Tuesday, December 15, 2015

เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ของ Brain Based Learning

ด้วยว่าผมได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการสัมมนาที่จัดโดย OKMD ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยคุณหมอประเสริฐ บุญเกิด มาให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง Brain Based Learning หรือ BBL ก็เกิดความประทับใจ กอปรกับความชอบในหนังสือเรื่อง “สมองหายล้า ชีวิตก็หายเหนื่อย” เขียนโดยคุณหมออีชีฮยอง (Lee Si Hyung) แปลโดย คุณตรองสิริ ทองคำใส ก็มีอะไรหลายอย่างที่ตกตะกอนจนอยากเก็บมาเล่าให้ฟังในเป็นข้อสังเกตแบบง่าย ๆ เกี่ยวกับเรื่องของ BBL ดังต่อไปนี้

ข้อสังเกตที่ 1 BBL ไม่ใช่ทฤษฎีทางการศึกษา เออ... งงมั้ย? คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า BBL เป็นทฤษฎีการเรียนรู้ในสายครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ แต่จริง ๆ แล้วคุณหมอประเสริฐให้แนวคิดว่า BBL เป็นทฤษฎีทางการแพทย์ที่อธิบายถึงโครงสร้างและหน้าที่ในการทำงานของสมองมนุษย์เราตรง ๆ เลย พูดอีกนัยหนึ่งคือเป็นหลักการเรียนรู้ของสมองที่ข้อมูลผ่านมาทางประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้รส และ การสัมผัส เพื่อจัดเก็บ เรียบเรียง และ ดึงข้อมูลต่าง ๆ ออกมาใช้
นั่นคือ BBL เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาที่สมองเรามีปฏิสัมพันธ์ (Interact) กับโลกภายนอก ซึ่งเริ่มตั้งแต่ที่เราทุกคนเป็นทารกอยู่ในท้องเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นพ่อแม่และคุณครูไม่ต้องสงสัยหรือไปกำหนดเด็ก ๆ เลยว่าเขาควรเรียนตอนไหน เพราะเขาเรียนตลอดเวลา ดังนั้นการช่วยกันจัดกิจกรรมหรือสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ของเด็ก ๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากพอ ๆ กับการพยายามด้านวิชาการอย่างเดียว

ข้อสังเกตที่ 2 BBL คนเราเรียนรู้จาก “ของจริง” สู่ “สัญลักษณ์” เสมอ อันนี้ต่อจากข้อสังเกตแรกที่กล่าวมาแล้ว เพราะสมองคนเราจริง ๆ เรียนรู้ผ่านสัมผัสต่าง ๆ ที่มีอยู่ซึ่งจะทำหน้าที่แปลงข้อมูลต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์เฉพาะบุคคล ดังนั้นการรับรู้ (Perceiving) และการเรียนรู้ (Learning) ของแต่ละคนในเรื่องเดียวกันจะไม่เหมือนกันแน่นอน
ลองเล่นกันดูก็ได้ ขอให้คุณผู้อ่านนึกถึงคำว่า “การทำข้าวผัด” (ไปเปลี่ยนเป็นข้าวผัดเจกันเอาเองนะ) ว่าคุณผู้อ่านนึกถึงอะไร (ติ๊กต๊อก... ติ๊กต๊อก... ติ๊กต๊อก...)
.
.
.
สิ่งที่คุณผู้อ่านนึกถึงการทำข้าวผัดเป็นไปได้เยอะแยะเลย ไม่ว่าจะเป็นภาพเตาแก๊ส/เตาถ่าน/เตาไฟฟ้า ภาพกระทะ ภาพข้าวที่คลุกในกระทะ ภาพเครื่องปรุงที่เตรียมไว้ ภาพควัน เสียงซ่าของกระทะ เสียงตะหลิวขูด/เคาะกับกระทะ กลิ่นของน้ำมัน เครื่องที่ลงผัด เครื่องปรุงที่ใส่เข้าไป รสชาติกลมกล่อมและความร้อนของข้าวผัดตอนชิม ไอร้อนจากขอบกระทะลอยขึ้นมาโดนมือให้ร้อนเป็นระยะ หรือหลาย ๆ อย่างที่กล่าวมานี้ผสมผสานรวมกัน (นั่นล่ะข้าวผัด) ซึ่งนั่นเกิดจาก BBL ของเราที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติการเรียนรู้แต่ละคน
สิ่งสำคัญคือ การทำข้าวผัด แต่ละคนจะตื้นลึกหนาบางก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในเรื่องนี้ที่ต่างกัน ถ้าเป็นคนกินอย่างเดียวก็จะเห็นแบบหนึ่ง เป็นผู้ช่วยก็จะได้แบบหนึ่ง เป็นคนทำเองก็จะเรียนรู้อย่างหนึ่ง ดังนั้นวิธีที่ง่ายและเป็นธรรมชาติที่สุด คือ การให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้โดยให้โอกาสเขาได้ลองเล่นหรือทำกิจกรรมจากประสบการณ์จริงให้ได้มากที่สุดนั่นเอง ให้เขาได้ใช้ประสาทสัมผัสที่หลากหลาย สมองเขาค่อย ๆ เปลี่ยน “ของจริง” เป็น “สัญลักษณ์” ที่เป็นของเฉพาะบุคคลไปเองได้ในที่สุด แน่นอนว่าดีกว่าการเรียนแบบ Talk and Chalk ที่จะจำกัดแค่การมองและการฟังเท่านั้น

