Wednesday, May 27, 2015

อรุณรุ่งที่กัมพูชา


เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการและนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับการผนวกเอาปัจจัยของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล “Business case for integrating Environmental, Social and Governance (ESG) factors in investment” การประชุมฯจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการรณรงค์เพื่อการส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จากข้อมูลของโครงการฯ ทำให้ทราบว่าประเทศในภูมิภาคเอเซียมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจสูงมากโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของเราเช่นเวียดนาม พม่าและกัมพูชา โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและบริการด้านสาธารณสุข ภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีตัวแทนจากนักลงทุน องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และภาคเอกชนจากลาว เวียดนาม สิงค์โปร์ มาร่วมนำเสนอแนวปฏิบัติและกลยุทธ์ด้าน ESG เพื่ออภิปรายถึงการนำไปใช้ในประเทศตนเอง
ในความหลากหลายในการทำเสนอนั้นมีองค์กรที่น่าสนใจองค์กรหนึ่งที่ชื่อว่าอรุณ (ARUN)” ซึ่งเป็นองค์กรในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อการลงทุนด้านกิจการเพื่อสังคม (Social Investment) ให้กับกลุ่มธุรกิจเล็ก ในประเทศกำลังพัฒนาโดยการได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากประเทศญี่ปุ่นทั้งในรูปแบบการสนับสนุนรายบุคคลและในรูปแบบองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้กลไกของการดำเนินการเชิงธุรกิจแบบกิจการเพื่อสังคมแก้ไขปัญหาต่างๆอาทิเช่นความยากจนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ARUN ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการและนักลงทุนผ่านกิจกรรมด้านการลงทุนโดยยึดหลัก การลงทุนอย่างมีคุณค่าเพื่อสร้างความยั่งยืนและมั่งคั่งให้สังคม กิจการเพื่อสังคมที่ ARUN ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนได้แก่ iKure Techsoft บริษัทเล็กๆ ที่ให้บริการด้านไอทีโดยออกแบบซอฟ์แวร์ที่สามารถให้บริการเชื่อมโยงสถานให้บริการสาธารณสุข การตรวจสอบอาการเบื้องต้น และบริการอื่นด้านสาธาณสุขเบื้องตนในพื้นที่ห่างไกลในประเทศอินเดีย นอกจากนั้นยังมีผู้รับทุนจากเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างองค์กร Sahakreas CEDAC ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือเกษตรกรรายเล็กกว่า 100,000 คนในกัมพูชาโดยให้การฝึกอบรมด้านการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสหกรณ์ และด้านการบริหารจัดการการจำหน่ายสินค้าการเกษตรจากโครงการ การทำหน้าที่ของ ARUN ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับและผู้ให้ที่สำคัญคือการที่ผู้รับเองมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้โครงการต่างๆ นั้นมีรายได้กลับมาเพื่อใช้ในการบริหารจัดการต่อไป มิใช่เป็นการรับเพื่อนำเงินไปใช้ในกิจกรรมแต่อย่างเดียว


ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเงินสนับสนุนจะโดนนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ปัญหาสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน องค์กรอรุณใช้ปัจจัย 3 ข้อหลักนี้เพื่อเป็นการพิจารณาว่าองค์กรนั้นๆ จะสามารถนำทุนที่ได้รับไปประกอบการกิจการเพื่อสังคมได้จริงหรือไม่ ปัจจัยประกอบไปด้วย

1. ภาวะความเป็นผู้นำและความเป็นผู้ประกอบการของผู้บริหารองค์กร
2. โครงสร้างขององค์กรและความมีบรรษัทภิบาล และความเป็นไปได้ในการเติบโตตามรูปแบบของธุรกิจ
3. รูปแบบการทำงานและนวัตกรรมขององค์กรในการแก้ปัญหาสังคม

          ทีมงานของ ARUN นั้นประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งชาวกัมพูชา และชาวญี่ปุ่นผู้สนับสนุนทุนเป็นส่วนใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่นั้นมีประสบการณ์ในด้านการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ เพื่อให้สามารถพิจารณารูปแบบของโครงการต่างๆ ตามโมเดลกิจการเพื่อสังคมและนำไปสู่การสร้างรายได้ในเชิงธุรกิจ

          ท่ามกลางการเริ่มต้นเติบโตอย่างจริงจังโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสาธารณูปโภค ของประเทศเพื่อนบ้านของเรา อันเป็นผลมาจากการก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่การเติบโตในยุคสมัยนี้นั้นเริ่มต้นการพูดคุยและการลงทุนกันด้วยสมดุลทั้ง 3 กล่าวคือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ตัวอย่างจากโครงการเพื่อการส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้เกิดรูปแบบการจัดการกิจการทั้งในกลุ่มหวังผลกำไรและไม่หวังผลกำไร อันจะเป็นประโยชน์กับพวกเราคนไทยในการมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และนำมาพัฒนาตนเองในการบริหารจัดการในการดำเนินธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ให้ก้าวไกล และทัดเทียมกันเมื่อวัน AEC เข้ามาเยือนอย่างเป็นรูปแบบ


