่าย” นั่นเอง เพราะการจดบันทึกออกมาเป็นตัวเลข ทำให้เราเห็นสัจจะธรรมว่าเรามีพฤติกรรมการใช้เงินอย่างไร ที่เข้าใจว่าเราใช้เงินอย่างประหยัดอยู่แล้ว เป็นคำพูดเพื่อปลอบใจตัวเอง หรือเราใช้เงินเป็นจริงๆ

พูดถึงบัญชีรายรับ-รายจ่าย อย่าไปคิดถึงตัวเลขหรือตารางที่ยุ่งยากซับซ้อน จริงๆ แล้วการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายไม่ได้มีความยากลำบากอะไร จะลองทำสมุดบันทึกบัญชีแบบง่ายๆ เหมือนของแม่ค้าในตลาดสด จะซื้อสมุดบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่มีตารางให้เสร็จ หรือจะใช้โปรแกรม excel ทำก็ได้ แล้วแต่ความชอบและความถนัด

ช่วงเริ่มทำแรกๆ จะรู้สึกเห่อ ผ่านไปซัก 1 อาทิตย์ อย่าปล่อยให้ความขี้เกียจเข้าแทรก คาถาปัดเป่าความขี้เกียจคือ “ยิ่งจด ยิ่งรวย” แล้วกัดฟันจดต่อไป แล้วตัวเลขจากการสรุปรายรับ และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนจะทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนว่า เราเป็นนักช๊อป หรือนักออม แล้วเราจะได้วางแผนงบประมาณค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้มีเงินออมในเดือนถัดไป หรือวางแผนการเงินอย่างไรให้รวยยิ่งขึ้นในระยะยาว (ซึ่งท่านอาจศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว๊ปไซด์ หรือหนังสือการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล)
จะเห็นได้ว่า บัญชีรายรับ-รายจ่าย เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการวางแผนทางการเงิน จากการสังเกตพบว่า คนที่กำลังจะรวยหรือคนที่รวยแล้วทำรายรับ-รายจ่ายกันทุกคน ดังนั้นมือใหม่ หัดรวยอย่างเรา คงจะต้องจดบัญชีตั้งแต่วันนี้แล้ว เพราะถ้ารอเริ่มจดพรุ่งนี้ จะรวยช้าไปอีก 1 วัน...... “ยิ่งจด ยิ่งรวย” “ยิ่งจด ยิ่งรวย” “ยิ่งจด ยิ่งรวย” โอมเพี้ยง......

*หมายเหตุ  หากท่านใดอยากจะได้สมุดบัญชีรายรับ-รายจ่ายแบบฟรีๆ ที่ทางสถาบันคีนันแห่งเอเซียและมูลนิธิซิตี้แบงก์จัดทำขึ้น  สามารถติดต่อขอรับได้ที่ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย (โครงการผู้หญิง ฉลาดออม ฉลาดใช้ และโครงการครูไทย พอเพียง)  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 60 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กทม. 10110 โทรศัพท์ 02-229-3131 ต่อ 275)

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ....เงินเฟ้อ กับ ข้าวไข่เจียว ตอน 2




โดยณัฏฐนี สถิตยาธิวัฒน์
ที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ และ
ที่ปรึกษาโครงการผู้หญิงฉลาดออม ฉลาดใช้

เงินเฟ้อ กับ ข้าวไข่เจียว ตอน 2


เหตุเกิดระหว่างพักถ่ายกองเพื่อทานอาหารกลางวันของละครเรื่องสอง

ญาญ่า:  ณเดช ว่ามั้ยจ๊ะ ช่วยอธิบายเรื่องข้างไข่เจียวให้ฟังต่อหน่อยซิ เป็นกังวลอ่ะว่าเราจะมีเงินเก็บพอหลังเกษียณรึป่าว
ณเดช:    ได้เลย พร้อมเสมอสำหรับญาญ่า จริงๆแล้วเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ทุกๆคนต้องคิดและเตรียมตัว ยิ่งคิดตั้งแต่อายุน้อยๆจะได้เปรียบ แต่เท่าที่เห็น คนส่วนใหญ่แทบจะไม่มีใครคิดถึงเรื่องพวกนี้เล้ยยย ญาญ่านี้ทั้งสวย ทั้งฉลาดมีการวางแผนการเงินอย่างนี้ มีข้าวไข่เจียวกิน ชาตินี้ไม่อดตายแน่นอน
ญาญ่า:  ชมแบบนี้ เขิลลลลเลย.......

ณเดช:    งั้น...มาลองมากันดูกันตามตาราง ตอนนี้สมมติญาญ่าอายุ 30 ปี จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี ต้องมีเงินกี่บาทเพื่อข้าวไข่เจียว 3 มื้อต่อวัน ไปจนสิ้นอายุขัย

อายุขัย
65 ปี
70 ปี
75 ปี
80 ปี
85 ปี
90 ปี
เงินที่ต้องมีตอนอายุ 60 ปี (บาท)
290,685
627,668
1,018,323
1,471,200
1,996,209
2,604,838

ญาญ่า:  โอโฮ้! ถ้าญาญ่ามีชีวิตอยู่ถึง 80 ปี แค่จะกินข้าวไข่เจียว ต้องมีเงินเป็นล้านเลย ตายดีกว่า......

ณเดช:    ช้าก่อน.....อย่า เพิ่งรีบตาย.... ทุกอย่างมีทางออกเสมอ...... ตามตารางด้านบน สมมติคาดว่าจะมีอายุขัย 80 ปี ต้องมีเงินออม 1,471,200 บาท ดังนั้นเมื่อรู้แล้วก็ค่อยๆ เริ่มเก็บเงินวันละนิด คำนวนไว้ให้ดูตามตารางด้านล่างนี้แล้ว

     

- ถ้าเริ่มเก็บตั้งแต่วันนี้ (ตอนอายุ 30 ปี) ก็เก็บแค่วันละประมาณ 135 บาท
                ถ้าเริ่มเก็บตอนอายุ 30 ปี ก็ต้องเก็บวันละประมาณ 134 บาท
แต่ถ้าเริ่มเก็บตอนอายุ 40 ปี ก็ต้องเก็บวันละประมาณ 202 บาท
ญาญ่า:  ถ้าเริ่มเก็บตั้งแต่วันนี้ ก็พอเป็นไปได้ แต่มันก็เยอะอยู่ดี
ณเดช: ก็จริงอยู่ แต่จริงๆ มันก็มีวิธีให้เงินทำงานแทนเราโดยการลงทุนแบบต่างๆ จะได้มีเงินเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องเหนื่อยมาก ว่างๆ ลองหาหนังสืออ่านดูซิ มีหนังสือแนะนำเยอะแยะ หรือจะลองเข้าไปหาความรู้ในอินเตอร์เน็ตก็ได้ เช่น http://www.tsi-thailand.org/  , http://www.start-to-invest.com/webedu/content.html?menu_id=179  ไว้แล้วถ้ามีเวลาว่างคอยมาคุยกันต่อ
ญาญ่า:  ได้เลย งั้นเราจะเริ่มเก็บเงินวันละ 134 บาท ใส่กระปุกตั้งแต่วันนี้ แล้วก็จะหาความรู้เพิ่มเติมเรื่องการลงทุนไปด้วย ชีวิตหลังเกษียณจะได้อยู่อย่างมีความสุข ไม่อดตายแน่นอน ขอบคุณมากนะคะ
ณเดช:    จ้าาา..........ด้วยความยินดีอย่างยิ่ง....ผู้กำกับเรียกเข้าฉากแล้ว ไปกันเถอะ




พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ....เงินเฟ้อ กับ ข้าวไข่เจียว ตอน 1




เงินเฟ้อ กับ ข้าวไข่เจียว ตอน 1

โดยณัฏฐนี สถิตยาธิวัฒน์
ที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ และ
ที่ปรึกษาโครงการผู้หญิงฉลาดออม ฉลาดใช้

เงินเฟ้อ กับ ข้าวไข่เจียว ตอน 1

เหตุเกิดระหว่างพักถ่ายกองเพื่อทานอาหารกลางวันของละครเรื่องหนึ่ง
ญาญ่า: ทุกวันนี้ราคาของมันเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ก่อนซื้อข้าวไข่เจียวจานละแค่ 10 บาท เดี๋ยวนี้ข้าวไข่เจียวแบบไม่ใส่อะไรเลยถูกสุดก็ขายจานละ 20 บาทแล้ว
ณเดช:  เฮ้อ! จริง ค่าของเงินของเราลดลงทุกวัน
ญาญ่า: อยากรู้จริงๆ ว่าอีก 20 - 30 ปีข้างหน้าตอนที่เราเกษียณ ข้าวไข่เจียวจะจานละเท่าไร????
ณเดช:  ถ้าอยากรู้จริงๆ เราจะคำนวนให้ดู ก่อนอื่นเราต้องประมาณอัตราเงินเฟ้อ
ญาญ่า: อะไร คือ อัตราเงินเฟ้อ
ณเดช:  เงินเฟ้อ (Inflation) คือ ภาวะที่ทำให้เงินของเราด้อยค่าลง เช่น เมื่อปีที่แล้วซื้อข้าวสารถุงนี้ในราคา 100 บาท ปีนี้มีเงิน 100 บาทซื้อข้าวสารถุงนี้ไม่ได้แล้ว เพราะราคาขึ้นไปเป็น 105 บาท ซึ่งเราอาจจะพูดได้ว่า ข้าวสารปีนี้ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี่ที่แล้ว 5% หรือค่าของเงินของเราด้อยค่าไป 5% ซึ่งทำให้ซื้อข้าวสารได้น้อยลง เรื่องของเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมของเรา บางช่วงก็ขึ้นไปเกือบ 10%  บางช่วงก็ติดลบ ลองดูอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านมาในกราฟด้านล่างซิ


       Source:         http://www.tradingeconomics.com/thailand/inflation-cpi

ญาญ่า: งง!!! เส้นสีน้ำตาล คืออะไร...... แล้วเส้นสีเขียว คืออะไร
ณเดช: เส้นสีน้ำตาลแสดง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) หรือ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core Consumer Price Index) คือดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด(ซึ่งมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงบ่อยและเป็นลักษณะตามฤดูกาล) และสินค้ากลุ่มพลังงานออก เหลือแต่รายการสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด สินค้าที่ใช้คำนวณมีจำนวน 266 รายการ จากจำนวนรายการสินค้า 373 รายการของสินค้าในตะกร้าวดัชนีราคาผู้บริโภคทั้วไป อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดเป้าหมาย วิเคราะห์และติดตามนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสำหรับปี 2555นี้ กำหนดกรอบการเคลื่อนไหวระหว่างร้อยละ 0.5 3.0 ต่อปี
         ส่วนเส้นสีเขียว แสดงอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline inflation) เป็นการ       คำนวนอัตราเงินเฟ้อโดยไม่หักกลุ่มอาหารสดและพลังงานออก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น   อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริง ในขณะที่ Core inflation คือ อัตราเงินเฟ้อที่รัฐบาลถือว่าสามารถควบคุมได้ เพราะตัดสินค้าที่ควบคุมไม่ได้ออกไปแล้ว

ญาญ่า: หมายความว่า ราคาข้าวไข่เจียวในอนาคต เราก็ต้องประมาณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปใช่มั้ย?
ณเดช:  ถถถูก ถูก ถูก ต้องแล้วคร๊าบบบบ......!!!  วันนี้ข้าวไข่เจียวราคาจานละ 20 บาท ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะราคากี่บาทก็ขึ้นกับค่าเงินเฟ้อทั่วไปนี่หล่ะ ให้ลองดูตามตารางที่คำนวนราคาข้าวไข่เจียว อัตราเงินเฟ้อต่างๆ ไว้ให้แล้ว

อัตราเงินเฟ้อ
1 ปี
3 ปี
5 ปี
10 ปี
20 ปี

30
ปี
3%
21 บาท
22 บาท
23 บาท
27 บาท
36 บาท
49 บาท
5%
21 บาท
23 บาท
26 บาท
33 บาท
53 บาท
86 บาท
7%
21 บาท
25 บาท
28 บาท
39 บาท
77 บาท
152 บาท
9%
22 บาท
26 บาท
31 บาท
47 บาท
112 บาท
265 บาท

ญาญ่า: โอโฮ้! แค่ข้าวไข่เจียวในอีก 30 ปีข้างหน้า สมมติประมาณอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 3% ก็จานละ 49 บาทแล้ว  แล้วเราจะมีเงินพอหลังเกษียณสำหรับข้าวไข่เจียวมั้ยเนี้ยะ?
ณเดช:  เป็นคำถามที่ดีมาก ถ้าอยากรู้จริงๆ เราคิดไว้ให้แล้วไว้จะเอามาให้ดูวันหลังนะ ตอนนี้ผู้กำกับเรียกแล้ว ไปเข้าฉากกันก่อนเถอะ
ญาญ่า: เค เค ไว้ต่อพรุ่งนี้นะ อยากรู้อ่ะ ว่าเงินเก็บหลังเกษียณจะพอกินข้าวไข่เจียวอ่ะป่าว?