Sunday, October 19, 2014

ตัวชี้วัดชุมชนปรับตัวได้

          เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา Asian Forum on Corporate Social Responsibility (AFCSR) ครั้งที่ 13 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิบปินส์ ภายใต้ธีม Building Resilient Communities เพื่อให้เข้าใจแนวคิดนี้มากขึ้นจึงได้ทำการค้นคว้าและพบว่า Resilience หรือในภาษาไทยแปลกันว่า ยืดหยุ่นปรับตัวได้นั้นคือความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวเมื่อเผชิญกับความกดดันยากลำบากหรือภาวะวิกฤต คุณสมบัตินี้ถ้าเป็นระดับปัจเจกบุคคลถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญพอๆ กับ IQ หรือ EQ บุคคลระดับผู้นำของโลกไม่ว่าจะเป็นริชาร์ด แบรนสัน  (Richard  Branson) เจ้าของสายการบินชื่อดังของโลก   เวอร์จิ้น แอร์ไลน์  (Virgin Airlines)  และเจ้าของธุรกิจมากกว่า 360 บริษัท ที่ใช้ชื่อการค้าว่า Virgin ตอนนี้มีคำนำหน้าเป็นเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ที่ต้องผ่านขวากหนามโดนเรียกคืนสัมปทานการบิน เสี่ยงกับการล้มละลาย แต่ด้วยสติและความมีอารมณ์ขัน ความคิดสร้างสรรค์และความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาก็ทำให้เขากลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการที่ไม่เคยหยุดให้กับปัญหาใดๆ หรือหญิงเหล็กอย่างฮิลลารี่ คลินตัน (Hillary Clinton) ก็ได้รับการกล่าวขวัญในหนังสือที่ชื่อว่า Leadership Secretes of Hillary Clinton ว่าความลับสู่ความสำเร็จในการเป็นผู้นำและการนำไปสู่อำนาจ ในการก้าวข้ามอุปสรรคและฝั่งตรงกันข้าม เพราะเธอมีคุณสมบัติในการยืดหยุ่นปรับตัวได้ เธอจึงสามารถกลับมายืนบนเวทีการเมืองและมีผู้สนับสนุนให้เธอลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดเวลา

ในเชิงสังคมและชุมชน คุณสมบัติที่ยืดหยุ่นปรับตัวได้ (Resilience) ซึ่งกลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ชุมชนอยู่ดีมีสุขได้อย่างยั่งยืน ด้วยว่าสังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สาธารณสุข การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อมและแม้กระทั่งภัยธรรมชาติ ดังนั้นสังคมและชุมชนจึงอยู่บนความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเหล่านั้นตลอดเวลาและอาจรวดเร็วขึ้นกว่าในอดีตอันเนื่องจากพลังโลกาภิวัฒน์ ในวงของการสัมมนานี้จึงพูดกันถึงกลไกของ CSR ที่สามารถจะเป็นจุดเชื่อมธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ในการช่วยสร้างชุมชน สังคม ที่สามารถรับแรงกระเทือนจากความเปลี่ยนแปลงแต่ยังมีความหวังจะต่อสู้อุปสรรค และกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
หัวข้อหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานล้นหลามกระทั่งผู้จัดต้องเสริมที่นั่งกันเกือบล้นออกนอกห้อง คือหัวข้อตัวชี้วัดและการวัดผลความสามารถในการยืดหยุ่นและปรับตัวได้ (Resilience)     ซึ่งนำเสนอโดยด็อกเตอร์คริสทีน แก็บบี้ จากสถาบัน Torrons Resilience Institute แห่งเมือง Adelaide ออสเตรเลีย กระบวนการสร้างความยืดหยุ่นและปรับตัวได้นี้  อาจารย์แก็บบี้ได้ชี้ว่าเป็นกระบวนการที่มีชีวิต (Living Process) กล่าวคือต้องการมีประเมินอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยตัวอย่างที่ยกมาในประเทศอออสเตรเลียนั้นได้มีการจัดคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้คนหลากหลายจากในชุมชนมาร่วมกันติดตามและตรวจสอบศักยภาพของการมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ โดยทางสถาบัน Torrons Resilience Institute ได้จัดทำเครื่องมือ Resilience Scorecard โดยเครื่องมือนี้จะมีประโยชน์ต่อพื้นที่ของชุมชนในการเตรียมพร้อมรับกับภัยพิบัติหรือสถานการณ์อ่อนไหวซึ่งอาจนำมาซึ่งเหตุรุนแรงต่างๆ ได้ รวมไปถึงการสร้างแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นบุคคล องค์กร องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชนนั้น ในการศึกษาของสถาบันนี้ หากชุมชนนั้นเป็นชุมชนที่ปรับตัวได้ มีเสถียรภาพและมีศักยภาพสู่การยืดหยุ่น ชุมชนจะมีความสามารถดังนี้คือ1.      สามารถบริหารจัดการระบบต่างๆ ในชุมชนนั้นได้แม้เกิดเหตุวิกฤต (Crisis) ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินไหว เหตุประท้วงหรือเหตุอื่นๆ2.      สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางกายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เพื่อตอบรับกับแรงกระทบที่เข้ามาได้3.      สามารถพึ่งพาตนเองได้หากโดนตัดขาดจากความช่วยเหลือภายนอกโดยในหัวข้อ
Scorecard จะถูกแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อใหญ่ๆ คือ 1. ความเชื่อมโยงในชุมชน (Connectedness) โดยวัดจากความเชื่อมโยง การสื่อสาร และการสนับสนุนกันและกันของสมาชิกในชุมชน 2. ความเสี่ยงต่างๆและกลุ่มคนในชุมชนที่มีความเปราะบางและต้องการความช่วยเหลือ (Risk/Vulnerability) โดยวัดจากการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ ลักษณะของกลุ่มคนในชุมชนทั้งแบบที่แข็งแรงอยู่แล้วหรือเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ 3. แผนและกระบวนการ (Process) ในหัวข้อนี้จะมีการวัดระดับการเตรียมพร้อมในแผนการและระบบต่างๆ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในแผนต่างๆ เพื่อฟื้นฟู หรือตอบรับกับเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบกับชุมชนทั้งในระดับครัวเรือนและระดับวงกว้าง      4. ทรัพยากร (Available Resources) เป็นการวัดระดับความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภค ถนน น้ำ ไฟ แหล่งอาหาร สาธารณสุข รวมไปถึงรายได้ สถานะทางเศรษฐกิจ สถานศึกษาและองค์ความรู้

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า การสร้างคุณสมบัติด้านการยืดหยุ่นและปรับตัวได้นั้นเป็นกระบวนการระยะยาว และต้องการการมีส่วนร่วมจากชุมชน นับจากสมาชิกปัจเจก ระดับครอบครัว ระดับกลุ่มและในภาพรวมทั้งหมด ที่ประเทศออสเตรเลียโดยสถาบัน Torrons Resilience Institute จึงได้จัดทำคู่มือ Tool Kit เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้กับชุมชนต่างๆได้นำไป ปรับใช้และเน้นสิ่งที่สำคัญในการสร้าง Resilience คือคณะกรรมการของชุมชนที่จะต้องร่วมประชุมเพื่อประเมินและติดตามผลตามหัวข้อใน Scorecard และจะต้องมาจากหลากหลายกลุ่มในชุมชน เพื่อให้ครอบคลุมความคิดเห็นโดยรวม

ในวันนี้ที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นี่อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนให้กับ ชุมชนสังคมที่ต้องโดนท้าทายจากสถานการณ์ความน่ากลัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรง การเมือง โรคระบาด เศรษฐกิจทดถอย และวัฒนธรรมเสื่อมหายไปกับการพัฒนาสมัยใหม่

พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์

ผู้จัดการโปรแกรมความรับผิดชอบต่อสังคม

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย



No comments:

Post a Comment