Wednesday, May 27, 2015

อรุณรุ่งที่กัมพูชา


เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการและนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับการผนวกเอาปัจจัยของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล “Business case for integrating Environmental, Social and Governance (ESG) factors in investment” การประชุมฯจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการรณรงค์เพื่อการส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จากข้อมูลของโครงการฯ ทำให้ทราบว่าประเทศในภูมิภาคเอเซียมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจสูงมากโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของเราเช่นเวียดนาม พม่าและกัมพูชา โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและบริการด้านสาธารณสุข ภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีตัวแทนจากนักลงทุน องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และภาคเอกชนจากลาว เวียดนาม สิงค์โปร์ มาร่วมนำเสนอแนวปฏิบัติและกลยุทธ์ด้าน ESG เพื่ออภิปรายถึงการนำไปใช้ในประเทศตนเอง
ในความหลากหลายในการทำเสนอนั้นมีองค์กรที่น่าสนใจองค์กรหนึ่งที่ชื่อว่าอรุณ (ARUN)” ซึ่งเป็นองค์กรในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อการลงทุนด้านกิจการเพื่อสังคม (Social Investment) ให้กับกลุ่มธุรกิจเล็ก ในประเทศกำลังพัฒนาโดยการได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากประเทศญี่ปุ่นทั้งในรูปแบบการสนับสนุนรายบุคคลและในรูปแบบองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้กลไกของการดำเนินการเชิงธุรกิจแบบกิจการเพื่อสังคมแก้ไขปัญหาต่างๆอาทิเช่นความยากจนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ARUN ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการและนักลงทุนผ่านกิจกรรมด้านการลงทุนโดยยึดหลัก การลงทุนอย่างมีคุณค่าเพื่อสร้างความยั่งยืนและมั่งคั่งให้สังคม กิจการเพื่อสังคมที่ ARUN ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนได้แก่ iKure Techsoft บริษัทเล็กๆ ที่ให้บริการด้านไอทีโดยออกแบบซอฟ์แวร์ที่สามารถให้บริการเชื่อมโยงสถานให้บริการสาธารณสุข การตรวจสอบอาการเบื้องต้น และบริการอื่นด้านสาธาณสุขเบื้องตนในพื้นที่ห่างไกลในประเทศอินเดีย นอกจากนั้นยังมีผู้รับทุนจากเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างองค์กร Sahakreas CEDAC ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือเกษตรกรรายเล็กกว่า 100,000 คนในกัมพูชาโดยให้การฝึกอบรมด้านการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสหกรณ์ และด้านการบริหารจัดการการจำหน่ายสินค้าการเกษตรจากโครงการ การทำหน้าที่ของ ARUN ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับและผู้ให้ที่สำคัญคือการที่ผู้รับเองมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้โครงการต่างๆ นั้นมีรายได้กลับมาเพื่อใช้ในการบริหารจัดการต่อไป มิใช่เป็นการรับเพื่อนำเงินไปใช้ในกิจกรรมแต่อย่างเดียว


ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเงินสนับสนุนจะโดนนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ปัญหาสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน องค์กรอรุณใช้ปัจจัย 3 ข้อหลักนี้เพื่อเป็นการพิจารณาว่าองค์กรนั้นๆ จะสามารถนำทุนที่ได้รับไปประกอบการกิจการเพื่อสังคมได้จริงหรือไม่ ปัจจัยประกอบไปด้วย

1. ภาวะความเป็นผู้นำและความเป็นผู้ประกอบการของผู้บริหารองค์กร
2. โครงสร้างขององค์กรและความมีบรรษัทภิบาล และความเป็นไปได้ในการเติบโตตามรูปแบบของธุรกิจ
3. รูปแบบการทำงานและนวัตกรรมขององค์กรในการแก้ปัญหาสังคม

          ทีมงานของ ARUN นั้นประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งชาวกัมพูชา และชาวญี่ปุ่นผู้สนับสนุนทุนเป็นส่วนใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่นั้นมีประสบการณ์ในด้านการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ เพื่อให้สามารถพิจารณารูปแบบของโครงการต่างๆ ตามโมเดลกิจการเพื่อสังคมและนำไปสู่การสร้างรายได้ในเชิงธุรกิจ

          ท่ามกลางการเริ่มต้นเติบโตอย่างจริงจังโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสาธารณูปโภค ของประเทศเพื่อนบ้านของเรา อันเป็นผลมาจากการก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่การเติบโตในยุคสมัยนี้นั้นเริ่มต้นการพูดคุยและการลงทุนกันด้วยสมดุลทั้ง 3 กล่าวคือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ตัวอย่างจากโครงการเพื่อการส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้เกิดรูปแบบการจัดการกิจการทั้งในกลุ่มหวังผลกำไรและไม่หวังผลกำไร อันจะเป็นประโยชน์กับพวกเราคนไทยในการมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และนำมาพัฒนาตนเองในการบริหารจัดการในการดำเนินธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ให้ก้าวไกล และทัดเทียมกันเมื่อวัน AEC เข้ามาเยือนอย่างเป็นรูปแบบ


ผู้เขียน: 
พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์
ผู้จัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย



No comments:

Post a Comment