“ตั้งเป้าหมายสำคัญไฉน”
โดย คุณกนกพร นิตย์นิธิพฤทธิ์
ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการเงิน สถาบันคีนันแห่งเอเซีย
หลายวันก่อน ได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวของบุคคลๆ หนึ่งที่มีความฝันในการไปเที่ยวประเทศในยุโรป 100 เมืองในเว็บไซต์พันทิพย์ เรื่องราวที่เขาบอกเล่านั้น หลายๆ คนคงคิดว่า มันเป็นไปไม่ได้หรอก สำหรับชีวิตลูกจ้างหรือมนุษย์เงินเดือนตัวเล็กๆ ที่ฐานเงินเดือนไม่ได้สูงมาก และไม่ได้มีอิสระด้านเวลาที่มากนักว่าจะใช้เวลาเพียง 7 ปี (จริงๆ เพียงแค่ 5 ปี) ที่จะตามล่าความฝันที่ดูจะยิ่งใหญ่นี้ หากแต่ชายผู้นี้ ก็สามารถบรรลุเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ได้ สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้จากบทเรียนนี้คงไม่ใช่เพียงคำสรรเสริญเยินยอที่เขาได้รับภายหลังการบรรลุเป้าหมาย แต่มันคือกำลังใจ ความมุ่งมั่น และความเพียรพยายามที่ตั้งใจลงมือทำจนสามารถบรรลุเป้าหมายได้ นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างแรงบันดาลใจที่ดีสำหรับใครอีกหลายๆ คน ที่จะทำให้ได้เห็นถึง “ความสำเร็จบนความเชื่อของความเป็นไปไม่ได้”
“การตั้งเป้าหมาย” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดเรื่องราวความสำเร็จของคนมากมายบนโลกใบนี้ เพราะการตั้งเป้าหมาย ทำให้เรารู้ปลายทาง และเริ่มต้นที่จะคิดหาหนทางที่จะเดินไปสู่ปลายทางนั้นๆ ไม่สำคัญว่า เป้าหมายนั้นจะเล็กหรือใหญ่ จะมีคุณค่าสำหรับใครหรือไม่ แต่มันคือเป้าหมายของเรา การตัดสินใจและความมุ่งมั่นจริงจังกับมันนั้น อาจเป็นสิ่งที่หลายต่อหลายคนยังกลัว เพราะทุกๆ หนทางของความสำเร็จล้วนมีปัญหา อุปสรรคและความยากลำบากที่ค่อยพิสูจน์กำลังใจและตั้งใจของนักล่าฝันอยู่เสมอๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อลองสอบถามความฝันและเป้าหมายของใครหลายๆ คน รอบๆ ตัว บ่อยครั้งที่เราเองก็พบว่า หลายๆ เป้าหมายล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการเงินทั้งสิ้น อาทิเช่น การมีรถ มีบ้าน ไปเที่ยวต่างประเทศ เรียนต่างประเทศ อยากสวยอยากหล่อ แต่งงาน มีครอบครัว มีธุรกิจหรือกิจการของตนเอง มีอิสรภาพทางการเงิน หรือเกษียณอายุงาน ดูผิวเผินเป้าหมายเหล่านี้ ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิตคนๆ หนึ่ง แต่มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ หากเราขาดวินัย ความรู้และความมุ่งมั่นที่เพียงพอต่อเป้าหมายที่เราตั้งไว้ และยิ่งเมื่อในสังคมที่เราอยู่นั้น มีหลายสิ่งหลายที่ยั่วยวนใจต่อการบริโภคที่จะทำให้เราขาดการคิดไตร่ตรองอยู่เสมอๆ รวมทั้งวัฒนธรรมการปีนป่ายบันไดสังคมที่ทำให้เรารู้สึกว่า ยอมไม่ได้ จะต้องมีและเป็นอย่างคนอื่นๆ เขา แม้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะดูเกินความจำเป็นและเกินกำลังความสามารถทางการเงินของเราก็ตาม
จากข้อมูลทางสถิติเรื่องหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ณ สิ้นปี 2556) พบว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของคนไทยได้พุ่งไปสูงถึงกว่าร้อยละ 82 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งหากสูงกว่าร้อยละ 85 อาจจะส่งผลลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่พบว่ากว่าร้อยละ 65 เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ร้อลยะ 20 เป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย และร้อยละ 12 เป็นหนี้เพื่อธุรกิจ จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะสามารถพบคนที่ติดหนี้บัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบได้จากคนที่เราพบเจอโดยทั่วๆ ไป โดยเมื่อดูในรายการหนี้สินที่เกิดจากค่าใช้จ่ายแล้วนั้น อาจจะพบว่าเป็นรายการอุปโภคบริโภคที่เกินความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต รวมทั้ง เรายังสามารถพบคนที่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย แล้วแก้ปัญหาโดยการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ ทั้งในระบบและนอกระบบเพื่อไปจ่ายหนี้ขั้นต่ำหรือจ่ายขัดดอกเบี้ยไปวันๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาจไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน และไม่อาจทำให้ชีวิตของคนไทยบรรลุเป้าหมายที่สำคัญๆ ของตนเองในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตได้ แม้หลากหลายหน่วยงานได้มีความพยายามที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้บุคคลที่เกิดขึ้นผ่านโครงการสินเชื่อเงินสดเพื่อรายย่อยของธนาคารต่างๆ (โดยเฉพาะธนาคารรัฐบาล) หากแต่โครงการเหล่านี้ ก็แก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าประชาชนไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมและทัศนคติของการบริหารจัดการเรื่องการเงินของตนเองได้ ท้ายที่สุดปัญหาหนี้สินต่างๆ ก็วนกลับมาอีกโดยไม่มีวันสิ้นสุด
ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ จึงเล็งเห็นว่า ควรร่วมกันแก้ไขเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนแก่สังคมไทย ซึ่งนำไปสู่โครงการพัฒนาและเพิ่มทักษะความรู้ด้านการเงินบุคคลแก่ประชาชน โดยได้ริเริ่มโครงการวิจัย “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” ที่ดำเนินการโดยสถาบันคีนันแห่งเอชีย ภายใต้การสนับสนุนทุนของมูลนิธิซิตี้ ก็เป็นอีกโครงการที่ร่วมค้นหาสาเหตุและแนวทางที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาทักษะความรู้ทางการเงินของคนไทยได้อย่างยั่งยืน
ภายใต้ความร่วมมือของหลากหลายองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จึงนำมาสู่การจัดงานสัมมนาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องครั้งที่ 1 ของโครงการในวันที่ 30 เมษายน 2557 ซึ่งวัตถุประสงค์ของงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและระดมสมองในประเด็นที่เกี่ยวกับการค้นหาสาเหตุของการขาดทักษะความรู้เรื่องการเงินของคนไทย และค้นหาว่าอะไรคือระดับความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับคนแต่ละกลุ่ม จากหลากหลายแนวคิด และข้อเสนอแนะที่ได้จากงานสัมมนานี้ ล้วนแต่เป็นประเด็นเรื่องปัญหาด้านทัศนคติและพฤติกรรมที่นำไปสู่การก่อเกิดปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวของประชาชนเอง อาทิเช่น การออมหลังหักค่าใช้จ่าย การกู้ยืมเงินทันทีแทนการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นก่อนกู้ การไม่ใส่ใจที่จะแยกแยะสินค้าจำเป็นและแค่ต้องการออกจากกัน การไม่สนใจการเปรียบเทียบราคาและคุณภาพสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อ การไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย การไม่ตระหนักรู้และขาดความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงินให้งอกเงย การขาดทักษะความรู้และความสนใจในการค้นคว้าหาความรู้เมื่อต้องการความช่วยเหลือทางการเงินจากผู้เชี่ยวชาญ และอีกสิ่งที่สำคัญคือ การขาดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารการเงินส่วนบุคคล จึงไม่น่าแปลกที่ผลการวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พบว่า คนไทยโดยส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องการวางแผนเกษียณอายุ และคนไทยจะเริ่มออมเงินเมื่ออายุ 41-55 ปี โดยเงินออมส่วนมากจะอยู่ในรูปของเงินฝากที่ไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งด้านผลตอบแทนที่งอกเงย และมูลค่าตามกาลเวลาที่อาจจะลดมูลค่าของเงินต้นได้ เช่นเดียวกับ ข้อมูลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย (อ้างอิงข้อมูลการนำเสนอของก.ล.ต.) ที่ระบุว่า ประมาณร้อยละ 41 ของคน 8,229 คนที่ถูกสำรวจนั้น ไม่มีเงินออม และแม้ประชาชนที่มีเงินออมแล้วนั้น พบว่า กว่าร้อยละ 61 คิดว่าไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณอายุอย่างแน่นอน
แม้ว่าจากข้อมูลสถิติต่างๆ ที่ปรากฏนั้น จะดูว่า สถานการณ์การเงินของคนไทยและระดับทักษะความรู้ในการบริหารการเงินพื้นฐานของคนไทยอยู่ในสภาวะเสี่ยงแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะแก้ไขหรือปรับปรุงให้ดีขึ้นไม่ได้ หากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนเอง มีความตั้งใจจริง ร่วมแรงร่วมใจในการรณรงค์ส่งเสริมและสร้างค่านิยมและทัศนคติอันดีต่อการวางแผนการใช้จ่ายและการอดออม รวมทั้ง สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งความรู้และข้อมูลที่สำคัญต่างๆ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติด้านการเงินของประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ การดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่า “พอประมาณ มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกัน” หรือง่ายๆก็คือ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น มีเหตุผลแยกแยะก่อนการตัดสินใจ มีการออมและการลงทุนอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิต ตราบใดก็ตามที่รายจ่ายน้อยกว่ารายรับ และมีการบริหารจัดการการเงินได้ดีตามอัตภาพ เมื่อนั้น เราก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขและมั่นคง โดยไม่จำเป็นต้องเอาใครมาเป็นบรรทัดฐานของการดำรงชีวิตของเรา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
คุณกนกพร นิตย์นิธิพฤทธิ์
โทร. 02 229 3131 ต่อ 233
อีเมล์: kanokporn@kenan-asia.org
No comments:
Post a Comment