Thursday, December 18, 2014

ซิตี้จับมือคีนันจัดเวทีระดมสมองเพื่อหามูลเหตุแห่งหนี้และทางออกให้แก่เกษตรกรไทย

จากการดำเนินโครงการ คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงินโดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิซิตี้กับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย เพื่อแก้ปัญหาการขาดความรู้และทักษะด้านการเงินให้แก่ 3 กลุ่มที่มีปัญหาเข้าขั้นวิกฤติ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา และกลุ่มแรงงานรับจ้างรายได้ต่ำนั้น โดยในวันที่ 28 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้จัดเวทีระดมสมองเรื่อง “ความรู้ทางการเงินเพื่อการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรจากทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันค้นหาสาเหตุของหนี้สินและแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรไทยมีประเด็นหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจจากผู้แทนเกษตรกร และการเปิดรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากหลายหน่วยงานภาครัฐที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาหนี้สินเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างหันกลับมามองว่า แนวทางการพัฒนาเกษตรกรไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการมาอย่างถูกทางแล้วหรือไม่ เพราะปัญหาหนี้สินครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบของเกษตรกรไทยกำลังจะกลายเป็นมรดกตกทอดแก่รุ่นลูกรุ่นหลานในหลายๆ ครอบครัว 

นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ให้ข้อคิดเห็นถึงปัญหาหนี้สินเกษตรกรว่าน่าจะเกิดจากความไม่สมดุลของวิวัฒนาการของภาคการเกษตรไทย โดยกล่าวว่า “ในอดีตเกษตรกรไทยจะหาอยู่ หากินกับธรรมชาติ ดั่งคำกล่าวที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวพัฒนามาเป็น “การทำอยู่ ทำกิน” หรือส่วนที่เหลือจากการผลิตก็นำไปขาย แต่เมื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตได้เข้ามามีอิทธิพลในกระบวนการผลิต ในขณะที่เกษตรกรไม่มีความรู้ที่เพียงพอในการคิดคำนวณและการบริหารจัดการ จึงส่งผลให้รูปแบบการผลิตของเกษตรกรไทยกลายเป็น ลงทุน ซื้ออยู่ ซื้อกินหรือก็คือ ผลผลิตที่ได้จากการเกษตรจะนำไปขายให้แก่นายทุน และตนเองก็ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ จากนายทุนอีกทีหนึ่ง วัฏจักรดังกล่าวนี้จะไม่กลายเป็นปัญหา หากเกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคาขายผลผลิตทางการเกษตรได้ ดั่งเช่นที่นายทุนสามารถกำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ในความเป็นจริง ราคาขายผลผลิตทางการเกษตรนอกจากจะถูกกำหนดราคาจากนายทุนแล้ว เกษตรกรยังต้องรับมือกับความผันผวนของราคาสินค้าในตลาดโลกและจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงทางด้านราคาอีกด้วย”    
  ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เสนอว่า เพื่อการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน การทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง และควรใช้กลไกของชาวบ้านในการดูแลกันเอง ดังเช่นที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้สร้างครูบัญชี และเกษตรกรหรือปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นต้นแบบผู้นำชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ควบคู่ไปกับการบ่มเพาะต้นกล้าเยาวชน วิธีนี้ นอกจากจะสร้างแรงจูงใจ ยกย่องและเชิดชูเกียรติของชาวบ้านแล้ว ยังสร้างแนวร่วมในการชักจูงและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน นอกจากนี้ยังมองว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหากำไรต่างๆ นั้น จะเป็นกลไกสำคัญในการรณรงค์เรื่องการให้ความรู้ทางการเงิน และการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายต่างๆ แก่เกษตรกรไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำมาซึ่งการกินดีอยู่ดี จากการลดภาระหนี้สิน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และสร้างเงินออมให้แก่เกษตรกรไทยต่อไป
นอกจากนี้ ผู้แทนจากภาคการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ร่วมหารือและเสนอแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรไทย โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง จากปัญหาที่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีความรู้ไม่สูงนัก และขาดทักษะในการคิดคำนวณเป็นอย่างมาก ดังนั้น การคิดคำนวณเรื่องต้นทุนการผลิตพืชผลทางการเกษตรจึงเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด หากเกษตรกรสามารถพัฒนาทักษะการคิดคำนวณเรื่องต้นทุนการผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถประเมินต้นทุนการเพาะปลูกของตนเองและสามารถควบคุมต้นทุนการผลิต ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้
ประเด็นที่สอง ช่องทางการให้ความรู้นั้น สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือเครือข่ายกองทุนต่างๆ ภายในชุมชนเป็นหนึ่งในช่องทางที่สามารถเข้าถึงเกษตรกร โดยช่วยเป็นแรงผลักดัน สนับสนุน และให้ความรู้ไปสู่เกษตรกรได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความรู้ทางการเงินควรส่งผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปให้ความรู้ผ่านกลุ่มผู้นำหรือเจ้าหน้าที่ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้แทนชาวบ้านเหล่านั้น นำไปถ่ายทอดและขยายผลต่อ อย่างไรก็ตาม รูปแบบและเนื้อหาควรจะต้องปรับให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นฐานของชุมชนเป็นสำคัญ
ประเด็นที่สาม เพื่อปรับทัศนคติต่อการออมและการเป็นหนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีคติพจน์หลัก เพื่อเป็นเป้าหมายให้แก่ประชาชนทุกคนไม่เพียงแค่เกษตรกรเท่านั้น โดยมุ่งเน้นให้มีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการออม อาทิเช่น การเป็นประเทศที่ประชาชนมีฐานะการเงินที่มั่นคง มีเงินออมที่พอเพียง และมีหนี้ที่ควบคุมได้ หรือไม่เป็นหนี้ เป็นต้น เพื่อให้เกิดกระแสมวลชนในการสร้างแรงกดดันและรณรงค์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของการบริโภค และการบริหารจัดการการเงิน
ประเด็นที่สี่ สื่อควรเป็นอีกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนในการรณรงค์ เนื่องจากสื่อค่อนข้างมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและทัศนคติต่อการบริโภค และการก่อหนี้ของภาคประชาชนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ รายการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิเช่น รายการ หอมแผ่นดินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ควรส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ให้มากๆ และทั่วถึง เพราะจะเป็นการยกย่องและเชิดชูการทำความดี เพื่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในทางที่ดีแก่สังคม
ประเด็นที่ห้า ควรสร้างแบบอย่างหรือผู้นำ (Role Model) ทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน โดยจำเป็นต้องยกย่องบุคคลที่ประสบความสำเร็จจากแนวทางการพึ่งพาตนเองในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนในชุมชน และสร้างความภาคภูมิใจการทำความดีต่อไป
ประเด็นที่หก ควรมีการให้เกียรติและยกย่องในอาชีพเกษตรกรไทย เพื่อให้เกิดความรักและความภาคภูมิใจในวิชาชีพ โดยควรมีการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมเกษตรกร ดั่งเช่นวิชาชีพอื่นๆ เพื่อให้ความรู้ทั้งด้านการผลิตและการบริหารจัดการแก่เกษตรกร นอกจากนี้ ควรมีการเสริมความรู้เพิ่มเติม อาทิ การนำปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความรู้สมัยใหม่มาผสมผสานและเผยแพร่ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งมีการให้วุฒิบัตรเพื่อเป็นการสร้างการยอมรับและเป็นรางวัลแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมอบรม
โดยสรุปพบว่า แม้ว่าปัญหาการขาดความรู้ทางการเงินจะถูกกล่าวถึงและนำเสนอเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในขณะนี้ สิ่งสำคัญที่อาจจะเป็นสาเหตุหลักของปัญหาการก่อหนี้อย่างไม่ระมัดระวังของประชาชนในภาคต่างๆ คือ ทัศนคติต่อเงิน (Attitude to money) ในเรื่องการออม และการสร้างหนี้ ซึ่งเราจะพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยินดีที่จะบริโภคในปัจจุบัน มากกว่าเก็บหอมรอมริบเพื่อให้ได้ผลตอบแทนและสะสมเงินไว้เพื่อบริโภคในอนาคต นอกจากนี้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งในระบบและนอกระบบสถาบันการเงินนั้นก็เป็นไปค่อนข้างง่ายในปัจจุบัน ยิ่งกลายเป็นตัวเร่งการบริโภคของภาคครัวเรือน และการเพิ่มขึ้นของหนี้สินภาคประชาชน ดังนั้น การปรับทัศนคติที่มีต่อการออมและการก่อหนี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ รวมทั้งระวังเรื่องการออกนโยบายต่างๆ ที่อาจจะนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่มีวินัยแก่ภาคประชาชน ขณะเดียวกัน การเร่งให้ความรู้ทางการเงินแก่ภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชาชนที่มีความรู้ทางการเงินต่ำและมีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้นั้น ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนควรดำเนินการเป็นอันดับต้นๆ

*********************************************
เกี่ยวกับซิตี้
ธนาคารชั้นนำของโลก ที่ให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 200  ล้านราย ในกว่า 160 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก ซิตี้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายให้กับลูกค้าบุคคล องค์กร ภาครัฐและสถาบันต่างๆ  โดยธุรกิจหลักครอบคลุมการธนาคารและสินเชื่อเพื่อลูกค้าบุคคล (สายบุคคลธนกิจ) ธนาคารเพื่อองค์กรและการลงทุน (สายสถาบันธนกิจและวาณิชธนกิจ)  ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์  บริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ รวมถึงบริการบริหารความมั่งคั่ง 
ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 
www.citigroup.com | ทวิตเตอร์: @Citi | ยูทูป: www.youtube.com/citi | บล็อก: http://new.citi.com | 
เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/citi | ลิงก์อิน: www.linkedin.com/company/citi
เกี่ยวกับมูลนิธิซิตี้
มูลนิธิซิตี้มีภารกิจในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนต่างๆ ทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านการมีส่วนร่วมและเข้าถึงด้านการเงิน (financial inclusion)    เราประสานงานกับพันธมิตรชั้นนำเพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจที่วัดผลได้แก่ครอบครัวและชุมชนที่มีรายได้น้อย   ทั้งนี้ มูลนิธิซิตี้ดำเนินงานในลักษณะที่มากกว่าการบริจาคเงิน โดยใช้ศักยภาพและต้นทุนด้านบุคลากรจากธุรกิจของซิตี้ในแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มคุณค่าและผลกระทบในโครงการที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุน   ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิซิตี้ได้ที่  www.citifoundation.com
เกี่ยวกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ให้บริการในการบริหารโครงการ ให้คำปรึกษา จัดการฝึกอบรม รวมถึงดำเนินการวิจัยให้แก่ ภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันคีนันฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ การพัฒนาเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ นวัตกรรมการศึกษาและเยาวชน การสาธารณสุข การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลากว่า 18 ปีในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สถาบันคีนันฯ ได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการ และบริหารจัดการโครงการ รวมเป็นมูลค่ากว่า 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ ท่านสามารถอ่านรายละเอียดข้อมูลของกิจกรรมต่างๆได้ที่  
www.kenan-asia.org  |  ทวิตเตอร์: @Kenan_Asia | 
ยูทูป: www.youtube.com/user/KenanAsia | บล็อก: kenaninstituteasia.blogspot.com | 
เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/kenaninstituteasia  | ลิงก์อิน: www.linkedin.com/company/kenan-institute-asia

No comments:

Post a Comment