มาเช็คสุขภาพ(ทางการเงิน)ของคุณกันเถอะ!
เขียนโดย น.ส. ปาริชาติ แสงทอง ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ
ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลเอาใส่ใจ “สุขภาพร่างกาย” ของตนเองกันเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากยอดมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ย่อมต้องทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เพื่อความหวังและความฝันในเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ...เงินโบนัสปลายปี ซึ่งพวกเราทุกคนต่างถวิลหามันทุกค่ำเช้า ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มดูแลสุขภาพของตนเองอย่างจริงจัง เราควรทราบก่อนว่า สุขภาพร่างกายของเราสมบูรณ์แข็งแรงดีหรือไม่ ด้วยการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อที่จะได้รู้ว่าตนเองมีความดันโลหิต น้ำตาล คอเลสเตอรอลอยู่ในระดับใด และมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อีกหรือไม่ เมื่อทราบแล้ว เราจึงรู้ว่าจะต้องปรับปรุงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้มีชีพจรชีวิตที่ยืดยาวต่อไปตราบนานเท่านาน
ที่เกริ่นนำมาซะยาวเหยียดขนาดนี้ ก็เพราะอยากให้ผู้อ่านที่เป็นบรรดายอดมนุษย์เงินเดือนทุกคนเล็งเห็นว่า เมื่อคุณได้รับเงินเดือนในแต่ละเดือน รวมไปถึงโบนัสก้อนโตที่ได้รับในตอนปลายปีนั้น คุณๆ ก็มักจะนำไปใช้จ่ายเพื่อให้รางวัลกับชีวิตด้วยวิธีการขั้นเทพเฉพาะตัวของแต่ละคนจนเพลิน นึกขึ้นมาได้อีกที.. อ้าว! ยังจ่ายหนี้ไม่หมดเลยนี่หว่า หรือไม่ก็.. ว่าจะกั๊กเงินไว้ออมซะหน่อยหมดอีกแล้ว ไม่เป็นไรเดือนหน้าค่อยว่ากัน และเหตุผลอื่นๆ อีกมากมายที่ยกแม่น้ำทั้ง 185 สายขึ้นมาเพื่อปลอบใจตนเอง เพราะไม่อยากยอมรับว่าตนเองมีพฤติกรรมการใช้เงินที่แย่ขนาดไหน และไม่เคยทราบเลยว่าควรจะต้องมีการวางแผนการใช้เงินล่วงหน้าในแต่ละเดือนอย่างไร ดังนั้น เมื่อคนเราให้ความสำคัญกับการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายฉันใด ย่อมจะต้องให้ความสำคัญต่อการตรวจเช็ค “สุขภาพทางการเงิน” ของตนเองด้วยฉันนั้น
ทีนี้ คำถามแรก “ทำไปทำไมล่ะ ไอ้การตรวจสอบสุขภาพทางการเงินเนี่ย?” คำตอบคือ “เพื่อให้ทราบถึงทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวคุณเองในปัจจุบัน อันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการเงินของคุณในอนาคตอีกด้วย” คำถามต่อมาน่าจะเป็น “แล้วมันทำยังไงล่ะ?” คำตอบคือ “สามารถทำได้ง่ายมากๆ โดยวันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอแบบทดสอบสุขภาพทางการเงิน ซึ่งใช้เวลาทำประมาณ 5-10 นาที” ถ้าพร้อมแล้ว.. ให้อ่านคำถาม 12 ข้อด้านล่างนี้ แล้วเลือกคำตอบที่ซื่อสัตย์กับตนเองที่สุด อ๊ะๆ ห้ามแอบดูเฉลยด้านล่างก่อนนะ และห้ามตอบเข้าข้างตนเองเด็ดขาดนะเจ้าคะ โอเค! สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ตั้งสติให้มั่น.. แล้วมาเริ่มกันเลยดีกว่าจ้า...
