สำหรับสัปดาห์นี้ ผมมีข้อสังเกตบางอย่างที่มีต่อสังคมรอบ ๆ ตัว ที่อยากมาชวนคุณผู้อ่านคุย ด้วยประทับใจในหลักการที่ได้เคยเขียนไปแล้วของ Kurt von Hammerstein-Equord ในตอน ขี้เกียจอย่างไรให้รุ่งเรือง รวมถึง Joseph Luft และ Harrington Ingham ในตอน รู้เขารู้เรา ไม่ต้องรบก็ชนะ ผมเลยเอาหลักการนี้มาวิเคราะห์สังคมที่เราอาศัยอยู่ก็พบว่ามีคน 4 ประเภทที่มีระดับของ ปัญญา และ ความโลภ แตกต่างกันไปอาศัยอยู่ร่วมกัน และ มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
ขยายความสักเล็กน้อย คำว่า ปัญญา ในที่นี่มีความหมายกว้างคำว่าฉลาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด ซึ่งครอบคลุมถึงความรอบรู้ การใช้ความรู้ และ การหยั่งรู้ในเรื่องอื่น ๆ ที่จริง ๆ คนทั่วไปอาจจะมองไม่เป็น โดยทั่วไปปัญญาเป็นคำไม่มีประจุ แน่นอนมีดีกว่าไม่มี การใช้คำว่าปัญญามาก หรือ ปัญญาน้อย ไม่ได้หมายถึง โง่ หรือ ฉลาด
ในขณะที่ คำว่า ความโลภ ในที่นี้หมายถึง ความอยากได้ไม่รู้จักพอ อันนี้ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอีกเช่นกัน ซึ่งถ้าขยายความอีกนิดจะได้ว่า ความโลภ คือ กิเลสอย่างหนึ่งที่เกิดจากตัณหา นำไปสู่การดิ้นรน ถือเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ความโลภไม่ได้จำกัดแค่เรื่องทางวัตถุเท่านั้น แต่หมายถึงความอยากที่ซับซ้อนกว่านั้นด้วย เช่น ชื่อเสียง ลาภยศ อำนาจ การยอมรับ ฯลฯ คำว่าความโลภมีประจุไปในทางลบ แต่ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์สักทีเดียว (ซึ่งจะขอคุยในโอกาสต่อไป)
ก่อนเราจะไปต่อ ขอทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีกนิดว่าผมไม่มีเจตนายกตัวอย่างบุคคลใดเป็นการเฉพาะเจาะจง คำอธิบายต่าง ๆ ลักษณะต่าง ๆ มาจากข้อสังเกตและการวิเคราะห์เพื่อจัดกลุ่มเป็นสำคัญเท่านั้น เอาล่ะ เมื่อเรานำเอาปัญญาและความโลภมาไขว้กัน เราจะพบคน 4 ประเภทได้ดังภาพนี้
ประเภทที่ 1 ปัญญามากและโลภมาก คนกลุ่มนี้เป็นตัวการสำคัญทำให้โลกเราวุ่นวาย เพราะมีความอยากและมีปัญญามาสนองความอยากด้วย ทำให้มีแนวโน้มและศักยภาพที่จะออกนอกลู่นอกทางได้อย่างไม่จำกัด
ในระดับเบา ๆ ความโลภอาจจะเป็นแค่การชดเชยปมด้อยตัวเองตั้งแต่เด็ก เช่น อยากอำนาจ วาสนา บารมี มีพรรคมีพวก ก็จะใช้ปัญญาหากลวิธีตั้งแต่การวางแผน ชักจูง สร้างศรัทธา เพื่อดึงคนให้มาติดตัว ทั้งเพื่อความมั่นคงทางใจ อำนาจต่อรอง
หรือหนัก ๆ เข้าก็นำไปสู่ผลประโยชน์อื่น ๆ ก็สุดแล้วแต่ ในระดับหนัก ๆ ก็จะเป็นความโลภที่มองหาผลประโยชน์ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งสามารถเป็นไปได้ทั้งการ การเอารัดเอาเปรียบ การช่อโกง การค้ายาเสพติด การทุจริตคอรัปชั่น หรือทำในสิ่งที่ต่อผิดกฎหมายหรือศิลธรรมอื่น ๆ ตามศักยภาพที่พึงมี
ประเภทที่ 2 ปัญญาน้อยและโลภมาก คนกลุ่มนี้เป็นฐานกำลังให้กับคนกลุ่มแรก กล่าวคือ ไม่มีปัญญาเท่าเขาแต่ก็ใช้วิธีการเกาะเขาไป เป็นแขนเป็นขา เรียกว่าเมื่อเจอคนที่เข้าใจว่าพึ่งได้แล้วสักพักก็จะมีแม่เหล็กดูดให้ไปติดกันเอง กลายเป็นคนดี ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน
ในระดับน้อย ๆ คนกลุ่มนี้โดยมากจะมีความเกียจคร้านเป็นที่ตั้ง รักสบาย อยากได้ความเป็นอยู่ที่ไม่ต้องคิดหรือปรับตัวอะไรมาก ก็จะทำตัวเป็นติ่งไปหลบใต้ปีกคนที่คิดว่าเป็นผู้มีบารมี เพื่อให้เกาะไปทำอะไรให้สะดวกโยธิน แน่นอนผลประโยชน์ที่คนกลุ่มนี้คาดหวังเป็นเรื่องเงินเป็นหลัก ไม่ได้ลึกซึ้งเท่าคนกลุ่มแรกตามระดับปัญญาที่แตกต่างกันไป
ในระดับมากขึ้นก็จะเป็นคนที่ไม่สนใจหรือไม่รับผิดชอบต่อสังคม/สิ่งแวดล้อม ตีมึน ทำมั่ว แต่หวังรวย เอารัดเอาเปรียบตามศักยภาพ จะหลุดไปสู่เรื่องหนัก ๆ ก็อย่างเช่น ออกไปก่ออาชญากรรมที่ไม่ฉลาดนักให้ตำรวจจับได้บ่อย ๆ ดังที่เป็นข่าวแบบนี้เป็นต้น
ประเภทที่ 3 ปัญญามากและโลภน้อย คนกลุ่มนี้แทบจะตรงกันข้ามกับคนกลุ่มแรก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และ ไม่สามารถไปครอบงำด้วยอะไรง่าย ๆ วัยรุ่นหน่อยจะบอกว่าคนกลุ่มนี้อินดี้ (Indy) มีกรอบและหลักคิด หยิ่งทะนงในสายตาคนภายนอก พูดอะไรน่าคิดจนบางครั้งแทงใจดำคนได้อย่างร้ายกาจ
ระดับเริ่ม ๆ ก็เป็นคนที่ไม่ต้องตามกระแสง่าย ๆ ไม่ต้องการผลประโยชน์ พวกพ้อง หรือ ความสนใจ ให้ความสำคัญกับความคิดและหลักการเป็นสำคัญ ทำอะไรจะดูแท้และสุดได้จริง ๆ จัง ๆ
ระดับที่เทพจริง ๆ คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยให้ใครเข้าถึงได้มากนัก ทำให้หลายครั้งสังคมเราถามหากันว่าคนเก่งและดีหายไปไหน นี่ไง ความมีปัญญาและไม่อยากได้อะไร ทำให้คนกลุ่มนี้เลือกที่จะปลีกวิเวกมากกว่าออกมาประลองยุทธกับใครต่อใคร อยู่เงียบ ๆ เรียบ ๆ ทำงานสะสมทรัพย์ตามรูปแบบชีวิตที่ตนเองเลือกสบายใจกว่า
ประเภทที่ 4ปัญญาน้อยและโลภน้อย คนกลุ่มนี้จะไม่ได้ตามคนกลุ่มไหนเลย เป็นคนไม่หือไม่อือ เป็นคนมักน้อย ถ่อมตน กตัญญู และ ใช้ชีวิตเล็ก ๆ อย่างมีความสุขได้ ปัญหาคือสังคมเราไม่ได้มีคนแค่กลุ่มเดียว ทำให้คนกลุ่มที่ถูกคนที่มีความโลภหาประโยชน์ซะเป็นส่วนใหญ่ (เพราะหาจากคนมีปัญญามากไม่ได้) อย่าเบาะ ๆ ก็ใช้เป็นลูกค้าที่น่ารัก ซื่อสัตย์ ขายอะไรก็ซื้อ บอกอะไรก็เชื่อ โดนโกงโดนเอาเปรียบก็ไม่คิดอะไร ใครทำอะไรออกใหม่ก็จะเข้าใจ ดีแล้ว ประหยัดแล้ว สะอาดแล้ว กิน ๆ ใช้ ๆ ไป ไม่ต้องคิดมาก
หนัก ๆ หน่อยก็จะกลายเป็นลูกน้องผู้ซื่อสัตย์ เพราะเชื่อใครเชื่อจริง แบบรักหมดใจใช่เลยทำนองนั้น เป็นลูกค้าชั้นดีของธุรกิจเครือข่าย การบริจาคแบบสุดขั้ว หรือ การเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งนี้เกิดจากความจริงใจและไม่หวังอะไรทั้งสิ้น
ย้ำอีกครั้งว่าอย่าเผลอไปเทียบ เพราะชีวิตจริงมันไม่มีอะไรขาวกับดำ มีแต่ เทา ๆ ที่มีการไล่ระดับอย่างสลับซับซ้อน เพราะที่สุดคือสติของเราเองเท่านั้นที่จะหยั่งรู้และพิจารณาได้อย่างซื่อสัตย์ว่า ดีกรีด้านปัญญาและความโลภของเราเองอยู่ในระดับไหน ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วย
กล่าวเช่นนี้เพราะชีวิตมีมิติที่หลากหลายและกว้างมากทั้ง เรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องครอบครัว เรื่องการเงิน เรื่องสังคม ฯลฯ เยอะแยะยิบย่อยไปหมด ตัวอย่างเช่น บางคนรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จในธุรกิจก็ยังต้องมาตามแก้ปัญหาที่ลูกก่อไว้ไม่รู้จบ เพราะปัญญามากในเรื่องงานแต่น้อยในเรื่องลูก แบบนี้เป็นต้น
เขียนโดย
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย
No comments:
Post a Comment