Monday, November 21, 2016

เศรษฐกิจพอเพียง กับ การทำงานพัฒนา

ไม่ว่าใครที่ได้ติดตามการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้วคงได้ประจักษ์ถึงคณูปการที่มีต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้อย่างไร เพราะโครงการในพระราชดําริแต่ละโครงการมีความลึกซึ้งในหลักวิชาการที่สะกัดจนเหลือแต่แก่นแท้ที่เป็นสากลในการนำไปปฏิบัติ ผมเองในฐานะนักการศึกษาที่ทำงานสายพัฒนาก็พยายามศึกษาหลักคิดต่าง ๆ มาพิจารณางานพัฒนาที่ดำเนินการอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร
สำหรับฉบับนี้ถือเป็นฉบับพิเศษที่น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาวิเคราะห์แนวทางในการทำงานพัฒนาของ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดในภาษาง่าย ๆ แบบเล่าสู่กันฟังดู โดยขอจะอ้างถึงบทความเรื่อง ปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง 101 ที่ได้สรุปแนวคิดที่ได้จากการบรรยายของท่านศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน ที่เล่าถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเชิงระบบ (System Approach) ได้อย่างลึกซึ้งอย่างเป็นรูปธรรม
อันคำว่าเชิงระบบที่ว่านั้น หมายถึง การคิดแบบมีที่มาที่ไป มีความสัมพันธ์กันตามหลักการและเหตุผล (Logical) ซึ่งเมื่อผูกรวมกันเป็นภาพใหญ่แล้ว ก็จะเห็นความเชื่อมโยงของปัจจัยนำเข้า (Inputs) กระบวการ (Processes) ผลผลิต (Outputs) ผลลัพธ์ (Outcomes) และ ผลกระทบ (Impacts) อย่างเป็นโครงสร้างชัดเจนที่สามารถไล่เรียงได้ดังนี้
ปัจจัยนำเข้า หรือ Inputs ประกอบไปด้วย “สองเงื่อนไข” ประกอบไปด้วย ความรู้ และ คุณธรรม
ในด้านความรู้นั้น การทำงานพัฒนาให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นจะต้องใช้องค์ความรู้ตามหลักทางวิชาการและประสบการณ์การทำงานทั้งในและต่างประเทศ หลักสำคัญคือก่อนที่จะดำเนินโครงการใด ๆ จะต้องศึกษาข้อมูลเชิงบริบทเพื่อเกิดความเข้าใจ และ ปรับปรุงรายละเอียดของแผนงานต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินการ (Implementation) อยู่ในจุดที่สมดุลระหว่างผลลัพธ์ (Results) และ ความสัมพันธ์ที่ดี (Relationship) กับทุกฝ่าย
ในขณะที่ด้านคุณธรรมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักปฏิบัติในการทำงานทุกขั้นตอนที่เป็นไปตามหลักธรรมภิบาล โดยเฉพาะระบบตรวจสอบการบริหารการจัดการภายใน และ การตรวจสอบบัญชีจากหน่วยงานภายนอก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินการต่าง ๆ ของคีนันเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล
กระบวนการ หรือ Processes ประกอบไปด้วย “สามห่วง” ได้แก่ ภูมิคุ้มกัน ความพอประมาณ และ ความมีเหตุผล
ภูมิคุ้มกัน ในฐานะองค์กรพัฒนาคีนันได้สั่งสมองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อจัดทำระบบการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เพราะความเชี่ยวชาญคือทุนขององค์กร ดังนั้นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและขีดความสามารถ พร้อมต่อการทำงานที่มีคุณภาพจะเป็นภูมิคุ้มกันให้องค์กรสามารถพึ่งพาตนเองเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนสืบไป
ความพอประมาณ หลักการสำคัญหนึ่งในการทำงานของเราคือการสร้างพันธมิตร (Partnership) กับภาคส่วนอื่น ๆ ดังนั้นการตั้งเป้าหมายการพัฒนาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพร่วมกับหลาย ๆ ฝ่าย เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าโครงการต่าง ๆ จะตอบโจทย์ของการพัฒนาที่ยังอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย
ความมีเหตุผล การทำงานพัฒนาจะต้องมองหาความเชื่อมโยงถึงเหตุและผลในการดำเนินงาน เพื่อติดตามและประเมินความสำเร็จของโครงการอย่างมีหลักการ โดยคีนันได้พัฒนา Result Framework (ยังไม่พบคำแปลภาษาไทย) เพื่อที่จะรวบรวมผลลัพธ์การดำเนินการของโครงการต่าง ๆ ในภาพขององค์กรอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นคงของผลการทำงานต่าง ๆ
ผลผลิต หรือ Outputs เป็นผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่ดำเนินการมา ประกอบไปด้วย ความยั่งยืน ความสมดุล และ ความมั่นคง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ความยั่งยืน เมื่อมีความรู้และความชำนาญในการทำงานพัฒนาแล้ว ก็จะนำไปสู่การบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นความยั่งยืนขององค์กรให้สามารถดำเนินงานด้านการพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อไปในระยะยาว
ความสมดุล ความสมดุลในที่นี้คือคำว่า “ไม่ทุกข์” เมื่อมีการตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ร่วมกันอย่างเหมาะสม ก็จะทำงานที่มองเห็นเส้นชัยอย่างมีความเข้าใจ สามารถใส่ความตั้งใจในการทำงานได้อย่างเต็มที่ ผลงานที่ได้ก็มีคุณภาพ เรียกว่า เหนื่อยแต่มีความสุข
ความมั่นคง เมื่อมีวิธีการทำงานที่มีเหตุผลตามหลักการแล้ว ความสำเร็จในการดำเนินโครงการพัฒนาต่าง ๆ ก็จะไม่คลาดเคลื่อนไปจากแผนที่วางไว้มากนัก (แน่นอนไม่มีอะไรสำเร็จทุกอย่าง/ทั้งหมด) แต่เมื่อเกิดความมั่นคงในการทำงานแล้วอัตราความสำเร็จ (Success Rate) ก็จะสูงขึ้นไปด้วย การลงทุนในงานพัฒนา (Return of Impact) ก็จะคุ้มค่ากับเงินบริจาคอย่างเต็มที่
ผลลัพธ์ หรือ Outcomes คือ ความสุขที่ได้จากความสำเร็จในการทำงานพัฒนาร่วมกัน ทั้งจากพนักงาน ผู้บริจาค ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และ ผู้รับผลประโยชน์ จากการมีความรู้ที่ดีขึ้น มีทัศนคติที่เป็นบวกกับการดำเนินชีวิตมากขึ้น และ มีแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างความยั่นยืนทางสังคมต่อไป แม้ว่าคีนันจะเป็นหน่วยงานพัฒนาเล็ก ๆ แต่ความสำเร็จเล็ก ๆ นี้แหละ จะเป็นเมล็ดพันธุ์ให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานพัฒนาทั้งภายในและภายนอกต่อไป
ผลกระทบ หรือ Impacts ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะหมายถึง “ประโยชน์สุข” แต่ระดับขององค์กรหนึ่ง ๆ จะทำได้คงหมายถึงประโยชน์สุขในพื้นที่ที่เราลงไปทำงานด้วยตามสาขาที่มีการดำเนินงาน ทั้งด้านการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจ ชุมชน และ สาธารณสุข ซึ่งก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าเมื่อมองปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านเลนส์ของงานพัฒนาแล้ว จะพบความสอดคล้องกันอย่างแยกไม่ออก เพราะเป็นปรัชญาที่เข้าใจแล้วเราจะมองหาการทำอะไรให้คนอื่นมากขึ้น ดังนั้นคีนันในฐานะองค์กรไม่แสวงหากำไรจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างทุนมนุษย์จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมให้เดินต่อไปอย่าง เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา

เขียนโดย 

คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
Business Process Manager 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

การศึกษาไทยควรใส่อะไรในหลักสูตร

เคยคิดหรือไม่ ว่าเด็กเรียนหนังสือไปเพื่ออะไร? ถ้าตอบตามทฤษฎีคงจะตอบว่าเรียนหนังสือไปเพื่อให้มีความรู้ มีอาชีพ พัฒนาประเทศ หรือแม้แต่ เป็นพลเมืองที่ดีของโลก แต่ในทางปฏิบัติคงจะตอบว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยดี ๆ จะได้มีเงินเดือนสูง ๆ และ เคยคิดหรือไม่ ว่าเด็กได้อะไรจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน? ถ้าตอบตามทฤษฎีคงจะตอบว่าสามารถทำงานได้ หรือ ดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ แต่ในทางปฏิบัติ (โดยส่วนใหญ่) คำตอบน่าจะคือได้วุฒิ ม. 6 เพื่อไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

เห็นถึงตรงนี้แล้วพอจะเห็นได้ว่า ผลผลิตของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมีช่องว่างระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติมากกว่าที่เราคิดเยอะเลย เพราะในทางทฤษฎีการจบการศึกษาขั้นพื้นฐานน่าจะเพียงพอที่ทำให้เด็กมีพื้นฐานในการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังห่างไกลนัก เพราะขนาดนิสิต/นักศึกษาปริญญาตรีที่จบมาใหม่ ยังต้องการการสอนงานอีกมากกว่าจะทำงานได้เต็มศักยภาพ

ดังนั้นช่องว่างตรงนี้คือสิ่งที่นักการศึกษาไทยต้องมาช่วยกันคิด เพราะถ้าปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป ความศักดิ์สิทธิ์ของระบบการศึกษาไทยจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนถึงยุคที่ซื้อปริญญาบัตรมาสมัครงานง่ายกว่า เข้าตำรา “เรียนง่าย จ่ายครบ จบแน่นอน” จึงพบว่าปัจจุบันบริษัทเอกชนหลายแห่งหันมาเปิดสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคนป้อนระบบแรงงานของตนเองกันแล้ว เพราะผลผลิตจากระบบการศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์

ผมเคยจัด Focus Group เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนต่อมาตรฐานการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จากครู อาจารย์มหาวิทยาลัย และ ภาคเอกชน หลายรอบ หลายจังหวัด ได้เสียงสะท้อนที่น่าสนใจว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานจริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องสอนยากหรือเยอะ สอนในสิ่งจำเป็นและทำให้เด็กรู้จริงให้ได้ ทำได้ให้จริง มีสามัญสำนึกที่เหมาะสม แค่นั้นก็พอแล้ว ที่เหลือเดี๋ยวอาจารย์มหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการจะรับช่วงต่อเอง
จึงเป็นที่มาของประเด็นในวันนี้ว่า ไหน ๆ เราก็กำลังทำจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ผมอยากถือโอกาสเสนอทางเลือกให้กับคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ ได้พิจารณาเพื่อดูว่าจะเป็นประโยชน์มากน้อยประการใด

ผมได้ศึกษาเอกสาร กรอบสำหรับการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน หรือ A Framework for K-12 Science Standard โดยสภาการวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา National Research Council (2012) ซึ่งสหรัฐอเมริกาใช้เอกสารตัวนี้เป็นแนวทางให้รัฐต่าง ๆ นำไปประกอบการพิจารณาร่าง “มาตรฐาน” และ “หลักสูตร” ของตนเองในลำดับถัดไปโดยเอกสารดังกล่าวมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การเขียนกรอบนี้จะแยกแยะความเหมือนและความแตกต่างของวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์อย่างชัดเจน (อันนี้จะมาว่ากันในโอกาสต่อไป) และ 2) มีการกำหนดองค์ความรู้ที่เรียกว่า Cross Cutting Concept ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่ผมไม่เห็นในการศึกษาบ้านเราเลยCross Cutting Concept คืออะไร? Cross Cutting Concept คือ Concept ที่จำเป็นต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ (ตาม NRC) แต่หากพิจารณาลึก ๆ แล้วจะพบว่าเป็น Concept ที่สำคัญกับการเรียนรู้แทบจะทุกสาขา ซึ่งมี 7 ข้อดังต่อไปนี้