ข้อสังเกตที่ 3 BBL เกิดขึ้นได้ทุกวัยไม่ใช่แค่เด็ก ปัจจัยสำคัญของ BBL คือการวิจัยพบว่า “ศักยภาพของตนเอง” คือแรงจูงใจในการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมาก นั่นไม่แปลกใจหรอกว่าทำไมคนบางคนถึงเดินทางรอบโลก พิชิตเขาสูง ๆ หรือทำอะไรที่คนปกติเห็นว่าไม่จำเป็นต้อง (หาเรื่อง) ทำเลย
เพราะการค้นหา (Explore) ยิ่งหา ยิ่งเพลิน ยิ่งมีพลัง และ การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ นี่แหละคือที่มาของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) เพราะกิจกรรมที่มนุษย์ที่จะทำได้มีเป็นหลักล้านเลย ใครรักการออกกำลังกาย ถ่ายภาพ เรียนภาษา เล่นดนตรี ท่องเที่ยว เขียน พูด ทำงานศิลปะ ไปลองไปหัดกันดูถ้ามีโอกาส
อ่านถึงตรงนี้คุณผู้อ่านที่อยู่วัยเกษียณสบายแล้ว เพราะการที่เราได้ใช้สมองบ่อย ๆ ด้วยการค้นหาอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ จะทำให้สมองเรายังคงพัฒนาต่อเพื่อสู้กับความเสื่อมทางกายภาพที่มาตามธรรมชาติ เรียกว่าเป็นยาชะลอความเสื่อมของสมองได้เป็นอย่างดี ก็ขอให้โอกาสตัวเองและคนใกล้ตัวดูนะ ลองจากเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ ๆ ตัว ยิ่งรู้ว่าตัวเองทำได้ก็จะเพลินกับการใช้ชีวิต อย่าหยุดเด็ดขาด

ข้อสังเกตที่ 4 อาหารสมอง อาหารสมองแบ่งได้หลายอย่าง ถ้าเป็นอาหารทางกายภาพ คุณหมออีชีฮยองบอกว่าสมองต้องการแค่น้ำตาลกลูโคส (Glucose) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น (เออ แล้วซุปไก่ผมไปไหน?) ในขณะที่บางแง่ อาหารสมอง คือ เนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ อย่างเช่น คอลัมน์ “อาหารสมอง” ของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ แบบนั้นก็ถือว่าเป็นอาหารสมองในอีกมิติหนึ่ง
แต่อาหารสมองที่มีคุณค่าและคนมักจะมองข้ามไปคือ “อาหารใจ” อันนี้คุณหมอประเสริฐและคุณหมออีชีฮยองกล่าวตรงกันเป๊ะ อาหารใจที่เป็นแรงผลัดดันให้เกิดการเรียนรู้และเดินไปข้างได้เสมอคือ “ความสำเร็จ” ไม่เชื่อลองสังเกตเด็กเล็ก ๆ ดูสิ (ผู้ใหญ่ยังเป็นเลย) ว่าทำไมเขาจะชอบทำอะไรในเรื่องเดิม ๆ เพราะเขาเก่งในเรื่องนั้นหรือกติกาของเกมนั้น ชัยชนะคือความสำเร็จที่ลึก ๆ แล้วทุกคนปรารถนา อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ต้องสร้างสมดุลกับการค้นหาด้วยนะ อย่าเอาแต่เพลินกับการเป็นปลาใหญ่ในบ่อเล็ก ต้องออกไปลุยกับโจทย์ใหม่ ๆ ดูบ้าง

ข้อสังเกตสุดท้าย สมองมีหนักมีเบา ผมไม่ได้หมายถึงน้ำหนักนะ เรื่องนี้คุณหมอประเสริฐและคุณหมออีชีฮยองก็กล่าวเหมือนกันอีกว่าสมองคนเราจะเรียนรู้ได้ดี หรือ มีความคิดดี ๆ ในเวลาที่สมองปลอดโปร่ง (สมองเบา) หรือ เรียนรู้โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองเรียนรู้ ทำแล้วเพลิน (Flow) ทำแล้วสนุก อยากทำเรื่อย ๆ อันนี้คือจุดที่จะทำให้คนคนนั้นสามารถเรียนรู้และดำดิ่งกับการเรียนรู้นั้นจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญ (Expert) ซึ่งมีบางคนเท่านั้นที่จะหากิจกรรม/เรื่อง/สภาพแวดล้อมที่เหมาะได้เจอ
คนที่สมองหนักคือคนที่เครียด ก็เสียไปหมดทั้งสุขภาพกายสุขภาพใจ ต้องออกไปหาอะไรแรง ๆ ทำ เช่น เว้นรถ ฯลฯ หนัก ๆ เข้าก็ทำร้ายตัวเองหรือสังคมไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในที่สุด ซึ่งเราต้องใช้ปัญญาในการค้นหาว่าอะไรที่ใช้และเหมาะกับตัวเรา (นั่น ได้ค้นหาอีกแล้ว)
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่อง Brain Based Learning สรุปมาให้อ่านกันพอหอมปากหอมคอในแบบกว้าง ๆ เพื่อให้คุณผู้อ่านเลือกไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ทั้งการดูแลเด็ก ๆ การพัฒนาตนเอง จนถึงการหากิจกรรมดี ๆ ที่เหมาะกับคนสูงอายุให้กับผู้ใหญ่ที่บ้านได้เรียนรู้กันต่อไป

สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขกับการเรียนรู้ และ สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้คนรอบ ๆ ตัว แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี

เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
Business Process Manager 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

No comments:

Post a Comment