Tuesday, December 15, 2015

เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ของ Brain Based Learning

ด้วยว่าผมได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการสัมมนาที่จัดโดย OKMD ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยคุณหมอประเสริฐ บุญเกิด มาให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง Brain Based Learning หรือ BBL ก็เกิดความประทับใจ กอปรกับความชอบในหนังสือเรื่อง “สมองหายล้า ชีวิตก็หายเหนื่อย” เขียนโดยคุณหมออีชีฮยอง (Lee Si Hyung) แปลโดย คุณตรองสิริ ทองคำใส ก็มีอะไรหลายอย่างที่ตกตะกอนจนอยากเก็บมาเล่าให้ฟังในเป็นข้อสังเกตแบบง่าย ๆ เกี่ยวกับเรื่องของ BBL ดังต่อไปนี้

ข้อสังเกตที่ 1 BBL ไม่ใช่ทฤษฎีทางการศึกษา เออ... งงมั้ย? คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า BBL เป็นทฤษฎีการเรียนรู้ในสายครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ แต่จริง ๆ แล้วคุณหมอประเสริฐให้แนวคิดว่า BBL เป็นทฤษฎีทางการแพทย์ที่อธิบายถึงโครงสร้างและหน้าที่ในการทำงานของสมองมนุษย์เราตรง ๆ เลย พูดอีกนัยหนึ่งคือเป็นหลักการเรียนรู้ของสมองที่ข้อมูลผ่านมาทางประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้รส และ การสัมผัส เพื่อจัดเก็บ เรียบเรียง และ ดึงข้อมูลต่าง ๆ ออกมาใช้
นั่นคือ BBL เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาที่สมองเรามีปฏิสัมพันธ์ (Interact) กับโลกภายนอก ซึ่งเริ่มตั้งแต่ที่เราทุกคนเป็นทารกอยู่ในท้องเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นพ่อแม่และคุณครูไม่ต้องสงสัยหรือไปกำหนดเด็ก ๆ เลยว่าเขาควรเรียนตอนไหน เพราะเขาเรียนตลอดเวลา ดังนั้นการช่วยกันจัดกิจกรรมหรือสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ของเด็ก ๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากพอ ๆ กับการพยายามด้านวิชาการอย่างเดียว

ข้อสังเกตที่ 2 BBL คนเราเรียนรู้จาก “ของจริง” สู่ “สัญลักษณ์” เสมอ อันนี้ต่อจากข้อสังเกตแรกที่กล่าวมาแล้ว เพราะสมองคนเราจริง ๆ เรียนรู้ผ่านสัมผัสต่าง ๆ ที่มีอยู่ซึ่งจะทำหน้าที่แปลงข้อมูลต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์เฉพาะบุคคล ดังนั้นการรับรู้ (Perceiving) และการเรียนรู้ (Learning) ของแต่ละคนในเรื่องเดียวกันจะไม่เหมือนกันแน่นอน
ลองเล่นกันดูก็ได้ ขอให้คุณผู้อ่านนึกถึงคำว่า “การทำข้าวผัด” (ไปเปลี่ยนเป็นข้าวผัดเจกันเอาเองนะ) ว่าคุณผู้อ่านนึกถึงอะไร (ติ๊กต๊อก... ติ๊กต๊อก... ติ๊กต๊อก...)
.
.
.
สิ่งที่คุณผู้อ่านนึกถึงการทำข้าวผัดเป็นไปได้เยอะแยะเลย ไม่ว่าจะเป็นภาพเตาแก๊ส/เตาถ่าน/เตาไฟฟ้า ภาพกระทะ ภาพข้าวที่คลุกในกระทะ ภาพเครื่องปรุงที่เตรียมไว้ ภาพควัน เสียงซ่าของกระทะ เสียงตะหลิวขูด/เคาะกับกระทะ กลิ่นของน้ำมัน เครื่องที่ลงผัด เครื่องปรุงที่ใส่เข้าไป รสชาติกลมกล่อมและความร้อนของข้าวผัดตอนชิม ไอร้อนจากขอบกระทะลอยขึ้นมาโดนมือให้ร้อนเป็นระยะ หรือหลาย ๆ อย่างที่กล่าวมานี้ผสมผสานรวมกัน (นั่นล่ะข้าวผัด) ซึ่งนั่นเกิดจาก BBL ของเราที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติการเรียนรู้แต่ละคน
สิ่งสำคัญคือ การทำข้าวผัด แต่ละคนจะตื้นลึกหนาบางก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในเรื่องนี้ที่ต่างกัน ถ้าเป็นคนกินอย่างเดียวก็จะเห็นแบบหนึ่ง เป็นผู้ช่วยก็จะได้แบบหนึ่ง เป็นคนทำเองก็จะเรียนรู้อย่างหนึ่ง ดังนั้นวิธีที่ง่ายและเป็นธรรมชาติที่สุด คือ การให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้โดยให้โอกาสเขาได้ลองเล่นหรือทำกิจกรรมจากประสบการณ์จริงให้ได้มากที่สุดนั่นเอง ให้เขาได้ใช้ประสาทสัมผัสที่หลากหลาย สมองเขาค่อย ๆ เปลี่ยน “ของจริง” เป็น “สัญลักษณ์” ที่เป็นของเฉพาะบุคคลไปเองได้ในที่สุด แน่นอนว่าดีกว่าการเรียนแบบ Talk and Chalk ที่จะจำกัดแค่การมองและการฟังเท่านั้น

ข้อสังเกตที่ 3 BBL เกิดขึ้นได้ทุกวัยไม่ใช่แค่เด็ก ปัจจัยสำคัญของ BBL คือการวิจัยพบว่า “ศักยภาพของตนเอง” คือแรงจูงใจในการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมาก นั่นไม่แปลกใจหรอกว่าทำไมคนบางคนถึงเดินทางรอบโลก พิชิตเขาสูง ๆ หรือทำอะไรที่คนปกติเห็นว่าไม่จำเป็นต้อง (หาเรื่อง) ทำเลย
เพราะการค้นหา (Explore) ยิ่งหา ยิ่งเพลิน ยิ่งมีพลัง และ การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ นี่แหละคือที่มาของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) เพราะกิจกรรมที่มนุษย์ที่จะทำได้มีเป็นหลักล้านเลย ใครรักการออกกำลังกาย ถ่ายภาพ เรียนภาษา เล่นดนตรี ท่องเที่ยว เขียน พูด ทำงานศิลปะ ไปลองไปหัดกันดูถ้ามีโอกาส
อ่านถึงตรงนี้คุณผู้อ่านที่อยู่วัยเกษียณสบายแล้ว เพราะการที่เราได้ใช้สมองบ่อย ๆ ด้วยการค้นหาอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ จะทำให้สมองเรายังคงพัฒนาต่อเพื่อสู้กับความเสื่อมทางกายภาพที่มาตามธรรมชาติ เรียกว่าเป็นยาชะลอความเสื่อมของสมองได้เป็นอย่างดี ก็ขอให้โอกาสตัวเองและคนใกล้ตัวดูนะ ลองจากเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ ๆ ตัว ยิ่งรู้ว่าตัวเองทำได้ก็จะเพลินกับการใช้ชีวิต อย่าหยุดเด็ดขาด

ข้อสังเกตที่ 4 อาหารสมอง อาหารสมองแบ่งได้หลายอย่าง ถ้าเป็นอาหารทางกายภาพ คุณหมออีชีฮยองบอกว่าสมองต้องการแค่น้ำตาลกลูโคส (Glucose) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น (เออ แล้วซุปไก่ผมไปไหน?) ในขณะที่บางแง่ อาหารสมอง คือ เนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ อย่างเช่น คอลัมน์ “อาหารสมอง” ของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ แบบนั้นก็ถือว่าเป็นอาหารสมองในอีกมิติหนึ่ง
แต่อาหารสมองที่มีคุณค่าและคนมักจะมองข้ามไปคือ “อาหารใจ” อันนี้คุณหมอประเสริฐและคุณหมออีชีฮยองกล่าวตรงกันเป๊ะ อาหารใจที่เป็นแรงผลัดดันให้เกิดการเรียนรู้และเดินไปข้างได้เสมอคือ “ความสำเร็จ” ไม่เชื่อลองสังเกตเด็กเล็ก ๆ ดูสิ (ผู้ใหญ่ยังเป็นเลย) ว่าทำไมเขาจะชอบทำอะไรในเรื่องเดิม ๆ เพราะเขาเก่งในเรื่องนั้นหรือกติกาของเกมนั้น ชัยชนะคือความสำเร็จที่ลึก ๆ แล้วทุกคนปรารถนา อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ต้องสร้างสมดุลกับการค้นหาด้วยนะ อย่าเอาแต่เพลินกับการเป็นปลาใหญ่ในบ่อเล็ก ต้องออกไปลุยกับโจทย์ใหม่ ๆ ดูบ้าง

