Sunday, October 19, 2014

ตัวชี้วัดชุมชนปรับตัวได้

          เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา Asian Forum on Corporate Social Responsibility (AFCSR) ครั้งที่ 13 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิบปินส์ ภายใต้ธีม Building Resilient Communities เพื่อให้เข้าใจแนวคิดนี้มากขึ้นจึงได้ทำการค้นคว้าและพบว่า Resilience หรือในภาษาไทยแปลกันว่า ยืดหยุ่นปรับตัวได้นั้นคือความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวเมื่อเผชิญกับความกดดันยากลำบากหรือภาวะวิกฤต คุณสมบัตินี้ถ้าเป็นระดับปัจเจกบุคคลถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญพอๆ กับ IQ หรือ EQ บุคคลระดับผู้นำของโลกไม่ว่าจะเป็นริชาร์ด แบรนสัน  (Richard  Branson) เจ้าของสายการบินชื่อดังของโลก   เวอร์จิ้น แอร์ไลน์  (Virgin Airlines)  และเจ้าของธุรกิจมากกว่า 360 บริษัท ที่ใช้ชื่อการค้าว่า Virgin ตอนนี้มีคำนำหน้าเป็นเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ที่ต้องผ่านขวากหนามโดนเรียกคืนสัมปทานการบิน เสี่ยงกับการล้มละลาย แต่ด้วยสติและความมีอารมณ์ขัน ความคิดสร้างสรรค์และความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาก็ทำให้เขากลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการที่ไม่เคยหยุดให้กับปัญหาใดๆ หรือหญิงเหล็กอย่างฮิลลารี่ คลินตัน (Hillary Clinton) ก็ได้รับการกล่าวขวัญในหนังสือที่ชื่อว่า Leadership Secretes of Hillary Clinton ว่าความลับสู่ความสำเร็จในการเป็นผู้นำและการนำไปสู่อำนาจ ในการก้าวข้ามอุปสรรคและฝั่งตรงกันข้าม เพราะเธอมีคุณสมบัติในการยืดหยุ่นปรับตัวได้ เธอจึงสามารถกลับมายืนบนเวทีการเมืองและมีผู้สนับสนุนให้เธอลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดเวลา

ในเชิงสังคมและชุมชน คุณสมบัติที่ยืดหยุ่นปรับตัวได้ (Resilience) ซึ่งกลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ชุมชนอยู่ดีมีสุขได้อย่างยั่งยืน ด้วยว่าสังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สาธารณสุข การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อมและแม้กระทั่งภัยธรรมชาติ ดังนั้นสังคมและชุมชนจึงอยู่บนความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเหล่านั้นตลอดเวลาและอาจรวดเร็วขึ้นกว่าในอดีตอันเนื่องจากพลังโลกาภิวัฒน์ ในวงของการสัมมนานี้จึงพูดกันถึงกลไกของ CSR ที่สามารถจะเป็นจุดเชื่อมธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ในการช่วยสร้างชุมชน สังคม ที่สามารถรับแรงกระเทือนจากความเปลี่ยนแปลงแต่ยังมีความหวังจะต่อสู้อุปสรรค และกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
หัวข้อหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานล้นหลามกระทั่งผู้จัดต้องเสริมที่นั่งกันเกือบล้นออกนอกห้อง คือหัวข้อตัวชี้วัดและการวัดผลความสามารถในการยืดหยุ่นและปรับตัวได้ (Resilience)     ซึ่งนำเสนอโดยด็อกเตอร์คริสทีน แก็บบี้ จากสถาบัน Torrons Resilience Institute แห่งเมือง Adelaide ออสเตรเลีย กระบวนการสร้างความยืดหยุ่นและปรับตัวได้นี้  อาจารย์แก็บบี้ได้ชี้ว่าเป็นกระบวนการที่มีชีวิต (Living Process) กล่าวคือต้องการมีประเมินอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยตัวอย่างที่ยกมาในประเทศอออสเตรเลียนั้นได้มีการจัดคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้คนหลากหลายจากในชุมชนมาร่วมกันติดตามและตรวจสอบศักยภาพของการมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ โดยทางสถาบัน Torrons Resilience Institute ได้จัดทำเครื่องมือ Resilience Scorecard โดยเครื่องมือนี้จะมีประโยชน์ต่อพื้นที่ของชุมชนในการเตรียมพร้อมรับกับภัยพิบัติหรือสถานการณ์อ่อนไหวซึ่งอาจนำมาซึ่งเหตุรุนแรงต่างๆ ได้ รวมไปถึงการสร้างแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นบุคคล องค์กร องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชนนั้น ในการศึกษาของสถาบันนี้ หากชุมชนนั้นเป็นชุมชนที่ปรับตัวได้ มีเสถียรภาพและมีศักยภาพสู่การยืดหยุ่น ชุมชนจะมีความสามารถดังนี้คือ1.      สามารถบริหารจัดการระบบต่างๆ ในชุมชนนั้นได้แม้เกิดเหตุวิกฤต (Crisis) ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินไหว เหตุประท้วงหรือเหตุอื่นๆ2.      สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางกายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เพื่อตอบรับกับแรงกระทบที่เข้ามาได้3.      สามารถพึ่งพาตนเองได้หากโดนตัดขาดจากความช่วยเหลือภายนอกโดยในหัวข้อ
Scorecard จะถูกแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อใหญ่ๆ คือ 1. ความเชื่อมโยงในชุมชน (Connectedness) โดยวัดจากความเชื่อมโยง การสื่อสาร และการสนับสนุนกันและกันของสมาชิกในชุมชน 2. ความเสี่ยงต่างๆและกลุ่มคนในชุมชนที่มีความเปราะบางและต้องการความช่วยเหลือ (Risk/Vulnerability) โดยวัดจากการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ ลักษณะของกลุ่มคนในชุมชนทั้งแบบที่แข็งแรงอยู่แล้วหรือเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ 3. แผนและกระบวนการ (Process) ในหัวข้อนี้จะมีการวัดระดับการเตรียมพร้อมในแผนการและระบบต่างๆ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในแผนต่างๆ เพื่อฟื้นฟู หรือตอบรับกับเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบกับชุมชนทั้งในระดับครัวเรือนและระดับวงกว้าง      4. ทรัพยากร (Available Resources) เป็นการวัดระดับความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภค ถนน น้ำ ไฟ แหล่งอาหาร สาธารณสุข รวมไปถึงรายได้ สถานะทางเศรษฐกิจ สถานศึกษาและองค์ความรู้

