แรงงานถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
จากตัวเลขสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ณ กรกฎาคม 2557) พบว่า ประชากรไทยกว่า
38.49 ล้านคนอยู่ในกลุ่มกำลังแรงงานและเป็นผู้มีงานทำ โดยมีแรงงานจำนวนกว่า 25.28
ล้านคนอยู่นอกภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตและบริการ โดย 3 อันดับแรก
ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตกว่า 6.49 ล้านคน อุตสาหกรรมการขายส่งและขายปลีก
การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์กว่า 6.19 ล้านคน
และอุตสาหกรรมที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 2.55 ล้านคน
การพัฒนาศักยภาพการทำงานของแรงงานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สถานประกอบการมักให้ความสนใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต
หากแต่ยังขาดการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน
เนื่องจากเป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน นอกจากนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าแรงงานเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ประสบปัญหาเรื่องหนี้สินค่อนข้างมาก
โดยจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า
ระดับหนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ในไตรมาสแรกของปี 2557
ระดับหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นจากเกือบ 9 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี
2556 มาเป็น 9.9 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ จากผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 2557 โดยหอการค้าโพลล์
พบว่า แรงงานไทยมีหนี้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยที่ 106,216 บาท ซึ่งพุ่งสูงสุดในรอบ 6 ปี
โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในการใช้จ่ายทั่วไปมากที่สุดในสัดส่วน 46.6% และแรงงานกว่า
93.7% มีพฤติกรรมการใช้เงินเกินตัว
กอปรกับผลการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเรื่องโครงการการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนปี
2556 พบว่า ประชาชนกลุ่มอาชีพอิสระรายได้ต่ำและกลุ่มเอกชนมีนายจ้างนั้น
เป็นกลุ่มที่มีความรู้ทางการเงินต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ
ของสถาบันคีนันแห่งเอเซีย (คีนัน) โดยพบว่า แรงงานเอกชนมีนายจ้างและแรงงานอิสระรายได้ต่ำมีระดับความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารการเงินที่ค่อนข้างต่ำ
มีจำนวนชั่วโมงการทำงานค่อนข้างสูง
ส่งผลให้ขาดโอกาสในการอบรมเพื่อเพิ่มเติมทักษะความรู้ ยิ่งไปกว่านั้น
กลุ่มแรงงานเอกชนมีนายจ้าง (แบบมีประกันสังคม)
จะมีโอกาสในการก่อหนี้ทั้งในระบบสถาบันการเงินและนอกระบบสถาบันการเงินที่ค่อนข้างมาก
จึงทำให้มีโอกาสในการเป็นหนี้บุคคลและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ คีนัน
ร่วมกับมูลนิธิซิตี้ จึงได้จัดเวทีเสวนาระดมสมองเรื่อง “การพัฒนาความรู้เรื่องการเงินเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย” ภายใต้โครงการ “คนไทยก้าวไกล
ใส่ใจการเงิน” โดยมีผู้แทนเครือข่ายแรงงานจากทั่วประเทศ
ทั้งแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ
และกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระ (รายได้น้อย) รวมทั้ง ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
เพื่อร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินแรงงาน
และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล
รวมทั้งเสนอแนะช่องทางและวิธีการเพื่อเข้าถึงกลุ่มแรงงานไทย
สาเหตุหลักที่ทำให้แรงงานมีปัญหาเรื่องภาวะหนี้สิน
คือ แรงงานไม่มีความรู้และไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน
รวมทั้ง ไม่มีเวลาและไม่มีความสนใจในการหาความรู้เพิ่มเติม อีกทั้ง แรงงานกำลังเผชิญกับปัญหาภาพลวงตาของระบบค่าแรง
ที่รายได้ของแรงงานส่วนใหญ่ถูกลวงด้วยเงินค่าล่วงเวลาหรือเงินโอที
ซึ่งทำให้แรงงานไม่เพียงต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันหรือทำงานในวันหยุด
แต่ยังทำให้แรงงานเข้าใจผิดคิดว่า เงินค่าล่วงเวลา คือ รายได้หลักที่คงที่ของตนเอง
แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว
สถานประกอบการเริ่มมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของแรงงานลง
จึงเกิดปัญหาระดับรายได้รวมไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จนทำให้เกิดลักษณะงูกินหาง คือ
กู้เงินจากแหล่งหนึ่งเพื่อชำระหนี้อีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ เรายังพบว่า แรงงานแม้จะมีการออมเงินกับสหกรณ์หลายแห่ง
แต่หลายรายทำเพียงเพื่อให้ตนเองมีสิทธิในการกู้ยืมเงินเท่านั้น หรือ “การออมเพื่อกู้”
ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่มีอยู่ในสังคมไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแรงงานรับจ้างอิสระรายได้น้อย ซึ่งแม้จะมีความขยันและตั้งใจทำงาน
แต่ระดับรายได้ของแรงงานกลุ่มนี้อย่างไรก็ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย
โดยเฉพาะประเภทรายจ่ายที่คาดไม่ถึง ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย แรงงานกลุ่มนี้มักต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง
ซึ่งทำให้กลายเป็นเหยื่อจากปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และตกอยู่ในวังวนของความยากจนแบบไม่สิ้นสุด
ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของแรงงานและเพื่อให้เกิดการกินดีอยู่ดีของกลุ่มแรงงานนั้น
ควรต้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านความรู้ทางการเงินและทัศนคติที่ดีเรื่องการเงินอย่างเหมาะสม
โดยออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับแรงงานในแต่ละกลุ่ม
เนื่องจากมีความต้องการและความจำเป็นที่แตกต่างกัน ควบคู่ไปกับการออกมาตราการของภาครัฐในการควบคุมการก่อหนี้บุคคลและแรงงาน
ซึ่งควรกำหนดเพดานวงเงินสินเชื่อบุคคลที่สถาบันการเงินต่างๆ
จะสามารถปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนแต่ละคนได้ รวมทั้ง
ควรส่งเสริมให้มีการออมแบบภาคบังคับ
พร้อมไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญเรื่องการออมและการบริหารการเงินส่วนบุคคล
นอกจากนี้ การส่งเสริมในเรื่องการหารายได้เพิ่มโดยการสร้างอาชีพเสริมให้แก่แรงงานนั้น
อาจเป็นอีกทางออกหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือแรงงานให้มีรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย
และมีการออมเงินอีกด้วย
กล่าวโดยสรุป การแก้ไขปัญหานั้นแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ (1) แก้ไขปัญหาหนี้สินแรงงาน
(2) เสริมสร้างความรู้และความตระหนักรู้เรื่องการบริหารการเงินแก่แรงงาน
สำหรับแนวทางแรก หน่วยงานภาครัฐ สถานประกอบการ และเครือข่ายแรงงาน จำเป็นต้องร่วมมือกันในการจำกัดระดับหนี้สินไม่ให้เพิ่มขึ้น
และหาแนวทางในการชำระคืนหนี้ ส่วนแนวทางที่สอง สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรก
คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงมหันตภัยของหนี้ประเภทต่างๆ และการให้ความสำคัญเรื่องความรู้ด้านการเงิน
อันจะทำให้แรงงานไม่ตกเป็นทาสของหนี้นอกระบบ และสามารถเลือกใช้สินค้าทางการเงินต่างๆ
เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ได้อย่างชาญฉลาด สุดท้ายนี้
หากมีการส่งเสริมแรงงานไทยให้มีความเข็มแข็งที่เพียงพออย่างจริงจังแล้ว เศรษฐกิจของประเทศไทยย่อมที่จะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
No comments:
Post a Comment