Wednesday, May 27, 2015

เทคนิค 3 ประการเพื่อประเมินและติดตามผลกิจกรรม CSR

ในระยะที่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดตัวรายงานประจำปีและรายงานความยั่งยืนของหลากหลายองค์กร ทำให้เราได้อ่านเรื่องราว ประเด็นที่น่าสนใจในด้านการขับเคลื่อนโครงการ CSR  ซึ่งบางองค์กรใช้วิธีแยกเล่ม บางองค์กรรวมเป็นเล่มเดียวกัน สู่สาธารณะชนมากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาขององค์กร ด้านรายได้ ผลกำไร งบประมาณและการใช้จ่าย รายนามผู้บริหารหรือบุคลากร กิจกรรมด้านความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เนื้อหาในรายงานอาจมีการเปรียบเทียบกับผลงานในปีก่อน ๆ และการคาดคะเนผลงานในปีต่อ ๆ ไปด้วย

สารัตถะของรายงานในปัจจุบันได้เน้นประเด็นเรื่องของประโยชน์ร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคมไปด้วยกัน (Shared-value) เพื่อแสดงให้เห็นความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และยังสะท้อนถึงการดำเนินงานด้านโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องเป็นไปอย่างมืออาชีพ เป็นระบบ และสอดคล้องกับวิถีและกลยุทธ์ของการดำเนินธุรกิจ โดยข้อสมมุติฐานเบื้องต้นว่า การดำเนินการด้าน CSR นั้นเป็นไปเพื่อการช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น จากความท้าทายที่สังคมโลกต้องประสบอยู่ในปัจจุบัน อาทิเช่น การที่ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเหลื่อมล้ำของข้อมูลด้านดิจิตัล รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงและมีทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่แตกต่างกัน หากใช้กลไกขององค์กรเอกชนในการร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อสะท้อนความสำเร็จที่แท้จริงที่จะนำสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น การติดตามและประเมินผลจึงมีความจำเป็นเพื่อสามารถสื่อสารให้ทั้งผู้บริหารและสังคมได้เข้าใจและมีส่วนช่วยทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นๆ

หลายบริษัทติดตามและประเมินผลกิจกรรม CSR โดยมุ่งเน้นการติดตามและประเมินผลในเชิงเปรียบเทียบสมการกิจกรรมของโครงการกับผลลัพธ์มากเกินไป ไม่ได้เชื่อมโยง ทำให้ผลลัพธ์เป็นภาพใหญ่ ทำให้ความสำเร็จกระจัดกระจายไม่สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้  บางองค์กรใส่ใจติดตามและประเมินผลในระหว่างที่โครงการดำเนินการอยู่เท่านั้น แต่ไม่ได้มีการเข้าไปติดตามผลความยั่งยืนในเรื่องที่ได้มีการดำเนินโครงการไปแล้ว ว่าสิ่งที่ได้ดำเนินโครงการไปแล้วยังสามารถเป็นตัวเชื่อมต่อ การพัฒนาสังคมและชุมชนได้หรือไม่ เรามาลองดูเทคนิค 3 ประการนี้ เพื่อเป็นอีกมุมมองในการพัฒนาและปรับปรุงการติดตามและประเมินผลในการทำโครงการ CSR ให้สามารถตอบโจทย์ประเด็นด้านการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคมไปด้วยกัน (Shared-Value)
 1. ให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดที่ส่งผลกับผลลัพธ์ปลายทาง (outcomes) ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขการอาสาสมัคร งบประมาณที่บริจาค หรือจำนวนพนักงานที่เข้าไปมีส่วนร่วมนั้นมีความสำคัญที่จะบ่งชี้ความจริงจังและความโปร่งใสของในการดำเนินกิจกรรมด้านความยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจเรื่องคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาสังคมเช่นนี้ ดังนั้นตัวชี้วัดที่ควรให้ความใส่ใจด้วยคือ ตัวชี้วัดที่จะบ่งชี้ความสำเร็จของผลลัพธ์ปลายทาง (Outcome) เพื่อสามารถสื่อสารทั้งภายใน ภายนอกองค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ช่วยทำให้สังคมดีขึ้นมาอย่างไร โดยยืนจากมุมมองของผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiaries) ของโครงการ ภายใต้คำถามหลักที่ว่า ชีวิตเขาดีขึ้นอย่างไร จากการเข้าร่วมเโครงการนี้ แบบไม่เกินจริง

2. เรียนรู้จากบริษัทชั้นนำอื่นๆ การที่ได้มีโอกาสอ่านรายงานความยั่งยืนหรือเรียนรู้มุมมองด้านการประเมินผลด้านความยั่งยืน ผ่านบริษัทที่มีโครงการด้าน CSR ในระดับโลก หรือมีวาระการเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีความซับซ้อน หรือกลุ่มฟอรั่มออนไลน์สำหรับผู้นำด้าน CSR เช่น Triple Pundit CSRwire Guardian Sustainable Business FastCoExist  และ CSRchat ก็จะทำให้เราจากสามารถเห็นเครื่องมือ ตัวชี้วัด และวิธีการในการติดตามและประเมินผล อย่างมีประสิทธิภาพได้
 
3. รับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านกิจกรรมเช่นการจัดการประชุมกลุ่มย่อยแบบ Focus group การให้คะแนนโหวตผ่าน Social media การทำการสอบถามวิจัยต่างๆ เพื่อฟังเสียงของเขาเหล่านั้น และนำไปปรับปรุงการตั้งตัวชี้วัด กระบวนการในการติดตามและประเมินผล สร้างคุณค่าและความสนใจร่วมกันได้

การให้ความสำคัญกับการติดตามและประเมินผลที่แสดงถึงคุณค่าร่วม (Shared-Value) จะทำให้โครงการ CSR เกิดผลประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านของผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) และผู้สนับสนุนด้านงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นองค์ความรู้ สร้างต้นแบบวิธีการที่ช่วยพัฒนาสังคมไปสู่ความยั่งยืนต่อไป


No comments:

Post a Comment