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า การสร้างคุณสมบัติด้านการยืดหยุ่นและปรับตัวได้นั้นเป็นกระบวนการระยะยาว และต้องการการมีส่วนร่วมจากชุมชน นับจากสมาชิกปัจเจก ระดับครอบครัว ระดับกลุ่มและในภาพรวมทั้งหมด ที่ประเทศออสเตรเลียโดยสถาบัน Torrons Resilience Institute จึงได้จัดทำคู่มือ Tool Kit เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้กับชุมชนต่างๆได้นำไป ปรับใช้และเน้นสิ่งที่สำคัญในการสร้าง Resilience คือคณะกรรมการของชุมชนที่จะต้องร่วมประชุมเพื่อประเมินและติดตามผลตามหัวข้อใน Scorecard และจะต้องมาจากหลากหลายกลุ่มในชุมชน เพื่อให้ครอบคลุมความคิดเห็นโดยรวม

ในวันนี้ที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นี่อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนให้กับ ชุมชนสังคมที่ต้องโดนท้าทายจากสถานการณ์ความน่ากลัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรง การเมือง โรคระบาด เศรษฐกิจทดถอย และวัฒนธรรมเสื่อมหายไปกับการพัฒนาสมัยใหม่

พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์

ผู้จัดการโปรแกรมความรับผิดชอบต่อสังคม

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย



Monday, October 13, 2014

อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 3: หมวกเหลือง เรื่องดี ๆ ที่เราเลือกได้

สวัสดีคุณผู้อ่าน สัปดาห์นี้เข้าสู่ตอนที่สามของเรื่องการคิดแบบหมวก 6 ใบแล้ว โดยจะเป็นตอนต่อจากสัปดาห์ที่แล้วที่คุยกันถึงเทคนิคการใช้หมวกแดงเพื่อให้เราสามารถปลดปล่อยและเก็บเกี่ยวอารมณ์ความรู้สึกของเราเองที่มีต่อข้อมูลที่เราได้รับมาจากหมวกขาว

ว่าแล้วสัปดาห์นี้เรามาคุยกันต่อถึงหมวกใบที่สามของเราดีกว่า นั่นคือ “หมวกเหลือง” โดย Edward de Bono จงใจใช้สีเหลืองเพราะต้องการสือถึง “มุมมองด้านบวก” ที่มีต่อข้อมูลที่เราได้มาจากการเปิดรับด้วยหมวกขาว (ไม่ใช่แดง)

