Thursday, January 23, 2014

ว่าด้วยเรื่องของเอสเอ็มอี....ผู้ประกอบการสร้างสรรค์


ผู้ประกอบการสร้างสรรค์

โดย คุณวิชัย ลิมปิติกรานนท์

ผู้จัดการโครงการศึกษาวิจัยเชิงสังเคราะห์ ยุทธศาสตร์ธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด ในมิติรูปแบบและกระบวนการดำเนินธุรกิจของธุรกิจสร้างสรรค์ที่ได้รับรางวัลไทยสร้างสรรค์ และผู้จัดการโปรแกรมพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจ
 

สภาพทางการเมืองที่รุนแรงทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ในปัจจุบันรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ ตรงข้ามกับในปีนี้ที่อากาศบ้านเราค่อนข้างเย็นสบาย จากสภาพการเมืองดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเราไม่มากก็น้อย เข้าใจว่าบางท่านเริ่มจะมีเวลาว่างมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะทบทวนรูปแบบธุรกิจ(Business Model) ของเราใหม่

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เสียเปรียบธุรกิจขนาดใหญ่ ในหลายๆประเด็นตั้งแต่ เงินทุน ชื่อเสียง ทรัพยากรมนุษย์ ฯลฯ มีเพียงข้อได้เปรียบบางประการ คือ ความคล่องตัวในการบริหารกิจการ และ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ เท่านั้น ดังนั้นเพื่อที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะสามารถสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขัน(Competitive Advantage) ต้องนำความคิดเชิงสร้างสรรค์นั้นมาใช้ในการสร้างโมเดลธุรกิจ(Business Model)

ตัวอย่างโมเดลธุรกิจในประเทศไทยที่คิดต่างสร้างธุรกิจ คือ หนังสือพิมพ์ M2F หนังสือพิมพ์ขนาดแทบลอยด์ ในเครือบริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด ที่แจกฟรีทุกเช้าวันจันทร์-ศุกร์ ตามสถานีขนส่งมวลชน BTS, MRT และย่านธุรกิจกลางกรุง โดยมียอดพิมพ์สูงถึงวันละ  400,000 ฉบับ หนังสือพิมพ์ M2F ใช้รูปแบบธุรกิจ FREE as a Business Model รูปแบบธุรกิจคือ ลูกค้าจำนวนมากได้ประโยชน์จากการได้รับสินค้าหรือบริการฟรี (Free-of-charge offer) โดยมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์นี้  ซึ่งพลิกวิธีคิดที่ผู้รับสินค้าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือบริการ แต่สำหรับท่านที่เดินทางไปทั่วโลก ก็จะพบว่าโมเดลธุรกิจนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ มีหนังสือพิมพ์ที่แจกฟรีในต่างประเทศ คือ Metro ใน Stockholm และกระจายไปเมืองต่างๆทั่วโลก ซึ่งเป็นการท้าทายรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิม 3 ประการคือ 1)แจกหนังสือพิมพ์ฟรี 2)กระจายไปยังแหล่งที่มีผู้คนจำนวนมาก การคิดต่างเช่นนี้ เป็นการสร้างช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ของตนเอง นอกจากนี้ยังกระจายไปสู่คนหมู่มากได้ด้วย 3)ลดต้นทุนในการพิมพ์และผลิตเนื้อหา เพราะผู้บริโภคมีเวลาอ่านค่อนข้างน้อย

สำหรับโลกปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สูงมาก (ถ้าขึ้นรถไฟฟ้าฯก็จะพบว่าทุกคนก้มหน้ามองดูแต่ Smartphone) และผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ถ้าเป็นชิ้นเดียวในโลกได้ก็ยิ่งดี สินค้าที่ผลิตในลักษณะ Mass production เริ่มเป็นสิ่งที่ล้าสมัย จากสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนไปทำให้ สถาปนิกรายหนึ่งได้ออกแบบธุรกิจ โดยผลิตสินค้าตกแต่งบ้านสำหรับคนเมืองรุ่นใหม่ ที่เน้นประโยชน์ใช้สอยด้านเทคโนโลยี ความเป็นเอกลักษณ์ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดจำหน่ายผ่าน www.kickstarter.com ซึ่งเป็นช่องทางการตลาดการระดมเงินทุนจากคนหมู่มากที่สนใจจะลงทุนในความคิดใหม่ๆเพื่อสนับสนุนให้กลายมาเป็นธุรกิจจริง วิธีการทำ Crowd Funding คือ ผู้ระดมทุนจะต้องเริ่มต้นจากการนำเสนอสินค้าของตนในรูปแบบที่น่าสนใจ พร้อม VCD แนะนำผลิตภัณฑ์ ซึ่งคุณอนุรักษ์ เจ้าของบริษัท เอสเธทิค สตูดิโอ ได้นำเสนอโคมไฟ LED ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ทำจากแผ่นไม้ขนาดบางเพียง 3.5 มิลลิเมตร ให้กลายเป็นโคมไฟ LED 3 มิติ ซึ่งสามารถระดมทุนได้ถึง 47,636 เหรียญสหรัฐ ภายใน 1 เดือน โดยมีผู้สนใจในผลิตภัณฑ์ถึง 416 ราย

 ผู้ประกอบการรายนี้วิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนไปออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่โดยใช้ Long Tail Business Model ซึ่งเป็นธุรกิจที่เน้นการขายสินค้าประเภทเฉพาะ(Niche) เพียงไม่กี่ชนิดในจำนวนไม่มาก แต่รวมมูลค่าแล้วกลับได้มหาศาล รูปแบบธุรกิจแบบใหม่นี้มีข้อดีหลายประการคือ 1)ต้นทุนสินค้าคงคลังต่ำ 2)สามารถปรับการผลิต/บริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค 3)เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงโดยตัดพ่อค้าคนกลาง


สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจธุรกิจสร้างสรรค์ไทยอื่นๆ สามารถ Download หนังสือ ถอดรหัสธุรกิจ ซึ่งรวบรวมกรณีศึกษาของธุรกิจสร้างสรรค์ไทยโดยใช้โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ได้ที่ www.okmd.or.th ซึ่งกรณีศึกษานี้ทีมที่ปรึกษาสถาบันคีนันแห่งเอเซียได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์กรมหาชน) ในการดำเนินโครงการ