Wednesday, July 11, 2012

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ.... เงินทิ้งเรา หรือเราทิ้งเงิน

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ

เงินทิ้งเรา หรือ เราทิ้งเงิน

โดยณัฏฐนี สถิตยาธิวัฒน์
ที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ และ
ที่ปรึกษาโครงการผู้หญิงฉลาดออม ฉลาดใช้


อีกกี่วันเงินเดือนจะออกน้าาา.........  เป็นคำถามที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน จนเป็นเรื่องน่าเบื่อ ชีวิตอันแสนสดใสของเราเริ่มจะเหี่ยวแห้งไปตามวันที่ใกล้จะสิ้นเดือนทุกขณะจิต ความตั้งใจเดิมๆ เริ่มผุดขึ้นมาในหัว “เดือนหน้าเอาใหม่!!! จะต้องไม่เป็นเหมือนเดือนนี้อีกแล้ว จะต้องประหยัดตั้งแต่ต้นเดือน แต่ตอนนี้จะต้องหาเงินมาใช้จากไหนดี ทำไมเงินมาด่วนจากเราไปตั้งแต่ยังไม่สิ้นเดือน?  เศร้า! เรายังวนอยู่ในวงจรอุบาทว์เหมือนเดือนที่แล้ว”

ท่านคงจะคิดว่า มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ จะฝ่าวงจรนี้ออกมาให้ได้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จนเกือบจะเป็นไม่ได้ ถ้ามิเช่นนั้นเราคงฝ่าออกมาได้นานแล้ว ตั้งใจจะเปลี่ยนตัวเองทุกต้นเดือนหน้า แต่ก็เหลวเป่วทุกที

ถ้าเป็นเช่นนั้น เราลองมาดูว่า คนที่อยู่ในวงจรนี้ หรือที่เรียกว่านักบริหารการเงินระดับรั่ว มีชีวิต อาการ ความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรม ในแต่ละเดือน อย่างไรบ้าง

องก์ 1    รับเงินเดือนอย่างภาคภูมิ: ยิ้มด้วยความภาคภูมิ และอิ่มเอมใจที่หาเงินมาได้จากหยาดเหงื่อ แรงกาย แรงใจ และมุ่งมั่นว่าเราต้องประหยัดตั้งแต่เดือนนี้ เราจะใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น มีเงินในกระเป๋าอุ่นใจกว่า ท่องไว้ต้องเริ่มประหยัดตั้งแต่ตอนนี้ โดยทานอาหารกลางวันคุณภาพในราคา 30 บาท ที่ตลาดนัดข้างบริษัทดีกว่า

องก์ 2    โดนตลาดนัดดูดเข้าไป ก็ของมันโดนมาก: เดินเล่นในตลาดนัดให้ข้าวเรียงเม็ดซะหน่อย ดูอย่างเดียว ไม่ซื้อเด็ดขาด......ถึงจะมีชุดทำงานเป็น 10 ชุดแล้ว แต่ชุดร้านนี้คุณภาพดีจริงๆ ใส่แล้วคงจะดูดีมีชาติตระกูล ราคาสมเหตุสมผล คนขายก็พูดจาดี้ดี ชุดทำงานก็เป็นของจำเป็น ราคาแค่ชุดละ 500 เอง ถ้าซื้อในห้างราคาเป็นหลายพันบาท คุ้มจะตาย ซื้อไปฝากแฟนด้วยดีกว่า เราช่างเป็นแฟนที่ดีจริงๆ  (→ ทิ้งเงิน 1,000 บาท เพราะชุดทำงานที่มีอยู่ก็เกินพออยู่แล้ว) ขนมก็น่าทาน ซื้อไปกินเสาร์-อาทิตย์นี้ดีกว่า (→ ทิ้งเงิน 100 เพราะซื้อเยอะเกินไป ทานไม่หมด เหลือทิ้ง)