ทั้งนี้โดยมากแล้วเราจะใช้หมวกเหลืองต่อจากหมวกแดง สิ่งแรกที่จะต้องทำก่อนคือการถอด “หมวกแดง” ออก ห้ามอารมณ์ค้าง ไม่ต้อง Feel ไม่ต้องอิน เอิบอิ่ม หรือ กรี๊ดกราด เอาจิตกลับไปอยู่ที่ข้อมูลที่รับมาจากหมวกขาวเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี ด้วยมุมมองด้านนี้สำคัญไม่แพ้ด้านอื่น ๆ เพียงแต่เราไม่ค่อยได้ฝึก ดังนั้นการสวมหมวกเหลืองจึงเป็นช่วงสำคัญที่ให้เราได้มีโอกาสคิด ใคร่ครวญ และ มองหาสิ่งที่ดี ๆ เพื่อให้เราไม่พลาดโอกาสที่อยู่ในข้อมูลที่เรากำลังพิจารณาอยู่โดยไม่มีการรบกวนจากการคิดในมุมมองอื่น ๆ ลองใช้เทคนิคต่อไปนี้ดูนะ
เทคนิคที่ 1 ใช้ “ถ้า” หลาย ๆ ท่า คำว่า “ถ้า” ในทางวิชาการคือคำถามเชิงวิจัยนะ เพราะเราต้องมีสมมติฐาน บางอย่าง ซึ่งในชีวิตจริงเราใช้คำนี้บ่อยเหลือเกินแต่เรากลับรู้สึกว่าวิจัยเป็นเรื่องไกลตัว เทคนิคนี้คือการใช้คำว่า “ถ้า” ในหลาย ๆ แบบกับข้อมูลที่ได้มาจากหมวกขาว การใช้ “ถ้า” เป็นการบอกว่าเรามองเห็นความเชื่อมโยงยางอย่างออก ดังนั้นสิ่งที่เราจะ List ออกมาจะไม่ได้เกิดจากการเดา แต่จะมีหลักคิดอะไรบางอย่างติ่งไว้อยู่เสมอ
เทคนิคที่ 2 กระจายประโยชน์ ลองมองหาจุดที่ให้เราเกาะความคิดไปได้โดยสะดวก เช่น จากข้อมูลที่เราได้รับมีถ้าเป็นจริง อะไรบ้างที่จะเป็นข้อดีที่เกิดกับเรา? อะไรบ้างที่จะเป็นข้อดีกับครอบครัวเรา? อะไรบ้างที่จะเป็นข้อดีกับองค์กรเรา? ฯลฯ ได้ทุกระดับจนถึงระดับชาติ หรือ ระดับโลก แบบนี้เราจะได้ List มุมมองด้านบวก ๆ ออกมาอีกเยอะเลย
เทคนิคที่ 3 ปัจจุบันหรืออนาคต มีคนถามบ่อยมากเวลาใช้หมวกเหลือว่าให้คิดจากสิ่งที่เกิดมาแล้ว เป็นอยู่ หรือ จะเป็นดีล่ะ จริง ๆ แล้วได้หมดแต่จะเป็นประโยชน์กว่าคิดถึงสิ่ง “เป็นอยู่” กับ “จะเป็น” เทคนิคนี้คือเราเอา อาจจะแยกคิดเห็นข้อดีในปัจจุบันกับข้อดีในอนาคตก็ได้ เป็นการใช้เทคนิคหมวกเหลือแบบคาบเกี่ยวหลายช่วงเวลา แต่อนาคตที่ว่าก็ต้องกะให้พอเหมาะนะ บางทีโจทย์เล็ก ๆ เช่นว่าจะย้ายงานแต่คิดไปถึงหลังเกษียณก็ยาวไปหน่อย เอาให้พอดี ๆ
เทคนิคที่ 4 เอาให้ตรงประเด็น หากเทคนิคที่ 1 – 3 ที่ผ่านมาเอาไว้สำหรับคุณผู้อ่านที่ไม่คุ้นกับการ Brainstorm หรือคิดไม่ออก แต่ถ้าคิดออกแล้วรู้สึกว่า “เยอะไป” ก็มาใช้เทคนิคที่ 4 นี้ดู โดยให้เตือนตัวเองว่าหมวกเหลืองเป็นเพียง 1 ใน 6 ของหมวกทั้งหมดที่เรามี หากเริ่มรู้สึกว่า List ไปวนไปแล้วล่ะก็อาจจะต้องเริ่มเลือกมองหาส่วนที่ดีที่ตอบโจทย์กับความต้องการ เช่น ข้อดีของการเรียนต่อ แต่งงาน ตัดสินใจอะไรบางอย่าง ฯลฯ เพราะการมุ่งประเด็นจะช่วยให้เราใช้หมวกเหลืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคนิคที่ 5 อย่ายึดติด อย่าลืมว่าหมวกเหลืองเป็นการคิดที่อาศัยข้อมูลที่มาจากหมวกขาว บางครั้งข้อมูลแรกที่เราได้มาทำให้เรามองเห็นอะไรที่ฟรุ้งฟริ้งมากเลย แต่พอกลับไปสวมหมวกขาวเพื่อค้นข้อมูลเพิ่มกลับพบความจริงใหม่ ๆ ที่เข้ามาเสริม แบบนี้ต้องบอกว่าเราต้องกล้าที่จะคิดใหม่ด้วย ไม่เช่นนั้นเราจะโดนหมวกเหลืองตัวเองหลอกเอาได้ อันนี้ไม่ง่ายนักเพราะต้องหักใจออกมา อย่าลืมว่า List ได้ก็ลบได้เสมอ ดังนั้นอย่ายึดติด เพราะหมวกเป็นแค่เครื่องมือในการคิดตามหน้าที่ของมันเท่านั้น
เทคนิคเสริมคืออาจจะมองได้ว่าหมวกเหลืองเป็นการระดมสมองอย่างหนึ่ง (Brainstorm) ดังนั้นตอนใช้โดยเฉพาะเวลาคิดหลาย ๆ คนอย่าเพิ่งห่วงเรื่องถูก/ผิด คิดออกมาก่อน อย่าเพิ่ง Kill Idea ในระหว่างคิดเพราะเอาหรือไม่เอาเป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าคิดไม่ออกดูจะเป็นเรื่องมากกว่า สุดท้ายเมื่อเราพร้อมจะถอดหมวกเหลืองแล้วก็ขอให้ถอดออกไปจริง ๆ ถอดแล้ววาง จะมาใส่อีกทีเมื่อไหร่ค่อยว่ากันใหม่
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับการฝึกเพื่อมองหาข้อดีของข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้รับมา ผมรู้ว่ามันไม่ง่ายสำหรับบางคนเพราะแนวโน้มแล้วหลายคนอาจจะถนัดหมวกดำมากกว่า ซึ่งสัปดาห์หน้าเราจะมาคุยกันในเรื่องนั้น ดังนั้นเทคนิคที่ให้จึงเน้นการคิดให้มองเห็นมุมมองด้านบวกให้ได้เยอะ ๆ ก่อน ใช่ไม่ใช้คิดออกมาแล้วค่อยเลือกก็ยังไม่สาย

สำหรับ Ministry of Leaning – The Series: อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 3 นี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขในการมองหาสิ่งดี ๆ รอบ ๆ ตัว ตอนต่อไปเราจะมาฝึกมองโลกในด้านมึด (Dark Side) ด้วยหมวกดำ จะน่ากลัวแค่ไหนก็ไปตามกันต่อได้ สำหรับวันนี้สวัสดี


เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

Wednesday, October 8, 2014

อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 2: หมวกแดง เทคนิคในการปล่อยอารมณ์อย่างเหนือชั้น

สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่าน ในที่สุดเราก็มาถึงสัปดาห์สุดท้ายของปีงบประมาณแล้ว ก็ขออนุญาติเป็นกำลังใจให้คุณผู้อ่านทุกท่านให้ได้รับการ Promote แต่งตั้ง เลื่อนขั้น หรือ มียอดขายสวย ๆ ให้เป็นแรงใจในการเติบโตต่อไป
สำหรับ Ministry of Learning สัปดาห์นี้จะเป็นตอนที่สองของ The Series เรื่องการคิดแบบหมวก 6 ใบ โดยในตอนแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันถึงเทคนิคการเปิดรับข้อมูลด้วย “หมวกขาว” ตาม Link นี้ ซึ่งคุยกันถึงแนวคิดและเทคนิคในการใช้หมวกขาวที่จะทำให้เราสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ตรง และ สามารถนำไปสู่การคิดต่อยอดในหมวกอื่น ๆ ได้อย่างไร
สำหรับหมวกใบที่สองที่เราจะคุยกันวันนี้คือ “หมวกแดง” ซึ่งสีแดงนั้น Edward de Bono เจ้าของทฤษฎีนี้เลือกใช้สีแดงเพื่อสื่อถึง “อารมณ์และความรู้สึก” ด้วยเรื่องอารมณ์และความรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ เพราะมีความเกี่ยวโยงกับความสุขทุกข์ในชีวิตเรามากเหลือเกิน บางคนที่ผมรู้จักเป็นคนเก่งมีความสามารถ แต่ไม่สามารถบริหารอารมณ์ตัวเองได้ สุดท้ายปล่อยให้อารมณ์ตัดโอกาสความก้าวหน้าในชีวิตของตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย
สิ่งที่เราควรรู้จักก่อนคืออารมณ์และความรู้สึกเกิดขึ้นได้ง่ายและเร็วมาก หลายทีที่เรารับรู้ข้อมูลอะไรมาก็เผลอใส่อารมณ์เข้าไปโดยที่ยังไม่ทันได้วิเคราะห์ข้อมูลก็มีบ่อย ๆ นำไปสู่ความขัดแย้งโดยไม่จำเป็นเลย ดังนั้นการมีหมวกแดงจึงเป็นการ “เปิดโอกาส” ให้เรารู้สึก แลกเปลี่ยน และจอดอารมณ์ของเรากับเพื่อนเราไว้ได้อย่างเหมาะสม โดยผมมีเทคนิคเสริมให้ดังต่อไปนี้
เทคนิคที่ 1 Focus ให้ถูกที่ เทคนิคแรกนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด เพราะการคิดด้วยหมวกหกใบนั้นมีความสำคัญที่จะต้อง Focus อยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในที่นี้คือ “ข้อมูล” ที่เราเปิดรับมาด้วยหมวกขาวแล้วเท่านั้น เน้นว่าเป็น “อารมณ์ของเราเอง” ไม่ต้องไปรู้สึกแทนใคร หรือ เอาเราไปอยู่ในเหตุการณ์ไหน แต่ให้มองความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ที่มากระทบใจเราเป็นหลักถึงจะเป็นความรู้สึกเราเองแท้ ๆ ที่มีต่อข้อมูลนั้น ๆ
เทคนิคเสริมที่ผมอยากแนะนำคือเราต้องตัดอารมณ์จากอารมณ์ของคนอื่น ๆ ด้วยนะ บางทีเรามีอารมณ์และความรู้สึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขัดแย้งหรือตรงข้ามกับเพื่อนของเราก็อย่าได้เอาความแตกต่างทางอารมณ์นั้นมาสร้างเป็นประเด็นใหม่ คิด แลกเปลี่ยน และ วางมันลงอย่างนิ่มนวลจะดีที่สุด
เทคนิคที่ 2 มองและอยู่กับตัวเอง การอยู่กับตัวเองเหมือนจะง่ายนะแต่ไม่น่าจะใช่กับคนสมัยนี้ โดยเฉพาะการมีสื่อสังคมออนไลน์ที่เราสามารถคุยกับใครตอนไหนก็ได้ ทำให้เราขาดทักษะที่หันมาถามใจเราว่า “เฮ้ย คิดอะไรอยู่” เพราะแทนที่จะมีเวลาคุยกับตัวเองเราก็ Post ไปซะแล้ว นานวันเขาเราก็ลืมวิธีจัดการกับความรู้สีกตัวเองเพราะใช้ไปกับตอบ Ment เพื่อนแทน ดังนั้นเทคนิคนี้คือการตัดตัวเองออกมาจากช่องทางที่คุ้นเคย โดยฝึกที่จะมองความรู้สึกตัวเองที่มีต่อข้อมูลให้ได้ ทำได้ง่าย ๆ โดยการหายใจลึก ๆ หลับตาแป็บนึง และ มองหาความรู้สึกโดยสัมผัสจริง ๆ ว่าอารมณ์และความรู้สึกอยู่ส่วนไหน หน้าตาแบบไหน ทำบ่อย ๆ เราจะมีทักษะที่ทำได้เองอธิบายยากแต่ไม่ต่างอะไรกับการหัดหยิบของ หัดพูด หัดเดิน ที่เราทำเป็นอยู่แล้วนั่นไง
เทคนิคที่ 3 หาคำอธิบายที่ใช่ จากประสบการณ์ที่ผมได้ช่วยคนอื่น ๆ ในการระดมสมองมักจะตกม้าตายในเรื่องนี้ เพราะหลายคนไม่สามารถหาคำพูดที่สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้อย่างเหมาะสม หลายครั้งผมก็เป็น บางทีกรุ่น ๆ ไม่ทราบเหมือนกันว่าความรู้สึกนั้น ๆ คืออะไร อึดอัดแต่บอกใครไม่ได้ ดังนั้นเทคนิคง่ายคือจับสังเกต (อันนี้เทคนิคส่วนบุคคลมากนะ) เช่น เวลามีอารมณ์โกรธ จิตอยู่แถว ๆ อกมาขึ้นมาถึงลำคอ ทำให้เราเสียงสั่น ปากสั่น เวลามีอารมณ์เสียใจ จิตจะไปอยู่ใต้หูไปถึงจมูก พอดันออกมาโพละ น้ำตาแตกทันที หรือ เวลาอยากได้นั่นนี่นู่นมันละลิงโลดในใจ จิตไปหลังหรือขา จะเดินหน้าท่าเดียว อันนี้สุดแล้วแต่ ดังนั้นต้องหัดและอธิบายได้ ยิ่งอธิบายละเอียดยิ่งทำให้เราเข้าใจตัวเองได้มากเท่านั้น
เทคนิคเสริมถ้า Pro แล้วนะ คือการสังเกตระดับของความรู้สึกด้วยว่ามากน้อยหนักเบาอย่างไร อันนี้จะไม่ยากแล้วเพราะถ้าหาเจอก็แค่ลองวัดดูว่าประมาณไหน ก็จะทำให้เราจิตละเอียดขึ้นเป็นกองแล้ว
เทคนิคที่ 4 ซื่อสัตย์กับตัวเอง ความรู้สึกเป็น “ของเราล้วน ๆ” นะ หลายครั้งที่เราเผลอ “แอบตัดสิน” ความรู้สึกของเราโดยไม่รู้ตัว เช่น รู้สึกอิจฉา รู้สึกหมั่นใส้ รู้สึกไม่แฟร์กับเรา หลายคนที่ผมเจอคืออายที่จะบอกว่าตัวเองรู้สึกแบบนั้น หรือ ไม่อยากเผยความรู้สึกที่ทำให้เราดูแป็นคนเห็นแก่ตัวบ้าง ทั้ง ๆ ที่คำ ๆ นั้นอาจจะเป็นคำอธิบายอารมณ์และความรู้สึกของเราในตอนนั้นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็ได้ ดังนั้นความซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เทคนิคง่าย ๆ คือ บอกตัวเองว่าฉันเป็นคนธรรมดา การคิดและการรู้สึกเป็นสิทธิ์ที่พึงมี ไม่ได้เดือดร้อนใคร
เทคนิคเสริมสำหรับมุมที่กลับกันคือ บางครั้งบางเรื่องเราไม่ได้รู้สึกอะไรสักกะอย่างเดียวก็มีนะ ก็ไม่ต้องไปน้อยอกน้อยใจว่าเราผิดปกติ เพราะโลกนี้มี “อารมณ์เฉย ๆ” นะไม่ต้องเหนื่อยประดิษฐ์หรือพยายามให้เราเหมือนใคร ซื่อสัตย์กับตัวเองเข้าไว้และเราจะสะดวกใจขึ้นมาอีกเยอะ
เทคนิคที่ 5 บันทึก เช่นกันกับหมวกอื่น ๆ เราต้องบันทึก โดยเฉพาะอารมณ์และความรู้สึกซึ่งเป็นอะไรที่เกิดขึ้นและผ่านไปเร็วมาก ไม่นิ่ง ดังนั้นเราต้องจับ อธิบาย และ ไม่ลืมที่จะบันทึกความรู้สึกของเราเองเอาไว้ในขณะที่เราสวมหมวกแดงอยู่ ก็จะทำให้เราย้อนกลับมาพิจารณาเมื่อเราต้องการถอยมามองโดยภาพรวมแล้ว
เทคนิคเสริมสุดท้ายคือเมื่อเรา ok กับการสะท้อนความรู้สึกของตัวเองและพร้อมจะถอดหมวกแดงแล้ว ขอให้ถอดหมวกแดงออกไปจริง ๆ โดยเรากลับมาเมื่อไหร่ก็ได้แต่เราต้องไม่ใส่อารมณ์นั้น ๆ ติดออกไปรบกวนการคิดในหมวกใบอื่น ๆ เด็ดขาด
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับการฝึกเพื่อสะท้อนและเก็บเกี่ยวอารมณ์และความรู้สึกของเราเอง เหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่ายนะเพราะวัฒนธรรมบ้านเราไม่ได้เปิดโอกาสให้เราฝึกทักษะนี้มากนัก อย่ามองว่าเป็นเรื่องดีหรือร้ายแต่ให้อยากให้มองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่ง ๆ ที่สามารถเปิดประโยชน์กับทุกคนได้ไม่มากก็น้อย
สำหรับ Ministry of Leaning – The Series: อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 2 นี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขกับการเก็บเกี่ยวความรู้สึกของตัวเองอย่างชัดเจน ตอนต่อไปเราจะมาฝึกมองโลกในแง่ดีด้วยหมวกเหลืองกัน จะช่วยให้เราเห็นโอกาสอะไรในชีวิตได้มากน้อยแค่ไหนโปรดติดตาม สำหรับวันนี้...สวัสดี

เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

การพัฒนาทักษะชีวิตเรื่องความรู้ในการบริหารการเงินส่วนบุคคล สำหรับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา

เยาวชน คือ อนาคตของชาติ เป็นคำทั่วไปที่คนมักพูดถึง หากแต่สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในวันนี้นั้น เกิดคำถามว่า เด็กและเยาวชนในปัจจุบันมีทักษะชีวิตที่เพียงพอต่อการก้าวมาเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตหรือไม่ แม้ภายใต้หลักสูตรการเรียนการสอนที่ดูจะบีบรัดอย่างมาก เพื่ออัดความรู้ทุกอย่างที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคิดว่าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเด็กในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชีววิทยา ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ขั้นสูง และอื่นๆ อีกมากมาย แล้วแม้ว่าจะมีการกล่าวว่า เด็กไทยขาดทักษะชีวิต หากแต่เมื่อไปพลิกหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะพบว่า ในความเป็นจริง ระบบการศึกษาไทยได้มีการบรรจุวิชาที่เกี่ยวข้องกับทักษะชีวิตแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเน้นการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าในตนเอง การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การจัดการกับอารมณ์และความเครียด รวมทั้งการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น หากแต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ค่อนข้างจะเป็นนามธรรมที่วัดและประเมินยากในทางปฏิบัติ สิ่งที่เราอาจจะใช้พิจารณาได้อย่างง่ายๆ คือ ภายใต้สถานการณ์หนึ่งๆ เด็กๆ มีกระบวนการคิด วิเคราะห์และประมวลผล เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างไร และผลลัพธ์จากการตัดสินใจนั้นๆ ดีเพียงพอหรือไม่อย่างไร
                การมีทักษะชีวิตที่เพียงพอสำหรับเด็กและเยาวชนนั้น เป็นประเด็นข้อกังขังจากสังคมระดับหนึ่ง จากผลการประเมินระดับความรู้และความสามารถในการประยุกต์ใช้ อย่าง PISA (Programme for International Student Assessment)พบว่า ระดับความรู้ของเยาวชนไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างน่าห่วง PISA เป็นการประเมินที่ไม่ได้เน้นการคิดท่องจำ แต่เน้นการกระบวนการคิด ตัดสินใจและใช้เหตุผลเพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยสำรวจระดับความรู้ของเยาวชนอายุ 15 ปีที่จะเป็นอนาคตของชาติว่า สามารถนำความรู้ต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร หรือที่เรียกว่า การรู้เรื่อง (Literacy) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ด้านสำคัญๆ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเองและสังคม 1. ความรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) คือ การอ่านและสามารถนำสิ่งที่อ่านมาคิดวิเคราะห์ และสะท้อนเป็นความคิดตัวเองได้ 2. การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematics Literacy) ไม่ใช่แค่การบวกลบคูณหาร หรือถอดสมการ แต่คือการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ รอบตัวด้วยขบวนการเชิงคณิตศาสตร์ 3.การรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ (Science Literacy) ไม่ใช่แค่หลักการทางฟิสิกส์ เคมีและชีววิทยา แต่คือการใช้ความรู้และความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ในการระบุปัญหา ค้นคว้าข้อมูล และใช้ประจักษ์พยานทางวิทยาศาสตร์ จากผลการประเมิน PISA ล่าสุดในปี 2555 นั้น พบว่า คะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้านของเด็กไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด 65 ประเทศที่สำรวจในครั้งนี้ และเมื่อเทียบระดับคะแนนกับประเทศต่างๆ พบว่า เด็กไทยมีความรู้อยู่ในลำดับที่ 50 ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิเช่น เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน เกาหลีและญี่ปุ่น อยู่ใน 6 ลำดับแรก ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจและการพัฒนาที่เป็นรองกว่าประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 17 นอกจากนี้ มาเลเซียอยู่ในลำดับที่ 52 และอินโดนีเซียอยู่ในลำดับที่ 64 ดังนั้น นี่อาจจะเป็นเพียงแค่หนึ่งของตัวชี้วัดว่า ในความเป็นจริงแล้ว การร่ำเรียนและท่องจำตำราอย่างหนักของเด็กไทยนั้น อาจไม่ใช่แนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถ และทักษะชีวิตที่เพียงพอต่อการก้าวเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
                ความรู้ทางการเงินเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกกลุ่ม เพราะเงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในชีวิตประจำวัน หากแต่การบริหารการเงินและการวางแผนทางการเงินก็เป็นทักษะพื้นฐานที่ควรมีในประชาชนทุกคน แต่ในความเป็นจริง ไม่อาจจะเป็นเยี่ยงนั้น จากผลการสำรวจระดับความรู้ทางการเงินของคนไทยในกลุ่มต่างๆ ในปี 2556 โดยกระทรวงการคลัง พบว่า นักเรียนนักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีความรู้ทางการเงินในด้านต่างๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ หรือก็คือ กว่า 50% ของนักเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษา  และประมาณ 47% ของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มีคะแนนต่ำกว่า มีคะแนนอยู่ในระดับต่ำที่สุด (L1) และระดับต่ำ (L2) จากทั้งหมด 6 ระดับ โดยประชาชนส่วนใหญ่จะมีระดับความรู้ที่ปานกลางค่อนข้างต่ำ (M1) เป็นอีกประเด็นที่น่าตกใจ เพราะในเมื่อหลักสูตรการเรียนของเด็กๆ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย ได้มีเนื้อหาและหลักสูตรต่างๆ เหล่านี้รวมอยู่แล้ว แต่ทำไม เด็กรุ่นใหม่ยังคงขาดทักษะด้านนี้อยู่
ผลการสำรวจเหล่านี้ อาจเป็นเพียงตัวชี้วัดหนึ่งที่ก่อให้เกิดคำถามในวันนี้ว่า จริงแล้วหรือ ที่เยาวชนไทยมีทักษะชีวิตที่เพียงพอในการจัดการและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กำลังจะก้าวเข้าในชีวิตพวกเขา 
ด้วยเหตุนี้ การประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องครั้งที่ 2 ของโครงการวิจัย คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงินโดยสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ร่วมกับมูลนิธิซิตี้ จึงจัดเวทีเสวนาระดมสมองในประเด็นเรื่อง การพัฒนาทักษะชีวิตเรื่องความรู้ในการบริหารการเงินส่วนบุคคล สำหรับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ที่โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ แอนด์ คอนเวนชั่น โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไทย อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานที่สนับสนุนและผลักดันเรื่องการให้ความรู้ทางเงินต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และที่สำคัญคือ ตัวแทนเยาวชนจากทั่วประเทศ มาร่วมระดมสมอง เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลแก่กลุ่มเยาวชนต่อไป  

Wednesday, October 1, 2014

อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 1: หมวกขาว ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่าน ผมเดาว่าช่วงนี้คุณผู้อ่านคงยุ่งมาก ๆ ทีเดียว เพราะใกล้ปิดปีงบประมาณแล้ว ฝั่งภาคเอกชนคงต้องปั้มตัวเลขกันวุ่นวายไปหมด กลับกับฝั่งภาครัฐที่ต้องปวดหัวเพราะเงินเหลือ ก็ลำบากคนละอย่างเนอะ
สำหรับ Ministry of Learning สัปดาห์นี้จะถอยจากเรื่องเครียด ๆ ในวงการศึกษาเปลี่ยนอารมณ์มาคุยเรื่องการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตัวเองกันบ้างดีกว่า โดยผมได้รับคำแนะนำจากเพื่อนคนหนึ่งว่าไม่ลองเขียนบทความเป็น Series เหรอ? เพราะสามารถลงลึกในเชิงเนื้อหาได้มากขึ้น กอปรกับความเป็น Blog ที่ยังไงคุณผู้อ่านสามารถย้อนกลับไปอ่านบทความที่คาบเกี่ยวกันได้สะดวกอยู่แล้ว เลยขอประเดิม Series แรกด้วยเรื่องการคิดแบบหมวก 6 ใบแล้วกัน

