สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่าน ในที่สุดเราก็มาถึงสัปดาห์สุดท้ายของปีงบประมาณแล้ว ก็ขออนุญาติเป็นกำลังใจให้คุณผู้อ่านทุกท่านให้ได้รับการ Promote แต่งตั้ง เลื่อนขั้น หรือ มียอดขายสวย ๆ ให้เป็นแรงใจในการเติบโตต่อไป
สำหรับ Ministry of Learning สัปดาห์นี้จะเป็นตอนที่สองของ The Series เรื่องการคิดแบบหมวก 6 ใบ โดยในตอนแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันถึงเทคนิคการเปิดรับข้อมูลด้วย “หมวกขาว” ตาม Link นี้ ซึ่งคุยกันถึงแนวคิดและเทคนิคในการใช้หมวกขาวที่จะทำให้เราสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ตรง และ สามารถนำไปสู่การคิดต่อยอดในหมวกอื่น ๆ ได้อย่างไร
สำหรับหมวกใบที่สองที่เราจะคุยกันวันนี้คือ “หมวกแดง” ซึ่งสีแดงนั้น Edward de Bono เจ้าของทฤษฎีนี้เลือกใช้สีแดงเพื่อสื่อถึง “อารมณ์และความรู้สึก” ด้วยเรื่องอารมณ์และความรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ เพราะมีความเกี่ยวโยงกับความสุขทุกข์ในชีวิตเรามากเหลือเกิน บางคนที่ผมรู้จักเป็นคนเก่งมีความสามารถ แต่ไม่สามารถบริหารอารมณ์ตัวเองได้ สุดท้ายปล่อยให้อารมณ์ตัดโอกาสความก้าวหน้าในชีวิตของตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย
สิ่งที่เราควรรู้จักก่อนคืออารมณ์และความรู้สึกเกิดขึ้นได้ง่ายและเร็วมาก หลายทีที่เรารับรู้ข้อมูลอะไรมาก็เผลอใส่อารมณ์เข้าไปโดยที่ยังไม่ทันได้วิเคราะห์ข้อมูลก็มีบ่อย ๆ นำไปสู่ความขัดแย้งโดยไม่จำเป็นเลย ดังนั้นการมีหมวกแดงจึงเป็นการ “เปิดโอกาส” ให้เรารู้สึก แลกเปลี่ยน และจอดอารมณ์ของเรากับเพื่อนเราไว้ได้อย่างเหมาะสม โดยผมมีเทคนิคเสริมให้ดังต่อไปนี้
เทคนิคที่ 1 Focus ให้ถูกที่ เทคนิคแรกนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด เพราะการคิดด้วยหมวกหกใบนั้นมีความสำคัญที่จะต้อง Focus อยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในที่นี้คือ “ข้อมูล” ที่เราเปิดรับมาด้วยหมวกขาวแล้วเท่านั้น เน้นว่าเป็น “อารมณ์ของเราเอง” ไม่ต้องไปรู้สึกแทนใคร หรือ เอาเราไปอยู่ในเหตุการณ์ไหน แต่ให้มองความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ที่มากระทบใจเราเป็นหลักถึงจะเป็นความรู้สึกเราเองแท้ ๆ ที่มีต่อข้อมูลนั้น ๆ
เทคนิคเสริมที่ผมอยากแนะนำคือเราต้องตัดอารมณ์จากอารมณ์ของคนอื่น ๆ ด้วยนะ บางทีเรามีอารมณ์และความรู้สึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขัดแย้งหรือตรงข้ามกับเพื่อนของเราก็อย่าได้เอาความแตกต่างทางอารมณ์นั้นมาสร้างเป็นประเด็นใหม่ คิด แลกเปลี่ยน และ วางมันลงอย่างนิ่มนวลจะดีที่สุด
เทคนิคที่ 2 มองและอยู่กับตัวเอง การอยู่กับตัวเองเหมือนจะง่ายนะแต่ไม่น่าจะใช่กับคนสมัยนี้ โดยเฉพาะการมีสื่อสังคมออนไลน์ที่เราสามารถคุยกับใครตอนไหนก็ได้ ทำให้เราขาดทักษะที่หันมาถามใจเราว่า “เฮ้ย คิดอะไรอยู่” เพราะแทนที่จะมีเวลาคุยกับตัวเองเราก็ Post ไปซะแล้ว นานวันเขาเราก็ลืมวิธีจัดการกับความรู้สีกตัวเองเพราะใช้ไปกับตอบ Ment เพื่อนแทน ดังนั้นเทคนิคนี้คือการตัดตัวเองออกมาจากช่องทางที่คุ้นเคย โดยฝึกที่จะมองความรู้สึกตัวเองที่มีต่อข้อมูลให้ได้ ทำได้ง่าย ๆ โดยการหายใจลึก ๆ หลับตาแป็บนึง และ มองหาความรู้สึกโดยสัมผัสจริง ๆ ว่าอารมณ์และความรู้สึกอยู่ส่วนไหน หน้าตาแบบไหน ทำบ่อย ๆ เราจะมีทักษะที่ทำได้เองอธิบายยากแต่ไม่ต่างอะไรกับการหัดหยิบของ หัดพูด หัดเดิน ที่เราทำเป็นอยู่แล้วนั่นไง
เทคนิคที่ 3 หาคำอธิบายที่ใช่ จากประสบการณ์ที่ผมได้ช่วยคนอื่น ๆ ในการระดมสมองมักจะตกม้าตายในเรื่องนี้ เพราะหลายคนไม่สามารถหาคำพูดที่สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้อย่างเหมาะสม หลายครั้งผมก็เป็น บางทีกรุ่น ๆ ไม่ทราบเหมือนกันว่าความรู้สึกนั้น ๆ คืออะไร อึดอัดแต่บอกใครไม่ได้ ดังนั้นเทคนิคง่ายคือจับสังเกต (อันนี้เทคนิคส่วนบุคคลมากนะ) เช่น เวลามีอารมณ์โกรธ จิตอยู่แถว ๆ อกมาขึ้นมาถึงลำคอ ทำให้เราเสียงสั่น ปากสั่น เวลามีอารมณ์เสียใจ จิตจะไปอยู่ใต้หูไปถึงจมูก พอดันออกมาโพละ น้ำตาแตกทันที หรือ เวลาอยากได้นั่นนี่นู่นมันละลิงโลดในใจ จิตไปหลังหรือขา จะเดินหน้าท่าเดียว อันนี้สุดแล้วแต่ ดังนั้นต้องหัดและอธิบายได้ ยิ่งอธิบายละเอียดยิ่งทำให้เราเข้าใจตัวเองได้มากเท่านั้น
เทคนิคเสริมถ้า Pro แล้วนะ คือการสังเกตระดับของความรู้สึกด้วยว่ามากน้อยหนักเบาอย่างไร อันนี้จะไม่ยากแล้วเพราะถ้าหาเจอก็แค่ลองวัดดูว่าประมาณไหน ก็จะทำให้เราจิตละเอียดขึ้นเป็นกองแล้ว
เทคนิคที่ 4 ซื่อสัตย์กับตัวเอง ความรู้สึกเป็น “ของเราล้วน ๆ” นะ หลายครั้งที่เราเผลอ “แอบตัดสิน” ความรู้สึกของเราโดยไม่รู้ตัว เช่น รู้สึกอิจฉา รู้สึกหมั่นใส้ รู้สึกไม่แฟร์กับเรา หลายคนที่ผมเจอคืออายที่จะบอกว่าตัวเองรู้สึกแบบนั้น หรือ ไม่อยากเผยความรู้สึกที่ทำให้เราดูแป็นคนเห็นแก่ตัวบ้าง ทั้ง ๆ ที่คำ ๆ นั้นอาจจะเป็นคำอธิบายอารมณ์และความรู้สึกของเราในตอนนั้นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็ได้ ดังนั้นความซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เทคนิคง่าย ๆ คือ บอกตัวเองว่าฉันเป็นคนธรรมดา การคิดและการรู้สึกเป็นสิทธิ์ที่พึงมี ไม่ได้เดือดร้อนใคร
เทคนิคเสริมสำหรับมุมที่กลับกันคือ บางครั้งบางเรื่องเราไม่ได้รู้สึกอะไรสักกะอย่างเดียวก็มีนะ ก็ไม่ต้องไปน้อยอกน้อยใจว่าเราผิดปกติ เพราะโลกนี้มี “อารมณ์เฉย ๆ” นะไม่ต้องเหนื่อยประดิษฐ์หรือพยายามให้เราเหมือนใคร ซื่อสัตย์กับตัวเองเข้าไว้และเราจะสะดวกใจขึ้นมาอีกเยอะ
เทคนิคที่ 5 บันทึก เช่นกันกับหมวกอื่น ๆ เราต้องบันทึก โดยเฉพาะอารมณ์และความรู้สึกซึ่งเป็นอะไรที่เกิดขึ้นและผ่านไปเร็วมาก ไม่นิ่ง ดังนั้นเราต้องจับ อธิบาย และ ไม่ลืมที่จะบันทึกความรู้สึกของเราเองเอาไว้ในขณะที่เราสวมหมวกแดงอยู่ ก็จะทำให้เราย้อนกลับมาพิจารณาเมื่อเราต้องการถอยมามองโดยภาพรวมแล้ว
เทคนิคเสริมสุดท้ายคือเมื่อเรา ok กับการสะท้อนความรู้สึกของตัวเองและพร้อมจะถอดหมวกแดงแล้ว ขอให้ถอดหมวกแดงออกไปจริง ๆ โดยเรากลับมาเมื่อไหร่ก็ได้แต่เราต้องไม่ใส่อารมณ์นั้น ๆ ติดออกไปรบกวนการคิดในหมวกใบอื่น ๆ เด็ดขาด
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับการฝึกเพื่อสะท้อนและเก็บเกี่ยวอารมณ์และความรู้สึกของเราเอง เหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่ายนะเพราะวัฒนธรรมบ้านเราไม่ได้เปิดโอกาสให้เราฝึกทักษะนี้มากนัก อย่ามองว่าเป็นเรื่องดีหรือร้ายแต่ให้อยากให้มองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่ง ๆ ที่สามารถเปิดประโยชน์กับทุกคนได้ไม่มากก็น้อย
สำหรับ Ministry of Leaning – The Series: อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 2 นี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขกับการเก็บเกี่ยวความรู้สึกของตัวเองอย่างชัดเจน ตอนต่อไปเราจะมาฝึกมองโลกในแง่ดีด้วยหมวกเหลืองกัน จะช่วยให้เราเห็นโอกาสอะไรในชีวิตได้มากน้อยแค่ไหนโปรดติดตาม สำหรับวันนี้...สวัสดี
เขียนโดย
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย
No comments:
Post a Comment