Monday, November 21, 2016

การศึกษาไทยควรใส่อะไรในหลักสูตร

เคยคิดหรือไม่ ว่าเด็กเรียนหนังสือไปเพื่ออะไร? ถ้าตอบตามทฤษฎีคงจะตอบว่าเรียนหนังสือไปเพื่อให้มีความรู้ มีอาชีพ พัฒนาประเทศ หรือแม้แต่ เป็นพลเมืองที่ดีของโลก แต่ในทางปฏิบัติคงจะตอบว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยดี ๆ จะได้มีเงินเดือนสูง ๆ และ เคยคิดหรือไม่ ว่าเด็กได้อะไรจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน? ถ้าตอบตามทฤษฎีคงจะตอบว่าสามารถทำงานได้ หรือ ดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ แต่ในทางปฏิบัติ (โดยส่วนใหญ่) คำตอบน่าจะคือได้วุฒิ ม. 6 เพื่อไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

เห็นถึงตรงนี้แล้วพอจะเห็นได้ว่า ผลผลิตของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมีช่องว่างระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติมากกว่าที่เราคิดเยอะเลย เพราะในทางทฤษฎีการจบการศึกษาขั้นพื้นฐานน่าจะเพียงพอที่ทำให้เด็กมีพื้นฐานในการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังห่างไกลนัก เพราะขนาดนิสิต/นักศึกษาปริญญาตรีที่จบมาใหม่ ยังต้องการการสอนงานอีกมากกว่าจะทำงานได้เต็มศักยภาพ

ดังนั้นช่องว่างตรงนี้คือสิ่งที่นักการศึกษาไทยต้องมาช่วยกันคิด เพราะถ้าปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป ความศักดิ์สิทธิ์ของระบบการศึกษาไทยจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนถึงยุคที่ซื้อปริญญาบัตรมาสมัครงานง่ายกว่า เข้าตำรา “เรียนง่าย จ่ายครบ จบแน่นอน” จึงพบว่าปัจจุบันบริษัทเอกชนหลายแห่งหันมาเปิดสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคนป้อนระบบแรงงานของตนเองกันแล้ว เพราะผลผลิตจากระบบการศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์

ผมเคยจัด Focus Group เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนต่อมาตรฐานการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จากครู อาจารย์มหาวิทยาลัย และ ภาคเอกชน หลายรอบ หลายจังหวัด ได้เสียงสะท้อนที่น่าสนใจว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานจริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องสอนยากหรือเยอะ สอนในสิ่งจำเป็นและทำให้เด็กรู้จริงให้ได้ ทำได้ให้จริง มีสามัญสำนึกที่เหมาะสม แค่นั้นก็พอแล้ว ที่เหลือเดี๋ยวอาจารย์มหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการจะรับช่วงต่อเอง
จึงเป็นที่มาของประเด็นในวันนี้ว่า ไหน ๆ เราก็กำลังทำจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ผมอยากถือโอกาสเสนอทางเลือกให้กับคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ ได้พิจารณาเพื่อดูว่าจะเป็นประโยชน์มากน้อยประการใด

ผมได้ศึกษาเอกสาร กรอบสำหรับการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน หรือ A Framework for K-12 Science Standard โดยสภาการวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา National Research Council (2012) ซึ่งสหรัฐอเมริกาใช้เอกสารตัวนี้เป็นแนวทางให้รัฐต่าง ๆ นำไปประกอบการพิจารณาร่าง “มาตรฐาน” และ “หลักสูตร” ของตนเองในลำดับถัดไปโดยเอกสารดังกล่าวมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การเขียนกรอบนี้จะแยกแยะความเหมือนและความแตกต่างของวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์อย่างชัดเจน (อันนี้จะมาว่ากันในโอกาสต่อไป) และ 2) มีการกำหนดองค์ความรู้ที่เรียกว่า Cross Cutting Concept ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่ผมไม่เห็นในการศึกษาบ้านเราเลยCross Cutting Concept คืออะไร? Cross Cutting Concept คือ Concept ที่จำเป็นต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ (ตาม NRC) แต่หากพิจารณาลึก ๆ แล้วจะพบว่าเป็น Concept ที่สำคัญกับการเรียนรู้แทบจะทุกสาขา ซึ่งมี 7 ข้อดังต่อไปนี้

  1. Pattern (รูปแบบ) ตามแนวคิดของ NRC นักเรียนที่ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องสามารถแยะแยะความเหมือนและความแตกต่างรวมถึงจัดกลุ่มสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ ทั้งในแง่ของสี รูปร่าง ขนาด รูปแบบ จังหวะ หรือแม้แต่ เวลาได้ เช่น ความเหมือนและความแตกต่างของสัตว์ประเภทต่าง ๆ หรือ รูปแบบการก้าวเท้าของกิ้งกือ เป็นต้น
  2. Cause and Effect (สาเหตุ และ ผลกระทบ) นักเรียนสามารถเห็นและเชื่อมโยงสาเหตุและผลกระทบของสิ่งต่าง ๆ จนสร้างเป็นสมมติฐาน (Hypothesis) รวมถึงสร้างแบบจำลองเพื่อแสดงความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลกระทบได้ เช่น ตั้งสมมติฐานและสร้างแบบจำลองรูปแบบในการตีลูกบอลด้วยไม้
  3. Scale, Proportion and Quantity (อัตราส่วน สัดส่วน และ ปริมาณ) นักเรียนสามารถใช้หน่วยต่าง ๆ เพื่อแทนสิ่งที่ใหญ่หรือเล็กมาก ๆ แทนเวลาที่ช้าหรือเร็วมาก ๆ จนถึงเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่าง ๆ เพื่อคำนวณสัดส่วน หรือ ปริมาณต่าง ๆ ได้ เช่น การใช้รู้หน่วยของระยะทางกับหน่วยของเวลาทำให้ทราบทราบความเร็วและหน่วยของความเร็วได้ เป็นต้น
  4. Systems (ระบบ) นักเรียนสามารถเข้าใจระบบ หมายถึง กลุ่ม องค์ประกอบภายในระบบ และ ความเคลื่อนไหวในระบบ รวมถึงขอบเขตและทรัพยากรที่จะต้องใช้ในระบบด้วย เช่น การสังเคราะห์ด้วยแสง วัฏจักรชีวิต ซึ่งสามารถขยายความเข้าใจไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างระบบได้ด้วย เช่น ระบบของโลกกับระบบของดวงจันทร์ เป็นต้น
  5. Energy (พลังงาน) นักเรียนเข้าใจ Concept ของพลังงานและสสาร กฎการถ่ายเทและการอนุรักษ์พลังงาน โดยเข้าใจเป็นเชิงระบบด้วย (Input Process Output) เช่น การถ่ายเทพลังงานงานระหว่างพื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศของโลกกับการเปลี่ยนสถานะของน้ำ
  6. Structure and Function (โครงสร้างและหน้าที่) นักเรียนเข้าใจรูปร่าง หน้าที่และการทำงานร่วมกันของส่วนประกอบต่าง ๆ รวมถึงเข้าใจคุณสมบัติของวัสดุที่จะนำมาใช้กับส่วนประกอบต่าง ๆ ด้วย เช่น รู้รูปร่างและหน้าที่ของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่นำมาประกอบเป็นจักรยาน จนถึงรู้วัสดุทดแทนหากต้องการพัฒนาให้จักรยานเบาขึ้นได้
  7. Stability and Change (ความคงที่และความเปลี่ยนแปลง) นักเรียนเข้าใจ Concept ของความคงที่ออกจากความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ได้ แม้ว่าความเปลี่ยนนั้นอาจจะใช้เวลานานกว่าที่จะสังเกตด้วยตาเปล่า เช่น การผลิบานของดอกไม้ การระเหยของน้ำ หรือ แม้แต่การเกิดหินงอกหินย้อย ซึ่งถือเป็น Concept สุดท้ายที่ทาง NRC เสนอให้อยู่ในมาตรฐานที่นักเรียนที่ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐานควรมี
อ่านถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าการกำหนดกรอบถึงเรื่อง Cross Cutting Concept นี้แยกออกจาก “สาระการเรียนรู้” ในวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ออกมาเลย เนื่องจากเป็นสิ่งที่สะดวกต่อการวัด และ ส่งเสริมการเรียนใน Concept อื่น ๆ ได้ดีกว่า ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจหากวงการศึกษาบ้านเราจะพิจารณาให้ระบุให้ชัด
หลายคนอาจแย้งในใจว่าหลักสูตรของเดิมก็มีอยู่แล้วในสาระที่ 8 ของมาตรฐานวิทยาศาสตร์ และ สาระที่ 6 ของมาตรฐานคณิตศาสตร์ แต่การนำไปใช้พบว่าออกไปในรูปของ “การบูรณาการ” ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่านักเรียนส่วนน้อยยังไม่ได้มีความเข้าใจและทักษะในเรื่องเหล่านี้เพียงพอเลย

ดังนั้นหากจำเป็นต้องยกระดับการศึกษาของชาติจึงต้องบรรจุสิ่งที่จำเป็นไว้ในมาตรฐานและหลักสูตรจะต้อง และ กำกับติดตามในการสอน เพื่อให้นักเรียนมีทั้งความรู้และทักษะต่าง ๆ เหล่านี้อย่างเชี่ยวชาญ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อนักเรียนทุกคนไม่ว่าเขาจะออกไปหางานทำหรือออกไปศึกษาต่อ เพราะวันนี้ไม่มีใครรู้หรอกว่านักเรียนคนไหนจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเลขาธิการสหประชาชาติในอนาคต ดังนั้นเราการศึกษาที่ดีที่สุดจึงเป็นอนาคตของพวกเราทุกคน

เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
Business Process Manager 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

No comments:

Post a Comment