องก์ 3    สูดแอร์ในร้านสะดวกซื้อ: อากาศมันร้อนเหลือเกิน เข้าไปสูดแอร์ในร้านสะดวกซื้อซะหน่อย จะได้จ่ายบิลค่าโทรศัพท์ด้วย แต่ตอนเดินออกมาได้ไส้กรอก + น้ำอัดลม + แลกซื้อของราคาพิเศษ ติดไม้ติดมือออกมาด้วยทุกครั้ง สบายใจได้ซื้อของถูก (→ ทิ้งเงิน 100 บาท เพราะโดนคำโฆษณาครอบงำ)

องก์ 4    Work Hard; Play Hard: ทำงานหนักมาทั้งเดือนแล้ว แบบนี้ต้องกินดื่มฉลอง วันนี้จะฉลองเนื่องในวันอะไรดีนะ...วันฝนตก วันรถติด วันอกหัก วันเงินเดือนออก สมหวังในรัก วันเกิด ว่าแต่วันเกิดใครหล่ะ เอาเป็นว่า ฉลองวันครบรอบไม่ได้เจอเพื่อนกลุ่มนี้มา 1 อาทิตย์หล่ะกัน จะได้มีรูปอัพเดตความเคลื่นไหวในร้านเก๋ๆ ชิวๆ บน Social Media ดัวย …. ดังนั้น อย่างช้า จัดเต็มไปเลยเพื่อน! ด้วยคติว่า ประหยัดอะไรก็ได้ยกเว้นเรื่องกิน เพราะมันจะเกินไป (→ ทิ้งเงินอย่างน้อย 500 บาท เพราะถ้ากินแต่พอดีก็แค่ 50 บาท แล้วยังเสียสุขภาพอีกด้วย)

องก์ 5    รูดปลื๊ดอย่างชาญฉลาด: เราต้องรูดอย่างชาญฉลาด เงินสดหมด ไม่ใช่ปัญหามีบัตรรูดปลืดตั้งหลายใบ รูดไปก่อนมันจำเป็นต้องกินต้องใช้ ได้เก็บสะสมแต้มด้วย เดี๋ยวเงินเดือนก็ออกแล้ว เราช่างฉลาดจริงๆ ได้เงินมาหมุนฟรีๆ แบบนี้ต้องกด like (→ อย่าพลาดก็แล้วกัน มิฉะนั้นหาเงินไม่ทันจ่ายดอกเบี้ยแน่)

องก์ 6    บัตรกดเงินสดช่วยชีวิต: เงินได้จากไปแล้ว! แต่วันนี้ถึงครบกำหนดจ่ายยอดบัตรเครดิตแล้ว ค่าผ่อนบ้านก็ยังไม่ได้จ่าย ไหนจะค่าผ่อนรถอีก โชคดีจริงๆ ที่ทำบัตรกดเงินสดพกติดตัวไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน  กดเงินออกมาหมุนแป๊บเดียว เงินเดือนก็จะเคลียร์ให้หมด เสียดอกไม่เท่าไรหรอก ยังดีกว่าเสียประวัติ ไว้เดือนหน้าค่อยเริ่มใหม่ จะใช้จ่ายอย่างมีสติ....คราวนี้เอาจริง.... (→ ทิ้งเงินครั้งใหญ่ เพราะ เสีย 2 เด้ง 1 ต้องเสียดอกเบี้ย 20% ทั้งๆที่ไม่ควรจะต้องเสีย 2 เสียโอกาสในการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคง และนี่เป็นสาเหตุที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นเศรษฐีอันดับโลก ไม่ซื้อรถแพงๆ)

องก์ 7    วันที่ยิ้มออกชั่วคราว: วันนี้ที่รอคอย....เงินเดือนออกแล้วจ้าาา....รับเงินด้วยความภาคภูมิใจเอาไปจ่ายหนี้บ้างส่วน หรือขั้นต่ำเพราะถ้าจ่ายหมดก็ไม่มีเหลือใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วกลับไปที่จุดเริ่มต้นใหม่ องก์ 1 .... (→ ทิ้งเงินครั้งใหญ่ เพราะ ต้องเสียดอกเบี้ยในส่วนที่ค้างจ่าย)