ข้อสังเกตสุดท้าย สมองมีหนักมีเบา ผมไม่ได้หมายถึงน้ำหนักนะ เรื่องนี้คุณหมอประเสริฐและคุณหมออีชีฮยองก็กล่าวเหมือนกันอีกว่าสมองคนเราจะเรียนรู้ได้ดี หรือ มีความคิดดี ๆ ในเวลาที่สมองปลอดโปร่ง (สมองเบา) หรือ เรียนรู้โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองเรียนรู้ ทำแล้วเพลิน (Flow) ทำแล้วสนุก อยากทำเรื่อย ๆ อันนี้คือจุดที่จะทำให้คนคนนั้นสามารถเรียนรู้และดำดิ่งกับการเรียนรู้นั้นจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญ (Expert) ซึ่งมีบางคนเท่านั้นที่จะหากิจกรรม/เรื่อง/สภาพแวดล้อมที่เหมาะได้เจอ
คนที่สมองหนักคือคนที่เครียด ก็เสียไปหมดทั้งสุขภาพกายสุขภาพใจ ต้องออกไปหาอะไรแรง ๆ ทำ เช่น เว้นรถ ฯลฯ หนัก ๆ เข้าก็ทำร้ายตัวเองหรือสังคมไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในที่สุด ซึ่งเราต้องใช้ปัญญาในการค้นหาว่าอะไรที่ใช้และเหมาะกับตัวเรา (นั่น ได้ค้นหาอีกแล้ว)
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่อง Brain Based Learning สรุปมาให้อ่านกันพอหอมปากหอมคอในแบบกว้าง ๆ เพื่อให้คุณผู้อ่านเลือกไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ทั้งการดูแลเด็ก ๆ การพัฒนาตนเอง จนถึงการหากิจกรรมดี ๆ ที่เหมาะกับคนสูงอายุให้กับผู้ใหญ่ที่บ้านได้เรียนรู้กันต่อไป

สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขกับการเรียนรู้ และ สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้คนรอบ ๆ ตัว แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี

เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
Business Process Manager 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

ศาสตร์แห่งการโน้มน้าวใจคน

สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่าน หวังว่าช่วงปลายปีแบบนี้คงจะได้ผ่อนคลายจากงานหนัก ๆ ที่ลุยทำมาทั้งปีลงบ้างนะ ด้วยว่ามีวันหยุดยาวมาให้เรา Shop package ท่องเที่ยวสำหรับวันพักผ่อนปลายปีหลายช่วงอยู่ หลายคนคงได้มีโอกาสเติมพลังให้พร้อมรับการทำงานในปีหน้าฟ้าใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ด้วยว่าช่วงที่ผ่านมาผมกำลังทำโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนผ่านการเสริมสร้างทักษะด้านการขาย เลยได้มีโอกาสศึกษาเนื้อหาใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขายในหลาย ๆ มุมมอง ว่าแล้ว Ministry of Learning ฉบับนี้เลยจะมาชวนคุณผู้อ่านคุยกันถึงหลักในการโน้มน้าวใจคนที่ได้สังเคราะห์มาจากงานวิจัยที่น่าจะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านทั้งกับการทำธุรกิจหรือความก้าวหน้าในการทำงานกันบ้าง

ต้นเรื่องที่จะหยิบมาเล่าเป็น Clip VDO บน YouTube ที่มีชื่อว่า “Science of Persuasion” แปลตรง ๆ ตัวเลยคือ “ศาสตร์ในการโน้มน้าวใจคน” เจ้าของเนื้อหาคือ Robert Cialdini และ Steve Martin ที่เรียบเรียงข้อค้นพบจากงานวิจัยในช่วงเวลา 60 ปี ที่ผ่านมาสรุปเป็นหลักการง่าย ๆ 6 ข้อ ดังต่อไปนี้

หลักการที่ 1 น้ำใจ หลักการนี้ในทางจิตวิทยาแล้วพบว่าคนเราอยากตอบแทนในความดีหรือน้ำใจของคนอื่นด้วยกันทั้งนั้น เรียกว่าใครทำดีกับเราเราก็อยากให้อะไรเป็นการตอบแทน
จากการศึกษาข้อมูลของพนักงานเสริฟในร้านอาหารพบว่า การที่พนักงานเสริฟลูกอม (มินท์) ให้กับลูกค้า 1 เม็ดหลังอาหารโอกาสที่จะทิปจะเพิ่มขึ้น 3% และถ้าเพิ่มลูกอมให้เป็น 2 เม็ด โอกาสได้ทิปจะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ยังไม่หมด หากพนักงานหาจังหวะดี ๆ ในการเสริฟลูกอมเพิ่ม ทายดูสิว่าโอกาสจะได้ทิปจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่... ไม่น่าเชื่อว่าจะเพิ่มถึง 23% เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีหลักการนี้ใช่จะใช้พร่ำเพรื่อ ความสำคัญของการแสดงน้ำใจอยู่ที่ “ให้อย่างไร” มากกว่า “ให้อะไร” โดยสิ่งที่ให้จะต้องแสดงถึงความใส่ใจว่าได้คิดและเลือกสรรมาแล้วว่าจะตรงกับความต้องการของลูกค้า (Personalized) และต้องเป็นอะไรที่ลูกค้าไม่ได้คาดหวังอะไรมาก่อน (Unexpected) จะช่วยให้การโน้มน้าวที่มีพลังขึ้นไปอีกมากทีเดียว ลองไปปรับใช้ดู

หลักการที่ 2 ความกลัว แน่นอนว่าทุกคนมีความอยากได้มากกว่าอยากเสีย กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือการยกเลิกเที่ยวบินความเร็วสูงระหว่าง New York กับ London ในปี ค.ศ. 2003 ด้วยเหตุผลว่าไม่คุ้มต้นทุนที่สูง เพราะเจ้าเครื่องบิน Concorde ซดน้ำมันดุเดือดกว่าเครื่องบินปกติมาก ลามไปถึงว่าความกังวลว่าจะใช้ทรัพยกรมากเกินจำเป็น
โดยหลักการนี้แสดงให้เห็นว่าคนเราอยากได้อะไรที่มากกว่าสิ่งที่ต้องจ่าย ดังนั้นหลักการจะดึงดูดใจให้สำเร็จนอกจากจะต้องบอกประโยชน์ (Benefit) ว่าลูกค้าจะได้อะไร แต่เรายังต้องบอกความแตกต่าง (Uniqueness) ของสินค้าหรือบริการของเรา รวมถึงสิ่งที่ลูกค้าจะต้องเสีย (Lose) ถ้าพลาดที่จะตัดสินใจเลือกใช้ในสินค้าหรือบริการของเรา
หลักการนี้เราจะเห็นได้บ่อย ๆ ในการขายสินค้าบางอย่าง เช่น ประกันชีวิต หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ ฯลฯ ที่สร้างความกังวลใจเล็ก ๆ บางอย่างให้กับเราหากเราพลาดอะไรดี ๆ แบบที่กำลังได้รับข้อเสนอนี้นั่นเอง

หลักการที่ 3 ความน่าเชื่อถือ แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่จะสบายใจกว่าถ้าต้องจ่ายเงินให้กับพนักงาน คนขาย หรือ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ใน “เครื่องแบบ” มากกว่าเจ้าหน้าที่คนเดียวกันแต่อยู่ใน “ชุดลำลอง” แม้ว่าจะมีได้ใบเสร็จรับเงินเหมือนกันทุกอย่าง อะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น
แม้ว่าจะเป็นเรื่องง่าย ๆ อย่าง Trainer ใน Fitness Center หากมีประกาศนียบัตรรับรองว่าเป็น Certified Trainer แล้วแน่นอนว่าโอกาสที่จะได้ลูกค้าก็เหนือกว่า Trainer ที่อื่นไปหลายขุมทีเดียว
จากการศึกษาพบว่าการที่องค์กรมีบุคลากรที่น่าเชื่อถือ มีความสามารถ หรือ ประสบการณ์ที่ผ่านการรับรองแล้วจะเพิ่มโอกาสในนัดเพื่อเข้าพบลูกค้าเป้าหมายสูงขึ้นถึง 20% เลย และ ช่วยให้สามารถปิดการขาย/เซ็นสัญญาสูงขึ้นถึง 15% เพราะความน่าเชื่อถือโน้มน้าวให้เกิดการตัดสินใจของลูกค้าที่เป็นบวกกับธุรกิจของเราได้ง่ายกว่า ดังนั้นการรักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ในการทำงานที่ดีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง

หลักการที่ 4 ความเสมอต้นเสมอปลาย คนเราชอบความเสมอต้นเสมอปลาย อันความเสมอต้นเสมอปลายเกิดจากความสามารถในการทำตามสัญญานั่นเอง โดยความเสมอต้นเสมอปลายดังกล่าวต้องมาจากการสร้างกระแสสังคมด้วยพลังของจิตอาสาร่วมกัน
มีกรณีศึกษาเรื่องการส่งเสริมการขับขี่ปลอดภัยของ 2 พื้นที่ โดยชุมชนแรกใช้การติดป้ายประกาศ “ขับขี่ปลอดภัย” โท่ง ๆ ลอย ๆ ไว้ แน่นอนไมได้ผลเพราะคนไม่ได้มีความสนใจกับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ในขณะชุมชนในพื้นที่ใกล้ ๆ กันได้ทำการแจกบัตรขับขี่ปลอดภัยไปตามบ้านก่อนล่วงหน้า เพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นข้อมูล และ “เลือก” ที่จะติดป้ายหน้าบ้านตัวเองว่าให้สนับสนุนแนวคิดการขับขี่ปลอดภัยในชุมชน ผลคือจำนวนการรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยประสบความสำเร็จ
ในเรื่องเดียวกันนี้ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมอีก ในโรงพยาบาลต่าง ๆ มักจะประสบปัญหาว่าคนไข้ผิดนัด ทำให้การบริหารจัดการคิวรวมถึงการรับคนไข้นอกของโรงพยาบาลขาดประสิทธิภาพ ฝ่ายบริหารของโรงพยาบาลจึงได้ออกกลยุทธ์ที่ได้ผล นั่นคือโรงเรียนบาลจะให้คนไข้เป็นคนเขียน “บัตรนัดคุณหมอ” ด้วยตัวเอง ผลคือช่วยลดการผิดนัดได้ถึง 18% เลยทีเดียว
หลักการที่ 5 ความชอบ คนส่วนใหญ่จะเชื่อคนที่เขาชอบจะด้วยอะไรก็แล้วแต่ แน่นอนถ้าลูกค้าถูกใจกับเราก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะโน้มเอียงการตัดสินใจมาทางเราได้มากกว่า
ลองมาดูงานศึกษาที่สนุก ๆ สำหรับการทำให้คนชอบกันมากกว่า เขาว่าคนประเภทที่เงินคือเวลา ติดต่ออะไรต้องเป๊ะ ๆ เป็นเงินเป็นทอง คนกลุ่มนี้มี Success Rate ในการปิดการขายอยู่ที่ประมาณ 55% ในขณะที่กลุ่มที่โอภาปราศรัย คุยกันเหมือนเป็นเพื่อนจะมี Success Rate การปิดการขายจะกระโดดไปเป็น 90% เลยทีเดียว
ดังนั้นเคล็ดลับสำคัญของหลักการนี้คือการให้ความจริงใจกับลูกค้า เพื่อสร้างความชอบและความไว้วางใจก่อนเข้าเรื่องงาน จะช่วยให้เกิดการโน้มน้าวที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่ามาก

หลักการที่ 6 ความ (อยาก) เหมือนคนอื่น หลักการนี้มาจากหลักจิตวิทยาที่ว่า คนเรามักจะตัดสินใจตามคนอื่น ยกตัวอย่างการศึกษาพฤติกรรมแขกที่มาพักในโรงแรม ด้วยว่าโรงแรมส่วนใหญ่จะขอการมีส่วนร่วมกับลูกค้าในการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการแขวนป้ายเชิญชวนให้แขกที่เข้าพักใช้ผ้าขนหนูซ้ำเพื่อลดการพลังงานและสารเคมี ผลที่ได้คือแขกที่เข้าพักในคืนแรกประมาณ 35% จะปฏิบัติตาม แต่จากข้อมูลที่เก็บไประยะหนึ่งก็พบว่า แขกที่เข้าพักนานกว่า 4 คืนขึ้นไปจะมีอัตราการใช้ผ้าขนหนูซ้ำสูงถึง 75% ทางโรงแรมจึงได้ทำป้ายรณรงค์แบบใหม่ โดยการเพิ่มข้อความว่า “ร้อยละ 75 ของแขกที่เคยพักห้องนี้เลือกที่จะร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมกับเรา” เท่านั้นแหละแขกที่เข้าพักวันแรกมีอัตราการปฏิบัติตามเพิ่มขึ้นเป็น 60% เลยทีเดียว
ดังนั้นการบอกว่าคนอีกจำนวนเท่าไหร่ “ตัดสินใจ” ทำสิ่งนี้แล้วมีพลังมากในการจูงใจให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะคนเราอยากเหมือนกันนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับหลักการสนุก ๆ ที่ได้จากการเก็บข้อมูลอย่างมีสถิติรองรับ หลายอย่างง่ายและใกล้ตัวอย่างไม่น่าเชื่อ หวังว่าคุณผู้อ่านน่าจะได้ประโยชน์จากการเอาหลักการง่าย ๆ เหล่านี้ไปทดลองใช้ได้ในชีวิตประวันไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือเรื่องส่วนตัวก็น่าจะช่วยให้อะไร ๆ สนุกขึ้นเยอะ

สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขในการโน้มน้าวคนอื่น ๆ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี

เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
Business Process Manager 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

Tuesday, June 9, 2015

5 เคล็ดลับ ในการสร้างความประทับใจ

สวัสดีคุณผู้อ่าน Ministry of Learning ทุกท่าน ผมได้ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับการพยากรณ์เศรษฐกิจในช่วงเวลาข้างหน้านี้ทั้งจากนักวิเคราะห์ นักลงทุน ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าแนวโน้มอาจจะไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ให้ความเห็นคล้าย ๆ กันว่า “ฝึด”

มื่อความท้าทายเพิ่มขึ้นโอกาสก็จะแพงขึ้นไปด้วย การเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นอะไรที่สำคัญมาก ผมอยากให้คุณผู้อ่านลองนึกย้อนไปถึง “โอกาส” ที่เราได้พบเจอใครบางคนแต่เรากลับพลาดปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดลอยไปด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าเราไม่สามารถสร้างความประทับใจให้กับบุคคลที่เป็นผู้ถือโอกาสนั้น ว่าเราจะแก้ตัวอย่างไรหากมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาอีกครั้ง


ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง “วิธีพูดกับทุกคนในทุกสถานการณ์” ซึ่งแปลมาจากหนังสือต้นฉบับที่ชื่อว่า How to talk to anyone ของ Leil Lowndes แปลโดยสำนักพิมพ์ We Learn ว่าเราจะมีเทคนิคในการสร้างความประทับใจแบบง่าย ๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสที่ดีทั้งต่องานหรือการติดต่อธุรกิจ และ เพื่อเป็นมารยาททางทรัพย์สินทางปัญญา ผมจะเล่าผ่านสิ่งที่ผมเรียนรู้ในบริบทไทย ๆ ว่า เราจะสามารถสร้างความประทับใจได้ด้วยเคล็ดลับง่าย ๆ ประการดังนี้

