Wednesday, October 8, 2014

การพัฒนาทักษะชีวิตเรื่องความรู้ในการบริหารการเงินส่วนบุคคล สำหรับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา

เยาวชน คือ อนาคตของชาติ เป็นคำทั่วไปที่คนมักพูดถึง หากแต่สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในวันนี้นั้น เกิดคำถามว่า เด็กและเยาวชนในปัจจุบันมีทักษะชีวิตที่เพียงพอต่อการก้าวมาเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตหรือไม่ แม้ภายใต้หลักสูตรการเรียนการสอนที่ดูจะบีบรัดอย่างมาก เพื่ออัดความรู้ทุกอย่างที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคิดว่าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเด็กในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชีววิทยา ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ขั้นสูง และอื่นๆ อีกมากมาย แล้วแม้ว่าจะมีการกล่าวว่า เด็กไทยขาดทักษะชีวิต หากแต่เมื่อไปพลิกหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะพบว่า ในความเป็นจริง ระบบการศึกษาไทยได้มีการบรรจุวิชาที่เกี่ยวข้องกับทักษะชีวิตแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเน้นการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าในตนเอง การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การจัดการกับอารมณ์และความเครียด รวมทั้งการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น หากแต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ค่อนข้างจะเป็นนามธรรมที่วัดและประเมินยากในทางปฏิบัติ สิ่งที่เราอาจจะใช้พิจารณาได้อย่างง่ายๆ คือ ภายใต้สถานการณ์หนึ่งๆ เด็กๆ มีกระบวนการคิด วิเคราะห์และประมวลผล เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างไร และผลลัพธ์จากการตัดสินใจนั้นๆ ดีเพียงพอหรือไม่อย่างไร
                การมีทักษะชีวิตที่เพียงพอสำหรับเด็กและเยาวชนนั้น เป็นประเด็นข้อกังขังจากสังคมระดับหนึ่ง จากผลการประเมินระดับความรู้และความสามารถในการประยุกต์ใช้ อย่าง PISA (Programme for International Student Assessment)พบว่า ระดับความรู้ของเยาวชนไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างน่าห่วง PISA เป็นการประเมินที่ไม่ได้เน้นการคิดท่องจำ แต่เน้นการกระบวนการคิด ตัดสินใจและใช้เหตุผลเพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยสำรวจระดับความรู้ของเยาวชนอายุ 15 ปีที่จะเป็นอนาคตของชาติว่า สามารถนำความรู้ต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร หรือที่เรียกว่า การรู้เรื่อง (Literacy) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ด้านสำคัญๆ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเองและสังคม 1. ความรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) คือ การอ่านและสามารถนำสิ่งที่อ่านมาคิดวิเคราะห์ และสะท้อนเป็นความคิดตัวเองได้ 2. การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematics Literacy) ไม่ใช่แค่การบวกลบคูณหาร หรือถอดสมการ แต่คือการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ รอบตัวด้วยขบวนการเชิงคณิตศาสตร์ 3.การรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ (Science Literacy) ไม่ใช่แค่หลักการทางฟิสิกส์ เคมีและชีววิทยา แต่คือการใช้ความรู้และความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ในการระบุปัญหา ค้นคว้าข้อมูล และใช้ประจักษ์พยานทางวิทยาศาสตร์ จากผลการประเมิน PISA ล่าสุดในปี 2555 นั้น พบว่า คะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้านของเด็กไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด 65 ประเทศที่สำรวจในครั้งนี้ และเมื่อเทียบระดับคะแนนกับประเทศต่างๆ พบว่า เด็กไทยมีความรู้อยู่ในลำดับที่ 50 ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิเช่น เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน เกาหลีและญี่ปุ่น อยู่ใน 6 ลำดับแรก ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจและการพัฒนาที่เป็นรองกว่าประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 17 นอกจากนี้ มาเลเซียอยู่ในลำดับที่ 52 และอินโดนีเซียอยู่ในลำดับที่ 64 ดังนั้น นี่อาจจะเป็นเพียงแค่หนึ่งของตัวชี้วัดว่า ในความเป็นจริงแล้ว การร่ำเรียนและท่องจำตำราอย่างหนักของเด็กไทยนั้น อาจไม่ใช่แนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถ และทักษะชีวิตที่เพียงพอต่อการก้าวเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
                ความรู้ทางการเงินเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกกลุ่ม เพราะเงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในชีวิตประจำวัน หากแต่การบริหารการเงินและการวางแผนทางการเงินก็เป็นทักษะพื้นฐานที่ควรมีในประชาชนทุกคน แต่ในความเป็นจริง ไม่อาจจะเป็นเยี่ยงนั้น จากผลการสำรวจระดับความรู้ทางการเงินของคนไทยในกลุ่มต่างๆ ในปี 2556 โดยกระทรวงการคลัง พบว่า นักเรียนนักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีความรู้ทางการเงินในด้านต่างๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ หรือก็คือ กว่า 50% ของนักเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษา  และประมาณ 47% ของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มีคะแนนต่ำกว่า มีคะแนนอยู่ในระดับต่ำที่สุด (L1) และระดับต่ำ (L2) จากทั้งหมด 6 ระดับ โดยประชาชนส่วนใหญ่จะมีระดับความรู้ที่ปานกลางค่อนข้างต่ำ (M1) เป็นอีกประเด็นที่น่าตกใจ เพราะในเมื่อหลักสูตรการเรียนของเด็กๆ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย ได้มีเนื้อหาและหลักสูตรต่างๆ เหล่านี้รวมอยู่แล้ว แต่ทำไม เด็กรุ่นใหม่ยังคงขาดทักษะด้านนี้อยู่
ผลการสำรวจเหล่านี้ อาจเป็นเพียงตัวชี้วัดหนึ่งที่ก่อให้เกิดคำถามในวันนี้ว่า จริงแล้วหรือ ที่เยาวชนไทยมีทักษะชีวิตที่เพียงพอในการจัดการและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กำลังจะก้าวเข้าในชีวิตพวกเขา 
ด้วยเหตุนี้ การประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องครั้งที่ 2 ของโครงการวิจัย คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงินโดยสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ร่วมกับมูลนิธิซิตี้ จึงจัดเวทีเสวนาระดมสมองในประเด็นเรื่อง การพัฒนาทักษะชีวิตเรื่องความรู้ในการบริหารการเงินส่วนบุคคล สำหรับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ที่โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ แอนด์ คอนเวนชั่น โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไทย อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานที่สนับสนุนและผลักดันเรื่องการให้ความรู้ทางเงินต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และที่สำคัญคือ ตัวแทนเยาวชนจากทั่วประเทศ มาร่วมระดมสมอง เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลแก่กลุ่มเยาวชนต่อไป  

No comments:

Post a Comment