Thursday, June 20, 2013

Talking about Corporate Social Responsibility...

เด็กของเราจะไม่ถูกทอดทิ้ง


โดย พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์

ที่ปรึกษาอาวุโสด้าน CSR สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

 

หนึ่งในตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าของสังคมคือความก้าวหน้าทางการศึกษา ดังจะเห็นได้ว่าประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุด มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และน่าอยู่ในโลกนั้นก็มักจะได้รับการยอมรับด้านความเป็นเลิศทางระบบการศึกษาเช่นกัน ดังที่ปรากฏจากรายงานของ Pearson Education บริษัทชั้นนำด้านการศึกษาจากประเทศอังกฤษ จัดอันดับด้านระบบการศึกษาของประเทศจากตัวแปรสำคัญอันได้แก่ คะแนนการทดสอบระดับนานาชาติ อัตราส่วนบัณฑิตระหว่างปีการศึกษา และความหนาแน่นของอัตราผู้ที่มีความรู้ระดับอุดมศึกษา ในระหว่างปี 2006 2010 ระดับบนสุดของ 40 อันดับ ประเทศที่มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกนั้นคือประเทศฟินแลนด์ รองลงมาคือเกาหลีใต้ ตามมาด้วยฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ นี่แสดงถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการศึกษาและการพัฒนาประเทศ ที่จะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและโอกาสที่เท่าเทียมกัน อีกทั้งเมื่อเราอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้งและเป็นโลกที่ต้องการทักษะที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ทั้งทักษะเชิงเทคนิคและทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราไม่ควรท้อถอยในการพัฒนาให้เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานไว้ว่า “…เจตนาของการศึกษานั้น กล่าวโดยสรุปก็คือการวางรากฐานที่ดีที่ถูกต้องในตัวบุคคล ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และความรู้ทั้งปวง สำคัญที่สุดคือรากฐานด้านความรู้จักรับผิดชอบชั่วดี รู้จักคิดตัดสินใจตามทางที่ถูก ที่เป็นธรรม ที่สร้างสรรค์ ผู้จัดการศึกษาต้องดำเนินงานให้ได้ประโยชน์พร้อมดังนี้จึงจะเรียกได้ว่าปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วน เป็นนักการศึกษาแท้…”

หน้าที่ของการพัฒนาศึกษาจึงไม่สามารถพึ่งพาและรอการสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีกฏหมายที่มีชื่อเสียงมากเกี่ยวกับนโยบายด้านการจัดการศึกษาที่ชื่อ No Child Left Behind Act of 2001 (NCLB) หลักการของ NCLB คือเน้นความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้น รัฐและชุมชนมีอิสระในการจัดการศึกษามากขึ้น ส่งเสริมการใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล และพ่อแม่ผู้ปกครองมีทางเลือกสำหรับบุตรหลานของตนเองมากขึ้น นโยบายนี้เป็นนโยบายที่เน้นการพัฒนาคุณภาพและเร่งเร้าให้โรงเรียนมีความรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก โดยการหากระบวนการต่างๆ ทั้งการเรียนการสอน การพัฒนาศักยภาพครู หรืออื่นๆ ในอันที่จะปิดช่องว่างด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา จึงเป็นที่มาของคำว่าเด็กของเราจะไม่ถูกทอดทิ้ง เมื่อดูโดยภาพรวมนี้แล้วนโยบายด้านการจัดการศึกษาของสหรัฐอเมริกาที่ครอบคลุมทั้งการเข้าถึงการศึกษา (Inclusive) และ การจัดคุณภาพการศึกษา (Quality) น่าจะสร้างความพึงพอใจและอยู่ในกรอบที่ประชาชนส่วนใหญ่รับได้ แต่กลุ่มภาคธุรกิจชาวอเมริกันเห็นว่า ยังมีสถานการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ เช่นกว่าร้อยละ 25 ของเด็กอเมริกันตัดสินใจที่จะไม่เรียนต่อในช่วงระหว่างการเรียนมัธยมปลาย นอกจากนั้นยังพบว่า ความสนใจของวิชาจำพวก วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) และ คณิตศาสตร์ (Math) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า STEM Subjects ลดลงทั่วประเทศตั้งแต่เด็ก โดยพบว่ามากถึงร้อยละ 61 ของเด็กตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 ยอมที่จะทำงานบ้านมากกว่าการทำการบ้านคณิตศาสตร์ (Judah Schiller และ Christine Arena) นี่ทำให้ภาคธุรกิจกังวลกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต เนื่องจากอาจจะต้องพบกับภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยมีการสำรวจว่าตลาดแรงงานกว่าร้อยละ 80  ในช่วงทศวรรษหน้า ต้องการแรงงานที่มีทักษะความชำนาญในหัวข้อ STEM และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทใหญ่ๆ อาทิ Target, Microsoft, Cisco, and IBM Intel, Goldman Sachs, AT&T, และ Facebook สนับสนุนโดยรวมแล้วมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ  เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาที่มากกว่าการบริจาคเงิน สิ่งก่อสร้างและสิ่งของกล่าวคือการสนันสนุนด้านการสร้างศักยภาพและการสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษาอีกด้วยเพื่อให้ตอบรับกับอนาคตของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือโครงการ INSTEP เป็นโครงการในประเทศไทยที่พัฒนาคุณครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและกระตุ้นให้นักเรียนเกิดบรรยากาศเรียนรู้แบบ Inquiry-based learning (การสืบเสาะหาความรู้ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์) ภายในชั้นเรียนในจังหวัดพังงากว่า 3 ปี ของการดำเนินโครงการตามแนวทางการสืบเสาะหาความรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดการสังเกต ก่อให้เกิดการตั้งคำถาม และหาคำตอบด้วยตนเอง สร้างเมล็ดพันธ์แห่งความสนใจด้านวิทยาศาสตร์แล้วนำมาปรับปรุงชีวิตที่ค้นหาความจริง พัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพ และความเจริญในชุมชน อย่างไม่รู้จบ

การที่การศึกษาไทยหรือเด็กไทยจะถูกทอดทิ้งหรือไม่นั้น เป็นคำถามกระตุ้นความรับผิดชอบสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนในประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐหรือนักวิชาการ แต่รวมไปถึงธุรกิจและทุกภาคส่วน เพราะเราต่างรอใช้ประโยชน์จากดอกผลของการศึกษาโดยยังไม่ได้ช่วยพรวนดินดูแลรักษาดอกผลนั้นกันอย่างเต็มที่ แล้วท่านจะหวังให้ผลไม้นั้น ออกดอกออกผลสมบูรณ์และมีคุณภาพที่ดีได้อย่างไร
 
สามารถติดตามอ่าน Blog จากคุณพีรานันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากการอบรมด้าน CSR ได้ทุกเดือนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปค่ะ (นอกจากนี้ยังสามารถอ่านได้จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์ CSR Talk ได้ทุกๆ เดือนค่ะ)

No comments:

Post a Comment