เคล็ดลับ#1 ยิ้มให้ได้ การยิ้มเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสที่ง่ายที่สุด ยิ่งคนไทยเรายิ้มเก่งจนเป็น Branding ของโลกไปแล้ว เพราะการยิ้มเป็นภาษาสากลที่บ่งบอกความเป็นมิตร แต่ยิ้มแบบไหนที่จะเหมาะอันนี้ต้องมาคุยกันสักหน่อย
ความสำคัญของการยิ้มให้ได้ไม่ใช่อยู่ที่การยิ้มมากยิ้มน้อย เห็นหรือไม่เห็นฟัน แต่อยู่ที่ความจริงใจและ “ยิ้มให้ถูกเวลา” นั่นคือหากเราต้องการสร้างความประทับใจให้ใครก็ตาม ก่อนยิ้ม แตะเบรคเล็กน้อย และ ยิ้มให้คน ๆ นั้นเห็นตอนที่เรา “กำลังจะยิ้ม” จะเพิ่มพลังให้ยิ้มของเราได้มากกว่ากันหลายเท่า
นั่นเพราะใคร ๆ ก็อยากได้รอยยิ้มเฉพาะสำหรับเขาทั้งนั้น ต้องยิ้มด้วยความจริงใจตามกาลเทศะด้วย การยิ้มแห้ง ๆ ยิ้มแหย ๆ หรือ ฉีกยิ้มไปเรื่อยเป็นอะไรที่เด็กก็ดูออก ดังนั้นจงให้การยิ้มช่วยสร้างเสน่ห์และความเป็นมิตรให้จะดีกว่าการยิ้มทิ้งยิ้มขว้างไปวัน ๆ นะ
เคล็ดลับ#2 สายตาจิก แน่นอนว่าดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ สายตาที่เราจ้องมองกันโดยธรรมชาติจะทำให้สมองของมนุษย์เกิดปฏิกิริยาทั้งทางร่างกายและทางจิตใจได้ การมองตาจึงเป็นการสร้างความประทับใจที่ทรงอนุภาพไม่แพ้การยิ้มเลยทีเดียว
การใช้สายตาจิกนั้นสามารถทำได้ทั้งในตอนสนทนากัน ด้วยการมองตาคู่สนทนาเราอย่างเหมาะสมจะเป็นการแสดงออกถึงความใส่ใจที่ดี ว่าแต่ฟังแล้วก็ต้องโต้ตอบหรือแลกเปลี่ยนด้วยนะ ใช้สายตาให้เหมาะว่าเป็นบริบทของงาน การสร้างเครือข่าย หรือ การออกเดท อย่ามั่วหรือสลับวิธีการใช้สายตาเด็ดขาด ไม่งั้นจะนำมาซึ่งความวุ่นวายอีกเยอะ
การใช้สายตาอาจจะใช้ในระหว่างที่สนทนากันเป็นกลุ่มก็ได้ กล่าวคือเวลาที่เราต้องการสร้างความประทับใจให้ใครสักคนหนึ่ง เราสามารถมองตาเขาในขณะที่ “คนอื่น” กำลังพูด ทำเป็นระยะ ๆ รักษาระดับให้เหมาะสม เพราะถ้ามากไปจะเป็นการเสียมารยาทต่อผู้ที่นั่งคุยกันอยู่ในที่นั้นทั้งหมด
สำหรับกรณีของผู้ชายกับผู้ชายควรลดระดับการมองลงจากระดับที่ผู้ชายมองคู่สนทนาที่เป็นผู้หญิง ไม่งั้นอาจจะได้คู่ชก อืมม... หรือคู่เดทแบบไม่ตั้งใจก็ได้
เคล็ดลับ#3 บุคลิกเป๊ะ ผมเคยเรียนเรื่องการนำเสนองานอย่างมืออาชีพ ได้เคล็ดลับสำคัญว่าใน 3Vs ซึ่งประกอบด้วย Voice, Verbal and Vision นั้นตัวสุดท้าย คือ Vision หรือ ภาพ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แน่นอนว่าการทำตัวให้เป๊ะเป็นสิ่งที่จะเสริมให้เคล็ดลับอื่น ๆ มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอย่างน่าประหลาด
การทำตัวให้เป๊ะต้องเริ่มจาก “ตัว” ของเราจริง ๆ ก่อน การออกกำลังกายคือกุญแจสำคัญของการมีบุคลิกภาพที่ดี เพราะคนที่หลังตรง สง่าผ่าเผย และ เคลื่อนไหวได้อย่างมั่นใจสะท้อนถึงวินัยในการควบคุมตนเอง ซึ่งเป็นความน่าเชื่อถือที่รับรู้ได้ในทันที
เป๊ะต่อมาคือเรื่องการแต่งกายและการวางท่าทางที่เหมาะสม แน่นอนต้องเหมาะกับสถานที่ บุคลิก และ คนที่เราจะต้องได้พบด้วย เกณฑ์ง่าย ๆ แบบไทย ๆ เราก็เอาให้ใกล้แต่รองจากเจ้าของบ้านเขาหน่อยกำลังงาม เช่น บางองค์กรการใส่สูทประชุมเป็นเรื่องจำเป็นแต่บางองค์กรเป็นเรื่องตลก อันนี้อาจจะต้องสืบก่อนถ้าเป็นนัดที่สำคัญ
เคล็ดลับ#4 เอ๊ะสม่ำเสมอ หลายครั้งที่การสร้างความประทับใจมักจะเป็นการเจอกันครั้งแรก แน่นอนการมีเรื่องราวบางอย่างให้เราได้คุยต่อหลังจากที่เรายิ้มให้แล้วดูเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับบางคน หนัก ๆ กลายเป็น Dead Air ไปซะงั้น บางคนดันเริ่มที่อะไรที่มันนำไปสู่ความกร่อย เช่น อากาศร้อน รถติด ก็แล้วไง มันไม่มีอะไรให้ไปต่อ
ดังนั้นง่ายที่สุดคือการฝึกให้เรา “เอ๊ะคนอื่น” มองหาอะไรที่นำไปสู่ความสนใจของคนที่เราต้องผูกมิตรด้วย เช่น ถามเรื่องงาน เรื่องงานอดิเรก อาจจะต้องสังเกตอะไรที่มาด้วย เช่น เข็มกลัด ตราสัญลักษณ์บนเสื้อ ที่นำไปสู่การพูดคุย เพราะใครก็ตามที่เล่าอะไรออกมาเราจะฟังได้ออกว่าจะต่อเรื่องคุยไปยังไง
แผนสำรองคือเราต้องมีอะไรที่ทำให้ “คนอื่นเอ๊ะ” ด้วย หาอะไรที่สามารถเป็นเรื่องเริ่มต้นของการพูดคุยติดไม้ติดมือไป เพราะไม่ใช่มีแต่เราที่อยากคุยกับคนอื่น หลายครั้งก็มีหลายคนอยากมาคุยกับเรานะ ดังนั้นเผื่อ ๆ ไว้นิดนึงก็ไม่เลว
เคล็ดลับ#5 เจอความเด็กที่ซ่อนอยู่ สิ่งที่เราไม่ค่อยทราบคือคนเราไม่ว่าจะอายุมากเท่าไหร่ ความเป็นเด็กในวันนั้นของเขาไม่มีวันหายไปไหน แน่นอนเพื่อนที่เราทุกคนในโลกนี้สนิทอย่างไม่เคยต้องไว้ท่าด้วยมักเป็นเพื่อนวัยเรียนทั้งนั้น
ดังนั้นเราต้องหาและค่อย ๆ สื่อสารกับความเป็นเด็กในตัวเขาไปทีละน้อย คุยเหมือนกับที่เราเห็นเด็กคนหนึ่งด้วยกรอบคำพูดแบบผู้ใหญ่ น้ำเสียงที่เรามองหาความเป็นเด็กจะเป็นน้ำเสียงที่ช่วยเปิดประตูของการสนทนาให้สนุกขึ้น ยาวนานขึ้น และ มีความเป็นมิตรมากขึ้น
ในขณะเดียวกันการเปิดเผยความเป็นเด็กบางอย่างในตัวเรา ก็เป็นการสร้างความคุ้นเคยได้อย่างราบรื่น ช่วยสร้างความไว้ใจและทำให้บรรยากาศผ่อนคลายกลายเป็นมิตรภาพในแบบที่เป็นธรรมชาติกว่าเป็นไหน ๆ
บางครั้งการเจอกันครั้งแรกยังไม่ต้องวกเข้าเรื่องงานอะไรก็ได้ เพราะคนเราถ้าจะรู้จักกันเรารู้จักกันยาวอยู่แล้ว แต่ความจริงใจที่ให้กันแต่แรกพบต่างหากคือจุดเริ่มความสัมพันธ์ที่ดี เพราะคุณผู้อ่านก็ได้เพื่อนใหม่แล้วแน่นอน
เป็นไงบ้างสำหรับเคล็ดลับในการสร้างความประทับใจที่สามารถไปฝึกทำได้ง่าย ๆ ไม่จำเป็นต้องรอ “คนที่ไม่รู้จัก” นะ เริ่มฝึกกับเพื่อน ๆ เราที่ทำงาน เพื่อนที่เรียน หรือ ที่ไหน ๆ ที่เราต้องเจอเขา แล้วคุณผู้อ่านจะพบว่าตัวเองเป็นที่รักของคนรอบข้างได้ไม่ยากเลย
สำหรับ Ministry of Learning สัปดาห์นี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขกับการสร้างโอกาสดี ๆ ในชีวิต แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดี


เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

Wednesday, June 3, 2015

ปัญญาและความโลภ กับ คน 4 ประเภท

สำหรับสัปดาห์นี้ ผมมีข้อสังเกตบางอย่างที่มีต่อสังคมรอบ ๆ ตัว ที่อยากมาชวนคุณผู้อ่านคุย ด้วยประทับใจในหลักการที่ได้เคยเขียนไปแล้วของ Kurt von Hammerstein-Equord ในตอน ขี้เกียจอย่างไรให้รุ่งเรือง รวมถึง Joseph Luft และ Harrington Ingham ในตอน รู้เขารู้เรา ไม่ต้องรบก็ชนะ ผมเลยเอาหลักการนี้มาวิเคราะห์สังคมที่เราอาศัยอยู่ก็พบว่ามีคน 4 ประเภทที่มีระดับของ ปัญญา และ ความโลภ แตกต่างกันไปอาศัยอยู่ร่วมกัน และ มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ขยายความสักเล็กน้อย คำว่า ปัญญา ในที่นี่มีความหมายกว้างคำว่าฉลาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด ซึ่งครอบคลุมถึงความรอบรู้ การใช้ความรู้ และ การหยั่งรู้ในเรื่องอื่น ๆ ที่จริง ๆ คนทั่วไปอาจจะมองไม่เป็น โดยทั่วไปปัญญาเป็นคำไม่มีประจุ แน่นอนมีดีกว่าไม่มี การใช้คำว่าปัญญามาก หรือ ปัญญาน้อย ไม่ได้หมายถึง โง่ หรือ ฉลาด

ในขณะที่ คำว่า ความโลภ ในที่นี้หมายถึง ความอยากได้ไม่รู้จักพอ อันนี้ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอีกเช่นกัน ซึ่งถ้าขยายความอีกนิดจะได้ว่า ความโลภ คือ กิเลสอย่างหนึ่งที่เกิดจากตัณหา นำไปสู่การดิ้นรน ถือเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ความโลภไม่ได้จำกัดแค่เรื่องทางวัตถุเท่านั้น แต่หมายถึงความอยากที่ซับซ้อนกว่านั้นด้วย เช่น ชื่อเสียง ลาภยศ อำนาจ การยอมรับ ฯลฯ คำว่าความโลภมีประจุไปในทางลบ แต่ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์สักทีเดียว (ซึ่งจะขอคุยในโอกาสต่อไป)

ก่อนเราจะไปต่อ ขอทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีกนิดว่าผมไม่มีเจตนายกตัวอย่างบุคคลใดเป็นการเฉพาะเจาะจง คำอธิบายต่าง ๆ ลักษณะต่าง ๆ มาจากข้อสังเกตและการวิเคราะห์เพื่อจัดกลุ่มเป็นสำคัญเท่านั้น เอาล่ะ เมื่อเรานำเอาปัญญาและความโลภมาไขว้กัน เราจะพบคน ประเภทได้ดังภาพนี้



ประเภทที่ ปัญญามากและโลภมาก คนกลุ่มนี้เป็นตัวการสำคัญทำให้โลกเราวุ่นวาย เพราะมีความอยากและมีปัญญามาสนองความอยากด้วย ทำให้มีแนวโน้มและศักยภาพที่จะออกนอกลู่นอกทางได้อย่างไม่จำกัด
ในระดับเบา ๆ ความโลภอาจจะเป็นแค่การชดเชยปมด้อยตัวเองตั้งแต่เด็ก เช่น อยากอำนาจ วาสนา บารมี มีพรรคมีพวก ก็จะใช้ปัญญาหากลวิธีตั้งแต่การวางแผน ชักจูง สร้างศรัทธา เพื่อดึงคนให้มาติดตัว ทั้งเพื่อความมั่นคงทางใจ อำนาจต่อรอง
หรือหนัก ๆ เข้าก็นำไปสู่ผลประโยชน์อื่น ๆ ก็สุดแล้วแต่ ในระดับหนัก ๆ ก็จะเป็นความโลภที่มองหาผลประโยชน์ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งสามารถเป็นไปได้ทั้งการ การเอารัดเอาเปรียบ การช่อโกง การค้ายาเสพติด การทุจริตคอรัปชั่น หรือทำในสิ่งที่ต่อผิดกฎหมายหรือศิลธรรมอื่น ๆ ตามศักยภาพที่พึงมี
ประเภทที่ ปัญญาน้อยและโลภมาก คนกลุ่มนี้เป็นฐานกำลังให้กับคนกลุ่มแรก กล่าวคือ ไม่มีปัญญาเท่าเขาแต่ก็ใช้วิธีการเกาะเขาไป เป็นแขนเป็นขา เรียกว่าเมื่อเจอคนที่เข้าใจว่าพึ่งได้แล้วสักพักก็จะมีแม่เหล็กดูดให้ไปติดกันเอง กลายเป็นคนดี ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน
ในระดับน้อย ๆ คนกลุ่มนี้โดยมากจะมีความเกียจคร้านเป็นที่ตั้ง รักสบาย อยากได้ความเป็นอยู่ที่ไม่ต้องคิดหรือปรับตัวอะไรมาก ก็จะทำตัวเป็นติ่งไปหลบใต้ปีกคนที่คิดว่าเป็นผู้มีบารมี เพื่อให้เกาะไปทำอะไรให้สะดวกโยธิน แน่นอนผลประโยชน์ที่คนกลุ่มนี้คาดหวังเป็นเรื่องเงินเป็นหลัก ไม่ได้ลึกซึ้งเท่าคนกลุ่มแรกตามระดับปัญญาที่แตกต่างกันไป
ในระดับมากขึ้นก็จะเป็นคนที่ไม่สนใจหรือไม่รับผิดชอบต่อสังคม/สิ่งแวดล้อม ตีมึน ทำมั่ว แต่หวังรวย เอารัดเอาเปรียบตามศักยภาพ จะหลุดไปสู่เรื่องหนัก ๆ ก็อย่างเช่น ออกไปก่ออาชญากรรมที่ไม่ฉลาดนักให้ตำรวจจับได้บ่อย ๆ ดังที่เป็นข่าวแบบนี้เป็นต้น
ประเภทที่ ปัญญามากและโลภน้อย คนกลุ่มนี้แทบจะตรงกันข้ามกับคนกลุ่มแรก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และ ไม่สามารถไปครอบงำด้วยอะไรง่าย ๆ วัยรุ่นหน่อยจะบอกว่าคนกลุ่มนี้อินดี้ (Indy) มีกรอบและหลักคิด หยิ่งทะนงในสายตาคนภายนอก พูดอะไรน่าคิดจนบางครั้งแทงใจดำคนได้อย่างร้ายกาจ
ระดับเริ่ม ๆ ก็เป็นคนที่ไม่ต้องตามกระแสง่าย ๆ ไม่ต้องการผลประโยชน์ พวกพ้อง หรือ ความสนใจ ให้ความสำคัญกับความคิดและหลักการเป็นสำคัญ ทำอะไรจะดูแท้และสุดได้จริง ๆ จัง ๆ
ระดับที่เทพจริง ๆ คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยให้ใครเข้าถึงได้มากนัก ทำให้หลายครั้งสังคมเราถามหากันว่าคนเก่งและดีหายไปไหน นี่ไง ความมีปัญญาและไม่อยากได้อะไร ทำให้คนกลุ่มนี้เลือกที่จะปลีกวิเวกมากกว่าออกมาประลองยุทธกับใครต่อใคร อยู่เงียบ ๆ เรียบ ๆ ทำงานสะสมทรัพย์ตามรูปแบบชีวิตที่ตนเองเลือกสบายใจกว่า 
ประเภทที่ 4ปัญญาน้อยและโลภน้อย คนกลุ่มนี้จะไม่ได้ตามคนกลุ่มไหนเลย เป็นคนไม่หือไม่อือ เป็นคนมักน้อย ถ่อมตน กตัญญู และ ใช้ชีวิตเล็ก ๆ อย่างมีความสุขได้ ปัญหาคือสังคมเราไม่ได้มีคนแค่กลุ่มเดียว ทำให้คนกลุ่มที่ถูกคนที่มีความโลภหาประโยชน์ซะเป็นส่วนใหญ่ (เพราะหาจากคนมีปัญญามากไม่ได้) อย่าเบาะ ๆ ก็ใช้เป็นลูกค้าที่น่ารัก ซื่อสัตย์ ขายอะไรก็ซื้อ บอกอะไรก็เชื่อ โดนโกงโดนเอาเปรียบก็ไม่คิดอะไร ใครทำอะไรออกใหม่ก็จะเข้าใจ ดีแล้ว ประหยัดแล้ว สะอาดแล้ว กิน ๆ ใช้ ๆ ไป ไม่ต้องคิดมาก
หนัก ๆ หน่อยก็จะกลายเป็นลูกน้องผู้ซื่อสัตย์ เพราะเชื่อใครเชื่อจริง แบบรักหมดใจใช่เลยทำนองนั้น เป็นลูกค้าชั้นดีของธุรกิจเครือข่าย การบริจาคแบบสุดขั้ว หรือ การเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งนี้เกิดจากความจริงใจและไม่หวังอะไรทั้งสิ้น
ย้ำอีกครั้งว่าอย่าเผลอไปเทียบ เพราะชีวิตจริงมันไม่มีอะไรขาวกับดำ มีแต่ เทา ๆ ที่มีการไล่ระดับอย่างสลับซับซ้อน เพราะที่สุดคือสติของเราเองเท่านั้นที่จะหยั่งรู้และพิจารณาได้อย่างซื่อสัตย์ว่า ดีกรีด้านปัญญาและความโลภของเราเองอยู่ในระดับไหน ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วย
กล่าวเช่นนี้เพราะชีวิตมีมิติที่หลากหลายและกว้างมากทั้ง เรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องครอบครัว เรื่องการเงิน เรื่องสังคม ฯลฯ เยอะแยะยิบย่อยไปหมด ตัวอย่างเช่น บางคนรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จในธุรกิจก็ยังต้องมาตามแก้ปัญหาที่ลูกก่อไว้ไม่รู้จบ เพราะปัญญามากในเรื่องงานแต่น้อยในเรื่องลูก แบบนี้เป็นต้น


เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย


Wednesday, May 27, 2015

อรุณรุ่งที่กัมพูชา


เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการและนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับการผนวกเอาปัจจัยของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล “Business case for integrating Environmental, Social and Governance (ESG) factors in investment” การประชุมฯจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการรณรงค์เพื่อการส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จากข้อมูลของโครงการฯ ทำให้ทราบว่าประเทศในภูมิภาคเอเซียมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจสูงมากโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของเราเช่นเวียดนาม พม่าและกัมพูชา โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและบริการด้านสาธารณสุข ภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีตัวแทนจากนักลงทุน องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และภาคเอกชนจากลาว เวียดนาม สิงค์โปร์ มาร่วมนำเสนอแนวปฏิบัติและกลยุทธ์ด้าน ESG เพื่ออภิปรายถึงการนำไปใช้ในประเทศตนเอง
ในความหลากหลายในการทำเสนอนั้นมีองค์กรที่น่าสนใจองค์กรหนึ่งที่ชื่อว่าอรุณ (ARUN)” ซึ่งเป็นองค์กรในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อการลงทุนด้านกิจการเพื่อสังคม (Social Investment) ให้กับกลุ่มธุรกิจเล็ก ในประเทศกำลังพัฒนาโดยการได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากประเทศญี่ปุ่นทั้งในรูปแบบการสนับสนุนรายบุคคลและในรูปแบบองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้กลไกของการดำเนินการเชิงธุรกิจแบบกิจการเพื่อสังคมแก้ไขปัญหาต่างๆอาทิเช่นความยากจนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ARUN ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการและนักลงทุนผ่านกิจกรรมด้านการลงทุนโดยยึดหลัก การลงทุนอย่างมีคุณค่าเพื่อสร้างความยั่งยืนและมั่งคั่งให้สังคม กิจการเพื่อสังคมที่ ARUN ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนได้แก่ iKure Techsoft บริษัทเล็กๆ ที่ให้บริการด้านไอทีโดยออกแบบซอฟ์แวร์ที่สามารถให้บริการเชื่อมโยงสถานให้บริการสาธารณสุข การตรวจสอบอาการเบื้องต้น และบริการอื่นด้านสาธาณสุขเบื้องตนในพื้นที่ห่างไกลในประเทศอินเดีย นอกจากนั้นยังมีผู้รับทุนจากเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างองค์กร Sahakreas CEDAC ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือเกษตรกรรายเล็กกว่า 100,000 คนในกัมพูชาโดยให้การฝึกอบรมด้านการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสหกรณ์ และด้านการบริหารจัดการการจำหน่ายสินค้าการเกษตรจากโครงการ การทำหน้าที่ของ ARUN ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับและผู้ให้ที่สำคัญคือการที่ผู้รับเองมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้โครงการต่างๆ นั้นมีรายได้กลับมาเพื่อใช้ในการบริหารจัดการต่อไป มิใช่เป็นการรับเพื่อนำเงินไปใช้ในกิจกรรมแต่อย่างเดียว


ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเงินสนับสนุนจะโดนนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ปัญหาสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน องค์กรอรุณใช้ปัจจัย 3 ข้อหลักนี้เพื่อเป็นการพิจารณาว่าองค์กรนั้นๆ จะสามารถนำทุนที่ได้รับไปประกอบการกิจการเพื่อสังคมได้จริงหรือไม่ ปัจจัยประกอบไปด้วย

1. ภาวะความเป็นผู้นำและความเป็นผู้ประกอบการของผู้บริหารองค์กร
2. โครงสร้างขององค์กรและความมีบรรษัทภิบาล และความเป็นไปได้ในการเติบโตตามรูปแบบของธุรกิจ
3. รูปแบบการทำงานและนวัตกรรมขององค์กรในการแก้ปัญหาสังคม

          ทีมงานของ ARUN นั้นประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งชาวกัมพูชา และชาวญี่ปุ่นผู้สนับสนุนทุนเป็นส่วนใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่นั้นมีประสบการณ์ในด้านการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ เพื่อให้สามารถพิจารณารูปแบบของโครงการต่างๆ ตามโมเดลกิจการเพื่อสังคมและนำไปสู่การสร้างรายได้ในเชิงธุรกิจ

          ท่ามกลางการเริ่มต้นเติบโตอย่างจริงจังโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสาธารณูปโภค ของประเทศเพื่อนบ้านของเรา อันเป็นผลมาจากการก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่การเติบโตในยุคสมัยนี้นั้นเริ่มต้นการพูดคุยและการลงทุนกันด้วยสมดุลทั้ง 3 กล่าวคือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ตัวอย่างจากโครงการเพื่อการส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้เกิดรูปแบบการจัดการกิจการทั้งในกลุ่มหวังผลกำไรและไม่หวังผลกำไร อันจะเป็นประโยชน์กับพวกเราคนไทยในการมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และนำมาพัฒนาตนเองในการบริหารจัดการในการดำเนินธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ให้ก้าวไกล และทัดเทียมกันเมื่อวัน AEC เข้ามาเยือนอย่างเป็นรูปแบบ


ผู้เขียน: 
พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์
ผู้จัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย



เทคนิค 3 ประการเพื่อประเมินและติดตามผลกิจกรรม CSR

ในระยะที่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดตัวรายงานประจำปีและรายงานความยั่งยืนของหลากหลายองค์กร ทำให้เราได้อ่านเรื่องราว ประเด็นที่น่าสนใจในด้านการขับเคลื่อนโครงการ CSR  ซึ่งบางองค์กรใช้วิธีแยกเล่ม บางองค์กรรวมเป็นเล่มเดียวกัน สู่สาธารณะชนมากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาขององค์กร ด้านรายได้ ผลกำไร งบประมาณและการใช้จ่าย รายนามผู้บริหารหรือบุคลากร กิจกรรมด้านความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เนื้อหาในรายงานอาจมีการเปรียบเทียบกับผลงานในปีก่อน ๆ และการคาดคะเนผลงานในปีต่อ ๆ ไปด้วย

สารัตถะของรายงานในปัจจุบันได้เน้นประเด็นเรื่องของประโยชน์ร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคมไปด้วยกัน (Shared-value) เพื่อแสดงให้เห็นความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และยังสะท้อนถึงการดำเนินงานด้านโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องเป็นไปอย่างมืออาชีพ เป็นระบบ และสอดคล้องกับวิถีและกลยุทธ์ของการดำเนินธุรกิจ โดยข้อสมมุติฐานเบื้องต้นว่า การดำเนินการด้าน CSR นั้นเป็นไปเพื่อการช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น จากความท้าทายที่สังคมโลกต้องประสบอยู่ในปัจจุบัน อาทิเช่น การที่ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเหลื่อมล้ำของข้อมูลด้านดิจิตัล รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงและมีทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่แตกต่างกัน หากใช้กลไกขององค์กรเอกชนในการร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อสะท้อนความสำเร็จที่แท้จริงที่จะนำสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น การติดตามและประเมินผลจึงมีความจำเป็นเพื่อสามารถสื่อสารให้ทั้งผู้บริหารและสังคมได้เข้าใจและมีส่วนช่วยทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นๆ

หลายบริษัทติดตามและประเมินผลกิจกรรม CSR โดยมุ่งเน้นการติดตามและประเมินผลในเชิงเปรียบเทียบสมการกิจกรรมของโครงการกับผลลัพธ์มากเกินไป ไม่ได้เชื่อมโยง ทำให้ผลลัพธ์เป็นภาพใหญ่ ทำให้ความสำเร็จกระจัดกระจายไม่สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้  บางองค์กรใส่ใจติดตามและประเมินผลในระหว่างที่โครงการดำเนินการอยู่เท่านั้น แต่ไม่ได้มีการเข้าไปติดตามผลความยั่งยืนในเรื่องที่ได้มีการดำเนินโครงการไปแล้ว ว่าสิ่งที่ได้ดำเนินโครงการไปแล้วยังสามารถเป็นตัวเชื่อมต่อ การพัฒนาสังคมและชุมชนได้หรือไม่ เรามาลองดูเทคนิค 3 ประการนี้ เพื่อเป็นอีกมุมมองในการพัฒนาและปรับปรุงการติดตามและประเมินผลในการทำโครงการ CSR ให้สามารถตอบโจทย์ประเด็นด้านการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคมไปด้วยกัน (Shared-Value)
 1. ให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดที่ส่งผลกับผลลัพธ์ปลายทาง (outcomes) ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขการอาสาสมัคร งบประมาณที่บริจาค หรือจำนวนพนักงานที่เข้าไปมีส่วนร่วมนั้นมีความสำคัญที่จะบ่งชี้ความจริงจังและความโปร่งใสของในการดำเนินกิจกรรมด้านความยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจเรื่องคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาสังคมเช่นนี้ ดังนั้นตัวชี้วัดที่ควรให้ความใส่ใจด้วยคือ ตัวชี้วัดที่จะบ่งชี้ความสำเร็จของผลลัพธ์ปลายทาง (Outcome) เพื่อสามารถสื่อสารทั้งภายใน ภายนอกองค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ช่วยทำให้สังคมดีขึ้นมาอย่างไร โดยยืนจากมุมมองของผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiaries) ของโครงการ ภายใต้คำถามหลักที่ว่า ชีวิตเขาดีขึ้นอย่างไร จากการเข้าร่วมเโครงการนี้ แบบไม่เกินจริง

2. เรียนรู้จากบริษัทชั้นนำอื่นๆ การที่ได้มีโอกาสอ่านรายงานความยั่งยืนหรือเรียนรู้มุมมองด้านการประเมินผลด้านความยั่งยืน ผ่านบริษัทที่มีโครงการด้าน CSR ในระดับโลก หรือมีวาระการเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีความซับซ้อน หรือกลุ่มฟอรั่มออนไลน์สำหรับผู้นำด้าน CSR เช่น Triple Pundit CSRwire Guardian Sustainable Business FastCoExist  และ CSRchat ก็จะทำให้เราจากสามารถเห็นเครื่องมือ ตัวชี้วัด และวิธีการในการติดตามและประเมินผล อย่างมีประสิทธิภาพได้
 
3. รับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านกิจกรรมเช่นการจัดการประชุมกลุ่มย่อยแบบ Focus group การให้คะแนนโหวตผ่าน Social media การทำการสอบถามวิจัยต่างๆ เพื่อฟังเสียงของเขาเหล่านั้น และนำไปปรับปรุงการตั้งตัวชี้วัด กระบวนการในการติดตามและประเมินผล สร้างคุณค่าและความสนใจร่วมกันได้

การให้ความสำคัญกับการติดตามและประเมินผลที่แสดงถึงคุณค่าร่วม (Shared-Value) จะทำให้โครงการ CSR เกิดผลประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านของผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) และผู้สนับสนุนด้านงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นองค์ความรู้ สร้างต้นแบบวิธีการที่ช่วยพัฒนาสังคมไปสู่ความยั่งยืนต่อไป


4 ข้อควรระวังในการสื่อสาร CSR

1.   อย่าเก่งอย่างโดดเดียว ตรรกะการทำงานด้าน CSR นั้นเป็นการขับเคลื่อนด้วยความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ปัจจุบันการมีส่วนร่วมหรือการสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญของการพัฒนาโครงการไปสู่ความยั่งยืน แต่บางครั้งที่เราอ่านเรื่องราว CSR ขององค์กรที่เล่าความสำเร็จในการทำกิจกรรมหรือโครงการ CSR แบบไม่กล่าวถึงความร่วมมือกับใครเลย มุ่งเน้นแต่ชื่อองค์กรและผู้บริหารของตนเอง ซึ่งผลลัพธ์จากการสื่อสารแบบเก่งอย่างโดดเดียวก็จะทำให้ขัดต่อตรรกะการสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการ CSR และพลาดโอกาสในการสร้างเครือข่ายการทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

2. อย่าพูดถึงแต่ประเด็นองค์กรตนเอง เรื่องราว CSR เป็นสารที่สามารถสื่อถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมต่อสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่หากพูดถึงแต่ประเด็นหรือเรื่องราวที่องค์กรตนเองสนใจในการสื่อสาร CSR เท่านั้นก็ไม่ได้เข้าใจบริบทหรือความต้องการของสังคมที่จะได้รับประโยชน์จากการทำกิจกรรม CSR หากเรื่องราว CSR สามารถพูดถึงประเด็นขององค์กรหลัก และเชื่อมโยงบูรณาการถึงผู้รับประโยชน์หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใต้กิจกรรม เสมือนเป็นภาพจิ๊กซอว์ที่ต่อเสร็จบริบูรณ์แล้ว

3. อย่าผิดกาละเทศะ  เรื่องราว CSR มิได้มีไว้ใช้ตอบโต้การขัดแย้งรุนแรง หากเกิดความขัดแย้งขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมาตามเหตุและผล มากกว่ากล่าวอ้างเอาเรื่องราว CSR มาเพื่อประโยชน์ในการตอบโต้ ซึ่งทำให้ลดคุณค่าของ CSR ในเชิงเครื่องมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงภาคเอกชนและภาคประชาสังคม  บางครั้งการสื่อสารที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้ผลสำเร็จในการทำกิจกรรมหรือโครงการด้าน CSR เป็นที่ประจักษ์จากผู้ได้รับผลประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่องค์กรต้องรับมือกับสถานการณ์ล่อแหลม ข่าวลือ

4. อย่าน่าเบื่อ อย่านำเสนอ CSR ในรูปแบบที่ต้องปีนบันได 7 ชั้น หรือจบประกาศนียบัตริขั้นสูงใดๆ เพื่อสามารถจะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ หรือเรื่องราวที่นำเสนอแบบทุกข์โศกระทมเศร้า จนไม่อยากจะลืมตามองโลกใบนี้ในเวลาต่อมา  แม้ชิวิตความเป็นจริงจะต้องถูกท้าทายโดยบริบทโหดๆ ของสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แต่ CSR เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้  ภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม รวมใจเชื่อมโยงความสามารถของตนเองเพื่อขับเคลื่อนให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นเรื่องราว CSR จึงควรสื่อสารอย่างมีชีวิตชีวา และมีความหวัง เข้าถึงหัวใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานความเป็นจริง โดยนักสื่อสารอาจนำเรื่องราวชีวิตจริงในสังคมมาเป็นตัวบอกเล่ากิจกรรมโครงการ CSR การใช้ภาพ การใช้วีดีโอ สื่อเรื่องราวประเด็นของ CSR ให้หลากหลายเข้ากับรูปแบบความสนใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป้าหมายปลายทางสำคัญของการสื่อสาร CSR คือการสร้างการมีส่วนร่วม และเห็นคุณค่าของการทำโครงการ CSR ต่างๆ เพราะนั้นหมายถึงการเปิดใจ สู่ความร่วมมือ การแสดงความคิด และนำไปสู่ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของโครงการนั้นอย่างยั่งยืน





