Tuesday, January 1, 2013

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ.....CSR แบบ หญิง หญิง



CSR แบบ หญิง หญิง

โดยณัฏฐนี สถิตยาธิวัฒน์
ที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ และ
ที่ปรึกษาโครงการผู้หญิงฉลาดออม ฉลาดใช้


CSR แบบ หญิง หญิง

คำพูดที่เกี่ยวกับผู้หญิง กับการเงิน “นักช๊อปไร้สติ” “เป็นโรคเสพติดการชอป   ปิงอย่างรุนแรง (Compulsive Shopping Disorder หรือ CSD) “ใช้อารมณ์ มากกว่าเหตุผล” “ซื้อของไร้สาระ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน” “เห็นของถูกไม่ได้” “บริหารเงินไม่เป็น” “เห็นตัวเลข ก็งงหล่ะ “จะเอาเงินไปลงทุนอย่างไรก็ไม่รู้”    “ผู้หญิงหาเงินได้น้อย” “ทำตัว สวย ใส ไร้สมอง หาสามีรวยอย่างเดียวพอ” ล้วนเป็นคำกล่าวที่หล่อหลอมความคิดของสังคมให้เป็นไปในทางเดียวกันว่า         “ผู้หญิงอ่อนแอ และมีจุดอ่อนในการบริหารเงิน ดังนั้นการเงินเป็นเรื่องของผู้ชาย”   มันเป็นความเชื่อที่ถูกหรือ?

จากข้อมูลของชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้พบว่า “ปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้ถึงร้อยละ 95 และ ในจำนวนนั้นร้อยละ 80 ผู้ที่ต้องแบกรับภาระหนี้เป็นผู้หญิง ทั้งที่เกิดจากการก่อหนี้ร่วมกันระหว่างสามี-ภรรยา และการก่อหนี้เฉพาะของสามีเพียงอย่างเดียว แต่ภรรยาจะต้องรับภาระทั้งหมด เพราะด้วยการที่ผู้หญิงมักจะมีความรับผิดชอบดูแลครอบครัวมากกว่าผู้ชาย ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นการก่อหนี้ในครอบครัว แต่ผู้ชายมักจะให้ผู้หญิงเป็นคนจัดการ และในบางกรณีผู้หญิงที่ถูกสามีทิ้งต้องเผชิญปัญหาอยู่เพียงลำพัง”

ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่ต้องยอมรับว่า ยังมีผู้หญิงบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับโอกาสทั้งทางการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมอย่างเพียงพอที่จะสามารถบริหารการเงินของตนเองและครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพได้ ทำให้เกิดปัญหาจากการตัดสินใจทางการเงินที่ผิดพลาด เกิดความไม่พอเพียง และเป็นหนี้เป็นสินทั้งในระบบและนอกระบบในที่สุด จนกลายเป็นสาเหตุปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา ความเครียด ความรุนแรง ทำสิ่งผิดกฎหมาย คุณภาพชีวิต ปัญหาครอบครัว และสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ

การแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นคงจะต้องใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน หากแต่หนึ่งในวิธีการที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้นั่น ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นก็คือ การให้ความรู้ และคำชี้แนะ เพื่อให้ผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงสามารถบริหารการเงินส่วนบุคคลและครอบครัวให้ดีขึ้น ทั้งรู้เท่าทันพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง หลุมพรางทางการตลาดต่างๆ การบริหารความเสี่ยงเนื่องจากความไม่แน่นอนในชีวิต และรู้จักวิธีการเพิ่มพูนความมั่นคงทางการเงินซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง และครอบครัวได้

ซึ่งในปัจจุบันมีหลายภาคส่วนได้เล็งเห็นถึงปัญหา และพยายามเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา หนึ่งในนั้น คือ โครงการ ผู้หญิงฉลาดออม ฉลาดใช้” ที่มูลนิธิซิตี้ และธนาคารซิตี้แบงก์ ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ดำเนินโครงการมากว่า 3 ปี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าให้ความรู้ที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งก็คือความรู้ทางด้านการบริหารการเงิน แก่ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อสังคมเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากขึ้น สังคมก็จะเห็นความสามารถของผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ และจากการสำรวจที่พบว่า ผู้หญิงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลการเงินในครอบครัวในทุกระดับชั้นของสังคมไทยนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง  ซึ่งผู้หญิงก็คงจะเปรียบได้กับ CFO ของบริษัทครอบครัว จำกัด รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง หรือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งครอบครัวนั่นเอง
ด้วยเหตุผลดังกล่าว โครงการ “ผู้หญิงฉลาดออม ฉลาดใช้” จึงขยายโอกาสในการเข้าถึงความรู้ทางการเงิน โดยดำเนินการให้การอบรมด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลแก่ผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงกว่า 1,600 คน ผู้ผ่านการอบรม มีทั้งกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานกลางคืนที่รายได้สูงแต่ไม่มั่นคง กลุ่มผู้หญิงในชุมชนแออัดที่มีรายได้น้อย กลุ่มผู้หญิงที่ยังไม่มีอาชีพหรือกำลังฝึกอาชีพ รวมถึงกลุ่มผู้หญิงในทัณฑสถานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมในการกลับเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่น

การอบรมจะมุ่งเน้นการเสริมความรู้ไปในการทำกิจกรรม ผู้เข้าอบรมจะได้ความรู้ซึ่งสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ที่เข้าใจง่ายและนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน มีตัวอย่างที่เหมาะสมกับบริบทของผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าอบรมฉุกคิดถึงพฤติกรรมการใช้เงินในชีวิตประจำวันของตนเองที่ผ่านมาว่า มีผลต่อสถานะภาพการเงินของตนเองและครอบครัวอย่างไร และด้วยบทบาทของ CFO ของครอบครัว ควรจะมีวิธีการและเทคนิคบริหารจัดการอย่างไรเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว
ถึงแม้ว่าในสังคมไทย ยังคงมีทัศนคติว่าผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง และมอบตำแหน่ง CFO ของครอบครัวให้กับผู้ชาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงมีความเป็น CFO ในตัวโดยธรรมชาติ แต่จะเห็นว่าโดยทั่วไปผู้หญิงมักจะเป็นผู้เก็บรักษาเงินของครอบครัว และมักจะเป็นผู้รับผิดชอบปัญหาทางการเงินของครอบครัวอีกด้วย

ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความละเอียด ผู้หญิงจึงมีศักยภาพที่จะเข้าใจเรื่องของการเงินและการบัญชีได้ดีกว่าผู้ชาย ดังนั้นหากผู้หญิงปรับทัศนคติว่าการบริหารเงินนั้นเป็นเรื่องของผู้หญิง ศึกษาเรื่องการเงินมากขึ้น และปรับพฤติกรรมให้มีวินัยทางการเงิน ก็จะสามารถวางแผนทางการเงินได้ดีขึ้น บริหารหนี้ได้ดีขึ้น สร้างผลตอบแทนของเงินออมให้มากขึ้นได้ เชื่อได้ว่าผู้หญิงทุกคนจะเป็น CFO ที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับความมั่งคั่งของครอบครัวอย่างแน่นอน
การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม การพัฒนาและเปิดโอกาสผู้หญิงซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ให้ใช้ศักยภาพของตนที่มีอยู่อย่างเต็มที่ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตระดับจุลภาค แต่ยังเป็นการพัฒนาของประเทศในระยาวอย่างยั่งยืนอีกด้วย

No comments:

Post a Comment