Thursday, December 18, 2014

ซิตี้ จับมือคีนัน จัดเวทีระดมสมองเพื่อพัฒนาทักษะการบริหารการเงินให้แก่เยาวชน ชี้การไม่ตระหนักรู้ รูปแบบการเรียนการสอน สภาวะสังคมและครอบครัว และสื่อที่ไม่เหมาะสม เป็น 4 ปัจจัยสำคัญก่อวิกฤติการเงิน

28 กรกฎาคม 2557 กรุงเทพฯ- มูลนิธิซิตี้ ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย จัดเวทีเสวนาระดมสมองเรื่อง “การพัฒนาทักษะชีวิต เรื่องความรู้ในการบริหารการเงินส่วนบุคคล ให้แก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักภายใต้การดำเนินโครงการวิจัย คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงินซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิซิตี้ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษา อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานที่สนับสนุนและผลักดันเรื่องการให้ความรู้ทางเงินต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดจนผู้แทนเยาวชนจากทั่วประเทศมาร่วมระดมสมอง เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม และร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล รวมทั้งเสนอแนะช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อันได้แก่กลุ่มเยาวชนไทย

            นางสาวหัสญา หาสิตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะผู้แทนจากมูลนิธิซิตี้ กล่าวถึงผลจากการประชุมระดมสมองว่า ในปัจจุบัน นักเรียนนักศึกษามีการเรียนเชิงทฤษฎีค่อนข้างมาก แต่ขาดการประยุกต์ใช้ รวมทั้งการไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลเท่าที่ควร สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากวิธีการเรียนการสอน และสื่อการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาเรื่องการบริหารการเงินที่ค่อนข้างยากและห่างไกลจากชีวิตประจำวันของเยาวชน ส่งผลให้ เด็กส่วนใหญ่ไม่พร้อมจะนำความรู้ด้านการเงินมาประยุกต์ใช้ สภาวะสังคมแวดล้อมและครอบครัวก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติในการดำรงชีวิตและการจับจ่ายใช้สอยของเยาวชน นอกจากนี้ สังคมปัจจุบันที่อยู่ภายใต้ระบอบบริโภคนิยม วัฒนธรรมการเลียนแบบ และความต้องการการยอมรับจากสังคม ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของเยาวชนไทยด้วยเช่นกัน
นางสมสมร วงศ์รจิต นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวว่า “ครอบครัวเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการปลูกฝังและอบรมเยาวชน ให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารการเงินภายใต้สังคมทุนนิยม สื่อถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นยอดขาย และเพื่อเร่งเร้าให้เกิดการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน ซึ่งเด็กๆ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญของธุรกิจต่างๆ นอกจากนี้ วัฒนธรรมการเลียนแบบและความต้องการการยอมรับจากสังคมหรือกลุ่ม ยังเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการในการบริโภคสิ่งที่ไม่จำเป็น จนทำให้สิ่งที่ไม่จำเป็นกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเยาวชน และเนื่องด้วยสถาบันครอบครัวของสังคมไทยที่มีขนาดเล็กลง ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมการอบรมและปลูกฝังของผู้ปกครอง ซึ่งอาจเลี้ยงดูเยาวชนแบบตามใจมากขึ้น หากแต่ยังขาดการปลูกฝังให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเร่งเร้าภายนอกอย่างเพียงพอ อันจะส่งผลให้เยาวชนขาดทักษะในการใช้ชีวิตและง่ายต่อการถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนเยาวชนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ร่วมกันเสนอแนะทางออกสำหรับการดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนนักศึกษาในแต่ละกลุ่มไว้อย่างน่าสนใจว่า เพื่อกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคล ประเด็นแรก เรื่องสื่อการเรียนการสอน ควรเน้นการทำกิจกรรม ปรับรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาหลักสูตรให้เป็นรูปภาพมากกว่าข้อความเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ รวมทั้งการปรับวิธีการและกระบวนการให้ความรู้ จากที่เคยท่องจำเป็นการกระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ประเด็นที่สอง เพื่อปรับพฤติกรรมและทัศนคติต่อการบริหารการเงินแก่เยาวชน การสร้างบุคคลต้นแบบที่ได้รับการยอมรับจากสังคมก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่จะทำให้เด็กๆ  เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบจากตัวอย่างที่ดี  รวมทั้งการสรรหาผู้แทนเยาวชนต้นแบบ เพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และรณรงค์เรื่องความรู้ทางการเงินแก่กลุ่มเยาวชน ประเด็นที่สาม การส่งเสริมกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อฝึกฝนทักษะด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล เช่น การประกวดโครงการ การแข่งขันทางวิชาการ และการอบรมเสริมสร้างผู้นำ ประเด็นที่สี่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของเงินและการบริหารเงิน การทำงานระหว่างเรียนหรือธุรกิจจำลองก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ซึ่งสามารถสร้างการตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความยากลำบากของการได้เงินมา ประเด็นที่ห้า  ไม่ใช่เพียงแค่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ที่จะต้องเข้ามาดำเนินการ หากแต่สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญ ควรเป็นภาคส่วนหลักในการปลูกฝังให้เยาวชนเห็นถึงคุณค่าของเงินและความสำคัญในการบริหารการเงิน ดังนั้น หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนนักเรียนนักศึกษา จึงเห็นควรว่า พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลสำหรับเยาวชน
นอกจากนี้ นายรัชชพล เหล่าวานิช ผู้ดำเนินรายการด้านการเงิน มันนี่ เมคโอเวอร์ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงเรื่องสื่อโฆษณา ว่า “การควบคุมสื่อโฆษณาที่เร่งเร้าการบริโภคในทิศทางที่สร้างหนี้สินแก่บุคคลก็ควรได้รับการป้องปราม และควรมีการออกมาตรการป้องกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ เพื่อเผยแพร่ความรู้และการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลในวงกว้าง จึง เสนอให้มีช่องทีวีดิจิทัลสาธารณะที่ให้ความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลโดยเฉพาะ เพราะนอกจากจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลแก่ประชาชนโดยส่วนใหญ่แล้ว ยังทำให้ประชาชนรู้สึกคุ้นเคยและไม่คิดว่าเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ไกลตัว
เหนือสิ่งอื่นใด เพื่อให้คนไทยและเยาวชนไทยมีภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตที่เข้มแข็ง พ้นจากวงจรแห่งหนี้สิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกคนเห็นพ้องกันว่า ควรผลักดันให้เรื่องความรู้ด้านการบริหารการเงินเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน และมีองค์กรหลักอันจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการควบคุม เผยแพร่ รณรงค์ และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ด้านการเงินต่อไป
********************************************

ซิตี้
ธนาคารชั้นนำของโลก ที่ให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 200  ล้านราย ในกว่า 160 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก ซิตี้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายให้กับลูกค้าบุคคล องค์กร ภาครัฐและสถาบันต่างๆ  โดยธุรกิจหลักครอบคลุมการธนาคารและสินเชื่อเพื่อลูกค้าบุคคล (สายบุคคลธนกิจ) ธนาคารเพื่อองค์กรและการลงทุน (สายสถาบันธนกิจและวาณิชธนกิจ)  ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์  บริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ รวมถึงบริการบริหารความมั่งคั่ง 
ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
www.citigroup.com | ทวิตเตอร์: @Citi | ยูทูป: www.youtube.com/citi | 
บล็อก: http://new.citi.com | เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/citi | ลิงก์อิน: www.linkedin.com/company/citi

มูลนิธิซิตี้
มูลนิธิซิตี้มีภารกิจในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนต่างๆ ทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านการมีส่วนร่วมและเข้าถึงด้านการเงิน (financial inclusion)    เราประสานงานกับพันธมิตรชั้นนำเพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจที่วัดผลได้แก่ครอบครัวและชุมชนที่มีรายได้น้อย   ทั้งนี้ มูลนิธิซิตี้ดำเนินงานในลักษณะที่มากกว่าการบริจาคเงิน โดยใช้ศักยภาพและต้นทุนด้านบุคลากรจากธุรกิจของซิตี้ในแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มคุณค่าและผลกระทบในโครงการที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุน   ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิซิตี้ได้ที่  www.citifoundation.com

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ให้บริการในการบริหารโครงการ ให้คำปรึกษา จัดการฝึกอบรม รวมถึงดำเนินการวิจัยให้แก่ ภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันคีนันฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ การพัฒนาเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ นวัตกรรมการศึกษาและเยาวชน การสาธารณสุข การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลากว่า 18 ปีในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สถาบันคีนันฯ ได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการ และบริหารจัดการโครงการ รวมเป็นมูลค่ากว่า 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ ท่านสามารถอ่านรายละเอียดข้อมูลของกิจกรรมต่างๆได้ที่ 
www.kenan-asia.org  |  ทวิตเตอร์: @Kenan_Asia | 
ยูทูป: www.youtube.com/user/KenanAsia | บล็อก: kenaninstituteasia.blogspot.com | 
เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/kenaninstituteasia  | ลิงก์อิน: www.linkedin.com/company/kenan-institute-asia


No comments:

Post a Comment