Wednesday, February 11, 2015

อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 4 หมวกดำ อย่าจำผิด

สวัสดีปีใหม่คุณผู้อ่าน สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ถือเป็นฉบับแรกของปีพุทธศักราช 2558 ซึ่งน่าจะมีอะไรใหม่ ๆ มาท้าทายให้คุณผู้อ่านได้ฟันฝ่าและเดินหน้าอย่างเข้มแข็งกันต่อไป ว่าไปแล้วข่าวในประเทศเราช่วงนี้ก็ดูจะมีกลิ่นการเมืองขึ้นมาเล็ก ๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผสมปนเปไปกับข่าวทางสังคมอื่น ๆ เล็กใหญ่ไปตามเรื่อง ล่าสุดที่น่าสนใจคือกรณีของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น Post ข้อความตามข่าวเล่าเหตุการณ์แสดงความไม่พอใจกับการบริหารจัดการของสนามบินต่อระบบ Taxi จนต้องออกมา Post ข้อความขอโทษขอโพยกัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมถึงปล่อยให้มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้ เข้าข่ายปลาเน่าตัวเดียวทำให้ เหม็นไปทั้งเข่งแท้ ๆ ทั้งที่ Taxi ดี ๆ ก็มีเยอะ คำถามคือวิธีการอะไรที่จะช่วยให้เรามองเห็นปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อวางระบบที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพได้บ้าง
ที่ยกรื่องนี้มาเล่าเพราะจะเชื่อมเข้ามาสู่ Ministry of Learning The Series ในตอนที่ว่ากันถึงเทคนิคในการใช้หมวกดำ ซึ่งจะต่อจากหมวกอื่น ๆ ตามลำดับที่เคยนำเสนอไปแล้ว โดยหมวกดำนั้น Edward de Bono ตั้งใจจะสื่อถึงมุมมองในด้านมืด หรือ ด้านลบ หรือความเป็นไปได้ในทางที่เลวร้ายที่สุดที่เราจะนึกออกจากข้อเท็จจริงที่เราได้จาก “หมวกขาว” (ไม่ใช่หมวกอื่น ๆ)
ทั้งนี้โดยมากแล้วเราจะใช้หมวกดำตามจากการใช้หมวกเหลืองดังนั้นจำเป็นต้อง “ถอด” หมวกเหลืองออกไป และ เริ่ม List สิ่งที่จะนำไปสู่การคาดคะเนสถานการณ์ร้าย ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น (แนะนำให้ไปอ่านบทความย้อนหลังตาม Link)
เท่าที่ผมสัมผัสมา คนส่วนใหญ่จะคิดว่าตัวเองชำนาญการใช้หมวกดำมากกว่าหมวกอื่น ๆ เพราะเหมือนจะง่ายที่เราตั้ง Dark Mode นำเอาไว้ เรียกว่าเรื่องคิดลบนี่น่าจะมีอะไรให้คิดสะดวกกว่าการคิดบวก เพราะมีประสบการณ์ชีวิตบางอย่างที่ทำให้เชื่อแบบนั้น แต่อย่าคิดว่าจะสะดวกโยธินและทำให้การใช้หมวกดำถูกต้องเสมอไป (ผมกำลังใช้หมวกดำบอกอยู่) เทคนิคที่ควรพิจารณาไว้ตอนใช้หมวกดำมีดังต่อไปนี้
เทคนิคที่ 1 ใช้ “อาจจะ” ให้ชิน คำว่า “อาจจะ” นี้เปิดโอกาสให้เราได้สมมติตัวเองว่าจะมีเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เป็นไปได้ได้สะดวกใจขึ้นโดยที่ไม่ต้องรอให้เหตุการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้นมาจริง ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าการใช้หมวกดำไม่ใช้การตั้งเป้าหมายในทางวินาศสันตะโร หรือ แช่งชักหักกระดูกใคร แต่เป็นการคิดเผื่อไว้ในกรณีที่อาจจะเกิด ดังนั้นสวมหมวกดำก็ใช้ mode ในการคิดว่า “อาจจะ” หรือ What If ให้ชินกันซะตั้งแต่เนิ่น ๆ
เทคนิคที่ 2 อย่ากลัวเราจะเป็นคนไม่ดี หลายคนกลัวการคิดลบ กลัวว่าการเป็นคนคิดลบจะกลายเป็นคนเลว คนที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือ คนที่ไม่สามารถเป็นผู้นำได้ ซึ่งจริง ๆ ถ้าอ้างเทคนิคแรกที่กล่าวไปแล้วจะพบว่าเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เทคนิคที่เหมาะหากเริ่มมีความรู้สึกแบบนี้ในใจคือให้ถอดตัวเองออกมา มองในสิ่งที่สถานการณ์และสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์นั้นมากกว่าเอาตัวเอาเข้าไปผูก จะช่วยให้การ List สิ่งที่อาจจะเกิดในด้านลบได้สะดวกใจขึ้น
เทคนิคที่ 3 อย่าปล่อยให้ความขี้เกียจครอบงำ หลายครั้งเรา “ไม่กล้าคิด” เพราะ “ขี้เกียจแก้” คือบางคนไม่อยากมีปัญหามากในตอนวางแผนเพราะกลัวว่าเดี๋ยวงานจะเยอะขึ้นตอนออกจากห้องประชุม ทำให้ไม่กล้าที่จะชี้หรือมองปัญหาที่อาจจะเกิด เข้าข่ายเราแกล้งตายตอนเจอหมี คิดว่าหมีมันจะไม่รู้ ซึ่งเสี่ยงเกินไปกับปัญหาที่อาจจะเกิดกับงานของเรา ดังนั้นเราต้องไม่ปล่อยให้ความขี้เกียจมาอำพรางข้อสังเกตที่อาจจะเป็นปัจจัยของความสำเร็จหรือความล้มเหลวของทีมเป็นอันขาด
เทคนิคที่ 4 ทำ Risk Analysis ถึงจุดหนึ่งหากคำว่า “อาจจะระดับเทพ” คือมีความเสี่ยงที่มีมันหนักหนามาก ทีมต้องมานั่งทำสิ่งที่เรียกว่าการวิเคราะห์ความเสี่ยง หรือ Risk Analysis ว่าสิ่งที่อาจจะนั้นมีโอกาสบ่อยมั้ย หรือ มีผลประทบแรงแค่ไหน ถ้าช่วยกันคิดออกมาแล้วได้ว่าบ่อยและแรงอันนี้การบ้านหนักหน่อยที่จะต้องมาว่ากันต่อว่า “อย่างไร” ในหมวกเขียวที่จะใช้ในตอนต่อไป
เทคนิคที่ 5 ใช้แล้วก็ต่อยอด เวลาเราทำงานทุกคนจะ “เก่งขึ้น” โดยธรรมชาติ การใช้หมวกดำไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปตั้งต้นใน List เดิม ๆ เสมอไป เพราะทุกครั้งที่งานลักษณะเดียวกันนี้สำเร็จลง เราควรค้นหาวิธีการทำงานที่ดี (Good Practice) และ ถอดบทเรียน (Lesson Learn) มาเป็นต้นทุนเชิงประสบการณ์ เมื่องานใหม่เข้ามาก็มองหา “ความต่าง” แล้วค่อยไปใช้หมวกดำกับสิ่งที่ซับซ้อนขึ้นต่อไปได้เลย สุดท้ายพอประสบการณ์สูง ๆ ก็จะเรียกว่าเห็นทุกอย่างดั่งฝ่ามือตัวเองมองสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทะลุปรุโปร่งตั้งแต่ต้น ๆ เลยด้วยซ้ำ
เทคนิคเสริม หมวกดำจะเหมือนกับหมวกอื่น ๆ เพราะใช้หลักการระดมสมอง (Brainstorm) ดังนั้นตอนใช้โดยเฉพาะเวลาคิดหลาย ๆ คนก็ให้เก็บแนวคิดและความเป็นห่วงเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งตัดรอนแนวคิดใคร
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับการมองสิ่งที่พึงระวัง เหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่ายนะ ทั้งจะมองจะคิดและประคองตัวเองให้คิดอย่างมีคุณภาพ
สำหรับ Ministry of Leaning – The Series: อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ นี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขในการมองอนาคตอย่างระมัดระวัง แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี
เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

Link ที่เกี่ยวข้อง