1. ปัจจุบันคุณมีรายได้หลักมาจากทางใด
ก. เงินเดือน / ค่าจ้าง
ข. รายได้จากธุรกิจส่วนตัว หรือการประกอบอาชีพอิสระ
ค. ไม่มีรายได้ประจำ
2. นอกจากรายได้ในข้อ 1 แล้ว คุณยังมีรายได้มาจากแหล่งอื่นอีกหรือไม่
ก. มี... ทั้งยังแน่นอนและต่อเนื่อง
ข. มี... แต่รายได้ก็ไม่ค่อยแน่นอน
ค. ไม่มี
3. โดยทั่วไป คุณจะ...
ก. แบ่งเงินออมไว้ก่อน เหลือแล้วค่อยใช้
ข. ใช้ก่อน เหลือแล้วค่อยออม
ค. อยากออมนะ แต่ไม่เคยมีเงินพอใช้ถึงสิ้นเดือนเลย
4. ที่ผ่านมาคุณออมเงินคิดเป็นร้อยละเท่าใดของรายได้ต่อเดือน
ก. มากกว่า 20%
ข. 10% – 20%
ค. น้อยกว่า 10%
5. ถ้าคุณได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท คุณจะ...
ก. เก็บไว้ โดยฝากธนาคารหรือลงทุนทั้ง 10,000 บาท
ข. แบ่งไปออมสัก 5,000 บาท และแบ่งไว้ใช้อีก 5,000 บาท
ค. ใช้เงินซื้อของที่อยากได้ทั้งหมด
6. ปัจจุบันคุณมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่ทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่มีรายได้ นานที่สุดกี่เดือน
ก. มากกว่า 6 เดือน
ข. ประมาณ 3 – 6 เดือน
ค. ไม่เกิน 3 เดือน
7. เวลาคุณจะใช้เงินซื้ออะไรบางอย่าง คุณจะ...
ก. พิจารณาว่าจำเป็นและได้ใช้ จึงจะซื้อ
ข. หากมีการลดราคา 50% – 70% จึงจะซื้อ
ค. อยากได้ก็ซื้อ
8. ในแต่ละเดือนคุณมีภาระต้องชำระหนี้สินทุกประเภทคิดเป็นร้อยละเท่าใดของรายได้
ก. 0 – 25%
ข. 25 – 45%
ค. มากกว่า 45%
9. ปัจจุบันคุณมีบัตรเครดิตที่มียอดคงค้างและต้องชำระดอกเบี้ยอยู่กี่ใบ
ก. ไม่มีบัตร หรือไม่มียอดคงค้างเลย
ข. 1 – 2 ใบ
ค. ตั้งแต่ 3 ใบ ขึ้นไป
10. สมมุติว่าคุณมีหนี้อยู่หลายประเภท คุณคิดว่าหนี้ประเภทใดที่เป็นปัญหากับชีวิตของคุณมากที่สุด
ก. เงินกู้ระยะยาว เช่น เงินกู้เพื่อซื้อบ้าน เงินกู้เรียน ฯลฯ
ข. เงินกู้ระยะสั้น เช่น เงินกู้ค่าผ่อนชำระสินค้า สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ
ค. เงินกู้นอกระบบ หรือหนี้บัตรเครดิต
11. กรณีที่คุณเป็นเสาหลักของครอบครัวและไม่สามารถทำงานหารายได้ต่อไปในอนาคต คุณคิดว่าครอบครัวของคุณจะเป็นอย่างไร
ก. ไม่เดือดร้อน เพราะมีเงินออมและทำประกันชีวิตเอาไว้แล้ว
ข. เดือดร้อนพอประมาณ เพราะมีเงินออมและทำประกันชีวิตไว้บ้างนิดหน่อย
ค. เดือดร้อนแน่ เพราะขาดหลักประกันในชีวิต
12. ถ้าด้วยฐานะและภาระต่างๆ ที่คุณยังมีอยู่ในปัจจุบัน คุณคิดว่าวิธีการใดต่อไปนี้ที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายการออมเงินของคุณได้
ก. นำเงินออมที่มีอยู่ไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้น
ข. เพิ่มรายได้ เพื่อเพิ่มเงินในการออม
ค. ลดค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มเงินในการออม
เอาล่ะ! เสร็จแล้ว ได้เวลาคิดคะแนนจากคำตอบแต่ละข้อที่เราตอบไป ตามด้านล่างนี้จ้า:
• ตอบข้อ ก ได้ 2 คะแนน
• ตอบข้อ ข ได้ 1 คะแนน
• ตอบข้อ ค ได้ 0 คะแนน
เฉลยผลการทดสอบ
0 – 7 คะแนน : คุณมีสุขภาพทางการเงิน ไม่ค่อยดี
มีสัญญาณบ่งบอกถึงความอ่อนแอในสุขภาพทางการเงินของคุณ อาจจะเป็นเพราะคุณมีมุมมอง ทัศนคติ และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่มุ่งเน้นความสะดวกสบายในปัจจุบัน แต่หากคุณจะใช้จ่ายอะไร ลองพิจารณาถึงความจำเป็น พร้อมทั้งหาทางเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เพียงเท่านี้... สุขภาพทางการเงินของคุณก็จะแข็งแรง เป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงิน ก็จะเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้
8 – 16 คะแนน คุณมีสุขภาพทางการเงิน ปานกลาง
จริงๆ แล้วสุขภาพทางการเงินของคุณอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป แต่เพื่อความไม่ประมาท การเพิ่มความระมัดระวังด้านการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น จะช่วยเพิ่มพูนเงินออมหรือเงินลงทุน ส่งผลให้สุขภาพทางการเงินของคุณมีความแข็งแรงมากขึ้น เป็นการสร้างความมั่งคั่งมั่นคงให้กับตนเอง และบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้
17 คะแนนขึ้นไป คุณมีสุขภาพทางการเงิน ดีมาก
ขอแสดงความยินดี... คุณมีสุขภาพทางการเงินแข็งแรงดีมาก อาจจะเป็นเพราะคุณมีมุมมอง ทัศนคติ และพฤติกรรมเกี่ยวกับการหารายได้และการใช้จ่ายที่ดี อีกทั้งยังมีวินัยในการออมสูง จึงทำให้คุณมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ แต่เพื่อความไม่ประมาท คุณควรรักษาสิ่งดีๆ เหล่านี้ไว้ พร้อมทั้งเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้ตนเองด้วยการออมและลงทุนอย่างต่อเนื่อง สุขภาพทางการเงินของคุณจะแข็งแรงอย่างนี้ตลอดไป
เห็นมั้ยละคะว่า... การตรวจสุขภาพทางการเงินนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วมากๆ แถมยังมีประโยชน์ทำให้เราได้ทราบว่าตนเองมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร และทราบอีกด้วยว่าเรามีทัศนคติต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิตอนาคตอย่างไร ดังนั้น ลองนำคำแนะนำที่เขียนอธิบายไว้จากผลการตรวจสุขภาพทางการเงินแต่ละระดับไปลองปรับใช้ดูกับตนเอง เผื่อว่าจะได้ผลเหมือนอย่างที่ผู้เขียนเคยลองใช้เป็นแนวทางกับตนเองมาแล้ว ซึ่งใช้ได้ผลดีมากๆ โดยสามารถนำมาวางแผนการใช้จ่ายของตนเองในแต่ละเดือน ปรับปรุงวิถีการใช้จ่ายจากที่เคยหน้ามืดของตนเองให้ดีขึ้น และก้าวข้ามพ้นวิกฤติการใช้เงินแบบเดือนชนเดือนไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ สุดท้ายผู้เขียนจึงขอฝากทิ้งท้ายไว้สักนิดว่า นอกจากเราต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพร่างกายของเราให้ดีเพื่อที่จะสามารถทุ่มเททำงานได้อย่างเต็มที่แล้วนั้น เราย่อมต้องดูแลสุขภาพทางการเงินของเราด้วยเช่นกัน เพราะสุขภาพทางการเงินที่สมบูรณ์แข็งแรงย่อมเป็นหนทางที่จะนำท่านไปสู่อิสรภาพทางการเงินที่สดใสได้ในอนาคต