  1. Pattern (รูปแบบ) ตามแนวคิดของ NRC นักเรียนที่ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องสามารถแยะแยะความเหมือนและความแตกต่างรวมถึงจัดกลุ่มสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ ทั้งในแง่ของสี รูปร่าง ขนาด รูปแบบ จังหวะ หรือแม้แต่ เวลาได้ เช่น ความเหมือนและความแตกต่างของสัตว์ประเภทต่าง ๆ หรือ รูปแบบการก้าวเท้าของกิ้งกือ เป็นต้น
  2. Cause and Effect (สาเหตุ และ ผลกระทบ) นักเรียนสามารถเห็นและเชื่อมโยงสาเหตุและผลกระทบของสิ่งต่าง ๆ จนสร้างเป็นสมมติฐาน (Hypothesis) รวมถึงสร้างแบบจำลองเพื่อแสดงความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลกระทบได้ เช่น ตั้งสมมติฐานและสร้างแบบจำลองรูปแบบในการตีลูกบอลด้วยไม้
  3. Scale, Proportion and Quantity (อัตราส่วน สัดส่วน และ ปริมาณ) นักเรียนสามารถใช้หน่วยต่าง ๆ เพื่อแทนสิ่งที่ใหญ่หรือเล็กมาก ๆ แทนเวลาที่ช้าหรือเร็วมาก ๆ จนถึงเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่าง ๆ เพื่อคำนวณสัดส่วน หรือ ปริมาณต่าง ๆ ได้ เช่น การใช้รู้หน่วยของระยะทางกับหน่วยของเวลาทำให้ทราบทราบความเร็วและหน่วยของความเร็วได้ เป็นต้น
  4. Systems (ระบบ) นักเรียนสามารถเข้าใจระบบ หมายถึง กลุ่ม องค์ประกอบภายในระบบ และ ความเคลื่อนไหวในระบบ รวมถึงขอบเขตและทรัพยากรที่จะต้องใช้ในระบบด้วย เช่น การสังเคราะห์ด้วยแสง วัฏจักรชีวิต ซึ่งสามารถขยายความเข้าใจไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างระบบได้ด้วย เช่น ระบบของโลกกับระบบของดวงจันทร์ เป็นต้น
  5. Energy (พลังงาน) นักเรียนเข้าใจ Concept ของพลังงานและสสาร กฎการถ่ายเทและการอนุรักษ์พลังงาน โดยเข้าใจเป็นเชิงระบบด้วย (Input Process Output) เช่น การถ่ายเทพลังงานงานระหว่างพื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศของโลกกับการเปลี่ยนสถานะของน้ำ
  6. Structure and Function (โครงสร้างและหน้าที่) นักเรียนเข้าใจรูปร่าง หน้าที่และการทำงานร่วมกันของส่วนประกอบต่าง ๆ รวมถึงเข้าใจคุณสมบัติของวัสดุที่จะนำมาใช้กับส่วนประกอบต่าง ๆ ด้วย เช่น รู้รูปร่างและหน้าที่ของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่นำมาประกอบเป็นจักรยาน จนถึงรู้วัสดุทดแทนหากต้องการพัฒนาให้จักรยานเบาขึ้นได้
  7. Stability and Change (ความคงที่และความเปลี่ยนแปลง) นักเรียนเข้าใจ Concept ของความคงที่ออกจากความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ได้ แม้ว่าความเปลี่ยนนั้นอาจจะใช้เวลานานกว่าที่จะสังเกตด้วยตาเปล่า เช่น การผลิบานของดอกไม้ การระเหยของน้ำ หรือ แม้แต่การเกิดหินงอกหินย้อย ซึ่งถือเป็น Concept สุดท้ายที่ทาง NRC เสนอให้อยู่ในมาตรฐานที่นักเรียนที่ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐานควรมี
อ่านถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าการกำหนดกรอบถึงเรื่อง Cross Cutting Concept นี้แยกออกจาก “สาระการเรียนรู้” ในวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ออกมาเลย เนื่องจากเป็นสิ่งที่สะดวกต่อการวัด และ ส่งเสริมการเรียนใน Concept อื่น ๆ ได้ดีกว่า ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจหากวงการศึกษาบ้านเราจะพิจารณาให้ระบุให้ชัด
หลายคนอาจแย้งในใจว่าหลักสูตรของเดิมก็มีอยู่แล้วในสาระที่ 8 ของมาตรฐานวิทยาศาสตร์ และ สาระที่ 6 ของมาตรฐานคณิตศาสตร์ แต่การนำไปใช้พบว่าออกไปในรูปของ “การบูรณาการ” ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่านักเรียนส่วนน้อยยังไม่ได้มีความเข้าใจและทักษะในเรื่องเหล่านี้เพียงพอเลย

ดังนั้นหากจำเป็นต้องยกระดับการศึกษาของชาติจึงต้องบรรจุสิ่งที่จำเป็นไว้ในมาตรฐานและหลักสูตรจะต้อง และ กำกับติดตามในการสอน เพื่อให้นักเรียนมีทั้งความรู้และทักษะต่าง ๆ เหล่านี้อย่างเชี่ยวชาญ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อนักเรียนทุกคนไม่ว่าเขาจะออกไปหางานทำหรือออกไปศึกษาต่อ เพราะวันนี้ไม่มีใครรู้หรอกว่านักเรียนคนไหนจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเลขาธิการสหประชาชาติในอนาคต ดังนั้นเราการศึกษาที่ดีที่สุดจึงเป็นอนาคตของพวกเราทุกคน

เขียนโดย 
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์ 
Business Process Manager 

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย