รอยเท้าน้ำ
พีรานันต์
ปัญญาวรานันท์
ที่ปรึกษาอาวุโส
โปรแกรมความรับความผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย
องค์การสหประชาชาติประมาณไว้ว่า
ภายในปี 2025 ประชากรโลกถึง 2 ใน 3 จะต้องอยู่ในภาวะขาดน้ำ โดยแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันตก
จะเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบสาหัสที่สุด ดังนั้นหากมีการใช้น้ำอย่างไม่ระมัดระวังทั้งในภาคครัวเรือน
ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมโอกาสเกิด “วิกฤตน้ำ” มีแน่นอน
จากการที่เราได้เข้าไปทำงานกับกลุ่มชุมชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่อุตสาหกรรมและพื้นที่ห่างไกล
ปัญหาหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงในทุกครัวเรือนคือปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยให้เหตุผลว่าต้นตอเกิดจากการจัดการทีไม่เป็นธรรมและขาดความสมดุล
ระหว่างการทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กับการทำเกษตรกรรมของประชาชนจำนวนมากแต่มีกำลังทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า
ดังนี้แนวคิดเรื่อง Water Footprint
จึงได้เกิดขึ้นเพื่อชะลอผลกระทบที่อาจเกิดจากปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำ
โดยแนวคิดนี้เกิดจากการรวมตัวกันขององค์การระหว่างประเทศที่ตระหนักถึงความสำคัญของวิฤกติน้ำที่เกิดขึ้น
เช่น UNESCO IFC WWF และ WBCSD ทั้งนี้
Water Footprint เป็นค่าชี้วัดการใช้น้ำของผลิตหรือผู้บริโภค
โดยคำนวณปริมาณน้ำจากผลรวมของทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการมีหน่วยเป็นลูกบาศก์เมตร
หรือลูกบาศก์เมตรต่อคน ต่อปี
โดยถือเป็นค่าชี้วัดที่ชัดเจนเพราะนอกจากจะแสดงปริมาณน้ำใช้และปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยออกมาแล้ว
ยังแสดงสถานที่และระยะเวลาที่เกิดการใช้น้ำอีกด้วย
ตัวอย่างกรณีศึกษาด้าน
CSR ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Water Footprint เช่น กรณีที่เครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลายนั่นคือกาแฟ
ก็ยังมีความตระหนักและความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น
เพราะหนึ่งจิบของกาแฟนั้นหมายถึง แหล่งเพาะปลูก น้ำที่ใช้เพาะปลูกเมล็ดกาแฟ น้ำตาล
แรงงาน แก้วกระดาษที่นำมาใส่และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้บริษัทธุรกิจร้านกาแฟต้นตำหรับร้านกาแฟทั่วโลกได้ริเริ่มโครงการการบริหารจัดการน้ำภายในร้านของตนเองเป็นหลัก
วิธีการ อาทิเช่น ระบบเครื่องกรองน้ำอัจฉริยะที่ช่วยทำให้ลดน้ำเสียและเพิ่มคุณภาพของน้ำในการชงกาแฟ
มีการจัดตั้งตารางในการตรวจสอบรอยรั่วต่างๆ
ในร้านเพื่อไม่ให้เสียน้ำไปโดยไม่จำเป็นทั่วทั้งร้าน นอกจากนั้นยังมีแผนในการเข้าไปดูแลระบบชลประทานเพื่อการเพาะปลูกเมล็ดกาแฟเพื่อลดการใช้น้ำอีกด้วย
ในขณะที่ผู้ผลิตกาแฟและช็อกโกแลต อื่นๆ ก็ดำเนินรอยตามด้วย ซึ่งเมล็ดกาแฟจากสวนจะได้รับการตรวจสอบโดยองค์กรที่สาม
อาทิเช่น Rainforest Alliance ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการสร้างสังคมการทำธุรกิจบนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มิได้หวังแต่ผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว
แต่ยังคำนึงถึง 3 เสาหลักแห่งความยั่งยืนที่สำคัญอันได้แก่ สังคม สิ่งแวดล้อม
และเศรษฐกิจ
No comments:
Post a Comment