สวัสดีคุณผู้อ่าน ปีใหม่แล้ว ช่างเป็นช่วงที่ดูดีและสดชื่นกว่าช่วงอื่น ๆ ของปีอยู่ไม่น้อย ผมอยากจะชวนผู้อ่านได้ลองใช้โอกาสในช่วงเวลาดี ๆ แบบนี้มองย้อนไปยังเหตุการณ์ต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมาว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง อะไรสำเร็จ อะไรยังต้องลุยต่อ เพื่อเก็บเกี่ยว เรียนรู้ และ นำเอาบทเรียนต่าง ๆ มาปรับปรุงสิ่งใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามาในปีหน้าฟ้าใหม่
(ทีมงานสถาบันคีนันแห่งเอเซีย)
สำหรับผมเองก็มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ได้เรียนรู้มาเร็ว ๆ นี้เหมือนกัน นั่นคือต้นเดือนที่ผ่านมาผมรับมอบหมายให้ไปช่วยวางแผนกับทีมงานสาขาของสถาบันคีนันแห่งเอเซียที่ Hanoi โดยพื้นที่เป้าหมายของโครงการเราอยู่ในอำเภอ Tinh Gia (อ่านว่า “ติง-ซา” นะ ไม่ใช่ “ทิน-เจีย”) ที่ต้องขับรถออกจาก Hanoi ไปทางใต้ราว 4 ชั่วโมง
Tinh Gia เป็นอำเภอติดทะเล มีประชากรประมาณ 2 แสนคน คิดดูว่าเราไปในช่วงหนาวได้สัมผัสอากาศเย็น ๆ ริมหาดจะเยี่ยมแค่ไหน... กรุณาถอดภาพนั้นออก เพราะหาดที่นี่คลื่นลมแรงมากเล่นอะไรไม่ได้ ฝุ่นควันเพียบ ฝนลงต้องรีบหลบเพราะตัวจะเปื้อนจากฝุ่นที่ละอองฝนพาลงมา โดยอำเภอนี้ถือว่าเป็นเมืองที่ยากจนติดอันดับ ซึ่งมีความต้องการด้านสาธารณสุขมากโดยโรคติดต่อที่เป็นเป้าหมายของโครงการ การทำงานทั้งหมดจะต้องวางแผนอย่างระมัดระวัง เพราะต้องทำงานร่วมกับภาคีอีกหลายฝ่ายภายใต้ความกดดันด้านเวลา
ความโชคดีคือผมได้ประสบการณ์การทำงานกับทีมงานชาวเวียดนามมาแบบเข้มข้นถึงใจ เพราะไปแค่ 3 วันประชุมเกือบ ๆ 30 ชั่วโมง กอปรกับการสังเกตพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนที่นี่ แม้ว่าจะมีคำพูดที่ว่า “เวียดนามอีกนานกว่าจะตามไทยทัน” สำหรับผมแล้วก็ใช่อยู่นะหากมองที่สาธารณูปโภค แต่ถ้ามองที่การทำงานแล้ว “ไม่แน่ เสมอไปนะ” โดยผมมีข้อสังเกตของการทำงานกับคนที่นี่เทียบกับเวลาที่ผมต้องทำงานกับคนไทยจากหน่วยงานอื่น ๆ กันดูบ้าง
ข้อสังเกต 1 เขาไม่เสียพลังงานกับการถือสาหาความ หลายคนที่เคยมองว่าคนเวียดนามไม่ค่อยเรียบร้อยนักในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการจราจร การแสดงความคิดเห็น หรือ การต่อคิว ฯลฯ แต่จริง ๆ แล้วสังคมเขาเป็นสังคมง่าย ๆ สบาย ๆ และ ตรงไปตรงมา
อย่างเรื่องการจราจร บอกตรง ๆ ว่ามันส์สุด ๆ เพราะพาหนะทุกอย่างบนถนนเลื้อยยังกะปลา แทรก เบียด ปาด บีบแตร (ไม่ใช่ทีสองทีนะ แต่ทั้งแช่ทั้งรัว) เปิดไฟสูงส่องรถที่สวนเลนกันอลวนไปหมด มีให้เห็นแทบตลอดเวลา แต่รู้อะไรมั้ย เขาไม่ด่า มองหน้า หรือ ส่งภาษาภาพแบบบ้านเราเลยนะ ทุกอย่างเป็นไปด้วยความสบาย ๆ ไม่สน ไม่โกรธกัน
อย่างการนั่งในโต๊ะทานข้าวร่วมกัน การยกถ้วยชามข้ามหน้าข้ามตา คีบเขี่ยอาหารจากจานหนึ่งไปอีกจานหนึ่งเพื่อให้คนในโต๊ะได้ทานกับข้าวทั่วถึงก็ทำด้วยความหวังดี อยากดูแล ไม่ถือสาหาความ อยู่ง่าย ๆ กินง่าย ๆ ไม่ทะเลาะกัน
สรุปคืออยู่กันแบบอัตตาต่ำ มีมารยาทในแบบของเขา แต่ถ้าคิดว่าขาดวินัยแล้วล่ะก็ไปดูข้อสังเกตที่ 2
ข้อสังเกต 2 ตรงต่อเวลา ต่อจากข้อแรก แม้ว่าจะไม่ถือสาหาความ แต่ถ้าเขานัดอะไรกับเราแล้วมีแต่คำว่า “เป๊ะ” อย่างคนไทยเราช้าสัก 5 นาทีก็ถือไม่น่าเกลียดแล้ว แต่กับคนเวียดนามไม่ใช่เลยแม้แต่นาทีเดียว ทุกอย่างต้องเป๊ะทั้งเวลาเริ่มและเวลาเลิก ใครพูดมาก พูดเลย จะถูกเบรคและให้เก็บไปคุยกันในประชุมอื่น เพราะฉะนั้นวันนึงจะมีประชุมหลาย ๆ นัดต่อให้สมาชิกเท่าเดิมก็จะไม่เลื้อยตารางเป็นอันขาด อันนี้ยอมรับจริง ๆ ว่าเรื่องเวลาเขาคมมาก ทำให้การทำงานของเขาชัดเจน และ กลับมาสู่เป้าหมายการทำงานได้เสมอ
ขัดสังเกต 3 ทุกอย่างไหวหมด ส่วนตัวผมเชื่อว่าผมอยู่ในคนชอบทำงานแล้วนะ แต่พอมาเจอคนเวียดนามที่ชอบทำงานเหมือนกันก็ยอมรับเลยว่าต้องฝึนตัวเองพอสมควรที่จะต้องปรับตัวเองให้ไหวให้ได้ เพราะคนเวียดนามจะไม่บ่นหรือแสดงอาการว่าเหนื่อยล้าแม้ว่าจริง ๆ ต่างคนจะรู้ว่าเหนื่อยแต่เขาจะไม่บ่นสักคำ แม่ว่าการประชุมจะเครียด จะอยู่ในเวลาที่ไม่ใช่เวลาทำงาน เช่น นัดประชุมกัน 2 – 4 ทุ่ม (อืมม ไม่ผิดหรอก 20.00 – 22.00 น.) กับข้าราชการด้านสาธารณสุขชั้นผู้ใหญ่ระดับตำบลเพราะว่าตรงกันแค่ตอนนั้น ทุกคนก็มาหมด มาก็เต็มที่หมด คุยจริงจังกันตามเวลาที่กำหนดไว้เป๊ะ ได้เรื่องได้ราวชัดเจน ไม่ต้องไหลไปนอกรอบ
ข้อสังเกตเสริม ไม่ทราบคุณผู้อ่านเคยเห็นภาพของคนเวียดนามที่สามารถ “ขนของ” ในขนาดที่เหลือเชื่อด้วยจักรยานหรือมอเตอร์ไซด์บ้างหรือไม่ ผมเห็นมากับตาแล้วเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นั่นเพราะคนที่นี่ไหวหมด อะไรใช้ได้ก็ไป อะไรไหวก็ทำ ไม่เกี่ยง
ข้อสังเกต 4 วิจารณ์ตรงไปตรงมา ข้อนี้ก็น่าสนใจ เพราะคนเวียดนามจะให้ Feedback กันในเรื่องการทำงานตรงไปตรงมามากพอ ๆ กับที่เราจะเห็นในประเทศตะวันตก เช่น เวลาจัดอบรม อย่างทีมงานไทยปกติผมจะนัดประชุมกันตอนเย็นหลังเลิกอบรม แต่ทีมเวียดนามประชุมระหว่างเบรคทุกรอบเท่ากับวันหนึ่ง ๆ จะประชุมกัน 4 รอบเพื่อสะท้อนสิ่งที่เพิ่งจะจัดอบรมไป
เมื่อเราขอให้เขาแปลก็จะแปลกใจว่า Comment ที่ให้กันนั้นไม่ธรรมดาเลย ตรงประเด็น มีหลักฐานอ้างอิงที่จดมา และ ให้แนวทางในการปรับปรุงแก้ไขด้วย ไม่มีกั๊กว่าไม่กล้าพูดแบบบ้านเรา ของเขานี่ชี้เลยว่าอะไรไม่ดี ซึ่งวัฒนธรรมการไม่ถือสาหาความ กับ การอยากพัฒนาตนเอง ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างแบบนี้แทบจะตลอดเวลาหลายวันที่ไปทำงานด้วย
สุดท้ายนี้ แม้ว่าระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งการจราจร สุขภาวะ และ การคอรัปชั่น จะเป็นปัจจัยปัญหาสำคัญที่สะกัดและขัดขวางการพัฒนาให้เวียดนามยังคงไล่หลังไทยอยู่ แต่ถ้าเทียบกับหมัดต่อหมัดแบบคนต่อคนแล้ว เวียดนามถือว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เราประมาทไม่ได้ ดังนั้นหากคนไทยเราปล่อยตัว และ เพลิดเพลินกับความบันเทิงจนขาดการพัฒนาตัวเอง นานวันเข้าเมื่อระบบต่าง ๆ ของเพื่อนบ้านเริ่มไล่หลังเราทัน เมื่อนั้นเราคงต้องเหนื่อยกว่านี้อีกหลายเท่ากว่าแน่นอน
สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้ตระหนักในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อนำมาเตรียมความพร้อมให้กับเราเอง แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี
เขียนโดย
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย
No comments:
Post a Comment