“หลักการตั้งเป้าหมาย”
คุณครูทุกท่านเคยมีความต้องการในเรื่องต่างๆเหล่านี้บ้างมั๊ยครับ เช่น อยากมีบ้านเป็นของตนเอง
อยากมีเงินเก็บสักก้อน อยากมีรถ อยากเรียนต่อปริญญาโท อยากไปเที่ยวต่างประเทศ อยากส่งลูกไปเรียนเมืองนอก หลายท่านมีความต้องการต่างๆ นานา แต่อาจยังไม่สมหวังในสิ่งที่ตนเองวาดฝันไว้
อย่าเพิ่งหมดหวังหรือเสียกำลังใจนะครับ เพราะวันนี้ผมมีเคล็ดลับที่จะทำให้ความฝันหรือความต้องการของทุกท่านเป็นจริงได้มาบอก...
อันที่จริง
ความต้องการเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เกิดก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่ตอนเด็กๆ
เรามักจะมีความต้องการที่เล็กๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เช่น อยากได้ของเล่น อยากกินขนม
ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะลงท้ายด้วยความสมหวัง เพราะมี “ตัวช่วย” คือ คุณพ่อคุณแม่แสนดีที่ขวนขวายหาสิ่งเหล่านั้นมาประเคนให้เราด้วยความรัก
พอเราเติบโตและมีอายุมากขึ้น
ความต้องการของเราก็มักจะโตขึ้นตามวัยและประสบการณ์ของเรา และดูเหมือนว่าจะยิ่งยากและซับซ้อนมากขึ้นในการที่จะบรรลุความต้องการนั้นๆ
ได้ คุณพ่อคุณแม่ก็คงไม่สามารถที่จะช่วยเราได้เหมือนตอนที่เราเป็นเด็กอีกแล้ว
ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เคล็ดลับที่จะทำให้ความต้องการของเราเป็นจริงได้ด้วยตัวของเราเอง
เคล็ดลับที่ว่านี้
เรียกว่า “หลักการตั้งเป้าหมาย” ซึ่งมีจุดประสงค์ก็เพื่อแปลง “ความต้องการ”
ของเราให้เป็น “เป้าหมาย” ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และเพื่อให้เราสามารถกำหนดแผนปฏิบัติการที่จะใช้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้
โดยเป้าหมายที่ดีจะต้องมีลักษณะและองค์ประกอบที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1.
เฉพาะเจาะจง
ชัดเจน
เป้าหมายที่ดีต้องระบุรายละเอียดสิ่งที่เราปราถนาให้ชัดเจนให้มากที่สุด
ยิ่งชัดเจนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่เป้าหมายจะสามารถเป็นจริงได้มากเท่านั้น ตัวอย่างเช่น
หากเป้าหมายเราคืออยากมีบ้าน ก็ต้องระบุว่าให้ชัดเจนว่า.. เป็นบ้านเดี่ยวหรือทาวเฮาส์
ราคาเท่าไร ตั้งอยู่บริเวณไหน จะซื้อบ้านใหม่
จะซื้อบ้านมือสอง หรือจะสร้างบ้านเอง
2.
กำหนดผู้รับผิดชอบ
และมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมาย
ต้องมีการกำหนดคนที่จะมาทำให้เป้าหมายที่เราตั้งไว้ให้เป็นจริง
เช่น เป้าหมายคืออยากมีบ้านตามข้อ 1. ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า.. ใครจะเป็นคนจ่ายเงินซื้อบ้าน
เพราะคนๆ นั้นจะต้องมีหน้าที่หาเงินให้เพียงพอกับราคาบ้าน หรือถ้าคนเดียวไม่สามารถหาเงินได้พอ
อาจจะต้องมีคนอื่นในครอบครัวที่เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยหาเงินเพิ่มเติม
ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ที่ตั้งเป้าหมายว่า
จะมีใครบ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้
3.
มีระยะเวลากำหนด
สิ่งที่สำคัญเลยก็คือ ต้องกำหนดว่า.. เราอยากบรรลุเป้าหมายนี้ภายในระยะเวลาเท่าใด
และจะเริ่มทำตามเป้าหมายเมื่อใด เช่น เป้าหมายคืออยากมีบ้านตามข้อ 1. ก็ต้องกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนว่า.. อยากมีบ้านเป็นของตนเองให้ได้ภายใน 3 ปี โดยจะเริ่มทำตามเป้าหมายนับตั้งแต่วันนี้
เป็นต้น
4.
สมเหตุสมผล สามารถสำเร็จได้ ถ้าลงมือปฏิบัติจริง
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการกำหนดแผนปฏิบัติการของผู้รับผิดชอบตามข้อ
2. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้ในข้อ 1. และข้อ 3. ทั้งนี้ ต้องตั้งอยู่บน “ความสมเหตุสมผล” ด้วย เช่น เป้ามายคือต้องการซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาทให้ได้ภายใน 3 ปี
โดยจะจ่ายเป็นเงินสด ผู้รับผิดชอบก็ต้องกำหนดแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน
คือ ต้องเก็บเงินให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 27,778
บาท ซึ่งเมื่อครบ 36 เดือนก็จะมีเงิน 1 ล้านบาทซึ่งเพียงพอกับการซื้อบ้าน แต่หากพบว่า..
ผู้รับผิดชอบมีเงินเดือนหรือรายได้ต่อเดือนไม่เพียงพอต่อการเก็บเงินให้ได้ในแต่ละเดือนตามแผน
ก็จำเป็นต้องกลับไปทบทวน ข้อ 1. ใหม่ โดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดของการตั้งเป้าหมาย
เช่น อาจจะลดราคาบ้านลง หรือ เปลี่ยนรูปแบบเป็นการกู้เงินกับสถาบันการเงิน เพื่อซื้อบ้านแล้วผ่อนชำระเงินกู้แบบรายเดือนแทนการซื้อเงินสด หรือลองทบทวน ข้อ 3. ใหม่ โดยปรับขยายระยะเวลาให้ยาวออกไป
ให้มากกว่า 3 ปี ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความเหมาะสมของบุคคลที่ที่ตั้งเป้าหมายเป็นหลัก
5.
สามารถวัดผลได้
หลังจากกำหนดแผนปฏิบัติการในข้อ 4. แล้ว
เราต้องมีการวัดผลเป็นระยะๆ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นเชิงตัวเลข เพื่อเป็นการตรวจสอบให้แน่ใจว่า.. เมื่อถึงระยะเวลาที่เรากำหนดไว้ เราจะสามารถทำตามแผนปฏิบัติการที่เราเขียนไว้ได้หรือไม่
และทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้หรือเปล่า เช่น
มีการตรวจสอบสมุดบัญชีเงินฝากทุกเดือนว่าสามารถเก็บเงินได้ไม่น้อยกว่า 27,778 บาทต่อเดือนจริงหรือไม่ และเมื่อครบ 3 ปี เราสามารถมีเงิน
1 ล้านบาทเพียงพอกับการซื้อบ้านหรือไม่
หากคุณครูทุกท่านนำความต้องการในเรื่องต่างๆ มาแปลงเป็นการตั้งเป้าหมายตามหลักการด้านบนนี้ ท่านจะพบว่า.. เรื่องที่เคยคิดว่ายากหรือไกลเกินฝัน แท้จริงแล้วเราสามารถทำให้สำเร็จได้
เพราะเป้าหมายที่ดีจะช่วยให้เราเห็นความต้องการของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เรารู้ว่าใครเป็นตัวหลักในการรับผิดชอบที่จะทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
รู้ว่าเป้าหมายของเราจะสำเร็จเมื่อไร ด้วยวิธีการอย่างไร และมีวิธีการตรวจสอบเพื่อวัดผลการปฏิบัติอย่างชัดเจน
ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น สุดท้าย ขอให้ทุกท่านสมหวังกับสิ่งที่ต้องการนะครับ
No comments:
Post a Comment