หากท่านมีความรู้สึกว่าชีวิตของท่านคล้ายๆ กับองก์ใดองก์หนึ่งที่กล่าวมาในข้างต้น นั้นหมายความว่า ท่านได้ทิ้งเงินไปแล้วจำนวนหนึ่งไม่มากก็น้อย ส่วนท่านที่ไม่ได้มีชีวิตตามองก์ต่างๆ ข้างต้น ลองดูซิว่าท่านมีอาการของนักวางแผนการเงินระดับเทพหรือไม่

1. ยิ่งจดยิ่งรวย: กลับบ้านต้องจดบัญชี หรือนึกทบทวนดูว่า เราจ่ายเงินค่าอะไรไปบ้าง แล้วมีค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นเท่าไรเพื่อตั้งเป้าหมายลดค่าใช้จ่าย หรือความสิ้นเปลืองเหล่านั้นในวันถัดไป มิฉะนั้นจะนอนไม่หลับ

2. เงิน จงทำงานหนักแทนเรา: เงินเดือนเข้าบัญชีปุ๊บ ตอนรีบถอนเงินไปไว้ในที่ปลอดภัยทันที มิฉะนั้นจะรู้สึกกระสับกระส่าย เหมือนจะไม่สบาย โดยที่ที่ปลอดภัย หมายถึง

                - ที่ที่เราไม่สามารถนำเงินออกมาใช้ได้ง่ายๆ

                - ที่ที่เงินสามารถทำงานได้ดีที่สุด ก็คือ การหาที่ลงทุนที่ได้ผลตอบแทน หรือดอกเบี้ยสูงสุด บนความเสี่ยงที่เรารับได้ เราจะได้มีเงินเยอะขึ้น โดยไม่ต้องทำอะไร ให้ดอกเบี้ยทำงานแทนเรา

3. หมั่นเล่นเกมส์:  กติกาง่ายๆ คือ

                - ถ้าใช้เงินเกินกว่างบประมาณค่าใช้จ่ายที่ตั้งไว้ในแต่ละวัน หรือแต่ละเดือน ถือว่าแพ้

                - ต้องทำลายสถิติให้เงินออม หรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ในเวลาอันรวดเร็วที่สุด โดยมีการตั้งเป้าหมายเป็นระยะๆ ประกอบด้วย ระยะสั้น (ไม่เกิน 3 ปี) ระยะกลาง (3 – 7 ปี) ระยะยาว (มากกว่า 7 ปี)

4. เป้าหมายสูงสุดในชีวิต: เกษียณแบบมีค่า คือ สามารถดูแลตนเองได้สบายๆ ไม่ต้องพึ่งพาใคร และเป็นที่พึ่งให้ลูกหลานได้

5. สิ่งที่ขาดไม่ได้: ถึงแม้เงินจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้


6. คติประจำตัว:  ถ้าเรารักเงิน ไม่ทิ้งเงิน เงินก็จะรักเรา อยู่กับเราให้เรารู้สึกสุขใจไปตลอดกาล

7. สิ่งที่รับไม่ได้:   การยอมเป็นหนี้ เพื่อหน้าตา หรือความสุขสบายชั่วคราว เพราะความลำบากที่ตามมาภายหลังมันใหญ่หลวงกว่าที่คิดเสมอ

ทุกคนสามารถเป็นนักบริหารเงินส่วนตัวระดับเทพได้ทั้งนั้น มันไม่ได้ยากอย่างที่คิด แค่ ตั้งเป้าหมาย ตั้งใจ และมีวินัย  มันอยู่ที่ว่าท่านอยากจะเป็นจริงๆ หรือเปล่า

หากท่านสนใจเรื่องราวอื่นๆ เรื่องเงินๆ ทอง หรือต้องการติดต่อผู้เขียนคอลัมน์ Nuttanee@kiasia.org

No comments:

Post a Comment