ผู้เขียน: 
พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์
ผู้จัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย



เทคนิค 3 ประการเพื่อประเมินและติดตามผลกิจกรรม CSR

ในระยะที่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดตัวรายงานประจำปีและรายงานความยั่งยืนของหลากหลายองค์กร ทำให้เราได้อ่านเรื่องราว ประเด็นที่น่าสนใจในด้านการขับเคลื่อนโครงการ CSR  ซึ่งบางองค์กรใช้วิธีแยกเล่ม บางองค์กรรวมเป็นเล่มเดียวกัน สู่สาธารณะชนมากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาขององค์กร ด้านรายได้ ผลกำไร งบประมาณและการใช้จ่าย รายนามผู้บริหารหรือบุคลากร กิจกรรมด้านความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เนื้อหาในรายงานอาจมีการเปรียบเทียบกับผลงานในปีก่อน ๆ และการคาดคะเนผลงานในปีต่อ ๆ ไปด้วย

สารัตถะของรายงานในปัจจุบันได้เน้นประเด็นเรื่องของประโยชน์ร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคมไปด้วยกัน (Shared-value) เพื่อแสดงให้เห็นความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และยังสะท้อนถึงการดำเนินงานด้านโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องเป็นไปอย่างมืออาชีพ เป็นระบบ และสอดคล้องกับวิถีและกลยุทธ์ของการดำเนินธุรกิจ โดยข้อสมมุติฐานเบื้องต้นว่า การดำเนินการด้าน CSR นั้นเป็นไปเพื่อการช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น จากความท้าทายที่สังคมโลกต้องประสบอยู่ในปัจจุบัน อาทิเช่น การที่ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเหลื่อมล้ำของข้อมูลด้านดิจิตัล รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงและมีทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่แตกต่างกัน หากใช้กลไกขององค์กรเอกชนในการร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อสะท้อนความสำเร็จที่แท้จริงที่จะนำสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น การติดตามและประเมินผลจึงมีความจำเป็นเพื่อสามารถสื่อสารให้ทั้งผู้บริหารและสังคมได้เข้าใจและมีส่วนช่วยทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นๆ

หลายบริษัทติดตามและประเมินผลกิจกรรม CSR โดยมุ่งเน้นการติดตามและประเมินผลในเชิงเปรียบเทียบสมการกิจกรรมของโครงการกับผลลัพธ์มากเกินไป ไม่ได้เชื่อมโยง ทำให้ผลลัพธ์เป็นภาพใหญ่ ทำให้ความสำเร็จกระจัดกระจายไม่สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้  บางองค์กรใส่ใจติดตามและประเมินผลในระหว่างที่โครงการดำเนินการอยู่เท่านั้น แต่ไม่ได้มีการเข้าไปติดตามผลความยั่งยืนในเรื่องที่ได้มีการดำเนินโครงการไปแล้ว ว่าสิ่งที่ได้ดำเนินโครงการไปแล้วยังสามารถเป็นตัวเชื่อมต่อ การพัฒนาสังคมและชุมชนได้หรือไม่ เรามาลองดูเทคนิค 3 ประการนี้ เพื่อเป็นอีกมุมมองในการพัฒนาและปรับปรุงการติดตามและประเมินผลในการทำโครงการ CSR ให้สามารถตอบโจทย์ประเด็นด้านการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคมไปด้วยกัน (Shared-Value)
 1. ให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดที่ส่งผลกับผลลัพธ์ปลายทาง (outcomes) ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขการอาสาสมัคร งบประมาณที่บริจาค หรือจำนวนพนักงานที่เข้าไปมีส่วนร่วมนั้นมีความสำคัญที่จะบ่งชี้ความจริงจังและความโปร่งใสของในการดำเนินกิจกรรมด้านความยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจเรื่องคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาสังคมเช่นนี้ ดังนั้นตัวชี้วัดที่ควรให้ความใส่ใจด้วยคือ ตัวชี้วัดที่จะบ่งชี้ความสำเร็จของผลลัพธ์ปลายทาง (Outcome) เพื่อสามารถสื่อสารทั้งภายใน ภายนอกองค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ช่วยทำให้สังคมดีขึ้นมาอย่างไร โดยยืนจากมุมมองของผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiaries) ของโครงการ ภายใต้คำถามหลักที่ว่า ชีวิตเขาดีขึ้นอย่างไร จากการเข้าร่วมเโครงการนี้ แบบไม่เกินจริง

2. เรียนรู้จากบริษัทชั้นนำอื่นๆ การที่ได้มีโอกาสอ่านรายงานความยั่งยืนหรือเรียนรู้มุมมองด้านการประเมินผลด้านความยั่งยืน ผ่านบริษัทที่มีโครงการด้าน CSR ในระดับโลก หรือมีวาระการเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีความซับซ้อน หรือกลุ่มฟอรั่มออนไลน์สำหรับผู้นำด้าน CSR เช่น Triple Pundit CSRwire Guardian Sustainable Business FastCoExist  และ CSRchat ก็จะทำให้เราจากสามารถเห็นเครื่องมือ ตัวชี้วัด และวิธีการในการติดตามและประเมินผล อย่างมีประสิทธิภาพได้
 
3. รับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านกิจกรรมเช่นการจัดการประชุมกลุ่มย่อยแบบ Focus group การให้คะแนนโหวตผ่าน Social media การทำการสอบถามวิจัยต่างๆ เพื่อฟังเสียงของเขาเหล่านั้น และนำไปปรับปรุงการตั้งตัวชี้วัด กระบวนการในการติดตามและประเมินผล สร้างคุณค่าและความสนใจร่วมกันได้

การให้ความสำคัญกับการติดตามและประเมินผลที่แสดงถึงคุณค่าร่วม (Shared-Value) จะทำให้โครงการ CSR เกิดผลประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านของผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) และผู้สนับสนุนด้านงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นองค์ความรู้ สร้างต้นแบบวิธีการที่ช่วยพัฒนาสังคมไปสู่ความยั่งยืนต่อไป


4 ข้อควรระวังในการสื่อสาร CSR

1.   อย่าเก่งอย่างโดดเดียว ตรรกะการทำงานด้าน CSR นั้นเป็นการขับเคลื่อนด้วยความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ปัจจุบันการมีส่วนร่วมหรือการสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญของการพัฒนาโครงการไปสู่ความยั่งยืน แต่บางครั้งที่เราอ่านเรื่องราว CSR ขององค์กรที่เล่าความสำเร็จในการทำกิจกรรมหรือโครงการ CSR แบบไม่กล่าวถึงความร่วมมือกับใครเลย มุ่งเน้นแต่ชื่อองค์กรและผู้บริหารของตนเอง ซึ่งผลลัพธ์จากการสื่อสารแบบเก่งอย่างโดดเดียวก็จะทำให้ขัดต่อตรรกะการสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการ CSR และพลาดโอกาสในการสร้างเครือข่ายการทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

2. อย่าพูดถึงแต่ประเด็นองค์กรตนเอง เรื่องราว CSR เป็นสารที่สามารถสื่อถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมต่อสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่หากพูดถึงแต่ประเด็นหรือเรื่องราวที่องค์กรตนเองสนใจในการสื่อสาร CSR เท่านั้นก็ไม่ได้เข้าใจบริบทหรือความต้องการของสังคมที่จะได้รับประโยชน์จากการทำกิจกรรม CSR หากเรื่องราว CSR สามารถพูดถึงประเด็นขององค์กรหลัก และเชื่อมโยงบูรณาการถึงผู้รับประโยชน์หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใต้กิจกรรม เสมือนเป็นภาพจิ๊กซอว์ที่ต่อเสร็จบริบูรณ์แล้ว

3. อย่าผิดกาละเทศะ  เรื่องราว CSR มิได้มีไว้ใช้ตอบโต้การขัดแย้งรุนแรง หากเกิดความขัดแย้งขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมาตามเหตุและผล มากกว่ากล่าวอ้างเอาเรื่องราว CSR มาเพื่อประโยชน์ในการตอบโต้ ซึ่งทำให้ลดคุณค่าของ CSR ในเชิงเครื่องมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงภาคเอกชนและภาคประชาสังคม  บางครั้งการสื่อสารที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้ผลสำเร็จในการทำกิจกรรมหรือโครงการด้าน CSR เป็นที่ประจักษ์จากผู้ได้รับผลประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่องค์กรต้องรับมือกับสถานการณ์ล่อแหลม ข่าวลือ

4. อย่าน่าเบื่อ อย่านำเสนอ CSR ในรูปแบบที่ต้องปีนบันได 7 ชั้น หรือจบประกาศนียบัตริขั้นสูงใดๆ เพื่อสามารถจะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ หรือเรื่องราวที่นำเสนอแบบทุกข์โศกระทมเศร้า จนไม่อยากจะลืมตามองโลกใบนี้ในเวลาต่อมา  แม้ชิวิตความเป็นจริงจะต้องถูกท้าทายโดยบริบทโหดๆ ของสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แต่ CSR เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้  ภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม รวมใจเชื่อมโยงความสามารถของตนเองเพื่อขับเคลื่อนให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นเรื่องราว CSR จึงควรสื่อสารอย่างมีชีวิตชีวา และมีความหวัง เข้าถึงหัวใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานความเป็นจริง โดยนักสื่อสารอาจนำเรื่องราวชีวิตจริงในสังคมมาเป็นตัวบอกเล่ากิจกรรมโครงการ CSR การใช้ภาพ การใช้วีดีโอ สื่อเรื่องราวประเด็นของ CSR ให้หลากหลายเข้ากับรูปแบบความสนใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป้าหมายปลายทางสำคัญของการสื่อสาร CSR คือการสร้างการมีส่วนร่วม และเห็นคุณค่าของการทำโครงการ CSR ต่างๆ เพราะนั้นหมายถึงการเปิดใจ สู่ความร่วมมือ การแสดงความคิด และนำไปสู่ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของโครงการนั้นอย่างยั่งยืน