ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 21 กันยายน 2559
Thursday, September 22, 2016
Tuesday, September 13, 2016
เรียนทำไม อย่างไร และ อะไร หลักง่าย ๆ ที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย
สำหรับช่วงที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสจัดกิจกรรมการอบรมบุคลากรทางการศึกษาหลาย ๆ งานติดกัน ล่าสุดเป็นการจัดอบรมให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ในโครงการที่ชื่อว่า โบอิ้ง ยกระดับการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งก็ได้รับความกรุณาจากท่านประธานอำนวยการสถานบันคีนันแห่งเอเซีย คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ มาเป็นประธานในการเปิดการอบรม
โดยนอกจากจะเปิดอบรมแล้ว ท่านยังให้แง่คิดมุมมองที่น่าสนใจหลายอย่างตั้งแต่แนวคิดทางการศึกษาจนถึงการใช้ความเป็นผู้นำไปช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดี ๆ ในแต่ละโรงเรียนให้ได้ ผมเองเห็นว่ามีประโยชน์เลยอยากหยิบยกมาเล่าใหม่ โดยเรียบเรียงแนวคิดทั้งหมด Model ใหม่ที่มีชื่อว่า Why How What ที่สามารถอธิบายว่าเราแต่ละคนเรียนไปทำไม เรียนอย่างไร และ เรียนอะไรมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้การเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ตอบโจทย์การทำงานได้ในโลกอนาคตได้ โดย Model มีหน้าตาดังนี้
ส่วนที่ 1 คือ Why เราจะเรียนไปทำไม? เริ่มจากทางด้านซ้าย อันนี้เคยถามตัวเองกันบ้างมั้ยว่าเราเรียนเรื่องราวต่าง ๆ ไปเพื่ออะไร คำตอบง่ายของ Model นี้คือเราเรียนเพื่อให้มีแนวคิด (Idea) ในการเอาไปต่อยอดในการทำงาน การแก้ปัญหา หรือ การค้นพบอะไรใหม่ ๆ โดยการเรียนรู้อะไรทุกอย่างจะต้องเริ่มจากการเก็บเกี่ยวและสั่งสมองค์ความรู้ (Knowledge) ตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ ไปยังเรื่องที่ยากขึ้นนั่นเอง
ยิ่งเรื่องไหนเป็นเรื่องที่มีเนื้อหามาก อย่างเช่นแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์ ก็จะต้องใช้เวลากับการเรียนความรู้นานหน่อย หลายอย่างจำเป็นต้อง “ท่อง” หลายเรื่องจำเป็นต้องเจาะลึกเพื่อให้ตกตะกอนเป็นแนวคิด หลายอย่างต้องอาศัยการศึกษาอย่างรวดเร็ว (Speed Reading) เพราะเมื่ออิ่มตัวแล้ว เราจะสามารถใช้ความรู้ (Knowledge) ไปสู่การสร้างแนวคิด (Idea) ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่บางทียังไม่รู้จักด้วยซ้ำ ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่เป็นความสามารถสำคัญที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต
ดังนั้นคนไหนที่ยิ่งรู้แน่น ยิ่งรู้ลึก และ ยิ่งรู้จริงแล้ว คน ๆ นั้นก็จะกลายเป็นคนที่มีแนวคิดที่ชัดเจน ถูกต้อง และ แม่นยำในที่สุด
ส่วนที่ 2 คือ How เราจะเรียนอย่างไร? ส่วนนี้ไม่ได้สำคัญกว่าส่วนที่เหลือ แต่เนื้อหาจะมากหน่อยเพราะแบ่งเป็น 4 ขั้นย่อย ๆ ได้แก่
- Research การศึกษาในประเทศที่ประสบความสำเร็จจะเริ่มจากการให้นักเรียนทำวิจัยก่อน เพราะวิจัยต้องใช้ทักษะหลายอย่างทั้งการอ่าน การสังเกต การตั้งคำถาม การเก็บข้อมูล ฯลฯ อย่าเพิ่งตกใจไปว่าวิจัยจะต้องเป็นเรื่องใหญ่ เพราะทุกวันนี้เอาจริง ๆ นะ คนเราทำวิจัยกันตลอดเวลา ง่าย ๆ เลยช่วงปลายปี้นี้จะหา Trip ดี ๆ ไปเกาหลีคุณผู้อ่านจะต้องทำอย่างไรบ้าง แน่นอนอ่านหนังสือ เลือกเมือง เลือกที่ที่อยากไป Shop ทัวร์ตามงานท่องเที่ยว ศึกษาวิธีการแลก Point จากบัตรเครดิตให้เป็นตั๋วเครื่องบิน เพื่อจัดการเดินทางที่เหมาะกับเราที่สุด แค่นี้ก็ถือเป็นวิจัยแล้ว เพราะวิจัยไม่จำเป็นต้องเขียนออกมาเป็นหนังสือปกแข็งมี 5 บท เล่มหนา ๆ แล้วถึงจะเรียกว่าเป็นงานวิจัยเสมอไป
- Summarize ขั้นต่อในจะพบอีกว่า ในหลายประเทศที่การศึกษาดี ๆ เขาจะฝึกให้นักเรียนฝึกสรุปความ หรือ Précis (เป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศสอ่านออกเสียงว่า Preh-Si) เริ่มจากอ่าน 1 เรื่องย่อเหลือ 1 หน้า จนเก่ง ๆ แล้วอ่าน 1 เล่มย่อเหลือ 2 หน้า เป็นต้น วิธีการนี้จะเป็นการฝึกให้เด็ก ๆ อ่านเร็ว อ่านจับใจความ หรือ บ้านเราชอบเรียกเล่น ๆ ว่า “อ่านเอาเรื่อง” อ่านเสร็จต้องเลือกสิ่งที่สำคัญ และ สรุปออกมาให้อ่านได้สะดวก ในโลกของการทำงาน Précis ถูกใช้ตอนเขียนบทสรุปผู้บริหาร หรือ บทคัดย่อ เรียกว่าอ่านหน้านี้หน้าเดียวจะมีข้อมูลสำคัญเพืยงพอต่อการนำไปใช้ในการคิดและวิเคราะห์ต่อไป
- Analyze ขั้นสูงขึ้นมาคือการวิเคราะห์ หรือการแยกแยะเรื่องใหญ่ ๆ ให้กลายเป็นเรื่องย่อย ๆ เพื่อให้สามารถจัดกลุ่ม มองหาความเหมือนความต่าง หรือ มองลึกไปถึงที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จะเห็นได้ว่าคนที่มีความสามารถนี้จะเป็นระดับนักคิดหรือกุนซือทั้งนั้น เพราะเมื่อเวลาเราเจอปัญหาแน่นอนเราแก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราสามารถแยกและเลือกปัญหาที่สำคัญที่สามารถจัดการได้ และ ลุยไปเป็นเรื่อง ๆ แบบนี้งานจะเคลื่อน ซึ่งความสามารถนี้เป็นความสามารถที่ใคร ๆ และไม่ได้มีกันทุกคนแต่ก็ฝึกฝนได้
- Synthesize ขั้นสุดท้ายคือการสังเคราะห์เพื่อหาแนวคิดใหม่ ๆ เป็นได้หมดทั้งการสร้างแนวคิดเพื่อแก้ปัญหา การคิดเพื่อสร้างนวัตกรรม การคิดเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่จะต่อยอดสู่การพัฒนางานด้านอื่น ๆ โครงงานอื่น ๆ หรือแม้แต่สมการใหม่ ๆ ที่สามารถให้เราหาคำตอบเพื่อก้าวข้ามขอบเขตความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แน่นอนกว่าที่จะมีความสามารถในขั้นนี้ต้องผ่านการตกผลึกและใช้ประสบการณ์พอสมควร คนที่ไม่ต้องใช้ประสบการณ์และสามารถมีความสามารถนี้ได้ได้อย่างรวดเร็วจะจัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีพรสวรรค์ (Talent) แต่ก็นั่นอีกแหละ ขึ้นชื่อว่าอยากเรียนรู้แล้วค่อย ๆ ฝึกก็จะพบ เพราะการบอกว่ามีความสามารถนี้เฉย ๆ ไม่เจ๋งเท่ากับว่าเราใช้ความสามารถนี้ทำอะไรได้บ้าง
ส่วนที่ 3 คือ What เราจะเรียนอะไร? แปลกมั้ยว่าทำไมถึงมาทีหลัง เพราะในความเป็นจริงแล้ว What จะเป็นสิ่งจะตามมาหลังจากที่เราทราบเป้าหมายและวิธีการจะนำมาสู่การเลือกเครื่องมือแล้วต่างหาก
โดยเราจะเรียนอะไรตามใน Model จะหมายถึงสัดส่วนระหว่าง การคิด (Thinking) และ เนื้อหา (Content) ว่าจะหนาบางต่างกันแค่ไหนในแต่ละระดับของการเรียนรู้ที่กล่าวมาแล้ว โดย What จะแปรผันตามระดับดังกล่าว กล่าวคือในช่วงที่เราหาความรู้หรือทำวิจัยอยู่ แน่นอนสัดส่วนของเนื้อหาจะมากกว่าสัดส่วนของการคิด เพราะหากคิดมากเกินไป (คิดไปเอง) จะทำให้การเก็บเกี่ยวความรู้ของเราบิดเบี้ยวหรือผิดเพี้ยนได้ (เคยเห็นคนที่ยังไม่ทันฟังครบประโยคแล้วตบโต๊ะมั้ย) แต่พอการเรียนรู้ค่อย ๆ ขยับขึ้นไปสู่ขั้นของการวิเคราะห์ (Analyze) หรือ สังเคราะห์ (Synthesize) แล้ว ต้องใช้แนวคิด (Idea) มากขึ้นแล้ว สัดส่วนของการคิดจะค่อย ๆ มากกว่าสัดส่วนของเนื้อหา เพราะถึงระดับบน ๆ แล้ว ความรู้ที่มีจะกลั่นตัวให้เหลือเพียง Concept คม ๆ ที่เอาไปใช้ได้มากขึ้นนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้าง อ่านถึงตรงนี้แล้วหลายคนอาจจะรู้สึกคุ้นบ้าง ขัดบ้าง ก็ถือเป็นการเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนนะ เพราะสิ่งที่ผมสังเคราะห์มาไม่ใช่ทฤษฎี แต่เป็นการร่าง Model ที่ผมเองคิดว่าน่าจะได้มีโอกาสทำวิจัยในเรื่องนี้ เพราะการมองเห็นความเชื่อมโยงแบบนี้จะเป็นกลไกที่สำคัญที่จะเชื่อมโยง “การศึกษา” กับ “การทำงาน/ธุรกิจ” สำหรับทุกเพศทุกวัยอย่างแท้จริง
เขียนโดย
คุณโชดก ปัญญาวรานันท์
Business Process Manager
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย
Subscribe to:
Posts (Atom)