Sunday, December 28, 2014

เวียดนาม จะตามไทยทันหรือไม่ ให้ไปคิดดู

สวัสดีคุณผู้อ่าน ปีใหม่แล้ว ช่างเป็นช่วงที่ดูดีและสดชื่นกว่าช่วงอื่น ๆ ของปีอยู่ไม่น้อย ผมอยากจะชวนผู้อ่านได้ลองใช้โอกาสในช่วงเวลาดี ๆ แบบนี้มองย้อนไปยังเหตุการณ์ต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมาว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง อะไรสำเร็จ อะไรยังต้องลุยต่อ เพื่อเก็บเกี่ยว เรียนรู้ และ นำเอาบทเรียนต่าง ๆ มาปรับปรุงสิ่งใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามาในปีหน้าฟ้าใหม่


(ทีมงานสถาบันคีนันแห่งเอเซีย)


สำหรับผมเองก็มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ได้เรียนรู้มาเร็ว ๆ นี้เหมือนกัน นั่นคือต้นเดือนที่ผ่านมาผมรับมอบหมายให้ไปช่วยวางแผนกับทีมงานสาขาของสถาบันคีนันแห่งเอเซียที่ Hanoi โดยพื้นที่เป้าหมายของโครงการเราอยู่ในอำเภอ Tinh Gia (อ่านว่า “ติง-ซา” นะ ไม่ใช่ “ทิน-เจีย”ที่ต้องขับรถออกจาก Hanoi ไปทางใต้ราว ชั่วโมง

Tinh Gia เป็นอำเภอติดทะเล มีประชากรประมาณ 2 แสนคน คิดดูว่าเราไปในช่วงหนาวได้สัมผัสอากาศเย็น ๆ ริมหาดจะเยี่ยมแค่ไหน... กรุณาถอดภาพนั้นออก เพราะหาดที่นี่คลื่นลมแรงมากเล่นอะไรไม่ได้ ฝุ่นควันเพียบ ฝนลงต้องรีบหลบเพราะตัวจะเปื้อนจากฝุ่นที่ละอองฝนพาลงมา โดยอำเภอนี้ถือว่าเป็นเมืองที่ยากจนติดอันดับ ซึ่งมีความต้องการด้านสาธารณสุขมากโดยโรคติดต่อที่เป็นเป้าหมายของโครงการ การทำงานทั้งหมดจะต้องวางแผนอย่างระมัดระวัง เพราะต้องทำงานร่วมกับภาคีอีกหลายฝ่ายภายใต้ความกดดันด้านเวลา
ความโชคดีคือผมได้ประสบการณ์การทำงานกับทีมงานชาวเวียดนามมาแบบเข้มข้นถึงใจ เพราะไปแค่ วันประชุมเกือบ ๆ 30 ชั่วโมง กอปรกับการสังเกตพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนที่นี่ แม้ว่าจะมีคำพูดที่ว่า “เวียดนามอีกนานกว่าจะตามไทยทัน” สำหรับผมแล้วก็ใช่อยู่นะหากมองที่สาธารณูปโภค แต่ถ้ามองที่การทำงานแล้ว “ไม่แน่ เสมอไปนะ” โดยผมมีข้อสังเกตของการทำงานกับคนที่นี่เทียบกับเวลาที่ผมต้องทำงานกับคนไทยจากหน่วยงานอื่น ๆ กันดูบ้าง
ข้อสังเกต 1 เขาไม่เสียพลังงานกับการถือสาหาความ หลายคนที่เคยมองว่าคนเวียดนามไม่ค่อยเรียบร้อยนักในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการจราจร การแสดงความคิดเห็น หรือ การต่อคิว ฯลฯ แต่จริง ๆ แล้วสังคมเขาเป็นสังคมง่าย ๆ สบาย ๆ และ ตรงไปตรงมา
อย่างเรื่องการจราจร บอกตรง ๆ ว่ามันส์สุด ๆ เพราะพาหนะทุกอย่างบนถนนเลื้อยยังกะปลา แทรก เบียด ปาด บีบแตร (ไม่ใช่ทีสองทีนะ แต่ทั้งแช่ทั้งรัว) เปิดไฟสูงส่องรถที่สวนเลนกันอลวนไปหมด มีให้เห็นแทบตลอดเวลา แต่รู้อะไรมั้ย เขาไม่ด่า มองหน้า หรือ ส่งภาษาภาพแบบบ้านเราเลยนะ ทุกอย่างเป็นไปด้วยความสบาย ๆ ไม่สน ไม่โกรธกัน
อย่างการนั่งในโต๊ะทานข้าวร่วมกัน การยกถ้วยชามข้ามหน้าข้ามตา คีบเขี่ยอาหารจากจานหนึ่งไปอีกจานหนึ่งเพื่อให้คนในโต๊ะได้ทานกับข้าวทั่วถึงก็ทำด้วยความหวังดี อยากดูแล ไม่ถือสาหาความ อยู่ง่าย ๆ กินง่าย ๆ ไม่ทะเลาะกัน
สรุปคืออยู่กันแบบอัตตาต่ำ มีมารยาทในแบบของเขา แต่ถ้าคิดว่าขาดวินัยแล้วล่ะก็ไปดูข้อสังเกตที่ 2
ข้อสังเกต ตรงต่อเวลา ต่อจากข้อแรก แม้ว่าจะไม่ถือสาหาความ แต่ถ้าเขานัดอะไรกับเราแล้วมีแต่คำว่า “เป๊ะ” อย่างคนไทยเราช้าสัก นาทีก็ถือไม่น่าเกลียดแล้ว แต่กับคนเวียดนามไม่ใช่เลยแม้แต่นาทีเดียว ทุกอย่างต้องเป๊ะทั้งเวลาเริ่มและเวลาเลิก ใครพูดมาก พูดเลย จะถูกเบรคและให้เก็บไปคุยกันในประชุมอื่น เพราะฉะนั้นวันนึงจะมีประชุมหลาย ๆ นัดต่อให้สมาชิกเท่าเดิมก็จะไม่เลื้อยตารางเป็นอันขาด อันนี้ยอมรับจริง ๆ ว่าเรื่องเวลาเขาคมมาก ทำให้การทำงานของเขาชัดเจน และ กลับมาสู่เป้าหมายการทำงานได้เสมอ
ขัดสังเกต 3 ทุกอย่างไหวหมด ส่วนตัวผมเชื่อว่าผมอยู่ในคนชอบทำงานแล้วนะ แต่พอมาเจอคนเวียดนามที่ชอบทำงานเหมือนกันก็ยอมรับเลยว่าต้องฝึนตัวเองพอสมควรที่จะต้องปรับตัวเองให้ไหวให้ได้ เพราะคนเวียดนามจะไม่บ่นหรือแสดงอาการว่าเหนื่อยล้าแม้ว่าจริง ๆ ต่างคนจะรู้ว่าเหนื่อยแต่เขาจะไม่บ่นสักคำ แม่ว่าการประชุมจะเครียด จะอยู่ในเวลาที่ไม่ใช่เวลาทำงาน เช่น นัดประชุมกัน 2 – 4 ทุ่ม (อืมม ไม่ผิดหรอก 20.00 – 22.00 น.) กับข้าราชการด้านสาธารณสุขชั้นผู้ใหญ่ระดับตำบลเพราะว่าตรงกันแค่ตอนนั้น ทุกคนก็มาหมด มาก็เต็มที่หมด คุยจริงจังกันตามเวลาที่กำหนดไว้เป๊ะ ได้เรื่องได้ราวชัดเจน ไม่ต้องไหลไปนอกรอบ
ข้อสังเกตเสริม ไม่ทราบคุณผู้อ่านเคยเห็นภาพของคนเวียดนามที่สามารถ “ขนของ” ในขนาดที่เหลือเชื่อด้วยจักรยานหรือมอเตอร์ไซด์บ้างหรือไม่ ผมเห็นมากับตาแล้วเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นั่นเพราะคนที่นี่ไหวหมด อะไรใช้ได้ก็ไป อะไรไหวก็ทำ ไม่เกี่ยง
ข้อสังเกต วิจารณ์ตรงไปตรงมา ข้อนี้ก็น่าสนใจ เพราะคนเวียดนามจะให้ Feedback กันในเรื่องการทำงานตรงไปตรงมามากพอ ๆ กับที่เราจะเห็นในประเทศตะวันตก เช่น เวลาจัดอบรม อย่างทีมงานไทยปกติผมจะนัดประชุมกันตอนเย็นหลังเลิกอบรม แต่ทีมเวียดนามประชุมระหว่างเบรคทุกรอบเท่ากับวันหนึ่ง ๆ จะประชุมกัน รอบเพื่อสะท้อนสิ่งที่เพิ่งจะจัดอบรมไป
เมื่อเราขอให้เขาแปลก็จะแปลกใจว่า Comment ที่ให้กันนั้นไม่ธรรมดาเลย ตรงประเด็น มีหลักฐานอ้างอิงที่จดมา และ ให้แนวทางในการปรับปรุงแก้ไขด้วย ไม่มีกั๊กว่าไม่กล้าพูดแบบบ้านเรา ของเขานี่ชี้เลยว่าอะไรไม่ดี ซึ่งวัฒนธรรมการไม่ถือสาหาความ กับ การอยากพัฒนาตนเอง ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างแบบนี้แทบจะตลอดเวลาหลายวันที่ไปทำงานด้วย
สุดท้ายนี้ แม้ว่าระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งการจราจร สุขภาวะ และ การคอรัปชั่น จะเป็นปัจจัยปัญหาสำคัญที่สะกัดและขัดขวางการพัฒนาให้เวียดนามยังคงไล่หลังไทยอยู่ แต่ถ้าเทียบกับหมัดต่อหมัดแบบคนต่อคนแล้ว เวียดนามถือว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เราประมาทไม่ได้ ดังนั้นหากคนไทยเราปล่อยตัว และ เพลิดเพลินกับความบันเทิงจนขาดการพัฒนาตัวเอง นานวันเข้าเมื่อระบบต่าง ๆ ของเพื่อนบ้านเริ่มไล่หลังเราทัน เมื่อนั้นเราคงต้องเหนื่อยกว่านี้อีกหลายเท่ากว่าแน่นอน
สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้ตระหนักในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อนำมาเตรียมความพร้อมให้กับเราเอง แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี

เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

Tuesday, December 23, 2014

เหลียวมองคุณภาพชีวิต


ฮือฮากันมาบ้างแล้วในอดีตเมื่อประเทศภูฏาน ได้ประกาศใช้ ความสุขมวลรวมประชาชาติ  (Gross National Happiness-GNH)    เป็นตัวกำหนดการดำเนินนโยบายภายใต้กรอบความคิดเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีและความทันสมัย  ระหว่างความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับความเข้มแข็งของสังคมอันเกิดจากความพึงพอใจในคุณค่าแท้ของการบริโภคนั้นๆ  โดยประเพณีดั้งเดิมแล้วประเทศส่วนใหญ่ในโลกเน้นการวัดผลเป็นตัวเงินผ่านผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Nation Product) หมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ถูกผลิตหรือใช้บริการภายในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะผลิตขึ้นมาด้วยทรัพยากรของชาติใด


ในกรณีของประเทศภูฏานที่สร้างความแตกต่างในการสร้างนโยบายในการพัฒนาประเทศอิงตามความสุขของประชาชน โดยชี้ให้เห็นว่าความเจริญทางเศรษฐกิจและการบริโภคแต่เพียงอย่างเดียว มิได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงการเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาของประเทศเสมอไป เมื่อประชาชนมีความกินดีอยู่ดีจนถึงระดับหนึ่งแล้ว ความสุขก็ไม่จำเป็นที่จะเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้อีกต่อไป (เข้าทำนองมีเงินก็ใช่ว่าจะมีความสุขเสมอไป) และนี่คือจุดสำคัญที่ทำให้มุมมองการพัฒนาคุณภาพชีวิตเปลี่ยนไป


แนวคิดคุณภาพชีวิต (Quality of Life : QOL) เป็นแนวคิดที่นิยมใช้กันทั่วโลก มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดการพัฒนาทางสังคมแบบยั่งยืน  ในประเทศไทยนั้นท่านอาจารย์ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ให้ทัศนะคุณภาพชีวิตของคน โดยเริ่มตั้งแต่การอยู่ในครรภ์ของมารดา ไปจนถึงการมีชีวิตตามความเหมาะสมกับอัตภาพ เน้นด้านความเสมอภาคของคนที่จะได้รับบริการสังคมจากรัฐ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมใช้แนวคิดมาตรฐานคุณภาพชีวิตกับการพัฒนาแบบยั่งยืนเข้าด้วยกัน  โดยเลือกใช้เฉพาะตัวชี้วัดที่สำคัญ ๆ เท่านั้น ไม่นิยมใช้ตัวชี้วัดที่มีจำนวนมาก โดยที่ประเทศอังกฤษก็จะดูที่ 3 ตัวชี้วัดหลักคือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นักวิชาการต่างประเทศหลายท่านที่แสดงความชื่นชมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในประเทศเล็กๆอย่างภูฏาน หรือประเทศในกลุ่มยุโรปที่หันมาให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพชีวิต ความสุขของประชาชน ร่วมกับการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจในแบบดั้งเดิม แต่ก็ยังคงมีคำถามว่าจะวัด ความสุขอย่างไร เพราะความสุขนั้นเป็นเรื่องความคิดเห็นส่วนบุคคล บางท่านอาจใช้คำว่า Subjective หรือ อัตวิสัย ซึ่งถ้าวัดแต่ความสุขโดยดูเป็นความรื่นเริง ดีใจ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ก็คงไม่เพียงพอในการชี้วัด เพราะการจะมีความสุขนั้นขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมอื่นๆ ทางด้านสังคมด้วย Dr. Martin Seigman นักจิตวิทยาชาวอเมริกา ได้ศึกษาร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Cambridge โดยทำการศึกษากับกลุ่มประเทศในแถบยุโรบเรื่องของความสุข เพราะต้องการค้นหาว่า อะไรคือความสุข ตัวชี้วัดความสุข และการทำให้เกิดความสุขนั้นทำได้อย่างไร ในทัศนะของชาวตะวันตก  Dr. Seigman ไม่เชื่อว่าความสุข วัดได้แค่จากเรายิ้ม หัวเราะ เฮฮา หากแต่ตั้งคำถามที่ว่า ทำไมพ่อแม่ที่เหนื่อยยากลำบากในการเลี้ยงลูกจึงมีความสุข ทำไมคนที่เป็นอาสาสมัครทำงานในพื้นที่ทุรกันดานแต่กลับมีความสุข แล้วความสุขคืออะไร ต้องอยู่สบายจึงมีความสุขจริงหรือไม่ จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าความสุขนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรื่นเริงของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของคนๆนั้นกับผู้อื่น และความรู้สึกที่เขาเหล่านั้นจะสามารถประสบความสำเร็จเกี่ยวกับด้านใดด้านหนึ่ง และความสำเร็จนั้นมีคุณค่ากับผู้อื่น การค้นพบเหล่านี้ดูเรียบง่าย หากแต่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไรนั้นคงต้องไปทำการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการและถอดบทเรียนกันอีกครั้งหนึ่ง

คุณภาพชีวิตจึงไม่ใช่แค่การมองว่าวันนี้เรามีทรัพย์สิน สิ่งของ ทรัพย์สฤงคารมา แต่ยังหมายถึงความคุ้มค่า และความพึงพอใจตามสภาพที่ตนเองเป็นอยู่ และที่สังคมได้รับผลกระทบ  ในวาระที่เป็นช่วงต้อนรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในช่วงปีใหม่นี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะคืนความสุขให้ตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมรอบข้าง ด้วยการเหลียวมองคุณภาพชีวิตที่ไม่ใช่แค่พลุดอกไม้ไฟ และงานเลี้ยงใหญ่โต แต่การทำอะไรเพื่อคนอื่นๆ และร่วมสร้างความสุขร่วมกันในสังคมประเทศไทย 

พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์
ผู้จัดการฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

Thursday, December 18, 2014

เศรษฐกิจไทยจะเข้มแข็งขึ้นได้ไหม หากปัญหาหนี้สินแรงงานไทยได้รับการแก้ไข

แรงงานถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากตัวเลขสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ณ กรกฎาคม 2557) พบว่า ประชากรไทยกว่า 38.49 ล้านคนอยู่ในกลุ่มกำลังแรงงานและเป็นผู้มีงานทำ โดยมีแรงงานจำนวนกว่า 25.28 ล้านคนอยู่นอกภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตและบริการ โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตกว่า 6.49 ล้านคน อุตสาหกรรมการขายส่งและขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์กว่า 6.19 ล้านคน และอุตสาหกรรมที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 2.55 ล้านคน

การพัฒนาศักยภาพการทำงานของแรงงานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สถานประกอบการมักให้ความสนใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต หากแต่ยังขาดการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน เนื่องจากเป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน นอกจากนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าแรงงานเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ประสบปัญหาเรื่องหนี้สินค่อนข้างมาก โดยจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ระดับหนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ในไตรมาสแรกของปี 2557 ระดับหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นจากเกือบ 9 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 มาเป็น 9.9 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ จากผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 2557 โดยหอการค้าโพลล์ พบว่า แรงงานไทยมีหนี้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยที่ 106,216 บาท ซึ่งพุ่งสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในการใช้จ่ายทั่วไปมากที่สุดในสัดส่วน 46.6% และแรงงานกว่า 93.7% มีพฤติกรรมการใช้เงินเกินตัว

กอปรกับผลการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเรื่องโครงการการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนปี 2556 พบว่า ประชาชนกลุ่มอาชีพอิสระรายได้ต่ำและกลุ่มเอกชนมีนายจ้างนั้น เป็นกลุ่มที่มีความรู้ทางการเงินต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ของสถาบันคีนันแห่งเอเซีย (คีนัน) โดยพบว่า แรงงานเอกชนมีนายจ้างและแรงงานอิสระรายได้ต่ำมีระดับความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารการเงินที่ค่อนข้างต่ำ มีจำนวนชั่วโมงการทำงานค่อนข้างสูง ส่งผลให้ขาดโอกาสในการอบรมเพื่อเพิ่มเติมทักษะความรู้ ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มแรงงานเอกชนมีนายจ้าง (แบบมีประกันสังคม) จะมีโอกาสในการก่อหนี้ทั้งในระบบสถาบันการเงินและนอกระบบสถาบันการเงินที่ค่อนข้างมาก จึงทำให้มีโอกาสในการเป็นหนี้บุคคลและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ คีนัน ร่วมกับมูลนิธิซิตี้ จึงได้จัดเวทีเสวนาระดมสมองเรื่อง การพัฒนาความรู้เรื่องการเงินเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยภายใต้โครงการ คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน โดยมีผู้แทนเครือข่ายแรงงานจากทั่วประเทศ ทั้งแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระ (รายได้น้อย) รวมทั้ง ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินแรงงาน และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล รวมทั้งเสนอแนะช่องทางและวิธีการเพื่อเข้าถึงกลุ่มแรงงานไทยสาเหตุหลักที่ทำให้แรงงานมีปัญหาเรื่องภาวะหนี้สิน คือ แรงงานไม่มีความรู้และไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน รวมทั้ง ไม่มีเวลาและไม่มีความสนใจในการหาความรู้เพิ่มเติม อีกทั้ง แรงงานกำลังเผชิญกับปัญหาภาพลวงตาของระบบค่าแรง ที่รายได้ของแรงงานส่วนใหญ่ถูกลวงด้วยเงินค่าล่วงเวลาหรือเงินโอที ซึ่งทำให้แรงงานไม่เพียงต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันหรือทำงานในวันหยุด แต่ยังทำให้แรงงานเข้าใจผิดคิดว่า เงินค่าล่วงเวลา คือ รายได้หลักที่คงที่ของตนเอง แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว สถานประกอบการเริ่มมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของแรงงานลง จึงเกิดปัญหาระดับรายได้รวมไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จนทำให้เกิดลักษณะงูกินหาง คือ กู้เงินจากแหล่งหนึ่งเพื่อชำระหนี้อีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ เรายังพบว่า แรงงานแม้จะมีการออมเงินกับสหกรณ์หลายแห่ง แต่หลายรายทำเพียงเพื่อให้ตนเองมีสิทธิในการกู้ยืมเงินเท่านั้น หรือ การออมเพื่อกู้

ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่มีอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแรงงานรับจ้างอิสระรายได้น้อย ซึ่งแม้จะมีความขยันและตั้งใจทำงาน แต่ระดับรายได้ของแรงงานกลุ่มนี้อย่างไรก็ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย โดยเฉพาะประเภทรายจ่ายที่คาดไม่ถึง ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย แรงงานกลุ่มนี้มักต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง ซึ่งทำให้กลายเป็นเหยื่อจากปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และตกอยู่ในวังวนของความยากจนแบบไม่สิ้นสุด
ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของแรงงานและเพื่อให้เกิดการกินดีอยู่ดีของกลุ่มแรงงานนั้น ควรต้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านความรู้ทางการเงินและทัศนคติที่ดีเรื่องการเงินอย่างเหมาะสม โดยออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับแรงงานในแต่ละกลุ่ม เนื่องจากมีความต้องการและความจำเป็นที่แตกต่างกัน ควบคู่ไปกับการออกมาตราการของภาครัฐในการควบคุมการก่อหนี้บุคคลและแรงงาน ซึ่งควรกำหนดเพดานวงเงินสินเชื่อบุคคลที่สถาบันการเงินต่างๆ จะสามารถปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนแต่ละคนได้ รวมทั้ง ควรส่งเสริมให้มีการออมแบบภาคบังคับ พร้อมไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญเรื่องการออมและการบริหารการเงินส่วนบุคคล นอกจากนี้ การส่งเสริมในเรื่องการหารายได้เพิ่มโดยการสร้างอาชีพเสริมให้แก่แรงงานนั้น อาจเป็นอีกทางออกหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือแรงงานให้มีรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย และมีการออมเงินอีกด้วย

กล่าวโดยสรุป การแก้ไขปัญหานั้นแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ (1) แก้ไขปัญหาหนี้สินแรงงาน (2) เสริมสร้างความรู้และความตระหนักรู้เรื่องการบริหารการเงินแก่แรงงาน สำหรับแนวทางแรก หน่วยงานภาครัฐ สถานประกอบการ และเครือข่ายแรงงาน จำเป็นต้องร่วมมือกันในการจำกัดระดับหนี้สินไม่ให้เพิ่มขึ้น และหาแนวทางในการชำระคืนหนี้ ส่วนแนวทางที่สอง สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงมหันตภัยของหนี้ประเภทต่างๆ และการให้ความสำคัญเรื่องความรู้ด้านการเงิน อันจะทำให้แรงงานไม่ตกเป็นทาสของหนี้นอกระบบ และสามารถเลือกใช้สินค้าทางการเงินต่างๆ เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ได้อย่างชาญฉลาด สุดท้ายนี้ หากมีการส่งเสริมแรงงานไทยให้มีความเข็มแข็งที่เพียงพออย่างจริงจังแล้ว เศรษฐกิจของประเทศไทยย่อมที่จะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ซิตี้ จับมือคีนัน จัดเวทีระดมสมองเพื่อพัฒนาทักษะการบริหารการเงินให้แก่เยาวชน ชี้การไม่ตระหนักรู้ รูปแบบการเรียนการสอน สภาวะสังคมและครอบครัว และสื่อที่ไม่เหมาะสม เป็น 4 ปัจจัยสำคัญก่อวิกฤติการเงิน

28 กรกฎาคม 2557 กรุงเทพฯ- มูลนิธิซิตี้ ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย จัดเวทีเสวนาระดมสมองเรื่อง “การพัฒนาทักษะชีวิต เรื่องความรู้ในการบริหารการเงินส่วนบุคคล ให้แก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักภายใต้การดำเนินโครงการวิจัย คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงินซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิซิตี้ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษา อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานที่สนับสนุนและผลักดันเรื่องการให้ความรู้ทางเงินต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดจนผู้แทนเยาวชนจากทั่วประเทศมาร่วมระดมสมอง เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม และร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล รวมทั้งเสนอแนะช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อันได้แก่กลุ่มเยาวชนไทย

            นางสาวหัสญา หาสิตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะผู้แทนจากมูลนิธิซิตี้ กล่าวถึงผลจากการประชุมระดมสมองว่า ในปัจจุบัน นักเรียนนักศึกษามีการเรียนเชิงทฤษฎีค่อนข้างมาก แต่ขาดการประยุกต์ใช้ รวมทั้งการไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลเท่าที่ควร สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากวิธีการเรียนการสอน และสื่อการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาเรื่องการบริหารการเงินที่ค่อนข้างยากและห่างไกลจากชีวิตประจำวันของเยาวชน ส่งผลให้ เด็กส่วนใหญ่ไม่พร้อมจะนำความรู้ด้านการเงินมาประยุกต์ใช้ สภาวะสังคมแวดล้อมและครอบครัวก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติในการดำรงชีวิตและการจับจ่ายใช้สอยของเยาวชน นอกจากนี้ สังคมปัจจุบันที่อยู่ภายใต้ระบอบบริโภคนิยม วัฒนธรรมการเลียนแบบ และความต้องการการยอมรับจากสังคม ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของเยาวชนไทยด้วยเช่นกัน
นางสมสมร วงศ์รจิต นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวว่า “ครอบครัวเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการปลูกฝังและอบรมเยาวชน ให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารการเงินภายใต้สังคมทุนนิยม สื่อถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นยอดขาย และเพื่อเร่งเร้าให้เกิดการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน ซึ่งเด็กๆ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญของธุรกิจต่างๆ นอกจากนี้ วัฒนธรรมการเลียนแบบและความต้องการการยอมรับจากสังคมหรือกลุ่ม ยังเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการในการบริโภคสิ่งที่ไม่จำเป็น จนทำให้สิ่งที่ไม่จำเป็นกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเยาวชน และเนื่องด้วยสถาบันครอบครัวของสังคมไทยที่มีขนาดเล็กลง ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมการอบรมและปลูกฝังของผู้ปกครอง ซึ่งอาจเลี้ยงดูเยาวชนแบบตามใจมากขึ้น หากแต่ยังขาดการปลูกฝังให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเร่งเร้าภายนอกอย่างเพียงพอ อันจะส่งผลให้เยาวชนขาดทักษะในการใช้ชีวิตและง่ายต่อการถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนเยาวชนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ร่วมกันเสนอแนะทางออกสำหรับการดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนนักศึกษาในแต่ละกลุ่มไว้อย่างน่าสนใจว่า เพื่อกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคล ประเด็นแรก เรื่องสื่อการเรียนการสอน ควรเน้นการทำกิจกรรม ปรับรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาหลักสูตรให้เป็นรูปภาพมากกว่าข้อความเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ รวมทั้งการปรับวิธีการและกระบวนการให้ความรู้ จากที่เคยท่องจำเป็นการกระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ประเด็นที่สอง เพื่อปรับพฤติกรรมและทัศนคติต่อการบริหารการเงินแก่เยาวชน การสร้างบุคคลต้นแบบที่ได้รับการยอมรับจากสังคมก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่จะทำให้เด็กๆ  เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบจากตัวอย่างที่ดี  รวมทั้งการสรรหาผู้แทนเยาวชนต้นแบบ เพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และรณรงค์เรื่องความรู้ทางการเงินแก่กลุ่มเยาวชน ประเด็นที่สาม การส่งเสริมกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อฝึกฝนทักษะด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล เช่น การประกวดโครงการ การแข่งขันทางวิชาการ และการอบรมเสริมสร้างผู้นำ ประเด็นที่สี่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของเงินและการบริหารเงิน การทำงานระหว่างเรียนหรือธุรกิจจำลองก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ซึ่งสามารถสร้างการตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความยากลำบากของการได้เงินมา ประเด็นที่ห้า  ไม่ใช่เพียงแค่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ที่จะต้องเข้ามาดำเนินการ หากแต่สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญ ควรเป็นภาคส่วนหลักในการปลูกฝังให้เยาวชนเห็นถึงคุณค่าของเงินและความสำคัญในการบริหารการเงิน ดังนั้น หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนนักเรียนนักศึกษา จึงเห็นควรว่า พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลสำหรับเยาวชน
นอกจากนี้ นายรัชชพล เหล่าวานิช ผู้ดำเนินรายการด้านการเงิน มันนี่ เมคโอเวอร์ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงเรื่องสื่อโฆษณา ว่า “การควบคุมสื่อโฆษณาที่เร่งเร้าการบริโภคในทิศทางที่สร้างหนี้สินแก่บุคคลก็ควรได้รับการป้องปราม และควรมีการออกมาตรการป้องกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ เพื่อเผยแพร่ความรู้และการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลในวงกว้าง จึง เสนอให้มีช่องทีวีดิจิทัลสาธารณะที่ให้ความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลโดยเฉพาะ เพราะนอกจากจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลแก่ประชาชนโดยส่วนใหญ่แล้ว ยังทำให้ประชาชนรู้สึกคุ้นเคยและไม่คิดว่าเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ไกลตัว
เหนือสิ่งอื่นใด เพื่อให้คนไทยและเยาวชนไทยมีภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตที่เข้มแข็ง พ้นจากวงจรแห่งหนี้สิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกคนเห็นพ้องกันว่า ควรผลักดันให้เรื่องความรู้ด้านการบริหารการเงินเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน และมีองค์กรหลักอันจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการควบคุม เผยแพร่ รณรงค์ และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ด้านการเงินต่อไป
********************************************

ซิตี้
ธนาคารชั้นนำของโลก ที่ให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 200  ล้านราย ในกว่า 160 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก ซิตี้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายให้กับลูกค้าบุคคล องค์กร ภาครัฐและสถาบันต่างๆ  โดยธุรกิจหลักครอบคลุมการธนาคารและสินเชื่อเพื่อลูกค้าบุคคล (สายบุคคลธนกิจ) ธนาคารเพื่อองค์กรและการลงทุน (สายสถาบันธนกิจและวาณิชธนกิจ)  ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์  บริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ รวมถึงบริการบริหารความมั่งคั่ง 
ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
www.citigroup.com | ทวิตเตอร์: @Citi | ยูทูป: www.youtube.com/citi | 
บล็อก: http://new.citi.com | เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/citi | ลิงก์อิน: www.linkedin.com/company/citi

มูลนิธิซิตี้
มูลนิธิซิตี้มีภารกิจในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนต่างๆ ทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านการมีส่วนร่วมและเข้าถึงด้านการเงิน (financial inclusion)    เราประสานงานกับพันธมิตรชั้นนำเพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจที่วัดผลได้แก่ครอบครัวและชุมชนที่มีรายได้น้อย   ทั้งนี้ มูลนิธิซิตี้ดำเนินงานในลักษณะที่มากกว่าการบริจาคเงิน โดยใช้ศักยภาพและต้นทุนด้านบุคลากรจากธุรกิจของซิตี้ในแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มคุณค่าและผลกระทบในโครงการที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุน   ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิซิตี้ได้ที่  www.citifoundation.com

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ให้บริการในการบริหารโครงการ ให้คำปรึกษา จัดการฝึกอบรม รวมถึงดำเนินการวิจัยให้แก่ ภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันคีนันฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ การพัฒนาเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ นวัตกรรมการศึกษาและเยาวชน การสาธารณสุข การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลากว่า 18 ปีในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สถาบันคีนันฯ ได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการ และบริหารจัดการโครงการ รวมเป็นมูลค่ากว่า 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ ท่านสามารถอ่านรายละเอียดข้อมูลของกิจกรรมต่างๆได้ที่ 
www.kenan-asia.org  |  ทวิตเตอร์: @Kenan_Asia | 
ยูทูป: www.youtube.com/user/KenanAsia | บล็อก: kenaninstituteasia.blogspot.com | 
เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/kenaninstituteasia  | ลิงก์อิน: www.linkedin.com/company/kenan-institute-asia


ซิตี้จับมือคีนันจัดเวทีระดมสมองเพื่อหามูลเหตุแห่งหนี้และทางออกให้แก่เกษตรกรไทย

จากการดำเนินโครงการ คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงินโดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิซิตี้กับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย เพื่อแก้ปัญหาการขาดความรู้และทักษะด้านการเงินให้แก่ 3 กลุ่มที่มีปัญหาเข้าขั้นวิกฤติ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา และกลุ่มแรงงานรับจ้างรายได้ต่ำนั้น โดยในวันที่ 28 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้จัดเวทีระดมสมองเรื่อง “ความรู้ทางการเงินเพื่อการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรจากทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันค้นหาสาเหตุของหนี้สินและแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรไทยมีประเด็นหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจจากผู้แทนเกษตรกร และการเปิดรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากหลายหน่วยงานภาครัฐที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาหนี้สินเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างหันกลับมามองว่า แนวทางการพัฒนาเกษตรกรไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการมาอย่างถูกทางแล้วหรือไม่ เพราะปัญหาหนี้สินครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบของเกษตรกรไทยกำลังจะกลายเป็นมรดกตกทอดแก่รุ่นลูกรุ่นหลานในหลายๆ ครอบครัว 

นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ให้ข้อคิดเห็นถึงปัญหาหนี้สินเกษตรกรว่าน่าจะเกิดจากความไม่สมดุลของวิวัฒนาการของภาคการเกษตรไทย โดยกล่าวว่า “ในอดีตเกษตรกรไทยจะหาอยู่ หากินกับธรรมชาติ ดั่งคำกล่าวที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวพัฒนามาเป็น “การทำอยู่ ทำกิน” หรือส่วนที่เหลือจากการผลิตก็นำไปขาย แต่เมื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตได้เข้ามามีอิทธิพลในกระบวนการผลิต ในขณะที่เกษตรกรไม่มีความรู้ที่เพียงพอในการคิดคำนวณและการบริหารจัดการ จึงส่งผลให้รูปแบบการผลิตของเกษตรกรไทยกลายเป็น ลงทุน ซื้ออยู่ ซื้อกินหรือก็คือ ผลผลิตที่ได้จากการเกษตรจะนำไปขายให้แก่นายทุน และตนเองก็ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ จากนายทุนอีกทีหนึ่ง วัฏจักรดังกล่าวนี้จะไม่กลายเป็นปัญหา หากเกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคาขายผลผลิตทางการเกษตรได้ ดั่งเช่นที่นายทุนสามารถกำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ในความเป็นจริง ราคาขายผลผลิตทางการเกษตรนอกจากจะถูกกำหนดราคาจากนายทุนแล้ว เกษตรกรยังต้องรับมือกับความผันผวนของราคาสินค้าในตลาดโลกและจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงทางด้านราคาอีกด้วย”    
  ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เสนอว่า เพื่อการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน การทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง และควรใช้กลไกของชาวบ้านในการดูแลกันเอง ดังเช่นที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้สร้างครูบัญชี และเกษตรกรหรือปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นต้นแบบผู้นำชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ควบคู่ไปกับการบ่มเพาะต้นกล้าเยาวชน วิธีนี้ นอกจากจะสร้างแรงจูงใจ ยกย่องและเชิดชูเกียรติของชาวบ้านแล้ว ยังสร้างแนวร่วมในการชักจูงและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน นอกจากนี้ยังมองว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหากำไรต่างๆ นั้น จะเป็นกลไกสำคัญในการรณรงค์เรื่องการให้ความรู้ทางการเงิน และการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายต่างๆ แก่เกษตรกรไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำมาซึ่งการกินดีอยู่ดี จากการลดภาระหนี้สิน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และสร้างเงินออมให้แก่เกษตรกรไทยต่อไป
นอกจากนี้ ผู้แทนจากภาคการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ร่วมหารือและเสนอแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรไทย โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง จากปัญหาที่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีความรู้ไม่สูงนัก และขาดทักษะในการคิดคำนวณเป็นอย่างมาก ดังนั้น การคิดคำนวณเรื่องต้นทุนการผลิตพืชผลทางการเกษตรจึงเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด หากเกษตรกรสามารถพัฒนาทักษะการคิดคำนวณเรื่องต้นทุนการผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถประเมินต้นทุนการเพาะปลูกของตนเองและสามารถควบคุมต้นทุนการผลิต ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้
ประเด็นที่สอง ช่องทางการให้ความรู้นั้น สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือเครือข่ายกองทุนต่างๆ ภายในชุมชนเป็นหนึ่งในช่องทางที่สามารถเข้าถึงเกษตรกร โดยช่วยเป็นแรงผลักดัน สนับสนุน และให้ความรู้ไปสู่เกษตรกรได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความรู้ทางการเงินควรส่งผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปให้ความรู้ผ่านกลุ่มผู้นำหรือเจ้าหน้าที่ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้แทนชาวบ้านเหล่านั้น นำไปถ่ายทอดและขยายผลต่อ อย่างไรก็ตาม รูปแบบและเนื้อหาควรจะต้องปรับให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นฐานของชุมชนเป็นสำคัญ
ประเด็นที่สาม เพื่อปรับทัศนคติต่อการออมและการเป็นหนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีคติพจน์หลัก เพื่อเป็นเป้าหมายให้แก่ประชาชนทุกคนไม่เพียงแค่เกษตรกรเท่านั้น โดยมุ่งเน้นให้มีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการออม อาทิเช่น การเป็นประเทศที่ประชาชนมีฐานะการเงินที่มั่นคง มีเงินออมที่พอเพียง และมีหนี้ที่ควบคุมได้ หรือไม่เป็นหนี้ เป็นต้น เพื่อให้เกิดกระแสมวลชนในการสร้างแรงกดดันและรณรงค์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของการบริโภค และการบริหารจัดการการเงิน
ประเด็นที่สี่ สื่อควรเป็นอีกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนในการรณรงค์ เนื่องจากสื่อค่อนข้างมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและทัศนคติต่อการบริโภค และการก่อหนี้ของภาคประชาชนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ รายการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิเช่น รายการ หอมแผ่นดินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ควรส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ให้มากๆ และทั่วถึง เพราะจะเป็นการยกย่องและเชิดชูการทำความดี เพื่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในทางที่ดีแก่สังคม
ประเด็นที่ห้า ควรสร้างแบบอย่างหรือผู้นำ (Role Model) ทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน โดยจำเป็นต้องยกย่องบุคคลที่ประสบความสำเร็จจากแนวทางการพึ่งพาตนเองในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนในชุมชน และสร้างความภาคภูมิใจการทำความดีต่อไป
ประเด็นที่หก ควรมีการให้เกียรติและยกย่องในอาชีพเกษตรกรไทย เพื่อให้เกิดความรักและความภาคภูมิใจในวิชาชีพ โดยควรมีการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมเกษตรกร ดั่งเช่นวิชาชีพอื่นๆ เพื่อให้ความรู้ทั้งด้านการผลิตและการบริหารจัดการแก่เกษตรกร นอกจากนี้ ควรมีการเสริมความรู้เพิ่มเติม อาทิ การนำปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความรู้สมัยใหม่มาผสมผสานและเผยแพร่ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งมีการให้วุฒิบัตรเพื่อเป็นการสร้างการยอมรับและเป็นรางวัลแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมอบรม
โดยสรุปพบว่า แม้ว่าปัญหาการขาดความรู้ทางการเงินจะถูกกล่าวถึงและนำเสนอเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในขณะนี้ สิ่งสำคัญที่อาจจะเป็นสาเหตุหลักของปัญหาการก่อหนี้อย่างไม่ระมัดระวังของประชาชนในภาคต่างๆ คือ ทัศนคติต่อเงิน (Attitude to money) ในเรื่องการออม และการสร้างหนี้ ซึ่งเราจะพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยินดีที่จะบริโภคในปัจจุบัน มากกว่าเก็บหอมรอมริบเพื่อให้ได้ผลตอบแทนและสะสมเงินไว้เพื่อบริโภคในอนาคต นอกจากนี้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งในระบบและนอกระบบสถาบันการเงินนั้นก็เป็นไปค่อนข้างง่ายในปัจจุบัน ยิ่งกลายเป็นตัวเร่งการบริโภคของภาคครัวเรือน และการเพิ่มขึ้นของหนี้สินภาคประชาชน ดังนั้น การปรับทัศนคติที่มีต่อการออมและการก่อหนี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ รวมทั้งระวังเรื่องการออกนโยบายต่างๆ ที่อาจจะนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่มีวินัยแก่ภาคประชาชน ขณะเดียวกัน การเร่งให้ความรู้ทางการเงินแก่ภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชาชนที่มีความรู้ทางการเงินต่ำและมีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้นั้น ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนควรดำเนินการเป็นอันดับต้นๆ

*********************************************
เกี่ยวกับซิตี้
ธนาคารชั้นนำของโลก ที่ให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 200  ล้านราย ในกว่า 160 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก ซิตี้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายให้กับลูกค้าบุคคล องค์กร ภาครัฐและสถาบันต่างๆ  โดยธุรกิจหลักครอบคลุมการธนาคารและสินเชื่อเพื่อลูกค้าบุคคล (สายบุคคลธนกิจ) ธนาคารเพื่อองค์กรและการลงทุน (สายสถาบันธนกิจและวาณิชธนกิจ)  ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์  บริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ รวมถึงบริการบริหารความมั่งคั่ง 
ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 
www.citigroup.com | ทวิตเตอร์: @Citi | ยูทูป: www.youtube.com/citi | บล็อก: http://new.citi.com | 
เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/citi | ลิงก์อิน: www.linkedin.com/company/citi
เกี่ยวกับมูลนิธิซิตี้
มูลนิธิซิตี้มีภารกิจในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนต่างๆ ทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านการมีส่วนร่วมและเข้าถึงด้านการเงิน (financial inclusion)    เราประสานงานกับพันธมิตรชั้นนำเพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจที่วัดผลได้แก่ครอบครัวและชุมชนที่มีรายได้น้อย   ทั้งนี้ มูลนิธิซิตี้ดำเนินงานในลักษณะที่มากกว่าการบริจาคเงิน โดยใช้ศักยภาพและต้นทุนด้านบุคลากรจากธุรกิจของซิตี้ในแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มคุณค่าและผลกระทบในโครงการที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุน   ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิซิตี้ได้ที่  www.citifoundation.com
เกี่ยวกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ให้บริการในการบริหารโครงการ ให้คำปรึกษา จัดการฝึกอบรม รวมถึงดำเนินการวิจัยให้แก่ ภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันคีนันฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ การพัฒนาเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ นวัตกรรมการศึกษาและเยาวชน การสาธารณสุข การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลากว่า 18 ปีในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สถาบันคีนันฯ ได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการ และบริหารจัดการโครงการ รวมเป็นมูลค่ากว่า 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ ท่านสามารถอ่านรายละเอียดข้อมูลของกิจกรรมต่างๆได้ที่  
www.kenan-asia.org  |  ทวิตเตอร์: @Kenan_Asia | 
ยูทูป: www.youtube.com/user/KenanAsia | บล็อก: kenaninstituteasia.blogspot.com | 
เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/kenaninstituteasia  | ลิงก์อิน: www.linkedin.com/company/kenan-institute-asia

Thursday, December 11, 2014

เทคนิคการใช้ตัวเลข ที่คุณมักจะหลงกล

Ministry of Learning ฉบับนี้อยากมาชวนคุณผู้อ่านคุยกันถึงเทคนิคในการใช้ตัวเลขที่ทำให้เราหลงกลกันบ่อย ๆ กันดีกว่า บังเอิญผมได้อ่านหนังสือที่สนุกมากเล่มหนึ่งชื่อว่า “วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ” เขียนโดย Darrell Huff ตั้งแต่ปี 1954 นู่นแล้ว แปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ We Learn ซึ่งผมขอชมจากใจจริงว่าแปลได้ดีมาก อ่านแล้วสนุกและเข้าใจสะดวกจริง ๆ

หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยแนวคิดที่ว่าข้อมูลทางสถิติสามารถนำมาสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้เกิดผลบางอย่างไม่ว่าจะเป็นการสร้างผลกำไร การสร้างความน่าเชื่อถือ หรือ ความชอบธรรมในแง่มุมต่าง ๆ ตามแต่ผู้นำเสนอข้อมูลต้องการ ทำได้แม้กระทั่งใช้ข้อมูลชุดเดียวกันแท้ ๆ แต่ใช้แค่บางส่วนหรือรวบนิดรวมหน่อยก็อาจจะทำให้อะไร ๆ ไกลกว่าความเป็นจริงได้มากทีเดียว โดยในเล่มหลักเชิงทฤษฎีและกรณีศึกษาที่สนุกสนาน แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคุณผู้อ่าน ผมจึงขอสรุปเทคนิคมาเล่าให้ฟัง 5 ข้อ เพื่อให้คุณผู้อ่านดึงหูตัวเองเบา ๆ เวลาเราได้ยินอะไรหรู ๆ ดูนะ

เทคนิคที่ 1 ใช้ใครก็ไม่รู้มาเป็นกลุ่มตัวอย่าง เช่น คนไทยส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 74.09 ปี เคยสงสัยมั้ยว่าเขาไปเก็บข้อมูลถามจากใคร กี่คน และ อยู่ที่ไหนบ้าง? แม้ว่าตำราสถิติจะมีสูตรคำนวณว่าประชากรจำนวนเท่าไหร่ควรใช้กลุ่มตัวอย่างเท่าไหร่ถึงจะได้ค่าความคลาดเคลื่อนน้อยตามต้องการ แต่ถ้าผมส่งคุณผู้อ่านทีมหนึ่งไปเก็บข้อมูลในหมู่บ้านห่างไกลจากการรักษาและส่งอีกทีมหนึ่งไปเก็บจากครอบครัวที่ฐานะดีในย่านสุขุมวิท แน่นอนว่าตัวเลขคงห่างกันพอสมควร เห็นรึยังว่าลำพังแค่การสุ่มก็ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไปได้มากเลยล่ะ

เทคนิคที่ 2 บอกค่ากลางของข้อมูลคนละตัว สมมติว่าเราสนใจเงินเดือนของพนักงานในบริษัทแห่งหนึ่ง มีพนักงาน 7 คน ได้เงินเดือนดังนี้
คนที่ 1 พนักงาน 8,000
คนที่ 2 พนักงาน 8,000
คนที่ 3 พนักงาน 8,000
คนที่ 4 ผู้จัดการ 10,000
คนที่ 5 ผู้จัดการอาวุโส 16,000
คนที่ 6 รองประธาน 20,000
คนที่ 7 ประธาน 70,000
ง่าย ๆ เลย ถ้าอาจจะบอกเป็นค่าเฉลี่ย หรือ Mean ก็ให้เอาเงินเดือนของพนักงานทุกคนบวกกันแล้วหารด้วยจำนวนพนักงานตรง ๆ เลย จะบอกว่าบริษัทนี้พนักงานได้เงินเดือนเฉลี่ย 20,000 บาท ถ้าจะบอกเป็นค่า Mode ที่ว่าคนส่วนใหญ่ได้เงินเดือนเท่าไหร่จะบอกได้ทันที่ว่าพนักงานบริษัทนี้ส่วนใหญ่ได้เงิน 8,000 บาท (จำนวนพนักงานเยอะที่สุดถึง 3 คน) หรือ จะบอกเป็นค่า Median ที่ใช้เงินเดือนของพนักงานคนที่ยืนอยู่ตรงกลาง ซึ่งก็คือผู้จัดการที่ได้เงินเดือน 10,000 บาท คราวนี้อยู่ที่ว่าเขาจะเลือกบอกอะไร ถ้าอยากอยากให้ดูรวยก็บอก Mean ถ้าอยากให้ดูจนก็บอก Mode แล้วแต่เหตุการณ์ ทั้งที่จริง ๆ เป็นข้อมูลชุดเดียวกันนะเนี่ย

เทคนิคที่ 3 ใช้อะไรที่ไม่ได้เกี่ยวกันจริง ๆ เช่น มีงานวิจัยที่สรุปผลว่าฐานะทางการเงินของผู้ปกครองส่งผลต่อความสามารถในการเรียนของเด็ก อืมม... แบบนี้คุณผู้อ่านไปขยันทำมาหากินให้รวย ๆ ดีกว่าแล้วลูกจะได้เรียนเก่งได้เองใช่มั้ย เปล่าเลยจริง ๆ แล้วมีตัวแปรตรงกลาง คือ พ่อแม่ที่มีฐานะทางการเงินดีระดับหนึ่งจะมีเวลาพอที่จะมาให้ความสำคัญกับการเรียน เช่น การตรวจการบ้าน ส่งไปเรียนพิเศษ หรือ ไปร่วมประชุมผู้ปกครอง ในขณะที่พ่อแม่ที่จำเป็นต้องหาเช้ากินค่ำแทบจะไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน แค่รู้ว่าลูกไม่โดดเรียนก็พอใจแล้ว แบบนี้ผลจะไม่ได้ต่างกันได้ไง ดังนั้นการบอกแค่ผิว ๆ หรือตัวแปรที่ไม่ได้เกี่ยวกันแล้วทำให้เข้าใจผิดก็มีเยอะแยะ เช่น ดื่มน้ำนี้แล้วฉลาด สวย ขาว ลองไปศึกษาลึก ๆ ให้ว่าจริง ๆ แล้วตัวแปรที่อยู่ตรงกลางคืออวัยวะส่วนใดของร่างกายเราที่ต้องมารับหน้าที่ให้เกิด Side Effect ดังกล่าว

เทคนิคที่ 4 ทำให้ดูแม่น อันนี้เด่นด้านแบบวัดหรือการสอบทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น O-Net, GAT, PAT, หรือแบบวัด IQ อะไรก็ตาม ทั้งที่ต่าง Claim ว่าทดสอบค่าความเที่ยง (Reliability) และ มีความตรง (Validity) มาเรียบร้อยแล้วแต่เอาจริงๆ ทุกอย่างมันไม่เป๊ะขนาดนั้นหรอกมันมีตัวแปรแทรกซ้อนเยอะ เช่น ข้อสอบใช้คำสั่งสับสน นักเรียนมีทักษะในการทำข้อสอบต่างกัน นักเรียนสายตาไม่ดี (แต่ตัวเองไม่รู้) นักเรียนป่วยในวันสอบ ฯลฯ พอคะแนนออกมาก็ขีดเส้นใต้สองเส้นกันแล้วเอาตัวเลขมาจัดลำดับว่าคนไหนเก่งกว่า หัวดีกว่า ทั้งที่จริง ๆ แล้วความแม่นที่คิดว่าใช้นั้นมันวัดความสามารถที่ต้องการได้แคบมาก ๆ

เทคนิคที่ 5 อ้างสูตรด้วยตัวเลขหรู ๆ ง่าย ๆ เลยเราทุกคนรู้แหละว่าเหรียญมี 2 ด้าน ถ้าผมถามว่าโอกาสออกหัวหรือก้อยจะมากกว่าก็จะได้คำตอบตามสามัญสำนึกว่าเท่ากันหรือ 50 50 ฟังดูดีมีหลักการ แต่ผมอยากให้คุณผู้อ่านลองไปโยนดูจริง ๆ สิว่ากว่าจะได้หัวกับก้อยเท่ากันเป๊ะ ๆ ต้องโยนกันกี่ครั้ง เพราะมันจะไม่เป๊ะขนาดนั้นในทางปฏิบัติ ดังนั้นค่าอะไรก็แล้วแต่ที่บอก ๆ เรามามันมีความคลาดเคลื่อนได้ทั้งนั้น ซึ่งตรงนี้ก็ต้องระวังนะอย่ารีบเชื่อ ยิ่งถ้ามีปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ อีก ค่าดังกล่าวคงบอกได้แค่โอกาสแบบคร่าว ๆ เท่านั้นเอง

เป็นไงบ้างสำหรับความเชื่อเดิม ๆ ที่เราเคยหลงไหลกันมา อย่าเพิ่งคิดว่าสถิติหรือการตลาดเป็นเรื่องเลวร้าย แต่เพราะความความน่าเชื่อถือนี้แหละทำให้เรามีช่องโหว่ทางภูมิคุ้มกันได้ ถ้าเราอุดทันและคิดอย่างรอบคอบก็จะใช้ชีวิตได้มีความสุขขึ้นอีกเยอะ

สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขในการเลือกสิ่งดี ๆ ให้ชีวิตอย่างถูกต้อง แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดี

เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

Monday, December 1, 2014

เรียนทำไม อย่างไร และ อะไร หลักง่าย ๆ ที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย


สำหรับช่วงที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสจัดกิจกรรมการอบรมบุคลากรทางการศึกษาหลาย ๆ งานติดกัน ล่าสุดเป็นการจัดอบรมให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ในโครงการที่ชื่อว่า โบอิ้ง ยกระดับการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งก็ได้รับความกรุณาจากท่านประธานอำนวยการสถานบันคีนันแห่งเอเซีย คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ มาเป็นประธานในการเปิดการอบรม

โดยนอกจากจะเปิดอบรมแล้ว ท่านยังให้แง่คิดมุมมองที่น่าสนใจหลายอย่างตั้งแต่แนวคิดทางการศึกษาจนถึงการใช้ความเป็นผู้นำไปช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดี ๆ ในแต่ละโรงเรียนให้ได้ ผมเองเห็นว่ามีประโยชน์เลยอยากหยิบยกมาเล่าผ่าน Ministry of Learning ฉบับนี้ โดยเรียบเรียงแนวคิดทั้งหมด Model ใหม่ที่มีชื่อว่า Why How What ที่สามารถอธิบายว่าเราแต่ละคนเรียนไปทำไม เรียนอย่างไร และ เรียนอะไรมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้การเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ตอบโจทย์การทำงานได้ในโลกอนาคตได้ โดย Model มีหน้าตาดังนี้


ส่วนที่ 1 คือ Why เราจะเรียนไปทำไม? เริ่มจากทางด้านซ้าย อันนี้เคยถามตัวเองกันบ้างมั้ยว่าเราเรียนเรื่องราวต่าง ๆ ไปเพื่ออะไร คำตอบง่ายของ Model นี้คือเราเรียนเพื่อให้มีแนวคิด (Idea) ในการเอาไปต่อยอดในการทำงาน การแก้ปัญหา หรือ การค้นพบอะไรใหม่ ๆ โดยการเรียนรู้อะไรทุกอย่างจะต้องเริ่มจากการเก็บเกี่ยวและสั่งสมองค์ความรู้ (Knowledge) ตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ ไปยังเรื่องที่ยากขึ้นนั่นเอง
ยิ่งเรื่องไหนเป็นเรื่องที่มีเนื้อหามาก อย่างเช่นแพทยศาสตย์ วิทยาศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์ ก็จะต้องใช้เวลากับการเรียนความรู้นานหน่อย หลายอย่างจำเป็นต้อง “ท่อง” หลายเรื่องจำเป็นต้องเจาะลึกเพื่อให้ตกตะกอนเป็นแนวคิด หลายอย่างต้องอาศัยการศึกษาอย่างรวดเร็ว (Speed Reading) เพราะเมื่ออิ่มตัวแล้ว เราจะสามารถใช้ความรู้ (Knowledge) ไปสู่การสร้างแนวคิด (Idea) ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่บางทียังไม่รู้จักด้วยซ้ำ ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่เป็นความสามารถสำคัญที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต
ดังนั้นคนไหนที่ยิ่งรู้แน่น ยิ่งรู้ลึก และ ยิ่งรู้จริงแล้ว คน ๆ นั้นก็จะกลายเป็นคนที่มีแนวคิดที่ชัดเจน ถูกต้อง และ แม่นยำในที่สุด

ส่วนที่ 2 คือ How เราจะเรียนอย่างไร? ส่วนนี้ไม่ได้สำคัญกว่าส่วนที่เหลือ แต่เนื้อหาจะมากหน่อยเพราะแบ่งเป็น 4 ขั้นย่อย ๆ ได้แก่
  1. Research การศึกษาในประเทศที่ประสบความสำเร็จจะเริ่มจากการให้นักเรียนทำวิจัยก่อน เพราะวิจัยต้องใช้ทักษะหลายอย่างทั้งการอ่าน การสังเกต การตั้งคำถาม การเก็บข้อมูล ฯลฯ อย่าเพิ่งตกใจไปว่าวิจัยจะต้องเป็นเรื่องใหญ่ เพราะทุกวันนี้เอาจริง ๆ นะ คนเราทำวิจัยกันตลอดเวลา ง่าย ๆ เลยช่วงปลายปี้นี้จะหา Trip ดี ๆ ไปเกาหลีคุณผู้อ่านจะต้องทำอย่างไรบ้าง แน่นอนอ่านหนังสือ เลือกเมือง เลือกที่ที่อยากไป Shop ทัวร์ตามงานท่องเที่ยว ศึกษาวิธีการแลก Point จากบัตรเครดิตให้เป็นตั๋วเครื่องบิน เพื่อจัดการเดินทางที่เหมาะกับเราที่สุด แค่นี้ก็ถือเป็นวิจัยแล้ว เพราะวิจัยไม่จำเป็นต้องเขียนออกมาเป็นหนังสือปกแข็งมี 5 บท เล่มหนา ๆ แล้วถึงจะเรียกว่าเป็นงานวิจัยเสมอไป
  2. Summarize ขั้นต่อในจะพบอีกว่า ในหลายประเทศที่การศึกษาดี ๆ เขาจะฝึกให้นักเรียนฝึกสรุปความ หรือ Précis (เป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศสอ่านออกเสียงว่า Preh-Si) เริ่มจากอ่าน 1 เรื่องย่อเหลือ 1 หน้า จนเก่ง ๆ แล้วอ่าน 1 เล่มย่อเหลือ 2 หน้า เป็นต้น วิธีการนี้จะเป็นการฝึกให้เด็ก ๆ อ่านเร็ว อ่านจับใจความ หรือ บ้านเราชอบเรียกเล่น ๆ ว่า “อ่านเอาเรื่อง” อ่านเสร็จต้องเลือกสิ่งที่สำคัญ และ สรุปออกมาให้อ่านได้สะดวก ในโลกของการทำงาน Précis ถูกใช้ตอนเขียนบทสรุปผู้บริหาร หรือ บทคัดย่อ เรียกว่าอ่านหน้านี้หน้าเดียวจะมีข้อมูลสำคัญเพืยงพอต่อการนำไปใช้ในการคิดและวิเคราะห์ต่อไป
  3. Analyze ขั้นสูงขึ้นมาคือการวิเคราะห์ หรือการแยกแยะเรื่องใหญ่ ๆ ให้กลายเป็นเรื่องย่อย ๆ เพื่อให้สามารถจัดกลุ่ม มองหาความเหมือนความต่าง หรือ มองลึกไปถึงที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จะเห็นได้ว่าคนที่มีความสามารถนี้จะเป็นระดับนักคิดหรือกุนซือทั้งนั้น เพราะเมื่อเวลาเราเจอปัญหาแน่นอนเราแก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราสามารถแยกและเลือกปัญหาที่สำคัญที่สามารถจัดการได้ และ ลุยไปเป็นเรื่อง ๆ แบบนี้งานจะเคลื่อน ซึ่งความสามารถนี้เป็นความสามารถที่ใคร ๆ และไม่ได้มีกันทุกคนแต่ก็ฝึกฝนได้
  4. Synthesize ขั้นสุดท้ายคือการสังเคราะห์เพื่อหาแนวคิดใหม่ ๆ เป็นได้หมดทั้งการสร้างแนวคิดเพื่อแก้ปัญหา การคิดเพื่อสร้างนวัตกรรม การคิดเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่จะต่อยอดสู่การพัฒนางานด้านอื่น ๆ โครงงานอื่น ๆ หรือแม้แต่สมการใหม่ ๆ ที่สามารถให้เราหาคำตอบเพื่อก้าวข้ามขอบเขตความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แน่นอนกว่าที่จะมีความสามารถในขั้นนี้ต้องผ่านการตกผลึกและใช้ประสบการณ์พอสมควร คนที่ไม่ต้องใช้ประสบการณ์และสามารถมีความสามารถนี้ได้ได้อย่างรวดเร็วจะจัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีพรสวรรค์ (Talent) แต่ก็นั่นอีกแหละ ขึ้นชื่อว่าอยากเรียนรู้แล้วค่อย ๆ ฝึกก็จะพบ เพราะการบอกว่ามีความสามารถนี้เฉย ๆ ไม่เจ๋งเท่ากับว่าเราใช้ความสามารถนี้ทำอะไรได้บ้าง
ส่วนที่ 3 คือ What เราจะเรียนอะไร? แปลกมั้ยว่าทำไมถึงมาทีหลัง เพราะในความเป็นจริงแล้ว What จะเป็นสิ่งจะตามมาหลังจากที่เราทราบเป้าหมายและวิธีการจะนำมาสู่การเลือกเครื่องมือแล้วต่างหาก
โดยเราจะเรียนอะไรตามใน Model จะหมายถึงสัดส่วนระหว่าง การคิด (Thinking) และ เนื้อหา (Content) ว่าจะหนาบางต่างกันแค่ไหนในแต่ละระดับของการเรียนรู้ที่กล่าวมาแล้ว โดย What จะแปรผันตามระดับดังกล่าว กล่าวคือในช่วงที่เราหาความรู้หรือทำวิจัยอยู่ แน่นอนสัดส่วนของเนื้อหาจะมากกว่าสัดส่วนของการคิด เพราะหากคิดมากเกินไป (คิดไปเอง) จะทำให้การเก็บเกี่ยวความรู้ของเราบิดเบี้ยวหรือผิดเพี้ยนได้ (เคยเห็นคนที่ยังไม่ทันฟังครบประโยคแล้วตบโต๊ะมั้ย) แต่พอการเรียนรู้ค่อย ๆ ขยับขึ้นไปสู่ขั้นของการวิเคราะห์ (Analyze) หรือ สังเคราะห์ (Synthesize) แล้ว ต้องใช้แนวคิด (Idea) มากขึ้นแล้ว สัดส่วนของการคิดจะค่อย ๆ มากกว่าสัดส่วนของเนื้อหา เพราะถึงระดับบน ๆ แล้ว ความรู้ที่มีจะกลั่นตัวให้เหลือเพียง Concept คม ๆ ที่เอาไปใช้ได้มากขึ้นนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้าง อ่านถึงตรงนี้แล้วหลายคนอาจจะรู้สึกคุ้นบ้าง ขัดบ้าง ก็ถือเป็นการเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนนะ เพราะสิ่งที่ผมสังเคราะห์มาไม่ใช่ทฤษฎี แต่เป็นการร่าง Model ที่ผมเองคิดว่าน่าจะได้มีโอกาสทำวิจัยในเรื่องนี้ เพราะการมองเห็นความเชื่อมโยงแบบนี้จะเป็นกลไกที่สำคัญที่จะเชื่อมโยง “การศึกษา” กับ “การทำงาน/ธุรกิจ” สำหรับทุกเพศทุกวัยอย่างแท้จริง

สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขกับการมี Idea ใหม่ ๆ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดี


เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย





Thursday, November 20, 2014

แก้ไขปัญหาหนี้สินแรงงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

           แรงงานถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากตัวเลขสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ณ กรกฎาคม 2557) พบว่า ประชากรไทยกว่า 38.49 ล้านคนอยู่ในกลุ่มกำลังแรงงานและเป็นผู้มีงานทำ โดยมีแรงงานจำนวนกว่า 25.28 ล้านคนอยู่นอกภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตและบริการ โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตกว่า 6.49 ล้านคน อุตสาหกรรมการขายส่งและขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์กว่า 6.19 ล้านคน และอุตสาหกรรมที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 2.55 ล้านคน

การพัฒนาศักยภาพการทำงานของแรงงานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สถานประกอบการมักให้ความสนใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต หากแต่ยังขาดการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน เนื่องจากเป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน นอกจากนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าแรงงานเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ประสบปัญหาเรื่องหนี้สินค่อนข้างมาก โดยจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ระดับหนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ในไตรมาสแรกของปี 2557 ระดับหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นจากเกือบ 9 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 มาเป็น 9.9 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ จากผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 2557 โดยหอการค้าโพลล์ พบว่า แรงงานไทยมีหนี้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยที่ 106,216 บาท ซึ่งพุ่งสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในการใช้จ่ายทั่วไปมากที่สุดในสัดส่วน 46.6% และแรงงานกว่า 93.7% มีพฤติกรรมการใช้เงินเกินตัว

กอปรกับผลการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเรื่องโครงการการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนปี 2556 พบว่า ประชาชนกลุ่มอาชีพอิสระรายได้ต่ำและกลุ่มเอกชนมีนายจ้างนั้น เป็นกลุ่มที่มีความรู้ทางการเงินต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ของสถาบันคีนันแห่งเอเซีย (คีนัน) โดยพบว่า แรงงานเอกชนมีนายจ้างและแรงงานอิสระรายได้ต่ำมีระดับความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารการเงินที่ค่อนข้างต่ำ มีจำนวนชั่วโมงการทำงานค่อนข้างสูง ส่งผลให้ขาดโอกาสในการอบรมเพื่อเพิ่มเติมทักษะความรู้ ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มแรงงานเอกชนมีนายจ้าง (แบบมีประกันสังคม) จะมีโอกาสในการก่อหนี้ทั้งในระบบสถาบันการเงินและนอกระบบสถาบันการเงินที่ค่อนข้างมาก จึงทำให้มีโอกาสในการเป็นหนี้บุคคลและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น


ด้วยเหตุนี้ คีนัน ร่วมกับมูลนิธิซิตี้ จึงได้จัดเวทีเสวนาระดมสมองเรื่อง การพัฒนาความรู้เรื่องการเงินเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย ภายใต้โครงการ คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงินโดยมีผู้แทนเครือข่ายแรงงานจากทั่วประเทศ ทั้งแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระ (รายได้น้อย) รวมทั้ง ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินแรงงาน และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล รวมทั้งเสนอแนะช่องทางและวิธีการเพื่อเข้าถึงกลุ่มแรงงานไทย


สาเหตุหลักที่ทำให้แรงงานมีปัญหาเรื่องภาวะหนี้สิน คือ แรงงานไม่มีความรู้และไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน รวมทั้ง ไม่มีเวลาและไม่มีความสนใจในการหาความรู้เพิ่มเติม อีกทั้ง แรงงานกำลังเผชิญกับปัญหาภาพลวงตาของระบบค่าแรง ที่รายได้ของแรงงานส่วนใหญ่ถูกลวงด้วยเงินค่าล่วงเวลาหรือเงินโอที ซึ่งทำให้แรงงานไม่เพียงต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันหรือทำงานในวันหยุด แต่ยังทำให้แรงงานเข้าใจผิดคิดว่า เงินค่าล่วงเวลา คือ รายได้หลักที่คงที่ของตนเอง แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว สถานประกอบการเริ่มมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของแรงงานลง จึงเกิดปัญหาระดับรายได้รวมไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จนทำให้เกิดลักษณะงูกินหาง คือ กู้เงินจากแหล่งหนึ่งเพื่อชำระหนี้อีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ เรายังพบว่า แรงงานแม้จะมีการออมเงินกับสหกรณ์หลายแห่ง แต่หลายรายทำเพียงเพื่อให้ตนเองมีสิทธิในการกู้ยืมเงินเท่านั้น หรือ การออมเพื่อกู้


ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่มีอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแรงงานรับจ้างอิสระรายได้น้อย ซึ่งแม้จะมีความขยันและตั้งใจทำงาน แต่ระดับรายได้ของแรงงานกลุ่มนี้อย่างไรก็ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย โดยเฉพาะประเภทรายจ่ายที่คาดไม่ถึง ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย แรงงานกลุ่มนี้มักต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง ซึ่งทำให้กลายเป็นเหยื่อจากปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และตกอยู่ในวังวนของความยากจนแบบไม่สิ้นสุด

ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของแรงงานและเพื่อให้เกิดการกินดีอยู่ดีของกลุ่มแรงงานนั้น ควรต้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านความรู้ทางการเงินและทัศนคติที่ดีเรื่องการเงินอย่างเหมาะสม โดยออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับแรงงานในแต่ละกลุ่ม เนื่องจากมีความต้องการและความจำเป็นที่แตกต่างกัน ควบคู่ไปกับการออกมาตราการของภาครัฐในการควบคุมการก่อหนี้บุคคลและแรงงาน ซึ่งควรกำหนดเพดานวงเงินสินเชื่อบุคคลที่สถาบันการเงินต่างๆ จะสามารถปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนแต่ละคนได้ รวมทั้ง ควรส่งเสริมให้มีการออมแบบภาคบังคับ พร้อมไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญเรื่องการออมและการบริหารการเงินส่วนบุคคล นอกจากนี้ การส่งเสริมในเรื่องการหารายได้เพิ่มโดยการสร้างอาชีพเสริมให้แก่แรงงานนั้น อาจเป็นอีกทางออกหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือแรงงานให้มีรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย และมีการออมเงินอีกด้วย

กล่าวโดยสรุป การแก้ไขปัญหานั้นแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ (1) แก้ไขปัญหาหนี้สินแรงงาน (2) เสริมสร้างความรู้และความตระหนักรู้เรื่องการบริหารการเงินแก่แรงงาน สำหรับแนวทางแรก หน่วยงานภาครัฐ สถานประกอบการ และเครือข่ายแรงงาน จำเป็นต้องร่วมมือกันในการจำกัดระดับหนี้สินไม่ให้เพิ่มขึ้น และหาแนวทางในการชำระคืนหนี้ ส่วนแนวทางที่สอง สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงมหันตภัยของหนี้ประเภทต่างๆ และการให้ความสำคัญเรื่องความรู้ด้านการเงิน อันจะทำให้แรงงานไม่ตกเป็นทาสของหนี้นอกระบบ และสามารถเลือกใช้สินค้าทางการเงินต่างๆ เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ได้อย่างชาญฉลาด สุดท้ายนี้ หากมีการส่งเสริมแรงงานไทยให้มีความเข็มแข็งที่เพียงพออย่างจริงจังแล้ว เศรษฐกิจของประเทศไทยย่อมที่จะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป