สวัสดีคุณผู้อ่าน สัปดาห์นี้เข้าสู่ตอนที่สามของเรื่องการคิดแบบหมวก 6 ใบแล้ว โดยจะเป็นตอนต่อจากสัปดาห์ที่แล้วที่คุยกันถึงเทคนิคการใช้หมวกแดงเพื่อให้เราสามารถปลดปล่อยและเก็บเกี่ยวอารมณ์ความรู้สึกของเราเองที่มีต่อข้อมูลที่เราได้รับมาจากหมวกขาว
ว่าแล้วสัปดาห์นี้เรามาคุยกันต่อถึงหมวกใบที่สามของเราดีกว่า นั่นคือ “หมวกเหลือง” โดย Edward de Bono จงใจใช้สีเหลืองเพราะต้องการสือถึง “มุมมองด้านบวก” ที่มีต่อข้อมูลที่เราได้มาจากการเปิดรับด้วยหมวกขาว (ไม่ใช่แดง)
ทั้งนี้โดยมากแล้วเราจะใช้หมวกเหลืองต่อจากหมวกแดง สิ่งแรกที่จะต้องทำก่อนคือการถอด “หมวกแดง” ออก ห้ามอารมณ์ค้าง ไม่ต้อง Feel ไม่ต้องอิน เอิบอิ่ม หรือ กรี๊ดกราด เอาจิตกลับไปอยู่ที่ข้อมูลที่รับมาจากหมวกขาวเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี ด้วยมุมมองด้านนี้สำคัญไม่แพ้ด้านอื่น ๆ เพียงแต่เราไม่ค่อยได้ฝึก ดังนั้นการสวมหมวกเหลืองจึงเป็นช่วงสำคัญที่ให้เราได้มีโอกาสคิด ใคร่ครวญ และ มองหาสิ่งที่ดี ๆ เพื่อให้เราไม่พลาดโอกาสที่อยู่ในข้อมูลที่เรากำลังพิจารณาอยู่โดยไม่มีการรบกวนจากการคิดในมุมมองอื่น ๆ ลองใช้เทคนิคต่อไปนี้ดูนะ
เทคนิคที่ 1 ใช้ “ถ้า” หลาย ๆ ท่า คำว่า “ถ้า” ในทางวิชาการคือคำถามเชิงวิจัยนะ เพราะเราต้องมีสมมติฐาน บางอย่าง ซึ่งในชีวิตจริงเราใช้คำนี้บ่อยเหลือเกินแต่เรากลับรู้สึกว่าวิจัยเป็นเรื่องไกลตัว เทคนิคนี้คือการใช้คำว่า “ถ้า” ในหลาย ๆ แบบกับข้อมูลที่ได้มาจากหมวกขาว การใช้ “ถ้า” เป็นการบอกว่าเรามองเห็นความเชื่อมโยงยางอย่างออก ดังนั้นสิ่งที่เราจะ List ออกมาจะไม่ได้เกิดจากการเดา แต่จะมีหลักคิดอะไรบางอย่างติ่งไว้อยู่เสมอ
เทคนิคที่ 2 กระจายประโยชน์ ลองมองหาจุดที่ให้เราเกาะความคิดไปได้โดยสะดวก เช่น จากข้อมูลที่เราได้รับมีถ้าเป็นจริง อะไรบ้างที่จะเป็นข้อดีที่เกิดกับเรา? อะไรบ้างที่จะเป็นข้อดีกับครอบครัวเรา? อะไรบ้างที่จะเป็นข้อดีกับองค์กรเรา? ฯลฯ ได้ทุกระดับจนถึงระดับชาติ หรือ ระดับโลก แบบนี้เราจะได้ List มุมมองด้านบวก ๆ ออกมาอีกเยอะเลย
เทคนิคที่ 3 ปัจจุบันหรืออนาคต มีคนถามบ่อยมากเวลาใช้หมวกเหลือว่าให้คิดจากสิ่งที่เกิดมาแล้ว เป็นอยู่ หรือ จะเป็นดีล่ะ จริง ๆ แล้วได้หมดแต่จะเป็นประโยชน์กว่าคิดถึงสิ่ง “เป็นอยู่” กับ “จะเป็น” เทคนิคนี้คือเราเอา อาจจะแยกคิดเห็นข้อดีในปัจจุบันกับข้อดีในอนาคตก็ได้ เป็นการใช้เทคนิคหมวกเหลือแบบคาบเกี่ยวหลายช่วงเวลา แต่อนาคตที่ว่าก็ต้องกะให้พอเหมาะนะ บางทีโจทย์เล็ก ๆ เช่นว่าจะย้ายงานแต่คิดไปถึงหลังเกษียณก็ยาวไปหน่อย เอาให้พอดี ๆ
เทคนิคที่ 4 เอาให้ตรงประเด็น หากเทคนิคที่ 1 – 3 ที่ผ่านมาเอาไว้สำหรับคุณผู้อ่านที่ไม่คุ้นกับการ Brainstorm หรือคิดไม่ออก แต่ถ้าคิดออกแล้วรู้สึกว่า “เยอะไป” ก็มาใช้เทคนิคที่ 4 นี้ดู โดยให้เตือนตัวเองว่าหมวกเหลืองเป็นเพียง 1 ใน 6 ของหมวกทั้งหมดที่เรามี หากเริ่มรู้สึกว่า List ไปวนไปแล้วล่ะก็อาจจะต้องเริ่มเลือกมองหาส่วนที่ดีที่ตอบโจทย์กับความต้องการ เช่น ข้อดีของการเรียนต่อ แต่งงาน ตัดสินใจอะไรบางอย่าง ฯลฯ เพราะการมุ่งประเด็นจะช่วยให้เราใช้หมวกเหลืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคนิคที่ 5 อย่ายึดติด อย่าลืมว่าหมวกเหลืองเป็นการคิดที่อาศัยข้อมูลที่มาจากหมวกขาว บางครั้งข้อมูลแรกที่เราได้มาทำให้เรามองเห็นอะไรที่ฟรุ้งฟริ้งมากเลย แต่พอกลับไปสวมหมวกขาวเพื่อค้นข้อมูลเพิ่มกลับพบความจริงใหม่ ๆ ที่เข้ามาเสริม แบบนี้ต้องบอกว่าเราต้องกล้าที่จะคิดใหม่ด้วย ไม่เช่นนั้นเราจะโดนหมวกเหลืองตัวเองหลอกเอาได้ อันนี้ไม่ง่ายนักเพราะต้องหักใจออกมา อย่าลืมว่า List ได้ก็ลบได้เสมอ ดังนั้นอย่ายึดติด เพราะหมวกเป็นแค่เครื่องมือในการคิดตามหน้าที่ของมันเท่านั้น
เทคนิคเสริมคืออาจจะมองได้ว่าหมวกเหลืองเป็นการระดมสมองอย่างหนึ่ง (Brainstorm) ดังนั้นตอนใช้โดยเฉพาะเวลาคิดหลาย ๆ คนอย่าเพิ่งห่วงเรื่องถูก/ผิด คิดออกมาก่อน อย่าเพิ่ง Kill Idea ในระหว่างคิดเพราะเอาหรือไม่เอาเป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าคิดไม่ออกดูจะเป็นเรื่องมากกว่า สุดท้ายเมื่อเราพร้อมจะถอดหมวกเหลืองแล้วก็ขอให้ถอดออกไปจริง ๆ ถอดแล้ววาง จะมาใส่อีกทีเมื่อไหร่ค่อยว่ากันใหม่
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับการฝึกเพื่อมองหาข้อดีของข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้รับมา ผมรู้ว่ามันไม่ง่ายสำหรับบางคนเพราะแนวโน้มแล้วหลายคนอาจจะถนัดหมวกดำมากกว่า ซึ่งสัปดาห์หน้าเราจะมาคุยกันในเรื่องนั้น ดังนั้นเทคนิคที่ให้จึงเน้นการคิดให้มองเห็นมุมมองด้านบวกให้ได้เยอะ ๆ ก่อน ใช่ไม่ใช้คิดออกมาแล้วค่อยเลือกก็ยังไม่สาย
สำหรับ Ministry of Leaning – The Series: อัจฉริยะด้วยหมวกหกใบตอนที่ 3 นี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้มีความสุขในการมองหาสิ่งดี ๆ รอบ ๆ ตัว ตอนต่อไปเราจะมาฝึกมองโลกในด้านมึด (Dark Side) ด้วยหมวกดำ จะน่ากลัวแค่ไหนก็ไปตามกันต่อได้ สำหรับวันนี้สวัสดี
เขียนโดย
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์
ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย
No comments:
Post a Comment