ผมเคยเขียนเรื่อง “การเมือง เรื่องที่ต้องใช้หมวก 6 ใบ” ไปแล้ว โดยในตอนนั้นเป็นการแนะนำเครื่องมือที่ใช้คิดวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองที่ค่อนข้างวุ่นวายเป็นสำคัญ ส่วนครั้งนี้จะเขียนในเชิงของการประยุกต์ในเรื่องทั่ว ๆ ไป ที่ผมในฐานะผู้ใช้คนหนึ่งที่ใช้ตั้งแต่การคิดเพื่อตัดสินใจอะไรคนเดียว หรือ ใช้เพื่อดึงแนวคิดจากทีมเพื่อสร้างอะไรใหม่ ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย
สำหรับตอนแรกจะเป็นหมวกใบแรกที่อยากแนะนำคือ “หมวกขาว” โดยเจ้าของแนวคิดคือ Edward de Bono เลือกใช้สีขาวเพราะต้องการสื่อถึงความบริสุทธิ์ โดยเราจะต้องทำความคิดและสติเราให้พร้อมกับการ “เปิดรับ” ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะเข้ามาโดยมีเทคนิคเสริมดังต่อไปนี้
เทคนิคที่ 1 ปรับสมองให้เป็น Info Mode โดยการเลือกรับ “ความจริง” หรือ “ข้อเท็จจริง” เป็นสำคัญ แม้ว่าคนที่อยู่ตรงหน้าเราจะดราม่าน้ำตาแตก ก็ขอให้ฟังและสังเกตหาข้อมูลที่ซ่อนอยู่ภายใต้ “ความคิดเห็น” นั้น ๆ เพราะมันใช้เวลาแป็บเดียว ไม่ต้องกลัวคนอื่นหาว่าเราเป็นคนใจหินอะไรเพราะเดี๋ยวเราก็จะต้องใช้หมวกแดงกันอยู่แล้ว มีเวลาให้ปล่อยของแน่นอนไม่ต้องห่วง ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคแรกคือการแก้ตั้งแต่เราจะ Intake ข้อมูลเข้ามาเป็นสำคัญว่าต้องเลือกรับแต่ในสิ่งที่เป็นความจริง ข้อเท็จจริง หรือ ความคิดเห็นให้ได้
เทคนิคที่ 2 ตัดอารมณ์เราเองให้ขาด ข้อมูลบางอย่าง เช่น ภาพ เรื่อง เหตุการณ์ ชื่อ คำ วลี หรือ ประโยคมีอิทธิพลกับใจของเราทางใดทางหนึ่ง เหมือนกรรไกรคม ๆ ที่มาตัดหนังสติ๊กที่เหนี่ยวไกรอไว้ให้เรารู้สึกได้หลายอย่างทั้งความรัก โลภ โกรธ หลง ดังนั้นการตัดอารมณ์นี้ต้องเปิดรับข้อมูลอย่างมี “อุเบกขา” อ่าน ดู ฟัง อย่างที่มันเป็น ท่องไว้ “ตถตา – มันเป็นเช่นนั้นเอง” ผมทราบว่ามันไม่ง่ายแต่จุดนี้แหละที่ทำให้คนใช้หมวก 6 ใบไม่สำเร็จ บางทีเราไม่ชอบคนนี้...หมั่นใส้ บางทีเราแอบเป็นห่วงคนนี้...เพื่อนฉัน หรือ บางทีเราเคารพมากเพราะยังไงก็เป็นคนมีบุญคุญกับที่บ้าน พวกนี้แหละทำให้เราเขวได้หมด ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคที่สองคือการจัดการกับความคิดเราเองระหว่างที่กำลังรับข้อมูลในแง่ของอารมณ์ความรู้สึก
เทคนิคที่ 3 อย่าอ่านใจ อันนี้ต้องโดยเฉพาะกับคุณผู้อ่านที่มีความคิดเฉียบคม หลายครั้งเรามีความสามารถในการ Read in Between the Line หรือกลุ่มที่เป็น Active Reader/Listener จะต้องสะกิดตัวเองให้ดี ๆ เพราะคนกลุ่มนี้บางทีเพื่อนพูดมายังไม่ครบประโยคเลยแต่สามารถสร้างภาพในหัวมารอได้แล้ว บางทีเห็นชัดกว่าต้นทางอีก กลายเป็นแทนที่จะได้ข้อมูลของแท้ก็จะได้ข้อมูลสังเคราะห์แทน ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคที่สามนี้คือการจัดการกับความคิดเราเองระหว่างรับข้อมูลในแง่ของความตรง (Validity) ของข้อมูลที่รับมา
เทคนิคที่ 4 อย่าสรุปเบี้ยว คุณผู้อ่านต้องเคยเจอแน่นอน บางทีสัมมนาหรือประชุมอะไรกันเสร็จ เพื่อนเล่ามาอย่างคนฟังสรุปไปอีกอย่างแบบเฉยเลย บางคนแต่งตอนหัว ตอนกลาง ตอนท้าย แล้วแต่ลีลา ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลอะไรที่ไม่ตรงได้ ทางแก้คือการเก็บข้อมูลแบบ Verbatim หรือใครว่ายังไงก็เก็บมาแบบนั้น แล้วค่อยมาแกะอีกทีว่าข้อมูลจริง ๆ นั้นคืออะไร เพราะผมเคยเจอบางคนเขาอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานมาก ๆ พอฟังเรื่องอื่นมาก็บอกว่า “นี่แหละ เหมือนของฉันเลย” หรือ "จริง ๆ มันเป็นเรื่องเดียวกันนั่นแหละ" อ้าว? ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคนี้ที่สี่นี้จะอยู่ที่การจัดการกับการสรุปข้อมูลแล้วว่าทำอย่างไรไม่ให้สรุปไปอย่างอื่น
เทคนิคที่ 5 บันทึกเดี๋ยวนึกไม่ออก ถ้าเราเป็นคนที่จะต้องทำอะไรหลายเรื่อง ๆ แล้ว การบันทึกไว้ไม่ว่าจะด้วยการจด พิมพ์ หรือ ถ่ายรูปบนกระดานที่ประชุมจะช่วยให้เราสามารถกลับมาต่อเรื่องเดิมได้ง่ายกว่าการจำออกไปทั้งนั้น โดยเฉพาะเวลาประชุมต้องมีบันทึก ผมรู้ว่าหลายคนที่ต้องเขียนมักจะบ่นว่าเสียเวลา แต่จริง ๆ แล้วท่านได้ช่วยประหยัดเวลาให้องค์กรอย่างมากในการกลับมาอ้างอิง ในขณะที่การคิดคนเดียวก็ควรมีสมุดบันทึกเก็บรายละเอียดเอาไว้เพื่อให้เราจะได้กลับมาคิดต่อได้ถูก โดยการบันทึกจำเป็นต้องให้ทราบที่มาของข้อมูลด้วย (ไม่ต้องละเอียดเหมือนวิจัยก็ได้ แต่ควรรู้ว่ามาจากไหน) ดังนั้นจุดเน้นของเทคนิคสุดท้ายในวันนี้คือการบันทึกสิ่งที่จะดึงให้เรากลับมาสู่ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเอง
โดยสรุปในภาพกว้าง หากคุณผู้อ่านอยากใช้หมวกขาวเก่ง ๆ สามารถประยุกต์หลักกาลามสูตรมาเสริมดูว่าการอย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่แรกพบนั้นเป็นยังไง เพราะการมีข้อมูลที่ชัดเจนและครบถ้วนคือต้นทุนทางปัญญาที่จะเอาไปค้นหาอะไรต่อไปได้อีกไม่รู้จบ
สุดท้ายคือเราสามารถกลับมาที่หมวกขาวอีกทีเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อไหร่ที่เราพบ “ข้อมูลใหม่” ในเรื่องเดียวกันเราก็เปิดรับและค่อยจับมาเปรียบเทียบ ข้อมูลไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไปก็ได้ เพราะในความเป็นจริง “สมมติสัจจะ” เปลี่ยนได้ตลอดเวลา ดังนั้นเก็บ แต่อย่าขังตัวเองไว้กับข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง


สำหรับ Ministry of Leaning – The Series: อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 1 นี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขกับการเก็บเกี่ยวข้อมูลอย่างรอบคอบ และ สัปดาห์หน้าเรามาต่อกันที่หมวกแดง จะแรงแค่ไหนโปรดติดตาม สำหรับวันนี้สวัสดี

เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย