Wednesday, October 1, 2014

อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 1: หมวกขาว ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่าน ผมเดาว่าช่วงนี้คุณผู้อ่านคงยุ่งมาก ๆ ทีเดียว เพราะใกล้ปิดปีงบประมาณแล้ว ฝั่งภาคเอกชนคงต้องปั้มตัวเลขกันวุ่นวายไปหมด กลับกับฝั่งภาครัฐที่ต้องปวดหัวเพราะเงินเหลือ ก็ลำบากคนละอย่างเนอะ
สำหรับ Ministry of Learning สัปดาห์นี้จะถอยจากเรื่องเครียด ๆ ในวงการศึกษาเปลี่ยนอารมณ์มาคุยเรื่องการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตัวเองกันบ้างดีกว่า โดยผมได้รับคำแนะนำจากเพื่อนคนหนึ่งว่าไม่ลองเขียนบทความเป็น Series เหรอ? เพราะสามารถลงลึกในเชิงเนื้อหาได้มากขึ้น กอปรกับความเป็น Blog ที่ยังไงคุณผู้อ่านสามารถย้อนกลับไปอ่านบทความที่คาบเกี่ยวกันได้สะดวกอยู่แล้ว เลยขอประเดิม Series แรกด้วยเรื่องการคิดแบบหมวก 6 ใบแล้วกัน

ผมเคยเขียนเรื่อง “การเมือง เรื่องที่ต้องใช้หมวก 6 ใบ” ไปแล้ว โดยในตอนนั้นเป็นการแนะนำเครื่องมือที่ใช้คิดวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองที่ค่อนข้างวุ่นวายเป็นสำคัญ ส่วนครั้งนี้จะเขียนในเชิงของการประยุกต์ในเรื่องทั่ว ๆ ไป ที่ผมในฐานะผู้ใช้คนหนึ่งที่ใช้ตั้งแต่การคิดเพื่อตัดสินใจอะไรคนเดียว หรือ ใช้เพื่อดึงแนวคิดจากทีมเพื่อสร้างอะไรใหม่ ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย
สำหรับตอนแรกจะเป็นหมวกใบแรกที่อยากแนะนำคือ “หมวกขาว” โดยเจ้าของแนวคิดคือ Edward de Bono เลือกใช้สีขาวเพราะต้องการสื่อถึงความบริสุทธิ์ โดยเราจะต้องทำความคิดและสติเราให้พร้อมกับการ “เปิดรับ” ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะเข้ามาโดยมีเทคนิคเสริมดังต่อไปนี้
เทคนิคที่ 1 ปรับสมองให้เป็น Info Mode โดยการเลือกรับ “ความจริง” หรือ “ข้อเท็จจริง” เป็นสำคัญ แม้ว่าคนที่อยู่ตรงหน้าเราจะดราม่าน้ำตาแตก ก็ขอให้ฟังและสังเกตหาข้อมูลที่ซ่อนอยู่ภายใต้ “ความคิดเห็น” นั้น ๆ เพราะมันใช้เวลาแป็บเดียว ไม่ต้องกลัวคนอื่นหาว่าเราเป็นคนใจหินอะไรเพราะเดี๋ยวเราก็จะต้องใช้หมวกแดงกันอยู่แล้ว มีเวลาให้ปล่อยของแน่นอนไม่ต้องห่วง ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคแรกคือการแก้ตั้งแต่เราจะ Intake ข้อมูลเข้ามาเป็นสำคัญว่าต้องเลือกรับแต่ในสิ่งที่เป็นความจริง ข้อเท็จจริง หรือ ความคิดเห็นให้ได้
เทคนิคที่ 2 ตัดอารมณ์เราเองให้ขาด ข้อมูลบางอย่าง เช่น ภาพ เรื่อง เหตุการณ์ ชื่อ คำ วลี หรือ ประโยคมีอิทธิพลกับใจของเราทางใดทางหนึ่ง เหมือนกรรไกรคม ๆ ที่มาตัดหนังสติ๊กที่เหนี่ยวไกรอไว้ให้เรารู้สึกได้หลายอย่างทั้งความรัก โลภ โกรธ หลง ดังนั้นการตัดอารมณ์นี้ต้องเปิดรับข้อมูลอย่างมี “อุเบกขา” อ่าน ดู ฟัง อย่างที่มันเป็น ท่องไว้ “ตถตา – มันเป็นเช่นนั้นเอง” ผมทราบว่ามันไม่ง่ายแต่จุดนี้แหละที่ทำให้คนใช้หมวก 6 ใบไม่สำเร็จ บางทีเราไม่ชอบคนนี้...หมั่นใส้ บางทีเราแอบเป็นห่วงคนนี้...เพื่อนฉัน หรือ บางทีเราเคารพมากเพราะยังไงก็เป็นคนมีบุญคุญกับที่บ้าน พวกนี้แหละทำให้เราเขวได้หมด ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคที่สองคือการจัดการกับความคิดเราเองระหว่างที่กำลังรับข้อมูลในแง่ของอารมณ์ความรู้สึก
เทคนิคที่ 3 อย่าอ่านใจ อันนี้ต้องโดยเฉพาะกับคุณผู้อ่านที่มีความคิดเฉียบคม หลายครั้งเรามีความสามารถในการ Read in Between the Line หรือกลุ่มที่เป็น Active Reader/Listener จะต้องสะกิดตัวเองให้ดี ๆ เพราะคนกลุ่มนี้บางทีเพื่อนพูดมายังไม่ครบประโยคเลยแต่สามารถสร้างภาพในหัวมารอได้แล้ว บางทีเห็นชัดกว่าต้นทางอีก กลายเป็นแทนที่จะได้ข้อมูลของแท้ก็จะได้ข้อมูลสังเคราะห์แทน ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคที่สามนี้คือการจัดการกับความคิดเราเองระหว่างรับข้อมูลในแง่ของความตรง (Validity) ของข้อมูลที่รับมา
เทคนิคที่ 4 อย่าสรุปเบี้ยว คุณผู้อ่านต้องเคยเจอแน่นอน บางทีสัมมนาหรือประชุมอะไรกันเสร็จ เพื่อนเล่ามาอย่างคนฟังสรุปไปอีกอย่างแบบเฉยเลย บางคนแต่งตอนหัว ตอนกลาง ตอนท้าย แล้วแต่ลีลา ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลอะไรที่ไม่ตรงได้ ทางแก้คือการเก็บข้อมูลแบบ Verbatim หรือใครว่ายังไงก็เก็บมาแบบนั้น แล้วค่อยมาแกะอีกทีว่าข้อมูลจริง ๆ นั้นคืออะไร เพราะผมเคยเจอบางคนเขาอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานมาก ๆ พอฟังเรื่องอื่นมาก็บอกว่า “นี่แหละ เหมือนของฉันเลย” หรือ "จริง ๆ มันเป็นเรื่องเดียวกันนั่นแหละ" อ้าว? ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคนี้ที่สี่นี้จะอยู่ที่การจัดการกับการสรุปข้อมูลแล้วว่าทำอย่างไรไม่ให้สรุปไปอย่างอื่น
เทคนิคที่ 5 บันทึกเดี๋ยวนึกไม่ออก ถ้าเราเป็นคนที่จะต้องทำอะไรหลายเรื่อง ๆ แล้ว การบันทึกไว้ไม่ว่าจะด้วยการจด พิมพ์ หรือ ถ่ายรูปบนกระดานที่ประชุมจะช่วยให้เราสามารถกลับมาต่อเรื่องเดิมได้ง่ายกว่าการจำออกไปทั้งนั้น โดยเฉพาะเวลาประชุมต้องมีบันทึก ผมรู้ว่าหลายคนที่ต้องเขียนมักจะบ่นว่าเสียเวลา แต่จริง ๆ แล้วท่านได้ช่วยประหยัดเวลาให้องค์กรอย่างมากในการกลับมาอ้างอิง ในขณะที่การคิดคนเดียวก็ควรมีสมุดบันทึกเก็บรายละเอียดเอาไว้เพื่อให้เราจะได้กลับมาคิดต่อได้ถูก โดยการบันทึกจำเป็นต้องให้ทราบที่มาของข้อมูลด้วย (ไม่ต้องละเอียดเหมือนวิจัยก็ได้ แต่ควรรู้ว่ามาจากไหน) ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคสุดท้ายในวันนี้คือการบันทึกสิ่งที่จะดึงให้เรากลับมาสู่ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเอง
โดยสรุปในภาพกว้าง หากคุณผู้อ่านอยากใช้หมวกขาวเก่ง ๆ สามารถประยุกต์หลักกาลามสูตรมาเสริมดูว่าการอย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่แรกพบนั้นเป็นยังไง เพราะการมีข้อมูลที่ชัดเจนและครบถ้วนคือต้นทุนทางปัญญาที่จะเอาไปค้นหาอะไรต่อไปได้อีกไม่รู้จบ
สุดท้ายคือเราสามารถกลับมาที่หมวกขาวอีกทีเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อไหร่ที่เราพบ “ข้อมูลใหม่” ในเรื่องเดียวกันเราก็เปิดรับและค่อยจับมาเปรียบเทียบ ข้อมูลไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไปก็ได้ เพราะในความเป็นจริง “สมมติสัจจะ” เปลี่ยนได้ตลอดเวลา ดังนั้นเก็บ แต่อย่าขังตัวเองไว้กับข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง


สำหรับ Ministry of Leaning – The Series: อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 1 นี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขกับการเก็บเกี่ยวข้อมูลอย่างรอบคอบ และ สัปดาห์หน้าเรามาต่อกันที่หมวกแดง จะแรงแค่ไหนโปรดติดตาม สำหรับวันนี้สวัสดี

เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

No comments:

Post a Comment