Tuesday, December 23, 2014

เหลียวมองคุณภาพชีวิต


ฮือฮากันมาบ้างแล้วในอดีตเมื่อประเทศภูฏาน ได้ประกาศใช้ ความสุขมวลรวมประชาชาติ  (Gross National Happiness-GNH)    เป็นตัวกำหนดการดำเนินนโยบายภายใต้กรอบความคิดเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีและความทันสมัย  ระหว่างความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับความเข้มแข็งของสังคมอันเกิดจากความพึงพอใจในคุณค่าแท้ของการบริโภคนั้นๆ  โดยประเพณีดั้งเดิมแล้วประเทศส่วนใหญ่ในโลกเน้นการวัดผลเป็นตัวเงินผ่านผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Nation Product) หมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ถูกผลิตหรือใช้บริการภายในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะผลิตขึ้นมาด้วยทรัพยากรของชาติใด


ในกรณีของประเทศภูฏานที่สร้างความแตกต่างในการสร้างนโยบายในการพัฒนาประเทศอิงตามความสุขของประชาชน โดยชี้ให้เห็นว่าความเจริญทางเศรษฐกิจและการบริโภคแต่เพียงอย่างเดียว มิได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงการเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาของประเทศเสมอไป เมื่อประชาชนมีความกินดีอยู่ดีจนถึงระดับหนึ่งแล้ว ความสุขก็ไม่จำเป็นที่จะเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้อีกต่อไป (เข้าทำนองมีเงินก็ใช่ว่าจะมีความสุขเสมอไป) และนี่คือจุดสำคัญที่ทำให้มุมมองการพัฒนาคุณภาพชีวิตเปลี่ยนไป


แนวคิดคุณภาพชีวิต (Quality of Life : QOL) เป็นแนวคิดที่นิยมใช้กันทั่วโลก มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดการพัฒนาทางสังคมแบบยั่งยืน  ในประเทศไทยนั้นท่านอาจารย์ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ให้ทัศนะคุณภาพชีวิตของคน โดยเริ่มตั้งแต่การอยู่ในครรภ์ของมารดา ไปจนถึงการมีชีวิตตามความเหมาะสมกับอัตภาพ เน้นด้านความเสมอภาคของคนที่จะได้รับบริการสังคมจากรัฐ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมใช้แนวคิดมาตรฐานคุณภาพชีวิตกับการพัฒนาแบบยั่งยืนเข้าด้วยกัน  โดยเลือกใช้เฉพาะตัวชี้วัดที่สำคัญ ๆ เท่านั้น ไม่นิยมใช้ตัวชี้วัดที่มีจำนวนมาก โดยที่ประเทศอังกฤษก็จะดูที่ 3 ตัวชี้วัดหลักคือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นักวิชาการต่างประเทศหลายท่านที่แสดงความชื่นชมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในประเทศเล็กๆอย่างภูฏาน หรือประเทศในกลุ่มยุโรปที่หันมาให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพชีวิต ความสุขของประชาชน ร่วมกับการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจในแบบดั้งเดิม แต่ก็ยังคงมีคำถามว่าจะวัด ความสุขอย่างไร เพราะความสุขนั้นเป็นเรื่องความคิดเห็นส่วนบุคคล บางท่านอาจใช้คำว่า Subjective หรือ อัตวิสัย ซึ่งถ้าวัดแต่ความสุขโดยดูเป็นความรื่นเริง ดีใจ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ก็คงไม่เพียงพอในการชี้วัด เพราะการจะมีความสุขนั้นขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมอื่นๆ ทางด้านสังคมด้วย Dr. Martin Seigman นักจิตวิทยาชาวอเมริกา ได้ศึกษาร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Cambridge โดยทำการศึกษากับกลุ่มประเทศในแถบยุโรบเรื่องของความสุข เพราะต้องการค้นหาว่า อะไรคือความสุข ตัวชี้วัดความสุข และการทำให้เกิดความสุขนั้นทำได้อย่างไร ในทัศนะของชาวตะวันตก  Dr. Seigman ไม่เชื่อว่าความสุข วัดได้แค่จากเรายิ้ม หัวเราะ เฮฮา หากแต่ตั้งคำถามที่ว่า ทำไมพ่อแม่ที่เหนื่อยยากลำบากในการเลี้ยงลูกจึงมีความสุข ทำไมคนที่เป็นอาสาสมัครทำงานในพื้นที่ทุรกันดานแต่กลับมีความสุข แล้วความสุขคืออะไร ต้องอยู่สบายจึงมีความสุขจริงหรือไม่ จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าความสุขนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรื่นเริงของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของคนๆนั้นกับผู้อื่น และความรู้สึกที่เขาเหล่านั้นจะสามารถประสบความสำเร็จเกี่ยวกับด้านใดด้านหนึ่ง และความสำเร็จนั้นมีคุณค่ากับผู้อื่น การค้นพบเหล่านี้ดูเรียบง่าย หากแต่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไรนั้นคงต้องไปทำการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการและถอดบทเรียนกันอีกครั้งหนึ่ง

คุณภาพชีวิตจึงไม่ใช่แค่การมองว่าวันนี้เรามีทรัพย์สิน สิ่งของ ทรัพย์สฤงคารมา แต่ยังหมายถึงความคุ้มค่า และความพึงพอใจตามสภาพที่ตนเองเป็นอยู่ และที่สังคมได้รับผลกระทบ  ในวาระที่เป็นช่วงต้อนรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในช่วงปีใหม่นี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะคืนความสุขให้ตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมรอบข้าง ด้วยการเหลียวมองคุณภาพชีวิตที่ไม่ใช่แค่พลุดอกไม้ไฟ และงานเลี้ยงใหญ่โต แต่การทำอะไรเพื่อคนอื่นๆ และร่วมสร้างความสุขร่วมกันในสังคมประเทศไทย 

พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์
ผู้จัดการฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

No comments:

Post a Comment